​ชีวิตที่พอเพียง : 2851. ฉลองครบรอบ ๕๐ ปี แพทย์ศิริราช รุ่น ๗๑



แพทย์ศิริราชรุ่น ๗๑ ข้ามฟากปี ๒๕๐๕ จบการศึกษาปี ๒๕๐๙ แยกย้ายกันไปใช้ชีวิต ประกอบอาชีพ ทำคุณประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ต่างๆ กัน นัดพบปะสังสรรค์กันเป็นครั้งคราวดังเคยเล่าไว้ ที่นี่


ครบรอบ ๕๐ ปี เป็นเรื่องใหญ่ เพื่อน ๑๗ คนมาไม่ถึง ชิงขึ้นสวรรค์ไปก่อนแล้ว คนที่ชีวิตมาถึงจุดนี้ได้นับว่ามีบุญ ที่จริงปีที่แล้วเรานัดปาร์ตี้ครบรอบ ๕๐ ปี ไปครั้งหนึ่งแล้วที่สมุทรสงคราม ดังเล่าไว้ ที่นี่


คราวนี้ ระหว่างวันที่ ๒๑ - ๒๓ มกราคม ๒๕๖๐ ถือเป็นการฉลองใหญ่ มีการจัดทำหนังสือ ๕๐ ปี แพทย์ศิริราช รุ่น ๗๑ พ.ศ. ๒๕๐๙ - ๒๕๕๙เล่าเรื่องราวเก่าๆ และเรื่องราวชีวิตของแต่ละคน รวมทั้งรูปครอบครัว มีการจัดทำเสื้อรุ่น และนัดไปเที่ยวแถวสมุทรสงคราม เพชรบุรี ชะอำ หัวหิน ด้วยกัน และพักที่ โรงแรมสวนบวกหาด ชะอำ


หัวหน้าทีมจัดงานครั้งนี้ก็เป็นจันทพงษ์ วะสี เจ้าเก่า หนุนโดยวิเชียร ทองแตง ที่รวมทีมจัดทำหนังสือออกมาสาระดีมาก ไม่น่าเชื่อว่าจะสามารถฟื้นความจำขึ้นมาเขียนเรื่องราวสมัยเป็นนักศึกษาแพทย์ได้ละเอียดถึงขนาดนั้น ผมบอกจันทพงษ์ว่าหนังสือ ๕๐ ปี แพทย์ศิริราช รุ่น ๗๑ นี้ผมถือว่ามีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ จึงขอเสนอให้นำไปแขวนไว้บนอินเทอร์เน็ตให้คนค้นได้ เธอบอกว่าจะส่งให้ผมเอาขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย


เพื่อนที่มาร่วมงาน ๕๑ คน จากจำนวน ๙๖ คนที่ยังมีชีวิตอยู่ มาจากต่างประเทศ ๑๖ คน อยู่ในประเทศไทย ๓๕ คน (จากจำนวนทั้งหมด ๖๕ คน) โดยใน ๓๔ คนนี้บางคนเพิ่งกลับมาอยู่ประเทศไทย คนที่ป่วยมาก ๒ คนคือเป็นโรคพาร์คินสันก็ยังอุตส่าห์มา โดยต้องมีคนดูแลติดมาด้วย ทั้งสองคนเป็นผู้หญิง อีกคนหนึ่งเป็นโรคอัลไซเมอร์ ต้องมีเพื่อนคอยระวัง เพราะดูผิวเผินเหมือนคนปกติ แต่สักครู่ก็จะเกิดอาการหลงลืม ที่จริงน่าจะทุกคนแหละ (รวมทั้งผมด้วย) ที่มีอาการเช่นนี้ แต่ไม่รุนแรงเท่านั้นเอง


จำนวนคนที่มาร่วมน่าจะถึง ๘๐ เพราะมีครอบครัวมาด้วย ทำให้คึกคักทีเดียว


ผมไปกับสาวน้อย และเนื่องจากเพิ่งไปพักผ่อนที่ชะอำ ดังเล่าใน บันทึกนี้ เราจึงรู้เส้นทางและแวะไปซื้อห่อหมกปิ้ง และสั่งปูม้าต้มที่ร้านป้าฮี้ดเสียก่อน แล้วไปขอเช็คอินเข้าห้องก่อนเวลา ที่โรงแรมสวนบวกหาด ไปนอนพักเสียก่อนครู่หนึ่ง ก่อนเดินทางไปครัวป้าเฉลียว สถานที่กินอาหารเที่ยง ซึ่งเป็นภัตตาคารอาหารทะเลที่อาหารสดและอร่อย


กิจกรรมของงานฉลองมี ๖ อย่าง คือ เที่ยวด้วยกัน คุยกัน กินอาหารด้วยกัน ถ่ายรูปด้วยกัน ร้องเพลง และทำบุญให้เพื่อน (เสียชีวิตไปแล้ว ๑๗ คน) โดยพิธีทำบุญจัดที่ศิริราช เช้าวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๖๐ แต่ผมติดงาน


ในงานตอนกลางคืน มีคนไปร้องเพลงไม่ขาดสาย แล้วก็แตกตื่นกันเมื่อระวีวรรณผู้ป่วยเป็นโรคพาร์คินสัน ต้องนั่งรถเข็นและนั่งหน้าตายตามอาการโรค ไปร้องเพลง เพื่อนๆ จึงไปร่วมร้องเพลงเป็นกำลังใจกันมากมาย ถามได้ความว่าคนดูแลระวีวรรณชอบร้องเพลง ในที่สุดก็ชวนระวีวรรณร้องเพลง ซึ่งเท่ากับเป็น music therapy ไปในตัว


เท่ากับเป็นการเล่าเรื่องราวของชุมนุมคนแก่ ทุกคนต่างก็ตระหนักว่า ฉลองครบรอบต่อไป คือ ๖๐ ปี จะเหลือสมาชิกน้อยกว่านี้มาก และที่เหลืออยู่คงจะไปทำอะไรเปิ่นๆ ในฐานะคนแก่สมองเสื่อมมากยิ่งกว่าคราวนี้


อย่างกรณีเช้ามืดวันที่ ๒๒ ขจรออกจากห้องตอนตีสาม แล้วกลับห้องไม่ถูก ไปนั่งในชุดนอนอยู่ที่ล็อบบี้ จนเวลาเช้าหกโมงครึ่ง เพื่อนๆ ห้าคนรวมทั้งผมไปพบเข้า เจ้าหน้าที่ของโรงแรมจึงมารายงานว่าขจรเดินไปบิดลูกบิดเข้าห้องทุกห้อง ก็ยังเข้าไม่ได้ และไปนั่งรออยู่


เวลาอาหารเช้าของโรงแรมเริ่ม ๗.๐๐ น. เมื่อสาวน้อยกับผมลงไปเวลา ๗.๐๕ น. คณะของเราอยู่กันเต็มแล้ว สักครู่ระวีวรรณก็มาผมสังเกตเห็นชัดว่าหน้าคนเป็นโรคพาร์คินสันที่ไม่แสดงความรู้สึก (ภาษาวิชาการเรียกว่า หน้าสวมหน้ากาก - mask face) ของเธอมีประกายความสุขอย่างเห็นได้ชัด จึงเดินไปทักและชม เพื่อนๆ ทุกคนแสดงความเห็นด้วยอย่างเซ็งแซ่


ที่จริงความสูงอายุไม่ใช่ว่าจะทำให้ความสามารถหดหายไปทั้งหมดนะครับ ส่วนที่งอกงามยามชราก็มี ดังตัวอย่างความเป็นตากล้องมือดีของสุรพล อัครปรีดี


เดิมตากล้องประจำรุ่นเราคือประยูร ชยพฤกษ์ ซึ่งเวลานี้ก็ยังเป็น โดยถือกล้อง Cannon อันเบ้อเริ่ม แต่ในการชุมนุมรุ่นคราวนี้มีสุรพลขึ้นมาทาบ สุรพลถือกล้อง Leica ครบชุด ราคา $12,000 คิดเป็นเงินไทยกว่าสี่แสนบาท เสียดายที่ผมลืมขอดูรุ่นของกล้อง ทั้งของสุรพลและประยูร


ออกจากโรงแรมสวนบวกหาดตอน ๘ น. เราแวะไปที่ร้านครัวป้าฮี้ดที่สั่งปูไว้ รถแล่น ๑๕ นาทีก็ถึง คนขายบอกว่าวันนี้ปูมีน้อย พาไปจับปูที่ว่ายน้ำทะเลอยู่ในอ่าง แต่โดนจับมัดก้าม เขาเลือกตัวเมียมีไข่และเนื้อแน่นให้ แต่มีให้เลือกไม่มาก เราซื้อ ๒ กก. ราคากิโลละ ๕๐๐ บาท ค่านึ่งอีก ๔๐ บาท เริ่มด้วยเขาเอามีดแทงกรีดท้องให้ตาย วางบนรังถึง เหนือน้ำในหม้อนึ่ง ปิดฝา เปิดไฟ ๒๐ นาทีก็เสร็จคีบปูใส่ถุงพลาสติก แล้วห่อด้วยหนังสือพิมพ์สองชั้น ใส่ลงในถุงพลาสติกอีกที่ คนขายเล่าว่า เอาขึ้นเครื่องบินได้ ไม่มีกลิ่น แต่เราเอาใส่กล่องโฟม ปิดฝา ไว่ที่ท้ายรถ เมื่อถึงบ้านในกล่อมโฟมมีกลิ่นหึ่ง


ระหว่างรอนึ่งปู เราได้ยินเขาพูดกันเป็นภาษาใต้ ผมจึงแหลงใต้ด้วย คนร้านนี้ทั้งหมดมาจากบางสะพาน รวมทั้งเจ้าของคือป้าฮี้ดด้วย คนขายผู้หญิงคนหนึ่งอายุ ๗๑ อีกคนหนึ่งอายุ ๗๗ ได้ค่าจ้างวันละ ๒๐๐ บาทต่อคน


ออกจากร้านครัวป้าฮี้ด เรารีบบึ่งกลับกรุงเทพ เพราะสาวน้อยมีนัดปาร์ตี้กินอาหารเที่ยงกับเพื่อน ศิริราชรุ่น ๗๓ ที่ภัตตาคารพงหลี แต่เราก็แวะเข้าห้องน้ำ ที่ร้าน Fly Now เพชรบุรี และซื้อข้าวหลามเจ้าอร่อยกลับบ้าน กินกับขนมหม้อแกงแม่กิมไล้เพชรบุรีหน้าเขาวังอร่อยสุดๆ ร้านนี้ผ่านเพชรบุรีเราต้องแวะซื้อทุกครั้ง


ตอนเย็นวันที่ ๒๑ ผมพาสาวน้อยไปเดินอกกำลังที่ชายหาดริมทะเล ที่ชายหาดกว้างและสวยงามมาก เช้ามืดวันที่ ๒๒ ผมออกไปวิ่งคนเดียว ไปจนถึงโรงแรมเดอะ รีเจ้นท์ ชะอำ จึงได้ภาพสวยๆ มาฝาก



วิจารณ์ พานิช

๒๒ ม.ค. ๖๐



1 รูปหมู่ที่ร้านครัวป้าเฉลียว สุรพล อัครปรีดีเป็นช่างกล้อง



2 คนยืนคือวิเชียร ทองแตง คนศีรษะล้านคือ สมประสงค์ ส่งเจริง ประธานรุ่น



3 บรรยากาศช่วงกินอาหาร



4 กินอิ่มขอให้เพื่อนกว่าวกับเพื่อนๆ คนที่ยืนพูดคือธำรง บุญวิสุทธิ์



5 วิเชียรสัมภาษณ์มิตรา อินทุประภา



6 บรรยากาศช่วงอาหารค่ำ



7 ร้องเพลง



8 ถ่ายรูปหมู่



9 รูปหมู่



10 สนทนา



11 ระวีวรรณร้องเพลง



12 วงอาหารเช้าวันที่ ๒๒



13 ชายหาดกว้างและสวยงาม



14 ค่อนข้างเงียบสงบ



15 อาทิตย์อุทัย


16


17



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท