"การทำ คือ กาลธรรม"




ทางศาสนาพุทธ นักบวชมักจะโน้มน้าวชาวบ้านให้หันมาปฏิบัติธรรม ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่า "ธรรม" เอาไว้ทำอะไร ไม่มีรายได้อะไรจากธรรม ในขณะชาวบ้าน ชาวเมือง รุ่งเรืองเรื่อง "ตัณหากรรม" หรือ "ราคกรรม" หมายถึง เน้นการกระทำในเรื่องธุรกิจ รายได้ เงินทอง ข้าวของ เพื่อสนับสนุนชีวิต ให้อยู่รอดปลอดความอดอยากบนโลก ในห้วงของชีวิตนี้

ความจริงกับความเห็นมักจะขัดแย้งกันเสมอ ถ้าวัดบริสุทธิ์ใจ ไม่ต้องโฆษณาล่าศรัทธาชาวบ้าน ในขณะเดียวกัน ศรัทธา ปัญญา เจตจำนงของชาวบ้านก็ถูกกระแสโลกนิยม ถาถมกระหน่ำ จนหู ตา มืดมน อนธการ ไม่รู้ว่า อะไรผิด (ธรรม) อะไรธรรม (ธรรม) เพราะยึดเอามาตรฐานอัตตา เป็นพื้นฐานในการแสดงออก และกลายเป็นสิทธิอันชอบธรรม (ตามนิติรัฐ หรือนิติสิทธิ์) ที่จะทำ และไม่ทำอะไร ตามที่ศาสนาหรือกฎหมายบอกไว้

มันอาจเป็นเหตุให้จิตใจผู้คนยุคนี้ กล้าหาญ กล้าแยกแตกต่างจากศาสนา นิติรัฐ นิติธรรม โดยมุ่งเน้นสิทธิ เสรีภาพ สิทธิด้านปัจเจกบุคคล สิทธิมนุษยชน เป็นพื้นฐาน การแสดงออกและการปกป้องตนเอง ครั้นเมื่อเขาประสบปัญหาภัยต่างๆ เช่น จิตวิการ กายวิกล ก็เที่ยวบน พ่นคำออกมาว่า ศาสนา ธรรม สังคม กฎหมาย ไม่ได้ช่วยอะไรเท่าที่อ้างเลย

ที่จริงต้องแยกให้ออกว่า "กฎของธรรมหรือธรรมชาติและกฎของกรรม" มีเส้นแบ่งที่บางมาก อาจลื่นไหลไปหากันได้ กล่าวคือ กฎของธรรมชาติในชีวิต มีเกิดเบื้องต้น เติบโต แก่ชรา และสิ้นสลายไป ปรากฎการณ์นี้ ไม่ได้มีผู้กำหนดตรงๆ หรือชัดเจนในเชิงรูปธรรม แต่เราก็รู้กันทั่วไปว่า เป็นกฎธรรมชาติ กฎนี้คือ แม่แบบหรือต้นแบบของกฎแห่งกรรม (กระทำ)

กฎแห่งกรรมคือ การแสดงหรือสำแดงออกของก้อนธรรมชาติที่มีร่างกายเป็นเครื่องมือ ในการแสดงออก พลังที่อุดหนุนการกระทำคือ พลังงานของกาย พลังงานของเจตนา หากมองลึกลงไปอีกจะพบระบบกลไกวิทยา (ประสาท) ระบบแรงโน้มถ่วง (หัวใจ) แรงดึงดูด (น้ำหนักตัว) เป็นพลังที่อยู่เบื้องหลังของกรรมผล เหล่านี้

ในทางศาสนาพุทธมองเอาแค่ กายกรรม วาทกรรม และมโนกรรม เป็นเครื่องหมายให้รู้ว่า กาย ปาก ใจ ได้สำแดงออกมา แล้วเกิดผลวิบากคือ ดี ไม่ดี กลางๆ เป็นต้น และการกระทำของก้อนชีวิตนี้ มันก็ไปสอดคล้องหรือล้อกับกฎแม่แบบคือ กฎแห่งธรรมชาติ เริ่มตั้งแต่การตื่นนอน การทำกิจส่วนตัว การอาบน้ำ การกินข้าว การทำงาน การพักผ่อน สันทนาการ การสืบพันธุ์ ฯลฯ ล้วนอยู่กรอบของอาการธรรมชาติทั้งสิ้น

ดังนั้น ก้อนของร่างกาย จึงเป็นก้อนกรรม ก้อนผล ก้อนธรรมไปด้ว

ยเสมอ ท่านพุทธทาสกล่าวว่า "การทำงานคือ การปฏิบัติธรรม" ถูกต้อง แต่จะให้ถูกต้องจริงๆ ตามพุทธุดมคติ คือ ต้องมีธรรมกำกับและมีเป้าหมายในธรรมเป็นที่สุด ทีนี้ ชีวิตของมนุษย์ โดยเฉพาะปัจจุบัน มันได้เปลี่ยนกิจกรรมชีวิตไปสู่รายได้ ธุรกิจ เพื่อความอยู่รอดแล้ว การจะบอกว่า การทำงาน คือ การทำธรรมนั้น คงจะหมายเอา ธรรมที่เป็นอกุศลเป็นแน่แท้ ส่วนกุศลที่มีเจตนาเพื่อมรรค เพื่อผลนั้น ลดลง ทั้งนี้ เหตุผลเดียวคือ "ความอยู่รอด"

ถ้าการอยู่รอด อุดมไปด้วยอกุศล ความเขลา ความมืดบอด ความอยาก กิเลสาสวะทั้งหลาย กำเริบขึ้น ก็คงไม่รอดภพ ไม่รอดวัฎฎะแน่นอน นี่คือ คติทัศน์ของผู้คนยุคนี้ ที่คิดสั้นๆ แค่เดี๋ยวนี้ ปัจจุบันนี้ แต่ไม่รู้ว่า นิพพาน เดี๋ยวนี้ ขณะนี้คือ อะไร -- ขอจบด้วยปัญหาว่า "คิดสั้น จะได้ยาว คิดยาว จะได้สั้น"



หมายเลขบันทึก: 621237เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2017 12:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มกราคม 2017 12:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท