เก็บตกวิทยากร (31) : พัฒนาศักยภาพสภานักเรียนโรงเรียนเมืองพลพิทยาคม (ว่าด้วยการละลายพฤติกรรมและการทบทวนตัวตน)


ผมมีนัยสำคัญเกี่ยวกับกระบวนการเสมอ และยึดมั่นว่าทำกระบวนการกับนักเรียน ต้องเน้นกิจกรรมที่ได้ “ลุกนั่งขยับแข้งขยับขาขยับปัญญาขยับความคิด” มิใช่ให้เขานั่งฟังคำบรรยายจนก้นด้านและก้านสมองตาย ​




  • วันนี้ (วันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560) ผมเดินทางถึงสวนป่ามหาชีวาลัยในราวบ่ายสามต้นๆ เพื่อทำหน้าที่วิทยากรการพัฒนาศักยภาพสภานักเรียนโรงเรียนเมืองพลพิทยาคม โดยมีวิทยากรกิตติมศักดิ์ร่วมอีก 3 คน คือ พ่อครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ และวอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei—


  • ที่จริงแล้วผมถูกวางเป็นวิทยากรหลัก เพราะผู้จัดมองว่าทำงานด้านการศึกษาและมีประสบการณ์ตรงในการจัดการเรียนรู้เกี่ยวกับผู้นำเด็กและเยาวชน ถึงกระนั้นผมก็มองว่านี่คือโอกาสอันดีที่เหล่าบรรดานักเรียนจะได้เรียนรู้กับปราชญ์อีกสองท่าน จึงเริ่มที่จะออกแบบกิจกรรมอย่างเงียบๆ




  • ทบทวนและสะท้อนการเรียนรู้




    กิจกรรมที่ผมรับผิดชอบเริ่มต้นขึ้นในราวเกือบสองทุ่ม –

    เริ่มจากการชักชวนให้นักเรียนลุกขึ้นมา “สะท้อนการเรียนรู้” จากกรณีเข้าศึกษาดูงานสภานักเรียนที่โรงเรียนนาเชือกฯ เพื่อให้ฝึกให้นักเรียนได้กล้าแสดงออก มีทักษะในการทบทวนความรู้ ถอดความรู้และทักษะในการสื่อสาร หรือสะท้อนผลการเรียนรู้ต่อสาธารณะ

    นี่คือกระบวนการที่สื่อสารเรื่องทักษะผู้นำ หรือศักยภาพของการเป็นผู้นำกลับไปยังนักเรียน เป็นการสอนผ่านกระบวนการมากกว่าการบรรยาย หรือป้อนความรู้ให้พวกเราผ่านกลไกทฤษฎีโดยปราศจากการลงมือปฏิบัติ

    โดยส่วนตัวผมถือว่ากระบวนการนี้เป็นกระบวนการนำเข้าสู่การเรียนรู้ในเวทีที่กำลังจะมีขึ้น ถึงแม้จะไม่ได้ตีกลองร้องเต้นก็เถอะ แต่ผมก็เชื่อว่ากิจกรรมนี้จะทำให้นักเรียนรื่นรมย์และสนุกสนานในแบบฉบับของพวกเขา

    และที่สำคัญผมก็ขมวดประเด็นนี้อย่างสั้นว่า “เราล้วนเดินทางไกลเพียงเพื่อจะเข้าใจและค้นพบตัวเอง”





  • ละลายพฤติกรรมผ่านตาราง 4 ช่อง

  • ถัดจากนั้นก็แจกกระดาษให้คนละแผ่น กำหนดให้แต่ละคนแบ่งพื้นที่กระดาษออกเป็น 4 ช่อง ผมไม่ได้อธิบายว่ากิจกรรมนี้มีชื่อว่าอะไร ไม่ได้บอกนักเรียนว่ากิจกรรมนี้มีวัตถุประสงค์อะไร เพียงแต่บอกว่าให้นักเรียนทำตามคำสั่งของผม และให้มีสติในการฟัง-ทำความเข้าใจ พร้อมๆ กับหยุดเมื่อผมให้สัญญาณ

  • แน่นอนครับ-ผมมีนัยสำคัญเกี่ยวกับกระบวนการเสมอ และยึดมั่นว่าทำกระบวนการกับนักเรียน ต้องเน้นกิจกรรมที่ได้ “ลุกนั่งขยับแข้งขยับขาขยับปัญญาขยับความคิด” มิใช่ให้เขานั่งฟังคำบรรยายจนก้นด้านและก้านสมองตาย

  • คำถามแรก – ผมให้แต่ละคนทบทวนตนเองผ่านคำถามว่า “คาดหวังอะไรจากกิจกรรมครั้งนี้”

  • คำว่าครั้งนี้ไม่ได้หมายถึงกิจกรรมที่ผมกำลังจัดการเรียนรู้ หากแต่หมายถึงกิจกรรมอันเป็นโครงการที่นักเรียนได้เดินทางมาใช้ชีวิตร่วมกัน



  • คำถามนี้ ผมต้องการสอนให้นักเรียนรู้จักหลักการเรียนรู้และการบริหารกิจกรรมที่จะต้องแจ่มชัดก่อนการลงมือทำ เสมือนการเป็นผู้นำต้องมีวิสัยทัศน์ มียุทธศาสตร์ มีเป้าหมาย ทั้งเป้าหมายเชิงบุคคล หรือกระทั่งเป้าหมายเชิงองค์กร หลอมรวมถึงการรู้จักที่จะปรับความคาดหวังของตนเองในการเรียนรู้แต่ละครั้ง ซึ่งผมบอกกับพวกเขาว่า นี่คือการ BAR : Before Action Review








  • คำถามที่สอง – ผมให้และคนวิ่ง หรือเดินไปถามเพื่อนๆ แต่ละคนให้ได้มากที่สุดผ่านคำถามประมาณว่า “ถามอะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับเพื่อนที่เราอยากรู้”

  • คำถามนี้ผมต้องการสื่อในการประเด็น หรือหลายทักษะ เช่น การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในเวลาอันจำกัดที่ต้องหาเพื่อนให้ได้มากที่สุด เสมือนการทำงานแข่งกับเวลา ฝึกการตั้งคำถาม และการเรียนรู้ที่จะแยกแยะว่าอะไรควรถามอะไรไม่ควรถาม ฝึกการสังเกตให้ในการที่จะเฝ้ามอง หรือเลือกผู้คนที่จะเข้าไปถาม รวมถึงการฟัง และการจดบันทึกไปในตัว




  • คำถามที่สาม-ผมกลับมาใช้คำถามที่วกกลับมายังตัวตนของแต่ละคน หลังจากก่อนนั้นทุกคนสนุกสนาน กระจัดกระเจิงประหนึ่งนกแตกรัง เป็นการแตกรังเหมือนได้รับอิสรภาพและตื่นเต้นกับท้องฟ้าใหม่ๆ ดังนั้นจึงเรียกสติของทุกคนผ่านคำถามว่า “สิ่งดีๆ ในโรงเรียน”


  • คำถามนี้ ผมต้องการให้นักเรียนมีทักษะในการทบทวนความรู้ หรือต้นทุนทางสังคมของตนเอง โดยซ่อนนัยสำคัญไว้เพื่อผูกโยงมายังแผนกิจกรรมที่สภานักเรียนคิดฝันที่อยากจะทำ ซึ่งผมมองว่าสิ่งดีๆ ในโรงเรียนคือข้อมูลสำคัญในการที่จะนำมาออกแบบกิจกรรม เสมือนการพัฒนาบนต้นทุนอันดีของโรงเรียน หรือสังคมนั้นๆ และอีกนัยหนึ่งคือการประเมินว่าแท้จริงแล้วนักเรียน “รู้จักตัวเอง” หรือ “รู้จักโรงเรียนตัวเอง” แค่ไหน






  • คำถามที่สี่ – พอทุกคนเริ่มสงบสำรวม มีสติอยู่กับตัวเอง ผมก็พลิกสถานการณ์ใหม่ให้แต่ละคนได้ขยับเข้าหาคนอื่นอีกรอบ โดยให้ไปถามเพื่อแต่ละคนว่า “อยากเป็นอะไร อะไรคือความฝันที่อยากจะทำให้เป็นจริง”


  • คำถามนี้ ผมมีเจตนาปิดกระบวนการให้เชื่อมโยงกับประเด็นของ BAR จากความคาดหวังของตัวเองไปสู่การสำรวจเป้าหมายชีวิตของคนอื่น รวมถึงการต้องการสำรวจว่าเหล่าแกนนำนักเรียนเหล่านี้มีทิศทางหรือเป้าหมายชีวิตอย่างไร เช่นเดียวกับการอธิบายในช่วงท้ายว่า การถามทักความฝันคนอื่นเช่นนี้ ผมต้องการบอกว่า “ในโลกแห่งความจริง บางทีเราก็เป็นกำลังสำคัญในการที่จะช่วยให้ความฝันของคนอื่นเป็นจริงได้”

    หรือกระทั่งการเน้นย้ำว่า ข้อมูลนี้สำคัญมาก จะส่งต่อให้คณะครูที่ปรึกษาสภานักเรียนได้นำไปสานต่อ รวมถึงส่งมอบไปยงครูแนะแนวเพื่อออกแบบการพัฒนาศักยภาพนักเรียนต่อไป





  • นี่คือกระบวนการง่ายๆ ที่นำมาใช้กับการเรียนรู้ในครั้งนี้

  • ขณะที่ผมเป็นกระบวนกร ก็ไหว้วาน วอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei—ช่วยสังเกตพฤติกรรมและทักษะการเรียนรู้ของนักเรียน รวมถึงการช่วยสะท้อนกลับในช่วงท้าย เพื่อขมวดประเด็นการเรียนรู้ให้แจ่มชัดยิ่งขึ้น

  • นี่คือกระบวนการง่ายๆ ใช้เวลาสั้นๆ ไม่ถึง 45 นาที เรียกได้ว่า บันเทิงเริงปัญญาในแบบวัยรุ่นๆ ที่สวนกระแสแบบไม่ได้ตีกลองร้องเต้น ไม่ได้ใช้พื้นที่อันโล่งกว้างมากมาย แต่ก็ยังได้อรรถรสของการเรียนรู้อย่างมีพลัง

หมายเลขบันทึก: 623121เขียนเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2017 08:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2017 09:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

กระบวนการและคำถามน่ารักเช่นเคยครับ ;)...

กิจกรรมดีมากเลย

นักเรียนได้ทบทวนตัวเอง

อยากไปด้วย

แต่ติดงานที่สตูลครับ

เรียนรู นอกห้องเรียน ที่ทรงพลัง มากๆ ดึงหัวใจนักปราชญ์ เยาวชน ออกมาผ่านกิจกรรม

คิด เขียน อ่าน พูด

สวัสดีครับ

Wasawat Deemarn


กระบวนการเดิมๆ มาปัดฝุ่นใหม่ แต่เปลี่ยนลำดับ และคำถาม รวมถึงการปรับให้เข้ากับเวลาและบริบทพื้นที่ตรงนั้นครับ และขีดโยงไว้เพื่อเป็นต้นทุนหนึ่งในกระบวนการของการต้องระดมสมองจัดทำแผนร่วมกัน -

แต่ทั้งปวงทำแบบเนียนๆ ไม่บอกล่าวงหน้าว่าข้อมูลเหล่านั้นจะถูกใช้ต่ในกระบวนการใดต่อไป จึงทำให้เราได้ข้อมูลที่สด และเป็นจริงอยู่มากโขเลยทีเดียวครับ



สวัสดีครับ

ขจิต ฝอยทอง


เสียดายไม่ได้มารวมกระบี่เป็นหนึ่งเดียวช่วยกัน ครั้งนี้มีเวลาได้ทำกระบวนการด้วยตนเองมากขึ้น พลอยได้ออกแบบยึดโยงตั้งแต่ต้นจนจบ แต่ก็เป็นกระบวนการที่เร่งรีบมิใช่ย่อย ดีหน่อยนักเรียนตื่นรู้กับการเรียนรู้ค่อนข้างมาก ต่างจากคราวก่อนเยอะมากครับ

และได้มืออาชีพอย่าง พี่ วอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei-- มาช่วย ยิ่งได้โอกาสสะกิดเรื่องการถอดรหัสความรู้จากปรากฏการณ์ชีวิตเข้มข้นมากขึ้น

ไว้โอกาสหน้า.......มาช่วยกัน ครับ

ครับ พี่ วอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei--

คิด เขียน อ่าน พูด
นี่คือทักษะที่ผู้นำนักเรียนต้องมี หรือผู้นำทุกระบบต้องมี ซึ่งในวัยของพวกเขา เราให้เขาเรียนรู้ผ่านกระบวนการมากกว่าการบอกเล่าเชิงทฤษฎีก็น่าจะเหมาะกว่า ผ่านกระบวนการแล้วค่อยร่วมสรุป เพื่อให้เขาเห็นว่ามันมายถึงอะไรบ้าง และนั่นคือเครื่องมือ หรือทักษะที่สำคัญที่ต้องทำไปใช้ต่อ

ขอบพระคุณที่มาหนุนเสริมร่วมกันนะครับ ช่วยให้การเรียนรู้ครั้งนี้มีมิติใหม่ๆ และมีพลังใหม่ๆ อย่างบอกไม่ถูก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท