​เรื่องเล่า ดร. ผึ้ง ตอน 8 What real-world skills do you have?​



What real-world skills do you have?


มีเพื่อนถามว่าทำอย่างไร จึงจะพัฒนาทักษะการสืบค้นข้อมูลได้ ซึ่ง ทักษะ กับความรู้นั้น ต่างกัน ในทัศนะของผู้เขียนมองว่า บุคคลหนึ่งคน สามารถแสวงหาความรู้ ถ่ายทอดความรู้ได้ ขณะเดียวกันความรู้ที่มีอยู่นั้น ก็สามารถถูกลืมเลือนไปได้เช่นกัน เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง (อ่านหนังสือเพื่อสอบ หลังสอบก็ลืม) แต่ “ทักษะ” นั้น เมื่อเกิดขึ้นกับผู้ใดแล้ว จะคงอยู่ตลอดไป ไม่ถูกลืมเลือนไปตามกาลเวลา เพียงแต่ถ่ายทอดไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งที่บุคคลคนหนึ่งต้องอาศัยความอดทน ความพยายาม ความมุ่งมั่น ทัศนคติที่ดี แรงจูงใจ ในการฝึกฝน ดังเช่น นักกีฬาดังระดับโลกหลายคน หรือนักดนตรี แม้กระทั่งผู้กำกับภาพยนต์ระดับโลก ต้องฝึกซ้อมทุกวัน วันละหลายชั่วโมง ในกรณีที่ความอดทนหมดไป (ซึ่งพบในคนหมู่มาก หรือแม้แต่ตัวผู้เขียนเอง) ก็ต้องอาศัย “วินัย” มาช่วยให้การฝึกฝนยังคงดำเนินต่อไป กระทั่งเกิดการพัฒนาทักษะ นั้นๆ


เมื่อเอ่ยถึง การพัฒนาทักษะ ไม่ว่าจะเป็นทักษะด้านใดก็ตาม คำว่า “พัฒนา” ให้ความรู้สึกเหมือนบางสิ่งหรือบางอย่างที่ต้องใช้ระยะเวลายาวนานจึงจะมีได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว “ทักษะ” สามารถเกิดขึ้นโดยแทบไม่ต้องใช้ความอดทนหรือระยะเวลาในการพัฒนาเลย (รู้ตัวอีกที ก็มีทักษะนั้นๆ แล้ว)


เหตุผลที่ผู้เขียนแสดงทัศนะเช่นนี้ เนื่องจากว่า “ทักษะ” คือสิ่งที่เราทำ หรือปฏิบัติทุกวัน ในงานที่เรารับผิดชอบ ในสิ่งที่เราทำ จนเราลืมนึกถึง ระยะเวลาที่เราใช้ในการพัฒนาทักษะเหล่านั้น


ตัวอย่างเช่น เมื่อผู้เขียน เริ่มต้นทำงานในช่วงแรกๆ ผู้เขียนไม่รู้เลยว่า “งานสืบค้นข้อมูล” ต้องทำอย่างไร จึงจะบรรลุวัตถุประสงค์ แล้วข้อมูลที่ได้มา ใช้ได้หรือไม่ เชื่อถือได้หรือไม่ ตลอดจนผู้เขียนไม่เข้าใจด้วยซ้ำ ว่าองค์กรคาดหวังอะไรจากตัวผู้เขียน


แต่เมื่อเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง ผู้เขียนก็เริ่มเข้าใจ ว่าต้องสืบค้นจากแหล่งใดบ้าง ต้องใช้ keyword คำไหน จึงจะได้มาซึ่งข้อมูลที่ต้องการ


บ่อยครั้ง ที่มีคนถามผู้เขียนว่า “สืบค้นมาได้อย่างไร” ผู้เขียนก็ตอบว่า ใช้ keyword ค้นหา แต่มีผู้ทรงคุณวุฒิบางท่าน ตั้งคำถามว่า “ใช้ keyword ตัวไหน จึงได้ ข้อมูล เหล่านี้มา” ผู้เขียนก็ตอบไม่ได้ อธิบายไม่ถูก พอนึกย้อนกลับไป ก็จำได้ว่า เวลาสืบค้นข้อมูล ผู้เขียน ใช้ความรู้สึก มากกว่าใช้ความคิด ซึ่งก็อาจเป็นไปได้ว่า ทักษะ เป็นเรื่องของ ”ความรู้สึก” มากกว่า “ความคิด”


หากพิจารณาโดยยึดหลักอิทธิบาท 4 ตามหลักพุทธศาสนา แล้ว แรกเริ่ม ผู้เขียนมี "ฉันทะ" เป็นทุนเดิม ชอบการทำงานที่เกี่ยวกับการสืบค้นข้อมูล ผ่าน search engine ชอบอ่าน ชอบค้น ไปเรื่อยๆ ต่อมา ผู้เขียน ใช้ “วิริยะ เพราะต้องทำแทบทุกวัน ช่วงแรกๆ อดนอน สืบค้น ค้นไม่เจอ ก็ไม่นอน (อาจจะเบียดเบียนตัวเองเกินไปหน่อย) นอนไม่หลับ เพราะค้างคาใจ ซึ่งช่วงเวลาที่สืบค้น ผู้เขียนต้องมีใจจดจ่อ มีสมาธิ (จิตตะ) เมื่อได้ข้อมูลมาแล้ว ผู้เขียนต้องมานั่งอ่าน นั่งเปรียบเทียบ (วิมังสา) พิจารณาว่าข้อมูลนี้ เชื่อถือได้หรือไม่


  • ฉันทะ อาจจะคล้ายๆ พรสวรรค์ หรือกรรมเก่า (รู้สึกชอบโดยไม่มีเหตุผล อยากที่จะทำ โดยไม่มีใครชี้แนะ อยากทำ ทั้งๆ ที่ก็ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร)
  • ส่วน วิริยะ จิตตะ วิมังสา คงคล้ายกับพรแสวง


การเลือกใช้ keyword นั้น ไม่มีตำรา หรือแนวทางเขียนไว้ เป็นชิ้นเป็นอัน ว่าควรเลือกใช้ keyword อย่างไร มีเพียงวิธีการ กรอก keyword ให้ถูกต้อง ตรงกับเงื่อนไขการสืบค้นของฐานข้อมูลนั้นๆ (ตัวอย่าง ISI web of science กรณีที่ต้องการสืบค้นโดยชื่อผู้นิพนธ์ ให้ใส่ นามสกุลตามด้วย อักษรตัวแรกของชื่อตามด้วยเครื่องหมายดอกจัน เช่น Smith J* ส่วนถ้าเป็น keyword ก็สุดแท้แต่จะผู้สืบค้นจะคิดและกรอกลงช่องที่กำหนด)


โดยหลักแล้ว keyword หรือ คำสำคัญ ที่ใช้สำหรับสืบค้นนั้น จุดมุ่งหมาย ก็เพื่อให้คนทั่วไป เข้าถึงข้อมูล คล้ายกับ จูนคลื่นให้ตรงกัน แต่ก็มีเจ้าของผลงาน หรือผู้ให้ข้อมูลบางส่วน ที่ไม่ได้กำหนด keyword อย่างตรงไปมา คล้ายกับปริศนา ที่ผู้สืบค้นต้องใช้ความพยายามในการขบคิด หรือบางกรณีอาจเป็นไปได้ว่า ผู้ที่ให้ข้อมูล ไม่อยากให้ข้อมูลเผยแพร่มากนัก เหล่านี้ก็มี เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จะสืบค้นข้อมูลไม่พบ ทำให้หลายครั้งผู้เขียนเองต้องนึกถึง คำสำคัญคำอื่น ที่ beyond keyword อีกชั้นหนึ่ง (เดาใจผู้ให้ข้อมูล ว่ากำหนด keyword ไว้อย่างไร)


ที่เล่ามานี้เป็นประสบการณ์การพัฒนาทักษะด้านการสืบค้นข้อมูลของผู้เขียนเอง


ขอย้อนกลับมาที่ระบบการศึกษาในปัจจุบัน ที่ผู้เขียนมองว่า การศึกษาในบ้านเรานั้น เน้นการท่องจำและการทำข้อสอบ แข่งขันตอบปัญหา แข่งขันงานวิชาการ ตลอดจนการทำกิจกรรมหลายอย่าง ดนตรี กีฬา เพื่อบรรจุไว้ในประวัติการศึกษา (เด็กหนึ่งคน มีประวัติครบทุกด้าน ดนตรี กีฬา ศิลปะ) สำหรับนำไปต่อยอดให้เด็กได้รับโอกาสในด้านต่างๆ มากขึ้น ได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น (มุ่งเน้น การให้ได้มาซึ่ง “ความรู้” มากกว่า ทักษะ) เด็กรุ่นใหม่ๆ มีทักษะในการทำข้อสอบ มีทักษะในการแข่งขันเชิงวิชาการ แต่ขาดทักษะในการเรียนรู้ด้วยตนเอง แม้จะได้งานตรงกับสาขาที่เรียนมา แต่ก็ยังต้องเรียนรู้ด้วยตนเองอีกมาก ความรู้ในมหาวิทยาลัยแทบจะไม่ได้ถูกนำมาใช้เลย เพราะส่วนใหญ่ประยุกต์ใช้ไม่เป็น (ความรู้ในตำรา เป็นความรู้ที่ไม่มีชีวิต อยู่อย่างไรก็อยู่อย่างนั้น หากไม่ถูกนำมาประยุกต์ใช้)


ผู้เขียนทำนายว่า ในศตวรรษที่ 21 คนที่มี “ทักษะ” มีโอกาสจะได้งานทำ มากกว่า คนที่มี “ความรู้” ดังนั้น หากเด็กยังมุ่งเน้นแสวงหาความรู้เพียงอย่างเดียว โดยไม่ฝึกฝนพัฒนาทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือไม่พัฒนาทักษะเฉพาะด้าน ก็เป็นไปได้ว่า จะตกไปอยู่ในกลุ่ม “ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด” เหตุที่ผู้เขียนแสดงทัศนะเช่นนี้ เนื่องจากปัจจุบัน หลายองค์กร เริ่มแสวงหาพนักงานที่มี “ทักษะเฉพาะด้าน” ตรงกับที่องค์กรต้องการ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนองค์กร ให้สามารถเผชิญความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ตลอดจนปัจจัยภายนอกอื่นๆ เพื่อการดำรงอยู่ขององค์กรในระยะยาว ส่วน “ทักษะท่วมหัว เอาตัวไม่รอด” ....ผู้เขียนยังไม่เคยได้ยิน






ภาพประกอบจาก internet




อย่างไรก็ตาม "ความรู้" ก็เป็นสิ่งสำคัญ เปรียบเสมือนแผนที่ หรือเข็มทิศ คอยชี้นำทิศทาง ทักษะ เพียงอย่างเดียว หากขาดความรู้ หรือศาสตร์ในแขนงนั้น ก็อาจทำให้การพัฒนาทักษะผิดเพี้ยนไปจากที่ควรจะเป็น เปรียบเสมือนกับหลงทิศ ไปผิดทาง ซึ่งทักษะที่ไม่ถูกต้อง หากได้รับการพัฒนาไปแล้ว ก็ยาก ที่จะลบเลือนออกไปจากสมองได้ เปรียบเสมือนตอกเสาเข็มผิดที่ผิดตำแหน่ง ตั้งแต่แรกเริ่ม เพราะขาดความรู้


เพิ่มเติม ผู้เขียนเชื่อว่า

  • ทักษะ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ โดยการลงมือปฏิบัติเพียงครั้งเดียว เหมือนปั่นจักรยาน กว่าจะปั่นได้อย่างคล่องแคล่ว ทรงตัวได้ ก็ล้มลุกคลุกคลาน หัวเข่าถลอก ข้อศอกเป็นแผล
  • ไม่มีใครฉลาดกว่าใคร ทุกคนสามารถเรียนรู้ ฝึกฝนทักษะนั้นๆ ได้ เพียงแต่ “ใช้ระยะเวลาในการเรียนรู้ ฝึกฝน ไม่เท่ากัน”
  • คนที่มีทักษะเชิงตรรกะ (คณิตศาสตร์) ไม่ได้เป็นคนที่ฉลาดกว่าคนที่มีทักษะทางดนตรี กีฬา ศิลปะ เพียงแต่ที่ผ่านมา สังคมมักชื่นชม คนที่มีทักษะเชิงตรรกะ ว่าเป็นคนฉลาด เป็นคนเก่ง


ผู้เขียนอาจจะมีทักษะด้านการสืบค้นข้อมูล แต่ปัจจุบัน ผู้เขียนยังขาดทักษะด้านการเขียน และต้องฝึกฝนอีกมาก





ภัทรพร คงบุญ

ร่างครั้งที่ 1 18 ธันวาคม 2559 (ICCU ศิริราช)

ร่างครั้งที่ 2 2 มกราคม 2560

ปรับปรุง แก้ไข เพิ่มเติม 16 มกราคม 2560

หมายเลขบันทึก: 621686เขียนเมื่อ 17 มกราคม 2017 21:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มกราคม 2017 21:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท