ปรัชญาตะวันออก : ​ปรัชญาจีน (Chinese Philosophy)


ปรัชญาตะวันออก : ปรัชญาจีน (Chinese Philosophy)

9 มกราคม 2560

ศาสนาในยุคโบราณของชาวจีนเชื่อว่าตามธรรมชาติต่างๆล้วนแต่มีเทพเจ้าสิ่งสถิตอยู่ ถ้ามนุษย์ทำให้เทพพอใจ ก็จะทรงประทานสิ่งที่ดีงามให้ แต่ถ้าไม่ทรงโปรดก็จะทรงบัลดาลให้มีภัยพิบัติต่างๆ ความจริงความเชื่อแบบนี้ก็มีอยู่ทั่วไปในทุกประเทศ ทั้งนี้ก็เพราะมนุษย์ยังขาดความเข้าใจในเรื่องธรรมชาติ จึงพากันสร้างเทพเจ้าหรือพระเจ้าขึ้นมา จากความไม่เข้าใจของตนแล้วก็พากันบูชาสิ่งที่ตนสร้างขึ้นมานั่นเอง

มีแต่พระมหากษัตริย์เท่านั้นที่สามารถทำการบูชาเซ่นสรวงจอมเทพได้ กษัตริย์จึงเป็นศาสนาจารย์โดยปริยาย ทำให้ศาสนาตกอยู่ในอำนาจการเมือง ไม่สามารถแยกตัวเป็นสถาบันอิสระ พระจึงไม่มีอำนาจเหมือนศาสนาอื่น

ปรัชญาจีนให้ความสำคัญที่ตัวมนุษย์ และความสำคัญของมนุษย์ก็อยู่ที่เป็นคนดี มีความรู้และบำเพ็ญประโยชน์ให้แก่สังคมตลอดทั้งโลก ความรู้ที่ปรัชญาจีนเน้นก็เฉพาะความรู้ที่สามารถทำให้คนเป็นคนดีมีคุณธรรมเท่านั้น

ปรัชญาจีนเกิดขึ้นมาในสมัยปลายพุทธกาล โดยมี 2 สำนักใหญ่ๆ ได้แก่ สำนักเหลาจื้อ คือ ปรัชญาเต๋า กับสำนักขงจื้อ คือปรัชญาขงจื้อ ต่อมาปรัชญาทั้ง 2 สำนัก ได้แตกตัวออกไปเป็นสำนักต่างๆอีกมากมาย

หลิวซิน (B.C 46-23) นักประวัติศาสตร์ แบ่งสำนักปรัชญาจีนโบราณเป็น 10 สำนัก โดยประกอบด้วย 6 สำนัก ได้แก่ (1) สำนักอินหยาง หรือ หยิน-หยาง (yin-yang) ที่เกี่ยวพันกับ สำนักเต๋า (เหลาจื้อ) สำนักนี้กล่าวถึงจักรวาลโดยแยกสรรพสิ่งเป็น 2 ขั้ว สัมพันธ์กันและมีปฏิกิริยาต่อกัน ทั้งในลักษณะร่วมมือกันและต่อต้านกัน และก่อเกิดผลเป็นปรากฏการณ์อย่างที่เห็น อิน แทนหญิง หยาง แทนชาย (2) สำนักหยู หรือ ขงจื้อ (3) สำนักม่อ (4) สำนักหมิงหรือนามอภิปรายแยกแยะชื่อ ความสัมพันธ์ระหว่างชื่อ และความเป็นจริง (5) สำนักกฎหมาย (6) สำนักคุณธรรมหรือเต๋า และเพิ่มอีก 4 สำนักได้แก่ (7) สำนักแนวดิ่งแนวขวาง มีขอบเขตความสนใจอยู่ในเรื่องการต่างประเทศ (8) สำนักผสมผสานหลายแนวคิด (9) สำนักการเกษตรและ (10) สำนักเล่านิทาน แต่มี 5 สำนักข้างต้นซึ่งเป็นสำนักคิดที่แพร่หลายและเป็นกระแสหลักของปรัชญาจีนโบราณที่ยังคงมีอิทธิพลในปัจจุบัน

นักปรัชญาจีนคนสำคัญ

ปรัชญาจีนที่สำคัญมี 8 คน ได้แก่ (1) ขงจื้อ (Confucius) (2) เม่งจื้อ (Meng Tzu or Mencius) (3) ซุ่นจื้อ (Hsün Tzu) (4) หยางจื้อ (Yang Tzu) (5) ม่อจื้อ (Mo Tzu) (6) เหลาจื้อ (Lao tzu) (7) จวงจื้อ (Zhuangzi) (8) ฮั่น เฟ่ย จื้อ (Han Fei Tzu)

สำนักหยู หรือสำนักขงจื๊อหรือลัทธิขงจื๊อ (Confucianism)

สำนักปรัชญาขงจื้อมีความเห็นว่า ขนบธรรมเนียมโบราณที่ดีงามมีอยู่มาก ควรที่จะได้ฟื้นฟูเรื่องที่ดีงามนั้นขึ้นมาใหม่ แล้วนำมาเป็นหลักประพฤติปฏิบัติ พวกที่มีความเห็นอย่างนี้ก็มีขงจื้อ เม่งจื้อ เป็นตัวแทน มีปราชญ์อื่นที่สำคัญได้แก่ สวินจื่อ, ตุงจุงซู

ขงจื๊อ, ขงจื้อ, ขงจื่อ, ขงฟู่จื่อ, ข่งชิว[1] (Confucius) (B.C.551 - 479)

ผู้ยึดมั่นในระเบียบแบบแผน งานทางด้านการเขียนของขงจื๊อปรากฏอยู่ในหนังสือ สังเขปการสอนของขงจื๊อ หรือที่จีนเรียกว่า “หลุน-อฺวี่” เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับบันทึกและเรื่องราวต่าง ๆ เช่น คำพูด คำสอนของขงจื๊อและกิจกรรมต่าง ๆ ที่ลูกศิษย์ของท่านได้ช่วยกันรวบรวมขึ้นหลังจากการจากไปของขงจื๊อส่วนวรรณกรรมที่ท่านได้รวบรวมขึ้นมีดังนี้ (1) ชุนชิว (2) ซือจิง (3) ซูจิง (4) อิ้จิง (5) หลี่จี้

เม่งจื๊อ, เม่งจื้อ, เมิ่งจื่อ, ม่านจื้อ [2] (Meng Tzu) หรือในทางตะวันตกรู้จักในชื่อ เมนเชียส (Mencius) (B.C. 372 - 289 หรืออาจราว B.C.385 - 303/302)

เป็นนักปรัชญาชาวจีน เป็นคนเมืองจูทางตอนใต้ของมณฑลชานตง เม่งจื๊อได้รับถ่ายทอดแนวความคิดของขงจื๊อมาจากหลานชายของขงจื๊อเอง จึงถือว่าเป็นลูกศิษย์ของขงจื๊อคนหนึ่ง แนวคิดของเม่งจื๊อ กล่าวว่า “โดยธรรมชาติแล้ว มนุษย์ทุกคนมีพื้นฐานเป็นคนดีมาแต่กำเนิด แต่สิ่งแวดล้อมที่ไม่ดีต่าง ๆ ทำให้คนเราเปลี่ยนแปลงไป”

ซุนจื๊อ, ซุ่นจื้อ, สวินจื่อ [3] (Hsün Tzu) (B.C. 312–230)

เป็นนักปรัชญาชาวจีน เป็นสานุศิษย์ของขงจื๊อเช่นเดียวกับเม่งจื๊อ เขาเป็นคนเมืองเชาซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของมณฑลหูเป่ย กับมณฑลซันซี มีชื่อว่ากวง แต่เป็นที่รู้จักในชื่อ ซุน ชิง (Hsun Ching) พออายุได้ 50 ปี เดินทางไปศึกษาที่รัฐชี เขาบันทึกแนวคิดของเขาเป็นความยาว 32 บท

แนวคิดของเขาที่ปรากฏในหนังสือชื่อ ซุนจื๊อ เห็นว่า “ตามธรรมชาติแล้วมนุษย์ชั่วร้าย ซึ่งเกิดจากอารมณ์มีความต้องการอยากที่จะได้ เพื่อที่จะขจัดความชั่วร้าย มนุษย์จะต้องปฏิบัติตนอยู่ในกรอบแห่งข้อบังคับของสังคม ความดีงามและการศึกษาก็มีส่วนช่วยทำให้มนุษย์เป็นคนดีได้เช่นกัน”[1] แนวคิดของเขาตรงกันข้ามกับเม่งจื๊อ โดยถ้าเปรียบเทียบเม่งจื๊อเป็นขาว ซุนจื๊อก็เป็นดำ นอกจากนี้เขายังปฏิเสธสิ่งที่เหลือเชื่อ ที่ไม่สามารถพิสูจน์ด้วยหลักเหตุและผล จัดได้ว่าเขาเป็นผู้ยกย่องความเป็นเหตุเป็นผลด้วยผู้หนึ่ง

หยางจื้อ (Yang Tzu) [4] (B.C. 440–360, B.E. 103-183)

เป็นชาวเมืองเจา ปัจจุบันคือมณฑลชานสีเชื่อกันว่าหยางจื้อเป็นเจ้าชายในสายราชวงศ์โจว ส่วนประวัติอื่นๆไม่ปรากฏแน่ชัด เป็นปรัชญาสายที่แตกออกมาจากปรัชญาของเหลาจื้อ โดยถือว่าเต๋าเป็นพลังธรรมชาติที่มืดบอด สร้างสิ่งต่างๆอย่างไม่มีแผนการ เป็นปรัชญาเต๋าลักษณะวัตถุนิยม

(1) ปรัชญาชีวิต หยางจื้อเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างรวมทั้งการเป็นไปของชีวิตขึ้นอยู่กับชะตากรรมไม่มีอะไรสามารถฝืนชะตากรรที่ ได้ และยังสอนว่าเมื่อยังมีชีวิตควรตักตวงหาความสุขให้เต็มที่โดยมีวิธีการหาความสุขดังนี้ (1) ตัดความกลัวทุกอย่างไปให้หมด (2) เน้นรูปธรรมมากกว่านามธรรม (3) เน้นสิ่งที่หาง่ายมากกว่าสิ่งที่หายาก (4) เน้นปรกติธรรมดากว่าการต่อสู้แข่งขันกัน

(2) ปรัชญาสังคมและการเมือง หยางจื้อมีความเห็นว่าคนเราจะมีความสุขได้ก็ต้องมีความอิสรเสรีไม่ตกอยู่ในอำนาจใดๆ ดังนั้น จารีตประเพณี ศีลธรรม กฎหมาย และข้อบังคับต่างๆไม่จำเป็นต้องมีเพราะจะเป็นการพันธนาการคนให้หมดอิสรภาพเป็นการขัดขวางความสุขของคน

นอกจากนี้ยังมีหลักที่ว่าไม่เสียสละให้ใครแต่ก็ไม่เรียกร้องให้ผู้อื่นเสียสละให้ตนเช่นกัน สรุปปรัชญาหยางจื้อ สอนให้คน รักตน รักษาผลประโยชน์ของตน มุ่งแสวงหาความสุขที่แน่นอนมาให้ตนโดยพยายามทำตนให้พ้นจากความกลัว ความวิตกกังวล และ กฎเกณฑ์ทั้งหลาย อย่าไปทำลายด้วยการเบียดเบียนผู้อื่นและเมื่อไม่ไปเบียดเบียนผู้อื่นก็ไม่มีใครทำลายความสุขของตนเช่นกัน

สำนักม่อ

สำนักปรัชญาม่อจื้อมีความเห็นว่า เรื่องที่ล่วงมาแล้วก็เหมาะกับคนสมัยนั้น ไม่ควรรื้อฟื้นขึ้นมาอีก ควรจะหาอะไรใหม่ๆที่เหมาะสมมาเป็นหลักยึดเหนี่ยวจะดีกว่า พวกที่มีความเห็นอย่างนี้มี ม่อจื้อ เป็นตัวแทน

ม่อจื๊อ, ม่อจื้อ, ม่อจื่อ, บั๊คจื๊อ [5] (Mo Tzu) (B.C. 480–420 or B.E. 74-153)

เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน เป็นนักปรัชญาชาวจีน นับได้ว่าเป็นคู่แข่งผู้หนึ่งของขงจื๊อ หลักคำสอนของม่อจื๊ออยู่ในหนังสือที่มีชื่อเดียวกับชื่อของเขา คือ ม่อจื๊อ ประกอบด้วยข้อเขียน 53 บท เป็นทั้งข้อเขียนของเขาเองและที่สานุศิษย์ช่วยกันเรียบเรียงต่อเติม และมามีอิทธิพลเหนือชาวจีนหลังจากที่เขาตายไปแล้วประมาณ 500 ปี

สาระสำคัญของคำสอนของม่อจื่อมี 8 ประการ ได้แก่ (1) ความรักแบบเสมอภาค ไม่แยกเขาแยกเรา (2) ต่อต้านการทำสงครามรุกราน (3) การเลือกคนดีมีความสามารถไว้ใช้งานโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ (4) การปกครองต้องมีผู้นำ (5) การใช้จ่ายอย่างประหยัด (6) ต่อต้านการจัดงานศพแบบใหญ่โตและไว้ทุกข์ยาวนาน (7) ต่อต้านการดนตรี และ (8) ต่อต้านความเชื่องมงาย [6]

สำนักเต๋า หรือสำนักคุณธรรม (Taoism also called Daoism)

สำนักปรัชญาเต๋ามีความเห็นว่า ขึ้นชื่อว่าคนนั้นยุ่งเหยิงไม่มีที่สิ้นสุดเป็นที่ตั้งแห่งปัญหาทั้งปวง ยิ่งคิดยิ่งทำอะไรมากก็ยิ่งยุ่งมาก จะแก้ไขอย่างไรก็ไม่มีที่สิ้นสุด สู้ปล่อยไปตามธรรมชาติ สนับสนุนให้เข้าหาธรรมชาติจะดีกว่า นักปรัชญาที่เด่นดังที่มีความเห็นอย่างนี้ก็มีเหลาจื้อ จวงจื้อ เป็นตัวแทน

เป็นสำนักความคิดไปในทางธรรมชาตินิยมและเสรีนิยม อิทธิพลของปรัชญาเต๋าต่อคนจีน อาจไม่กว้างขวางเท่าปรัชญาของสำนักหยู แต่แนวคิดสำนักเต๋าเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางในหมู่ศิลปินและนักวิชาการ แนวคิดเต๋าทำให้ปรัชญาจีนมีความลึกซึ้งและความงดงามมากขึ้น

เล่าจื๊อ,เหลาจื้อ, เหลาจื่อ [7] (Lao tzu; also Lao Tse, Laotze, Lao Zi) เป็นคนรุ่นราวคราวเดียวกับขงจื่อ

มีคัมภีร์เต๋าเต็กเก็ง หรือ เต๋าเตอะจิง (Tao Te Ching) หรือ เต้า-เต๋อ-จิง” (Dao-De-Jing) [8] ที่แปลว่าเป็น “Old Master” ที่เน้นหลักธรรมชาติและการไม่กระทำ ที่ถือเป็นตำราอมตะ (Chinese classic text)

เป็นนักปราชญ์ที่มีชื่อเสียงชาวจีนที่สุดท่านหนึ่งของชนชาติจีน ที่เชื่อกันว่าอาศัยอยู่ในช่วง 400 ปี ก่อนคริสต์ศักราช ในช่วงของสงครามปรัชญา และสงครามการเมืองยุคชุนชิว เล่าจื๊อได้เขียนตำราอันเป็นแบบแผนในทางเต๋า นั่นคือ “เต๋าเต็กเก็ง” (Tao Te Ching) ซึ่งเป็นผลงานทางลัทธิเต๋าที่ยังคงตกทอดมาถึงยุคปัจจุบันนี้ เล่าจื๊อเป็นนักปราชญ์ที่เชี่ยวชาญทางเต๋า ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ดาราศาสตร์

เต๋าเตอะจิง มีสาระสำคัญดังนี้ (1) เต๋าเป็นที่มาของสรรพสิ่งไม่มีรูปลักษณ์ มองไม่เห็น สัมผัสไม่ได้ ไม่มีเสียง ไม่มีรส เป็นสภาวะที่มัวๆซัวๆ ไม่สามารถอธิบายได้ ไม่ขึ้นกับกาลเวลาและอยู่ในสภาพเช่นนั้นชั่วกาลนาน (2) ขัดแย้งตรงกันข้าม เปลี่ยนแปลงไปมา ทุกสิ่งทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่างขัดแย้งและตรงกันข้าม (3) ทำโดยไม่ต้องทำ ปล่อยตามธรรมชาติ ธรรมชาติคือธรรมชาติ ไม่มีเป้าหมาย ไม่รับการควบคุมจากใคร ทุกสิ่งทุกอย่างก่อเกิด เจริญเติบโต ล้วนแล้วเป็นไปตามธรรมชาติ (4) ไม่แย่งชิงแสวงหาความเงียบสงบ [9]

จวงจื้อ, จวงจื่อ [10] (Zhuangzi) เป็นจอมปราชญ์จีน มีชีวิตเมื่อประมาณ 2,300 ปีที่ล่วงมา (B.C. 369 – 286) ตรงกับยุคจั้นกว๋อ

ท่านเป็นปราชญ์ใหญ่ผู้รังสรรค์แนวคิดอมตะที่ถูกจัดอยู่ในสำนักคิดปรัชญาเต๋า เป็นปราชญ์รุ่นหลังเล่าจื๊อ ผู้รจนาคัมภีร์เต้าเต๋อจิง (แต้จิ๋ว: เต๋าเต็กเก็ง)ได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในสามจอมปราชญ์แห่งสำนักคิดฝ่ายเต๋า จวงจื่อได้สืบทอดและพัฒนาต่อยอดแนวคิดของเล่าจื๊อ แนวคิดของท่านถูกรวบรวมไว้ในชื่อหนังสือ ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับท่าน คือ จวงจื่อ

งานเขียนที่สำคัญคือหนังสือชื่อ “จวงจื่อ” เนื้อหาของหนังสือเป็นการเล่านิทานเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับคนและสัตว์ที่มีเนื้อหาเป็นการสอนคุณธรรมจริยธรรม ีสาระสำคัญคือกล่าวถึงการใช้ชีวิตที่สุขสบายคือการทำตัวให้สอดคล้องกับธรรมชาติไม่แสวงหาลาภยศ สรรเสริญ ไม่ผูกมัดตัวเองด้วยหน้าที่การงาน ปล่อยตัวตามสบาย ไม่ยอมรับหลักเรื่องความขัดแย้งตรงกันข้าม อย่างที่เหลาจื่อกล่าวอ้าง [11]

สำนักการทหาร

สำนักคิดที่ดูเหมือนว่าไม่เกี่ยวกับปรัชญาแนวคิดอะไรเลยคือสำนักยุทธศาสตร์การทหาร แต่ในความเป็นจริงเป็นแนวคิดที่เต็มไปด้วยปรัชญาและปัญญาแนวคิดยุทธศาสตร์การทหารเกิดขึ้นในยุคชุนชิวจั่นกั๋วหรือยุคสังคมแตกแยกทางความคิดและสงครามแย่งชิงอำนาจแย่งชิงดินแดนเกิดขึ้นเป็นประจำ นักคิดในสำนักนี้คนสำคัญได้แก่ ซุนอู่ (ซุนวู) อู๋ชี่ และ ซุนปิ้น แนวคิดด้านยุทธศาสตร์การทหารนี้ นอกจากจะเป็นประโยชน์ในด้านการทหารแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อกิจการด้านอื่นอีกด้วย เช่น การปกครอง การบริหาร การเศรษฐกิจ การประเมินในทัศนะของซุนอู่มี 5 ปัจจัยด้วยกันที่ต้องดำเนินการ ได้แก่ มรรค ฟ้า ดิน นายทหาร และกฎระเบียบ [12]

สำนักกฎหมาย หรือ สำนักหลักปรัชญานิตินิยม (Legalism)

สำนักปรัชญานิตินิยมมีความเห็นว่า ธรรมชาติดั้งเดิมของคนมีแต่ความชั่วร้าย จึงจำต้องใช้อำนาจและกฎหมายมาเป็นเครื่องควบคุม พวกที่มีความเห็นอย่างนี้มี ฮั่น เฟ่ย จื้อ เป็นตัวแทน

สำนักกฎหมาย จัดได้ว่าเป็นสำนักคิดที่มีอิทธิพลมากต่อสังคมจีน จัดได้ว่าเป็นแนวคิดกระแสหลักแนวคิดหนึ่ง นอกจากหยูและเต๋า เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นในยุคจั่นกั๋วหรือยุคสงครามแย่งชิงดินแดน เป็นยุคที่บ้านเมืองไม่ปรกติ วุ่นวาย เป็นยุคต้นของระบบศักดินาในจีน เป็นยุคของการพัฒนาจากการปกครองโดยจารีตประเพณีไปสู่การปกครองโดยกฎหมาย ก๊กทั้งหลายได้มีการเขียนกฎหมายขึ้นมาเป็นกติกาในการปกครองมากมาย โดยเฉพาะในยุคราชวงศ์ฉินมีการประกาศใช้กฎหมายดังต่อไปนี้ กฎหมายว่าด้วย นา รัษฎากร การเกณฑ์แรงงาน กิจการทหาร โจรลักขโมย นักโทษ การจับกุม เครื่องกล ทะเบียนบ้าน การก่อสร้างเบ็ดเตล็ด เป็นต้น

นักคิดที่สำคัญในสำนักนี้มีมากมาย เริ่มตั้งแต่ ก่วนจง (B.C. 725 - 645) หลี่ขุย (B.C. 455-395) เซิ่นเต้า (B.C. 395-315) ซังยัง (B.C. 390 – 338) เซินปู้ไห้ (B.C. 385-337) หลี่ซือ (B.C. 380-208) และหันเฟย (B.C. 280 –233) โดยเฉพาะหันเฟย เป็นบุคคลในสำนักนี้ที่โดดเด่นมาก [13] ซังยังและหันเฟย เชื่อว่ามนุษย์มีพื้นฐานดั้งเดิมชั่วร้ายและต้องใช้กฎหมายควบคุม

ฮั่น เฟ่ย จื้อ, ฮั่นเฟยจื๊อ, หายเฟย, หาน เฟยจื่อ [14] (Han Fei Tzu) (ca. 280-233 B.C.)

เป็นเชื้อพระวงศ์ของรัฐหาน เป็นคนติดอ่างพูดไม่เก่ง แต่มีความเชี่ยวชาญในการเขียนหนังสือ หานเฟยเป็นนักปรัชญาชาวจีนสายนิตินิยมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุครณรัฐยุคจ้านกว๋อ (475-221 B.C.) หานเฟยเป็นนักปรัชญาในสำนักหลักปรัชญานิตินิยม (Legalism) เป็นศิษย์ของสวินจื่อ หรือเรียกอีกชื่อว่านักปรัชญาหยู ต่อมาได้เสนอหลักการปกครองโดยใช้หลักนิติธรรม ให้ทุกคนต้องอยู่ใต้กฎหมาย และตั้งโรงเรียนนิติธรรมขึ้น หานเฟยได้เรียบเรียงแนวคิดการปกครองของตนเป็นข้อเขียนขึ้นมาทั้งสิ้น 55 บท มีชื่อว่า “หานเฟยจื่อ” เพื่อให้เหมาะสมกับการแก้ปัญหาสังคมการเมืองในยุคนั้น ทว่างานเขียนเหล่านี้ไม่ได้รับความสนใจในรัฐหานเท่าใดนัก แต่กลับเป็นที่นิยมในรัฐฉินหรือจิ๋น ซึ่งเป็นรัฐที่เข้มแข็งเกรียงไกรในสมัยนั้น และเมื่อตอนเจ้านครรัฐฉิน (ก่อนจะเป็นจิ๋นซีฮ่องเต้) ได้ยกทัพไปบุกรัฐหาน เจ้านครรัฐหานจึงจัดส่งหานเฟยจื่อไปเป็นทูตพิเศษไปรัฐฉินเพื่อแสวงหาสันติภาพ เจ้านครรัฐฉินก็ถูกใจในความคิดของหานเฟยจื่อเป็นอย่างมาก จึงเทียบเชิญหานเฟยจื่อ ดำรงตำแหน่งเสนาบดีที่รัฐฉิน แต่หลีซือ เป็นศิษย์ของสวินจื่อและเป็นศิษย์รุ่นน้องของหานเฟยจื่อ ณ เวลานั้นก็ดำรงตำแหน่งเสนาบดีอยู่ที่รัฐฉิน ทราบถึงความปรีชาสามารถของหานเฟยจื่อซึ่งสูงส่งกว่าตน ด้วยความอิจฉาริษยา จึงได้ทูลข้อมูลเท็จ ใส่ร้ายป้ายสีหานเฟยจื่อต่อเจ้านครฉิน ทำให้หานเฟยจื่อต้องติดคุกและถูกฆ่าตายด้วยการวางยาพิษในอาหาร (234 B.C.)

สังคมในอุดมคติของหานเฟยจื่อ (1) ต้องบังคับพลเมืองให้ทำกสิกรรม และบุกเบิกผืนแผ่นดินเพื่อ เพิ่มพูนโภคทรัพย์ของพลเมือง (2) กำหนดการลงโทษ และดำเนินการลงโทษเพื่อควบคุมคนเลว (3) กำหนดให้มีการเก็บภาษีอากร บรรจุยุ้งฉาง และท้องพระคลังให้เต็ม เพื่อขจัดความอดอยากและเลี้ยงกองทัพ (4) จัดให้มีการฝึกฝนวิชาการรบให้แก่ทุกคน และให้หมั่นฝึกซ้อมจนชำนาญ เพื่อว่าพลเมืองจะได้ช่วยกันป้องกันบ้านเมืองเมื่อถูกรุกราน [15]

หานเฟยจื่อ เป็นบุคคลผู้มีความรู้อย่างกว้างขวาง ถึงแม้ว่าท่านจะถูกจัดให้เป็นนักปรัชญาสำนักนิติธรรม แต่ท่านก็มีลักษณะหลายประการที่เป็นผู้นิยมลัทธิเต๋า ที่สำคัญที่สุดนั้นคือ ท่านเป็นผู้มีความคิดสนับสนุนคำสอนเรื่อง หวู เว่ย โครงการทางการเมืองของฮั่นเฟยจื๊อนั้น อาจพอสรุปได้ดังนี้ (1) การปกครองโดยมีกษัตริย์ เป็นผู้มีอำนาจอันสิทธิขาด โดยใช้อำนาจผ่านทางระบบราชการ (2) แต่ละท้องถิ่นต้องมีความสามารถในทางเศรษฐกิจพอเพียงที่จะเลี้ยงตนเองได้ (3) มีการบริหารโดยใช้กฎหมายที่เข้มงวด มีการปูนบำเหน็จรางวัลและการลงโทษ ที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน [16]

จุดเด่นของแนวคิดหันเฟยในเรื่องการปกครองโดยกฎหมายคือ เขาเห็นว่า กฎหมาย ศิลปะ และอำนาจ เป็นสิ่งที่ต้องใช้แบบผสมผสานกัน หันเฟยเห็นว่านักคิดแนวกฎหมายคนอื่นๆ เช่น เซินปู้ ไห้เห็นความสำคัญของศิลปะ แต่ไม่เห็นความสำคัญของกฎหมาย ซังยังเห็นความสำคัญของกฎหมาย แต่ไม่เห็นความสำคัญของศิลปะ หันเฟยเห็นว่าในการปกครองจะต้องประยุกต์รวมทั้ง 3 อย่างเข้าด้วยกัน คำสอนของหันเฟยเป็นการเสนอแนะแนวทางในการปกครองสำหรับผู้ปกครองในแนวเผด็จการ เพราะเชื่อว่าธรรมชาติของมนุษย์นั้นร้าย คำสอนของหันเฟยเป็นการรวบรวมเอาแนวคิดของนักปราชญ์สำนักกฎหมายต่างๆ ก่อนยุคราชวงศ์ฉินผสมผสานเข้าไว้ด้วยกันเป็นแนวคิดใหม่และเจ้าผู้ครองก๊กฉินได้นำไปปฏิบัติ ทำให้เกิดผลเป็นการเปลี่ยนแปลงสังคมจีนอย่างกว้างขวางและลึกซึ้ง เป็นยุคที่แนวคิดสำนักกฎหมายเฟื่องฟูมากที่สุดในประเทศจีน แต่แนวคิดสำนักกฎหมายก็ไม่สามารถรักษาอำนาจของราชวงศ์ฉินให้ยาวนานได้ เนื่องจากการปกครองที่เข้มงวด และการใช้อำนาจลงโทษอย่างรุนแรงต่อข้าราชการและประชาชน ทำให้ข้าราชการและประชาชนยอมรับระบอบดังกล่าวไม่ได้ [17]

ซางยาง, ซางหยาง, ซังยัง [18] (Shang Yang) (B.C. 395-338)

เป็นนักปรัชญาเด่นในสำนักนิตินิยม แห่งแคว้นเว่ย เน้นเรื่อง “ฝ่า” (Fa) หรือ “กฎหมาย” สำคัญที่สุด เป็นผู้บัญญัติกฎหมายใหม่ๆ กำหนดทั้งคุณและโทษสำหรับผู้ทำตามและผู้ล่วงละเมิด ให้ความยุติธรรมทั่วหน้า ปฏิรูปทุกอย่าง ตั้งแต่วินัยในกองทัพ จนถึงการเช่าที่ดิน และเป็น ผู้เผยแพร่เรื่อง “ศิลปะแห่งการทำกสิกรรมและการทำสงคราม” ซางหยางรังเกียจพวกนักปราชญ์ ลัทธิขงจื๊อ เพราะไม่ได้ทำประโยชน์อะไร

ผู้เบิกทางให้จักรพรรดิ์จิ๋นซีฮ่องเต้ ในการปฏิรูปสองครั้ง [19]

การปฏิรูปครั้งที่หนึ่ง หลักสำคัญ คือ การปฏิรูปของซางยาง หลังจากนโยบายกระจายไปทุกหย่อมหญ้าสำริดผลในรัฐฉิน ปี 356 ก่อนคริสต์ศักราช ฉินเสี้ยวกงแต่งตั้งซางยางขึ้นเป็นเสนาบดีฝ่ายซ้าย ดำเนินการปฏิรูปรัฐครั้งที่หนึ่งภายในรัฐฉิน สาระหลักสำคัญคือ การปฏิรูประบบการลงทะเบียนสำมะโนครัว ดำเนินการเกี่ยวข้องกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมเกินห้าคน กำหนดพระราชกฤษฎีกา พระราชอัยการศึกของกองทัพรวมทั้งการกำหนดการปูนบำเหน็จรางวัลให้แก่ทหาร ยกเลิกระบบถ่ายเทอำนาจและการปูนบำเหน็จรางวัลผ่านทางสายเลือด จัดตั้งระดับขั้นและตำแหน่งของขุนนางข้าราชการแบ่งเป็น 20 ขั้น กฎหมายอาญาลงโทษผู้กระทำผิด สนับสนุนส่งเสริมการทำเกษตรปราบปรามควบคุมการค้า ปฏิรูปกฎหมายเพื่อกำหนดเป็นกฎหมายของรัฐฉิน ปรับปรุงระบบครอบครัวและสำมะโนครัว และแผนการปฏิรูปมาตรการอื่นๆ

การปฏิรูปรัฐครั้งที่สอง ปี 350 ก่อนคริสต์ศักราช ซางยางจัดการดำเนินการปฏิรูปเป็นครั้งที่สองภายในรัฐฉิน สาระสำคัญ คือ เปิดด่านชายแดน ยกเลิกระบบที่นาจิ่งเถียน ระบบที่นาแบ่งเป็นเก้าแปลง ใช้ระบบที่นาหยวนเถียน ระบบที่นาครอบครัวอนุญาตให้ชาวบ้านมีสิทธิ์ถือครองที่ดินและซื้อขายกันได้ ดำเนินการกระจายอำนาจแบ่งแยกเขตปกครอง เริ่มต้นการจัดเก็บภาษี ดำเนินการใช้มาตราชั่ง ตวง วัดให้เหมือนกันทั้งรัฐ เผาทำลายบทกวีและพระราชบัญญัติที่ไม่ทันสมัยต่อยุค เชิญคนดีมีฝีมือถึงบ้านมารับใช้ ห้ามโยกย้ายประชากร ในการจัดสำมะโนครัวประชากรห้ามพ่อแม่พี่น้องของชาวบ้านอาศัยอยู่บ้านหลังเดียวกัน และแผนการปฏิรูปมาตรการอื่นๆ




[1] ขงจื๊อ, จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, https://th.wikipedia.org/wiki/ขงจื๊อ ดู https://th.wikipedia.org/wiki/หมวดหมู่:นักปรัชญาชาวจีน

[2] เม่งจื๊อ, จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, https://th.wikipedia.org/wiki/เม่งจื๊อ

[3] ซุนจื๊อ, จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, https://th.wikipedia.org/wiki/ซุนจื๊อ

[4] หยางจื้อ (Yang Tzu), http://www.geocities.ws/kupc25648/YangTzu.html

[5] ม่อจื๊อ, จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, https://th.wikipedia.org/wiki/ม่อจื๊อ

[6] นิยม รัฐอมฤต, สำรวจการเมืองการปกครองจีน (Explorations of Chinese Philosophy), 2556, วารสารสถาบันพระปกเกล้า. ปีที่ 11 ฉบับที่ 3 (ก.ย.-ธ.ค. 2556), http://kpi.ac.th/media/pdf/M7_225.pdf

[7] เล่าจื๊อ, จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, https://th.wikipedia.org/wiki/เล่าจื๊อ

[8] เต้าเต๋อจิง, จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, WikiVisually, 13 กรกฎาคม 2559, http://wikivisually.com/lang-th/wiki/เต้าเต๋อจิง

[9] นิยม รัฐอมฤต, สำรวจการเมืองการปกครองจีน (Explorations of Chinese Philosophy), 2556, อ้างแล้ว

[10] จวงจื่อ, จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, https://th.wikipedia.org/wiki/จวงจื่อ

[11] นิยม รัฐอมฤต, สำรวจการเมืองการปกครองจีน (Explorations of Chinese Philosophy), 2556, อ้างแล้ว

[12] นิยม รัฐอมฤต, สำรวจการเมืองการปกครองจีน (Explorations of Chinese Philosophy), 2556, อ้างแล้ว

[13] นิยม รัฐอมฤต, สำรวจการเมืองการปกครองจีน (Explorations of Chinese Philosophy), 2556, อ้างแล้ว

[14] หาน เฟยจื่อ, จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, https://th.wikipedia.org/wiki/หาน_เฟยจื่อ

[15] วิชาปรัชญาจีน ตอน ปรัชญาฮั่นเฟยจื๊อ, 17 สิงหาคม 2558, http://www.slideshare.net/Padvee/ss-51714256

[16] กมล นิลวรรณ, ลักษณะทั่วไปของปรัชญาฮั่นเฟยจื๊อ, 7 ตุลาคม 2557, http://www.silpathai.net/ปรัชญาฮั่นเฟยจื๊อ/

[17] นิยม รัฐอมฤต, สำรวจการเมืองการปกครองจีน (Explorations of Chinese Philosophy), 2556, อ้างแล้ว

[18] วิชาปรัชญาจีน ตอน ปรัชญาฮั่นเฟยจื๊อ, 17 สิงหาคม 2558, อ้างแล้ว

[19] ซางยาง ผู้เบิกทางให้จักรพรรดิ์จิ๋นซีฮ่องเต้, 30 มิถุนายน 2558, http://www.manager.co.th/mwebboard/listComment.asp... & ซางยาง ผู้วางรากฐานให้รัฐฉินจนฉินสื่อฮวางตี้รวบรวมประเทศจีนเป็นปึกแผ่น, 15 กันยายน 2557, http://oknation.nationtv.tv/blog/jui880/2014/09/15...

หมายเลขบันทึก: 621226เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2017 00:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กรกฎาคม 2017 08:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท