จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๘๓: วัฒนธรรมการ "เฉย"


จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๘๓: วัฒนธรรมการ "เฉย"

การกระทำ หรือ deeds นั้น คนเราอาจจะคิดว่าต้องมีการ "ลงมือ" กระทำเท่านั้นถึงจะเป็นการกระทำ ถึงจะเป็นกรรม และเกิดวิบาก (ผลแห่งกรรม) ตามมา ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด เพราะ "การไม่ทำอะไร (doing nothing)" ก็เป็นการกระทำอย่างหนึ่งเหมือนกัน และก็อยู่ภายในกฎแห่งกรรม (law of karma) คือ ทำให้เกิด "วิบาก" ตามมาด้วย

ปัญหาอยู่ที่ เมื่อเปรียบเทียบทุกอย่างมีน้ำหนักเท่าๆกัน คนเราจะรู้สึกยอมรับวิบากที่เกิดจากการไม่กระทำ ได้ง่ายกว่าที่เกิดจากการกระทำ ซึ่งเป็นที่มาของพฤติกรรม "เฉย" ในการมอง รับรู้ หรือแม้กระทั่งการแก้ไขปัญหาต่างๆ

คงจะมีหลายๆสาเหตุที่ทำให้ "เฉย" มีความ popular พอสมควร สาเหตุหนึ่งได้แก่ ถ้าไม่เฉย แต่ต้องลงมือทำนั้น มักจะต้องอาศัย "ความกล้า" หรือไม่ก็ต้องอาศัย "การเอาชนะความกลัว" ด้วย ซึ่งไม่ง่ายนัก Mark Twain เคยกล่าวว่า "Courage is not the absence of fear. But to recognize there are somethings more important than our fear." ความกล้านั้นมิใช่การปราศจากความกลัว หากแต่เป็นการรับรู้ถึงอะไรที่สำคัญต่อชีวิตเราใมากกว่าเรื่องที่เรากลัว

"ทุกๆครั้งที่เราต้องใช้ความกล้า เราพึงตระหนักว่าเรากำลังอยู่ใกล้ชิดกับคุณค่าบางประการที่เราให้ความสำคัญมากที่สุด และถ้าหากเรารู้ เราสามารถที่จะมองเห็นต้นทุนของชีวิตเราได้ดียิ่งขึ้น"

เวลาเราจะช่วย empower คนไข้ ที่พึงประสบความพิการ ความพร่องของชีวิต เราต้องตระหนักว่าคนเหล่านี้น่าจะกำลังมึความกลัวเกิดขึ้น วิธีแก้ไม่ใช่เป็นการไปบอกให้คนเหล่านี้เลิกกลัว หากแต่เราต้องสะท้อนให้เห็นว่า ยังมีเรื่องราวสำคัญอื่นๆที่หากคนเหล่านี่มองเห็น รับรู้ ทั้งๆที่ยังมีความกลัวอยู่ ก็คุ้มค่าที่เอาชนะความกลัวเหล่านั้น ไม่ทำไม่ได้แล้ว (I cannot not do it)

การนิ่งเฉย ปล่อยให้เวลาผ่านไป อาจจะช่วยให้เราไม่ต้องใช้พลังงานมากนัก ไม่ต้องทำให้เราไปเสียเวลาหาคุณค่าอะไรที่สำคัญในชีวิตของเรา รออีกสักพัก เรื่องราวดำเนินต่อไป เดี๋ยวปัญหาต่างๆมันคงจะคลี่คลายไปเอง ระบบคิดแบบนี้อาจจะไม่ work ดีมากนัก เพราะเราจะไม่ได้ทำอะไรกับปัญหานั้นเลย เราจะเริ่มจัดการกับปัญหาได้ ก็ต่อเมื่อ "คนทุกๆคนที่เกี่ยวข้อง ต้อง -เห็น- ปัญหานั้นก่อน"

empowerment จึงต้องเริ่มที่ insight ก่อน ให้คน "เห็น" ปัญหาให้ได้ เห็นแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ พูดถึงมัน คิดถึงมัน และหาทางป้องกัน แก้ไข เยียวยามัน

การนิ่งเฉยจะตัดวงจรการเยียวยาออกไปอย่างสิ้นเชิง

Edmund Burge เคยกล่าวว่า "The only thing evil wants to prevail is that good men do nothing." สิ่งเดียวที่ความชั่วช้าทั้งหลายต้องการให้เกิดขึ้นเพื่้อมันจะได้ชัยชนะก็คือ ขอเพียงพวกคนดีอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไร" ก็แค่นั้น ที่เหลือมันจัดการของมันเอง

ดังนั้น การนิ่งเฉยก็ดี การกวาดขยะเข้าใต้พรมก็ดี conspiracy of silence ก็ดี การพูดไม่ออกได้แต่กลอกหน้าก็ดี เป็น welcome card ของพวกปิศาจ และความเลวร้ายทั้งมวล

นพ.สกล สิงหะ
หน่วยชีวันตาภิบาล รพ.สงขลานครินทร์
วันพฤหัสบดีที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๖๐ เวลา ๑๔ นาฬิกา ๕๖ นาที
วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนยี่ ปีวอก

หมายเลขบันทึก: 621369เขียนเมื่อ 12 มกราคม 2017 15:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มกราคม 2017 15:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท