อะไรคือ “ระบบคอมพิวเตอร์” ตามความหมายในกฎหมาย


ปรเมศวร์ กุมารบุญ

นักกฎหมายเทคโนโลยีและวุฒิวิศวกรไฟฟ้าสื่อสาร



หลังจากรัฐสภาได้พิจารณาจนประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ถือเป็นกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับแรกของไทย ที่สามารถดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำความผิดได้ แน่นอนครับคำว่า “โทษอาญา” ก็ไม่ต่างอะไรกับการลงโทษอาชญากร ซึ่งโทษทางอาญาของไทย มี 5 สถาน คือ ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ และริบทรัพย์ ช่างดูรุนแรงเสียนี่กระไร


หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบ และปรับปรุงให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ของสังคมและวัฒนธรรมไทยเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนในสังคมแล้ว ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติลงมติรับหลักการแห่งร่าง พรบ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ ดังกล่าวไว้พิจารณาแล้วได้ตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นคณะหนึ่งเพื่อพิจารณา โดยคณะกรรมาธิการได้ประชุมพิจารณารวมทั้งสิ้น 27 ครั้ง และได้เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อพิจารณาในวาระ 2 และวาระ 3 เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2550 และได้มีมติให้ผ่านร่าง พรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 128 ตอน 27 ก. ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2550


จะว่าไปแล้ว ดังที่เกริ่นตอนแรกเรื่อง “โทษอาญา” ตัวผู้เขียนเองเข้าใจไปว่าคือการใช้คอมพิวเตอร์ไปก่ออาชญากรรม เช่น การตั้งระเบิดเวลา การลักพาเด็ก การจี้ปล้น หรือการทำลายความมั่นคงของประเทศ


อันที่จริง พรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ ฉบับนี้ มีบทบัญญัติความผิดหลายประการก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการประกอบอาชญากรรม เพราะ พรบ. ฉบับนี้ มุ่งเน้นที่การคุ้มครองระบบคอมพิวเตอร์และข้อมูลคอมพิวเตอร์เป็นสำคัญ มิได้นำคอมพิวเตอร์ไปใช้เป็นการประกอบอาชญากรรมอย่างที่ผู้เขียนเข้าใจไปเองในครั้งแรก แต่เป็นอาญาแบบกฎหมายบัญญัติให้เป็นความผิดอาญา ที่เรียกเป็นภาษาละตินว่า Mala prohibita


ดังนั้นสุดท้ายในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ร่างกฎหมายฉบับนี้จึงใช้ชื่อว่า “ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ....” ต่างจากฝรั่งที่ใช้คำว่า “Cybercrime” ผู้เขียนเห็นด้วยที่เราไม่หลงไปทับศัพท์ตามฝรั่งเขา แต่ผู้เขียนไม่ชอบคำว่าความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์หรือาชญากรรมคอมพิวเตอร์เลยมันดูแคบไปสำหรับคำว่า cybercrime


สาระหลักของ พรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ ฉบับนี้ได้กำหนดความผิดเกี่ยวกับการทำเรื่องไม่ดีกับคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะกระทำกับคอมพิวเตอร์ของคนอื่นให้เสียหาย โดยมีหลักการคุ้มครองความปลอดภัยของระบบคอมพิวเตอร์ (Computer System) และข้อมูลคอมพิวเตอร์ (Computer Data) อีกทั้งให้ความสำคัญในการรักษาความลับ (Confidentiality) ความถูกต้องสมบูรณ์ (Integrity) และความพร้อมในการทำงาน (Availability) ของระบบคอมพิวเตอร์ และข้อมูลคอมพิวเตอร์ นอกจากนั้นยังเอาผิดกับการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่เหมาะสมในระบบคอมพิวเตอร์ รวมทั้งกำหนดอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ตามร่างพระราชบัญญัตินี้


มาตรา แรกๆ ใน พรบ. ฉบับนี้ที่เริ่มพูดเรื่องคอมพิวเตอร์ก็คือมาตรา 3 ซึ่งให้นิยาม “ระบบคอมพิวเตอร์” ไว้ในวรรคแรก ตัวผู้เขียนคิดว่ามีพื้นฐานทางวิศวกรรมคอมพิวเตอร์อยู่บ้าง ก็เงยหน้ามองฟ้าคิดไปก่อนว่าหมายความว่าอะไร แล้วก้มหน้ามาอ่าน พรบ. ฉบับนี้ก็รู้สึกว่าเข้าใจไม่ตรงกัน ซึ่งในกฎหมายท่านบัญญัติไว้ดังนี้ครับ

มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้

“ระบบคอมพิวเตอร์” หมายความว่า อุปกรณ์หรือชุดอุปกรณ์ของคอมพิวเตอร์ ที่เชื่อมการทำงานเข้าด้วยกัน โดยได้มีการกำหนดคำสั่ง ชุดคำสั่ง หรือสิ่งอื่นใด และแนวทางปฏิบัติงานให้อุปกรณ์หรือชุดอุปกรณ์ทำหน้าที่ประมวลผลข้อมูลโดยอัตโนมัติ”

ผู้เขียนเดาว่า นิยามของ “ระบบคอมพิวเตอร์” ในมาตรา 3 ของ พรบ. ฉบับนี้ น่าจะเอาความตามมาจาก Convention on Cybercrime บูดาเปสต์ 2001 ซึ่งเขาได้นิยาม Computer system ไว้ว่า

“Computer system means any device or a group of interconnected or related devices, one or more of which, pursuant to a program, performs automatic processing of data;”


ถ้าสรุปเป็นภาษาชาวบ้าน “ระบบคอมพิวเตอร์” หรือ Computer system ต้องมีองค์ประกอบดังนี้

  • อุปกรณ์อะไรก็ตามหรือชุดอุปกรณ์ที่เชื่อมการทำงานต่อกับคอมพิวเตอร์
  • มีชุดคำสั่ง (ภาษาชาวบ้านเรียก โปรแกรม หรือ Software หรือ Apps อะไรก็แล้วแต่) ซึ่งทำให้ประมวลผลได้โดยอัตโนมัติ

อธิบายเป็นความหมายเพิ่มเติมว่า “ระบบคอมพิวเตอร์” หมายถึงอุปกรณ์หรือชุดอุปกรณ์อะไรก็ตามที่มีโปรแกรมในตัว และสามารถประมวลผลเองได้โดยอัตโนมัตินั่นคือ “ระบบคอมพิวเตอร์” ตามความหมายในนิยามตาม พรบ. ฉบับนี้

ถ้าเราหลับตานึกถึงเครื่องคอมพิวเตอร์ทั่วไปไม่ว่า PC หรื Desktop เราก็จะเห็นว่ามันเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชนิดหนึ่ง ซึ่งเมื่อกดปุ่มเปิดเครื่องขึ้นมามันจะมีโปรแกรมที่เรียกว่า OS (Operation System) ประมวลผล และแสดงหน้าจออยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ทีนี้พอเรานึกถึงประโยคที่ว่า “Devices or a group of interconnected or related devices” แน่นอนย่อมมี “คีย์บอร์ด และเมาส์” แต่ถ้าหากเราไปทำลาย “คีย์บอร์ด และเมาส์” ของผู้อื่นเข้า ก็ไม่ถือว่าเป็นคนผิดตาม พรบ. ฉบับนี้ เพราะใน “คีย์บอร์ด และเมาส์” ไม่มีโปรแกรมที่ประมวลผลได้อัตโนมัตินั่นเอง แต่อาจจะเป็นความผิดทำให้เสียทรัพย์ตามกฎหมายแพ่งก็ว่ากันไป


ดังนั้น “ระบบคอมพิวเตอร์” ตามความหมายใน พรบ. ฉบับนี้ไม่ได้หมายความถึงเพียงแค่ เครื่องคอมพิวเตอร์ทั่วไปไม่ว่า PC หรือ Desktop แต่หมายความรวมถึง อุปกรณ์ทุกประเภท ที่มีหน่วยประมวลผลและมีโปรแกรมที่สามารถทำให้อุปกรณ์เหล่านั้นทำงานได้อัตโนมัติ ซึ่งรวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีไมโครคอนโทรลเลอร์ อาทิเช่น สมาร์ตโฟน โทรศัพท์เคลื่อนที่ แท็ปเล็ต ลิฟต์ในตึก บันไดเลื่อน กล่อง ECU ในรถยนต์ เป็นต้น รวมถึง Thumb drive หรือ External Hard disk ที่มีโปรแกรมที่สามารถประมวลผลให้ทำงานได้เองโดยอัตโนมัติอีกด้วย


Ref.

หมายเลขบันทึก: 621888เขียนเมื่อ 22 มกราคม 2017 00:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 มกราคม 2017 19:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท