ข้อคิดที่ได้จากหนังสือ “เหนือแนวคิด”



ผู้เขียนได้รับอภินันทนาการ หนังสือ “เหนือแนวคิด” 46 ปี บนเส้นทางสัมมาอาริยมรรคของพ่อครูสมณโพธิรักษ์ ย่างเข้าสู่ปีที่ 23 หนังสือพิมพ์เราคิดอะไร สำนักพิมพ์กลั่นแก่น ซึ่งรวบรวมเรียบเรียง โดย “แรงรวม ชาวหินฟ้า” (พฤศจิกายน 2559) ผู้รวบรวมเรียบเรียงได้ระบุว่าใน “คำนำ” ว่า “แรงบันดาลใจของการทำหนังสือเล่มนี้ เกิดจากการได้ฟังพ่อครูสมณะโพธิรักษ์ พูดถึงไอน์สไตน์ และคานธี ว่าเป็นโพธิสัตว์ จึงทำให้อยากรู้ว่าทั้งสองท่านนี้มีชีวิตและความคิดกันอย่างไร? เมื่อลองค้นคว้าหาอ่านทั้งจากหนังสือต่างๆ ที่ได้พิมพ์ขึ้นมา และทั้งจากอาจารย์กู(เกิ้ล) ที่ผู้รู้กับผู้รักและศรัทธา ได้นำเอาชีวิตบางแง่บางมุมของท่านทั้งสองมาลงไว้ในทางเน็ตก็ดี ทำให้เกิดความรู้สึกทึ่ง มหัศจรรย์ ในแนวคิดของทั้งสองท่านที่มองโลก มองสังคม และมองศาสนาได้อย่างลึกซึ้ง และยังทะลุทะลวงถึงแก่นแท้ของพุทธศาสนาในระดับ ‘โลกุตระและอเทวนิยม’ อีกด้วย ... วิถีชีวิตทวนกระแสของแต่ละท่าน ซึ่งต่างก็ไม่ยอมสยบต่ออำนาจชั่วร้ายที่สังคมต่างพากันยอมจำนน ...”

ข้อคิดสำคัญที่ผู้เขียนได้เรียนรู้จากหนังสือ “เหนือแนวคิด” ก็คือ “การดำรงชีวิตที่เรียบง่าย และการมีชีวิตเพื่อยังประโยชน์แก่ผู้อื่น” ดังทัศนะของแต่ละท่านดังนี้

ไอน์สไตน์ : “ไอน์สไตน์ แม้จะมีชื่อเสียงก้องโลก แต่ก็ดำรงชีวิตอย่างสมถะ เขาไม่ชอบการแต่งตัวหรือหวีผม เขาเคยกล่าวเอาไว้ว่า ‘ผมมีความสุขอยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะผมไม่เคยอยากได้อะไร ไม่สนใจเงินทอง ตำแหน่ง คำยกย่อง เหรียญประดับ หรืออำนาจเกียรติยศใดๆ สิ่งที่ทำให้ผมมีความสุขคือการได้ทำงาน ได้สีไวโอลีนและแล่นเรือใบ’…” (หน้า 39)

“อย่าเป็นคนที่มุ่งหวังเพียงความมสำเร็จ แต่จงมุ่งหวังความเป็นมนุษย์ที่มีคุณค่า. มีเพียงชีวิตเพื่อผู้อื่นเท่านั้น ที่มีคุณค่าแก่การมีชีวิต.

คุณค่าของมนุษย์ควรมองตรงจุดที่ว่า เขาได้ให้สิ่งใดแก่สังคม ไม่ใช่ตรงสิ่งที่เขาได้รับ(หน้า 116)

คานธี : “...ข้าพเจ้ารักมนุษยชาติทั้งมวล เช่นเดียวกับที่ข้าพเจ้ารักเพื่อนร่วมชาติของข้าพเจ้าเอง ทั้งนี้เพราะว่า พระผู้เป็นเจ้าประทับอยู่ในหัวใจของมนุษย์ทุกรูปทุกนาม และข้าพเจ้ามุ่งมาดปรารถนาที่จะบรรลุภาวะที่สูงสุดในชีวิต ด้วยการรับใช้เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน” (หน้า 25)

พ่อครูสมณะโพธิรักษ์ : “คนผู้มี ความรักประเสริฐที่สุด สูงที่สุด จึงได้แก่ ผู้ที่หมดตัวตนชนิดไม่มีกิเลสถึงขั้นสิ้นอาสวะ เห็นแก่ผู้อื่นด้วยความบริสุทธิ์ใจ เสียสละ เกื้อกูล ช่วยเหลือเผื่อแผ่ออกไปให้ผู้อื่นอยู่อย่างภูมิใจ สุขใจ และยืนยาวหาประมาณมิได้และเต็มไปด้วยความปรารถนาดีที่ตัวเราจะได้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นให้มากๆ ให้ยิ่งๆ ให้กว้างที่สุดเท่าที่จะทำได้(หน้า 62)

การมุ่งมั่นทำความดีให้ถึงพร้อม ทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นโดยบริสุทธิ์ใจ ไม่หวังผลตอบแทน ย่อมเป็นการสั่งสมความดีให้กับจิตของเรา เมื่อถึงเวลาที่เราต้องจากโลกใบนี้ไปสู่ภพภูมิอื่น ก็ไม่มีเหตุให้ต้องกลัวว่าจะต้องไปสู่ภพภูมิที่ไม่ดี ดังที่ พ่อครูสมณะโพธิรักษ์ ได้กล่าวไว้ว่า “... สัพพปาปัสส อกรณัง (ไม่ทำบาปทั้งปวง) กุสลัสสูปสัมปทา (ทำแต่กุศลให้ถึงพร้อม) และจิตก็ สจิตตปริโยทปนัง (บริสุทธิ์ขาวรอบแล้ว) จิตตัวนี้ก็เป็นจิตที่มันไม่ได้ทำชั่ว...มันมีแต่ดีกับดี คุณก็เกิดมาซี้! ทุกข์ก็ไม่ทุกข์ ตกต่ำก็ไม่ตกต่ำ จะเกิดมาอีกกี่ชาติก็มีแต่ดีกับดี ... ”

เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้ จบลงแล้ว ทำให้ผู้เขียนได้ข้อคิดสำหรับการก้าวเดินต่อไปในอนาคตว่า “หนึ่งชีวิตอันน้อยนิดที่ได้เกิดมาบนโลกใบนี้ ไม่มีอะไรที่จะมีคุณค่ามากไปกว่าการอุทิศตนเพื่อประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์และสังคม โดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ ทั้งเกียรติยศ ชื่อเสียง ทรัพย์สินเงินทอง สิ่งเหล่านี้ จะตามมาเองหากเราทำความดีให้ถึงพร้อม และเมื่อถึงวันที่เราต้องจากโลกนี้ไป เราก็จะจากโลกนี้ไปด้วยความเบิกบาน ไปสู่สุคติในสัมปรายภพ ตามเหตุปัจจัยแห่งบุญกุศลที่เราได้สะสมไว้ และคุณูปการที่เราทำไว้กับเพื่อนมนุษย์

“ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตน เป็นที่สอง

ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์ เป็นกิจที่หนึ่ง

ลาภ ทรัพย์ และเกียรติยศ จะตกแก่ท่านเอง

ถ้าท่านทรงธรรมมะแห่งอาชีพ ไว้ให้บริสุทธิ์”

พระอนุศาส์นสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี ได้ตรัสถึงพระบาทสมเด็จพระปริมทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงเป็นแบบอย่างของความดีทั้งปวง เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2559 ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ประจำปี 2559 ความตอนหนึ่งว่า "...ข้าพเจ้าเป็นลูกท่านตั้งแต่เด็กจนวาระสุดท้ายของท่าน ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นท่านทรงทำงานอะไรเพื่อตัวเองเลย ทุกอย่างเพื่อสังคม เพื่อประชาชน และความเป็นอยู่ของท่านก็เป็นทุกอย่างอย่างพอเพียงที่สุด..."

บัดนี้ ผู้เขียนชัดเจนแจ่มแจ้งในเส้นทางเดินของชีวิตที่เหลืออยู่แล้วว่า “จะมุ่งมั่นอุทิศตน ใช้ความรู้ทางวิชาการที่มีอยู่ในการให้ปัญญากับสังคมผ่านช่องทางต่างๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้คนในสังคมมีวิถีชีวิตแห่งความพอเพียงตามรอยเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระปริมทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐอันหาที่สุดมิได้”


ทศพนธ์ นรทัศน์
นักวิชาการอิสระ

12 กุมภาพันธ์ 2560

หมายเลขบันทึก: 623130เขียนเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2017 15:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2017 15:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท