​จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๘๒ : ความสุจริตกับการเป็นแพทย์


จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๘๒ : ความสุจริตกับการเป็นแพทย์

วิทยาศาสตร์การแพทย์มีเรื่องของ hard sciences และ soft sciences เนื้อหา hard sciences ได้แก่เนื้อหาในส่วนชีววิทยา เคมี อายุรศาสตร์ ที่เกี่ยวกับงานอาชีพโดยตรง และเนื้อหา soft sciences ได้แก่ จริยธรรม EQ MQ คือการเติบโตเป็นมนุษย์ที่มีประโยชน์ต่อสังคม

จริยธรรมหรือจริยศาสตร์ ไม่ใช่มีเพื่อความฟรุ้งฟริ้ง โลกสวย หรือเพื่อโบกธงความเป็นคนดีใส่ใคร หรือยัดเยียดกฎเกณฑ์ต่างๆใส่ใคร แต่เป็นศาสตร์พื้นฐานที่จะอยู่ร่วมกันได้ ดูแลกันและกันได้ ไม่เบียดเบียนกันตามลักษณะเผ่าพันธุ์มนุษย์ที่เป็นสัตว์สังคม สำหรับ "ความสำเร็จ" ของวิชาชีพแพทย์นั้น เราต้องการ "อภิสิทธิ์เบื้องต้น" หลายประการเป็นปัจจัยพื้นฐาน อาทิเช่น การได้ประวัติที่ละเอียด ถูกต้อง และบางเรื่องเป็นเรื่องส่วนตัว เรื่องที่อาจจะน่าละอายที่จะเล่า การได้ตรวจร่างกายอย่างละเอียด ชนิดที่คนที่สนิทชิดเชื้อที่สุดของคนไข้ก็อาจจะไม่เคยได้สัมผัสขนาดนั้นมาก่อน การได้ใช้เครื่องมือเครื่องไม้หลากหลายชนิดเข้าไปตรวจตามช่องต่างๆของร่างกายให้ได้ข้อมูลมากที่สุด ทั้งหมดนี้เพื่อการวินิจฉัย และการวางแผนเยียวยาให้สำเร็จ

วินิจฉัยไม่ได้ หรือวินิจฉัยผิด ก็รักษาไม่ได้ หรือรักษาผิด

ดังนั้นความสัมพันธ์ที่แพทย์ต้องมีกับคนไข้ ต้องถึงระดับที่เอาชนะความละอาย ความกลัว ความกังวล ความเศร้า ความโกรธ ความหวาดระแวงแคลงใจ นี่ไม่ใช่ความสัมพันธ์ธรรมดาๆ ต้องใช้ทั้งทักษะ ความรู้ในการสื่อสาร และที่สำคัญที่สุดคือ "จริยะ" ของแพทย์
จริยะ ว่า เราสัมภาษณ์ ตรวจร่างกาย เพื่อจะบรรเทาทุกข์
จริยะ ว่า เรานั้นไว้เนื้อเชื่อใจได้ ไม่ไปบอกเล่าความลับให้ใครฟัง
จริยะ ว่า ประโยชน์สูงสุดนั้นคือเพื่อคนไข้ ไม่ใช่เพื่อตัวเราเอง
จริยะ ว่า เราจะสื่อสารด้วยความจริง
จริยะ ว่า เราจะเคารพ ไม่ตัดสินชีวิต และจะทำทุกวิถีทางเพื่อเขา/เธอ
จริยะ ว่า เราคำนึงถึงความยุติธรรม

และเรามีเวลาประมาณ ๖ ปี ที่จะปลูกฝังสิ่งเหล่านี้ ให้กับนักศึกษาที่เข้ามาเรียนเป็นแพทย์ เป็นเวลาที่ไม่สั้น แต่ก็ไม่ยาวนัก

จริยะ ไม่ใช่เรื่องที่สอนโดยการบรรยาย จดเลกเชอร์ แต่เกิดจากการหล่อหลอมประสบการณ์ชีวิตจริงๆเข้ากับคนๆหนึ่งทีละน้อยๆ ดังนั้นการจัดการเรียนการสอนในเรื่องนี้ ต้องใช้ "บริบทแวดล้อม" ของช่วงชีวิตการศึกษาเป็นหลักสำคัญ และสำหรับมนุษย์แล้ว บริบทแวดล้อมที่สำคัญที่สุด ไม่ใช่ตึกรามบ้านช่อง ไม่ใช่ห้องเลกเชอร์ที่อลังการ แต่เป็น "คน" ซึ่งทุกๆโรงเรียนแพทย์มีอยู่แล้ว

ในด้านหนึ่ง เรามี "ครู" คือ คนไข้และครอบครัว ที่มาหาเราด้วยความทุกข์นานาประการ เป็นพื้นที่สำคัญที่จะเรียนเรื่อง empathy คือความเห็นอกเห็นใจ การรับรู้อารมณ์ความรู้สึกยากๆหลายประการ เป็นพื้นที่จะสร้างความเมตตา กรุณา สงสาร และความรัก

ในอีกด้านหนึ่ง เรามี "ครู" คือ อาจารย์แพทย์ พยาบาล รุ่นพี่แพทย์ และบุคลากรสุขภาพมากมายหลายสาขา ที่จะสำแดงพฤติกรรม "ที่พึงปราถนา" อย่างมืออาชีพ เมื่อเราเชื่อมโยงครูกลุ่มแรกเข้ากับครูกลุ่มหลังนี้เอง จะเกิดเป็น "สถานที่แห่งสัปปายะ" หรือสถานที่ที่เอื้อต่อการบำเพ็ญภาวนา ปลูกฝังเมล็ดพันธุ์แห่งความเมตตา กรุณา ความรัก นั่นคือ "ต้นกล้าแห่งจริยะความเป็นแพทย์" ให้งอกงาม

มีบริบทที่เอื้อที่จะงอกงามก็ไม่พอ ต้องกำจัด "วัชพืช" หรืออุปสรรคที่จะทำให้จริยะเจริญเติบโตออกไปด้วย
จริยะ ไม่เอื้อ ถ้าเราจะตรวจร่างกาย ซักประวัติ เพื่อให้ตัวเราเก่งเท่านั้น ดูดีเท่านั้น
จริยะ ไม่เอื้อ ถ้าเราปากพล่อยเอาความลับของคนไข้ไปพูดในที่ต่างๆ
จริยะ ไม่เอื้อ ถ้าเราทำสิ่งต่างๆเพื่อหาเงิน เพื่อหาเครื่องอำนวยความสะดวกให้กับตัวเราเอง เพื่อแสวงหากำไรมากกว่าเพื่อการเยียวยา
จริยะ ไม่เอื้อ ถ้าเราไม่หัดพูดความจริงกับคนไข้
จริยะ ไม่เอื้อ ถ้าเราเต็มไปด้วยทัศนะแห่งการด่วนตัดสินคน judge คน และตีคุณค่าของคนอื่นๆ ด้วยมุมมองของเราอยู่ตลอดเวลา
จริยะ ไม่เอื้อ ถ้าเราฝักใฝ่กับฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่ง

พื้นที่ที่จะบ่มเพาะจริยะ ต้องชัดเจนว่าอะไรที่ยอมรับได้ และอะไรที่ยอมรับไม่ได้ในการเป็นแพทย์ และเน้นในเรื่องนี้ทุกครั้ง ทุกโอกาส ไม่คลุมเครือ Ethics ไม่จำเป็นต้องลงเอยเป็นสีเทาเสมอไป (แม้นว่าหลายๆเรื่อง จะไม่ขาว/ดำ ชัดเจนก็ตาม) แต่หลายๆเรื่องนั้นชัดได้ ก็ต้องทำให้ชัด เช่น การเห็นแก่อามิสสินจ้าง เห็นแก่เงิน จนถึงขั้นยอมกระทำทำผิดกฎหมายอาญาบ้านเมือง เรื่องนี้เป็นอาชญากรรม

สถานที่ที่ทำให้เรื่องที่ควรจะชัดให้กลายเป็นเรื่องลึกลับ ไม่พูดกัน ไม่เปิดเผย ไม่ทำให้ชัดเจน จะส่ง wrong message ว่า เรากำลังปกปิด หรือร้ายไปกว่านั้นคือสมรู้ร่วมคิดกับผู้กระทำผิด เรากำลังทำให้วิชาชีพ "ไม่สุจริต" ซึ่งจะส่งผลกระทบไปทั้งวงการ

อย่าทำแบบนั้น

นพ.สกล สิงหะ
หน่วยชีวันตาภิบาล รพ.สงขลานครินทร์
วันจันทร์ที่ ๙ มกราคม ๒๕๖๐ เวลา ๘ นาฬิกา ๔๙ นาที
วันขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือนยี่ ปีวอก

หมายเลขบันทึก: 621231เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2017 08:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มกราคม 2017 08:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท