สร้างโอกาสการเรียนรู้ สร้างเยาวชนคุณภาพ สร้างสังคมคุณภาพ
มูลนิธิสยามกัมมาจล สร้างโอกาสการเรียนรู้ สร้างเยาวชนคุณภาพ สร้างสังคมคุณภาพ มูลนิธิสยามกัมมาจล

“ซีบอย - Storyboard Artist” เรียนรู้จากความผิดพลาด


“เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมต้องต่อสู้คือ “ใจ” ตัวเองครับ เราต้องมีความมุ่งมันมากขึ้น แข็งแรงขึ้น ไม่อย่างนั้นก็จะเป็นแค่คนเพ้อฝัน.. ความสนุกกับชีวิตไม่ใช่การเที่ยวเล่น กินเหล้ากับเพื่อน ความสนุกของชีวิตคือชีวิตที่ใช้อยู่ปัจจุบันทุกวันแล้วมันสนุกได้ นั่นแหละคือความสุขสนุกของชีวิต”




น้อยคนนักที่จะชนะใจตนเองและกลับสู่เส้นทางแห่งความสำเร็จได้ในที่สุด วันนี้เรามีตัวอย่างของเยาวชนที่เกือบก้าวพลาดแต่ยังโชคดีที่มีเป้าหมายชีวิต” ตั้งไว้ชัดเจน ที่ฝันอยากจะเป็น “Storyboard Artist” แต่ในบางจังหวะของชีวิตก็ยังเกิดการหักเหออกนอกเส้นทางชีวิต วันนี้มานั่งตำแหน่งสตอรี่บอร์ดซุปเปอร์ไวเซอร์ที่เดอะมังค์สตูดิโอ ผู้ผลิตแอนิเมชั่นระดับโลก เราพามารู้จักกับ “ซีบอย” หรือ นายอัฐวุฒิ วิถีธรรม อดีตเจ้าของผลงาน Animation เรื่อง สาธุ-โกรธา 1 ใน 10 ผลงานที่เข้ารอบสุดท้ายในเวที Thailand Animation Festival 3 (TAF3) ในปี 2558 มาให้น้องๆ รุ่นหลังได้เรียนรู้กัน

ย้อนกลับไปในรั้วคณะนิเทศศาสตร์ ม.อัสสัมชัญ “ซีบอย” ต้องใช้เวลาเรียนถึง 7 ปี กว่าจะเรียนจบออกมาได้ “ตอนเรียนอยู่มหาวิทยาลัยผมทำตัวเกเรมาก กินเหล้าเมายาตามประสาเด็กเกเรทั่วไป พอทำแบบนั้นบ่อยๆ ก็ต้องดร้อปเรียนไป”นั่นคือจุดเริ่มต้นของชีวิตที่หักเห แต่สิ่งที่สะสมมาตั้งแต่เยาว์วัย 8 ขวบ คือความฝันอยากเป็นนักวาดการ์ตูนจนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ “ซีบอย”เข้าเรียนที่ม.อัสสัมชัญ เมื่อต้องดร็อปในบางวิชาแต่ยังเรียนในวิชาที่เกี่ยวกับวาดภาพ ทำให้มีเวลาว่างเหลือเฟือด้วย “ความชอบในการวาด” ซีบอยจึงใช้เวลาช่วงนั้นมารับงานจ๊อบตลอดสองปี ทั้งงานด้านกราฟฟิกดีไซน์ สตอรี่บอร์ด ภาพประกอบ หรือแม้กระทั่งถ่ายหนัง ชีวิตช่วงสองปีที่มีจ๊อบก็เพื่อให้ได้มีเงินไปกินเหล้าไปวันๆ “คิดได้เพียงเท่านั้นในตอนนั้น แต่สองปีนั้นเราได้ทำในสิ่งที่เราชอบ และได้ประสบการณ์พอสมควร บางวิชาที่ไม่ได้เรียนแต่เริ่มเรียนรู้จากการทำงานก่อน เราไปศึกษาก่อนพอไปเรียนจริงก็มีความรู้อีกขั้นหนึ่ง เราได้ทักษะเพิ่ม ช่วงที่ทำงาน ได้ปฏิบัติงานก่อน เช่น การถ่ายหนัง ผมชอบเรียนรู้จากการทำงานจริงมากกว่าเรียนเล็คเชอร์ ชอบเรียนรู้ด้วยตัวเอง ชอบลงมือทำ จากนั้นก็เบาเรื่องเกเรลง แต่ยังไม่หมดไปมาจริงจังอีกครั้งตอนปี 4 ที่เห็นเพื่อนๆจบไปหมดแล้วจึงกลับมามุเรื่องเรียนอีกครั้งแต่ก็จบช้าไปหลายปี จนเพื่อนกลับมาเป็นอาจารย์ทำให้ต้องย้อนกลับมามองที่ตัวเอง พอเห็นคนอื่น ทำให้เห็นว่าเราตามใจตัวเองไปเยอะแล้ว สุดท้ายคนที่เขาใช้ชีวิตปกติเขาก็ได้ทำงานที่โอเค ทั้งๆ ทีคนที่จบไปก่อนเราบางคนต้องให้เราช่วยถ่ายงานธีสิสให้ด้วยซ้ำแต่พอเขาจบก่อน เขาได้เจอโอกาสในโลกกว้างก่อน แล้วเห็นว่าเขาไปทำงานอะไรในสายงานที่เราชอบ ไปทำงานอะไร อยู่ตรงไหน ก็รู้สึกว่าเราทำอะไรอยู่ตรงนี้นะ เราสนุกกับการทำงานก็จริง แต่มันไม่ใช่มันเป็นโลกแคบไป เราต้องรีบจบไป พอแล้ว สนุกพอแล้ว สนุกเกินไปแล้ว ก็พยายามหยุด เลิก”

สถานการณ์ที่ล่อแหลมในช่วงเรียนถึงปี 6 ส่งผลให้ซีบอยต้องพิสูจน์ศรัทธาจากครอบครัว ถึงแม้ถึงตอนนี้ซีบอยจะเริ่มตั้งหลักได้ มีงานทำในตำแหน่งสตอรี่บอร์ดที่บริษัทเดอะมังค์ บริษัทที่ตนเองใฝ่ฝันอยากเข้าทำงานเพราะเป็นบริษัท แอนิเมชั่นอันดับต้นของประเทศไทยก็ตาม แต่พ่อกลับบอกว่าถ้าเรียนไม่จบก็ไปลาออกซะ “เพราะผมเรียนมา 6 ปีแล้วไม่จบ คิดว่าถ้าเราไปสมัครงานได้ครอบครัวจะแฮปปี้ แต่พ่อกลับถามว่าทำงานด้วยเรียนด้วยจะจบไหม ให้ไปลาออกเดี๋ยวนี้เลย ครอบครัวรุมผมจนผมร้องไห้ สุดท้ายผมบอกว่าไม่ออก จะขอไม่อยู่บ้านพยายามพิสูจน์ตัวเอง จะไม่ออกจากงานจะเรียนให้จบ พ่อบอกถ้าอย่างงั้นก็ส่งตัวเองเรียนก็แล้วกัน แต่ยังจ่ายค่าเทอมให้อยู่ พ่อเคยถามว่าทำไมคนอื่นเขาจบ แล้วเราไม่จบ ทำให้จบซะ ผมก็อึ้งเลย”สุดท้าย 7 ปีกับการเรียนในระดับปริญญาตรีก็สิ้นสุดลง พร้อมๆ กับหน้าที่การงานที่ไปได้ดี ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้างาน และผลงานธีสิสที่ทำก็ได้รับรางวัลที่เวที Thailand Animation Festival 3 (TAF3) และได้รับการเผยแพร่ออกสื่อมวลชน ความสำเร็จทั้งสองด้านที่มาพร้อมๆ กัน เป็นที่ประจักษ์ ทำให้ครอบครัวกลับมาเชื่อมั่นในตัวของซีบอยอีกครั้งหนึ่ง ตลอดเส้นทางเดิน 7 ปี นี่คือการเรียนรู้ที่มีค่าที่สุดในชีวิตของเขานั่นเอง

ซีบอยกล่าวต่อว่า “มีข้อเปรียบเทียบ มีเพื่อนคนหนึ่ง ที่เป็นอาจารย์ ตอนที่เรียนอยู่เขาก็เที่ยว เล่น เกเร เหมือนกันเลย แต่ตอนเรียนเขาเรียน เพราะฉะนั้นเขาจบปกติดี 4 ปี ตอนเที่ยวเขาเที่ยวได้สุดๆ มาก แล้วตอนเรียนเขาก็เรียนได้สุดๆ มากเหมือนกัน คนที่เป็นแบบนี้เขาก็ไปทำอะไรของเขาได้ดีมากเลยทีเดียว แต่สำหรับผมกลับเล่นซะเกินเลย ทั้งๆ ที่เราก็มีอะไรที่เราอยากทำนะ แต่เราเล่นจนเกินเลยจนสิ่งที่เราอยากทำ บางทีมันอาจจะสายไป แต่ผมก็โชคดีอย่างหนึ่งที่ผมรู้ว่าผมต้องการอะไร อยากทำอะไร อยากได้อะไร มันก็เลยยังพอดึงตัวเองกลับมาได้ เพราะว่าเราเป็นคนมีเป้าหมาย แต่ถ้าคนที่ไม่มีเป้าหมายมันจะยากในการดึงตัวเองกลับมาว่าจะกลับไปเรียนทำไม ไม่เห็นจะชอบเรียน” ซีบอยสะท้อนความผิดพลาดจากชีวิตของตนเองให้กับน้องๆ รุ่นใหม่ได้ฉุกคิดก่อนจะเดินผิดเส้นทางเหมือนตน

“ส่วนตัวผมเชื่อในเรื่องความฝันและเป้าหมาย ผมเชื่อว่ามันพาให้เราไปได้ไกล แล้วผมก็มีมันมาอยู่นานแล้ว คือเริ่มเห็นแนวทางชัดขึ้นเรื่อยๆ ก่อนที่จะเลือกตัดสินใจทางนั้น สิ่งนี้เป็นแกนหลักทำให้ผมเดินต่อไปได้ แต่ข้อเสียที่เจอคือผมเป็นคนที่แพ้ใจตัวเอง เราอยากสนุก เราก็สนุกไปเลย โดยที่เป้าหมายมันก็ยังอยู่ แต่มันทำให้เราเป๋ออก แล้วเลี้ยวกลับมามันก็ค่อนข้างเสียเวลา เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมต้องต่อสู้คือ “ใจ” ตัวเองครับ เราต้องมีความมุ่งมันมากขึ้น แข็งแรงขึ้น ไม่อย่างนั้นก็จะเป็นแค่คนเพ้อฝัน ว่าฉันเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ แต่ไม่ทำ นี่คือสิ่งที่ผมได้เรียนรู้มาจริงๆ กับชีวิตตัวเอง” สุดท้ายซีบอยได้ฝากบอกกับน้องๆ รุ่นหลังว่า ถ้ารู้แล้วว่าเป้าหมายของตนเองคือะไรให้จริงจังกับมันไปเลย “ความสนุกกับชีวิตไม่ใช่การเที่ยวเล่น กินเหล้ากับเพื่อน ความสนุกของชีวิตคือชีวิตที่ใช้อยู่ปัจจุบันทุกวันแล้วมันสนุกได้ นั่นแหละคือความสุขสนุกของชีวิต ได้ทำงานที่ชอบ มันสนุก ถ้าสิ่งที่เราเลือกชอบ มีสังสรรค์ กินดื่ม เพื่อนที่ทำงานก็มี เพื่อนที่มหาวิทยาลัยก็ยังไม่อยู่ สุดท้ายก็ยังมาเจอกัน มาทำอะไรร่วมกันก็ได้อยู่” ซีบอยกล่าวทิ้งท้าย

ในฐานะรุ่นพี่โครงการ Thailand Animation Festival “ซีบอย” จึงอาสารับหน้าที่เป็นผู้กำกับร่วมกับกอล์ฟ - นายธวัชชัย เหล่าชัยพฤกษ์ ช่วยดูแลงานแอนิเมชั่นสร้างสรรค์ของน้องๆ ในรุ่นที่ 4 ในค่ายTAF CAMP ภายใต้โครงการ Thailand Animation Festival 4(TAF 4) จัดโดย Sputnik Tales : Studio สนับสนุนโดย มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) และ มูลนิธิมั่นพัฒนา ที่ให้เยาวชนที่เข้ารอบ10 ผลงานสุดท้ายได้มาร่วมกันสร้างสรรค์แอนิเมชั่นเพื่อสังคม 1 เรื่องในหัวข้อความยั่งยืน และจะนำไปฉายในเทศกาลฉายหนังแอนิเมชั่นประจำปี 2560 สำหรับผู้สนใจสามารถติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ www.scbfoundation.com / เฟสบุ๊ค Thailand Animation Festival

หมายเลขบันทึก: 623362เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2017 14:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2017 14:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท