โรงเรียนดีชายแดน



โรงเรียนบ้านตะเคียนราม ตำบลตะเคียนราม อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ มีนักเรียนชั้น อนุบาล. ๑ - ม. ๓ จำนวน ๗๐๐ คน ครู ๔๐ คน ตั้งอยู่ชายแดนกัมพูชา ประชาชนเกือบทั้งหมดพูดภาษาเขมร มีชื่อเสียงในฐานะโรงเรียนที่พัฒนารูปแบบการเรียนรู้ได้ผลดีในเวลาอันสั้น ประมาณ ๒ ปี โดยใช้โมเดลการเรียนรู้ จิตศึกษา + PBL + PLC ตามแนวของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา


จากโรงเรียนที่นักเรียนเกเร ไม่มีวินัย ก้าวร้าว ไม่เอาใจใส่การเรียน ไม่อยากเรียน กลายเป็นโรงเรียนที่มีผลการเรียนดี นักเรียนกลายเป็นคนดี ด้วยวิธีการที่ไม่ยุ่งยาก คือให้นักเรียนเรียนเพื่อเป้าหมายเพียง ๒ อย่าง คือ ปัญญาภายนอก กับ ปัญญาภายใน


  • ปัญญาภายนอก เรียนเพื่อ อ่านจับใจความ เขียน คณิต ทักษะไอซีที ค้นความรู้ คิด (มีวิจาณญาณ คิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม) ทักษะชีวิตและอาชีพ ความร่วมมือ วิชาแกน


  • ปัญญาภายใน เรียนเพื่อ สติ รู้ทันอารมณ์ สมาธิ กำกับความเพียร จิตใหญ่ รักมหาศาล เคารพคุณค่าตัวเองและผู้อื่น รับผิดชอบตนเองและส่วนรวม เห็นความเชื่อมโยง อยู่อย่างภราดรภาพ


ถามว่าการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร คำตอบคือ จากภาวะผู้นำของผู้อำนวยการโรงเรียน นายอำนวย มีศรี ที่ต้องการพัฒนาคุณภาพโรงเรียน พัฒนาคุณภาพของนักเรียน และศรัทธาในแนวทางของครูใหญ่วิเชียร ไชยบัง โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา


เริ่มจากการพาครูทั้งโรงเรียนไปดูงานที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ให้้ห็นกับตาว่านักเรียนก็ลูกชาวบ้านเหมือนกัน แต่เขาสอนเด็กให้เป็นอย่างนั้นได้ เมื่อครูเห็นพ้องว่าเราก็น่าจะทำได้ ก็จัดฝึก ๕ - ๑๐ วัน เรื่อง จิตศึกษา PBL PLC แล้วกลับไปทำที่โรงเรียนเลย โดยมีทีมลำปลายมาศพัฒนาตามไปโค้ชบ้าง โดยในเชิงบริหารมีการเปลี่ยนโครงสร้างการทำงาน เปลี่ยนแผนงาน เปลี่ยนแผนการใช้เงิน ไม่ถึงสองปีก็เห็นผล โรงเรียน นักเรียน และครูเปลี่ยนแปลงมากมาย ครูกลายเป็นบุคคลเรียนรู้ในงานของตน โดยเรียนเป็นทีมผ่าน PLC


ฟังแล้ว ไตร่ตรองแล้ว ผมตีความว่า คนเราเมื่อปัญญาภายในแข็งแรง จะหนุนการพัฒนาปัญญาภายนอก ให้เกิดขึ้นโดยง่ายหรือโดยเป็นธรรมชาติ หรือกล่าวได้ว่า การพัฒนาปัญญาสองด้านเสริมส่งซึ่งกันและกัน โรงเรียนที่มุ่งพัฒนาแต่ปัญญาภายนอก เน้นที่การถ่ายทอดความรู้ จึงมักจะล้มเหลว



วิจารณ์ พานิช

๑๘ ม.ค. ๖๐


หมายเลขบันทึก: 622782เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2017 22:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2017 22:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท