Physical Therapy Direct Access


นักกายภาพบำบัดไทยมีอำนาจในการรับดูแลผู้ป่วยโดยตรง (Direct Access) มาตลอดทั้งพฤตินัยและนิตินัย อำนาจนี้ต้องแลกด้วยเดิมพันที่ใช้ความรู้ ความรับผิดชอบ และความรอบคอบสูงมาก

เมื่อวานได้รับข้อความทางไลน์จากพี่ที่นับถือว่า คุณแม่ของท่านหกล้มตั้งแต่เช้าและไม่ยอมลุกจากเตียงทั้งวัน

คุณยายอายุมากกว่าแปดสิบปี ไม่บ่นเจ็บปวดบริเวณใด ไม่มีแผลหรือแม้แต่รอยฟกช้ำบนผิวหนัง แต่รู้สึกว่าขาข้างหนึ่งขยับยากเลยไม่อยากลุก แต่นั่งบนเตียงแบบเอนๆได้

ขอปรึกษาเราในฐานะนักกายภาพบำบัด ที่คุณยายเชื่อถือ (หลายเรื่องอาจจะเชื่อและฟังมากกว่าลูกหลานพูดเอง)

เมื่อฟังอาการตอนแรก และได้ถามเพิ่มเติมก็คิดไปต่างๆหลายทาง

1. คุณยายไม่ได้เป็นอะไร แต่ดื้อและอาจจะงอแง โดยเฉพาะเมื่อทุกคนมารุมล้อมให้ความสนใจ หากได้คุยกันดีๆสักพักก็น่าจะยอมลุกขึ้นเดินปร๋อเหมือนเดิม

2. บาดเจ็บนิดหน่อย แบบเคล็ดขัดยอก ประคบเย็นสักวันสองวัน ทานยาแก้ปวด ก็น่าจะดีขึ้นเอง

3. มีกระดูกหักแบบไม่มีแผลเปิด ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ ต้องพบแพทย์ ออร์โธปิดิกส์เพื่อ X-ray ดูรอยหักและคุยทางเลือกการรักษา

คิดแล้วเป็นไปได้ทั้งสามทางด้วยความน่าจะเป็นตามลำดับ วิธีจัดการก็ต่างกันโดยสิ้นเชิง และเพราะได้รู้จักคุณยายมานานพอควร ใจจึงเอนเอียงไปทางสมมติฐานแรกมากที่สุด

เมื่อเวลาก็ค่ำแล้ว ไม่สะดวกที่จะเดินทางไปหาผู้ป่วย การซักถามประวัติจากทั้งคุณยายเองและลูกหลาน ก็ยังคิดว่าไม่น่ามีอะไรมาก แต่มาสะดุดใจกับคำบอกเล่าหนึ่งของญาติคือ รู้สึกว่าเท้าของขาข้างขยับยากนั้นเย็นกว่าอีกข้าง

บอกคุณยายไปทางโทรศัพท์ว่า พรุ่งนี้จะไปเยี่ยม รักษาให้และจะพายืนเดิน (เหมือนที่เคยทำในครั้งก่อนๆที่คุณยายเคยปวดส่วนอื่นของร่างกาย) แต่คุณยายต้องไปโรงพยาบาลเพื่อ X-ray สะโพกก่อน

คุณยายอิดออดมากพอสมควร เพราะกังวลว่าหมอจะกักตัวไว้ให้นอนที่โรงพยาบาล เฝ้าบ่นแต่ว่า ขยับขาซ้ายไม่ได้จริงๆจะไปขึ้นรถอย่างไรไหว จนต้องบอกวิธีการพยุงลุกขึ้น ใช้รถเข็นหรือเดินไม่ลงน้ำหนักข้างที่สงสัยเพื่อไปที่รถ จนในที่สุดคุณยายยอมไป

สองสามชั่วโมงต่อมา ลูกสาวของคุณยายก็ส่งภาพเอ็กซเรย์ที่เห็นกระดูกสะโพกหักมาให้ดูทางไลน์

นึกขอบคุณตัวเองที่ไม่หลงมั่นใจกับความคิดแว่บแรกที่ว่า คุณยายไม่ได้เป็นอะไร แค่ดื้อหรืองอแงตามประสาคนแก่

นึกขอบคุณที่ตั้งใจฟังและฉุกคิดถึงอาการบางอย่างและความเสี่ยงที่เป็นไปได้ของกระดูกหัก เช่น ขาแข็งขยับไม่ได้ เท้าเย็นกว่าอีกข้าง

แล้วนึกไปถึงกรณีคนแก่ที่นักกายภาพบำบัดคนอื่นๆไปเยี่ยมบ้าน จะมีกี่คนที่อาจวินิจฉัยผิดพลาดจากอาการและอาการแสดงที่คลุมเครือของผู้ป่วย และมั่นใจในความคิดของตัวเอง พาคนไข้ยืนเดิน ออกกำลังกายหรือเคลื่อนไหวหนักๆ หรือทำอะไรอื่นๆ

นึกไปถึงกรณีที่น่ากลัวกว่านั้น เช่นถ้าญาติพาคนแก่กรณีคล้ายกันนี้ไปรักษาอย่างอื่นเช่น การนวด ดัดดึงทั้งหลาย

นักกายภาพบำบัดไทยมีอำนาจในการรับดูแลผู้ป่วยโดยตรง (Direct Access) มาตลอดทั้งพฤตินัยและนิตินัย

อำนาจนี้ต้องแลกด้วยเดิมพันที่ใช้ความรู้ ความรับผิดชอบ และความรอบคอบสูงมาก

เรามีความรู้ ความรับผิดชอบ และความรอบคอบมากแค่ไหน

เราต้องตอบตัวเอง ผู้รับบริการของเรา และสังคมให้ได้


หมายเลขบันทึก: 621356เขียนเมื่อ 12 มกราคม 2017 06:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มกราคม 2017 05:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

So it is important that Thai PT needs to learn how to differential diagnosis to help them assess the patients effectively and to protect and prevent their patients from incorrect diagnosis. Check out on this book Primary care for the physical therapist: examination and triage by William Boissonnsult. This is a wonderful book that will help physical therapists go through the direct access process with confidence.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท