จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๘๑ : มนุษย์ต้องการ "เยียวยา" มากกว่าเพียง "ข้อมูล"


จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๘๑ : มนุษย์ต้องการ "เยียวยา" มากกว่าเพียง "ข้อมูล"

Society needs healing more than mere information. เวลามี "ข้อมูล" เกิดขึ้น จะมีผลตามมามากมาย และผลตามสำหรับสังคมนั้นก็คือผลที่กระทบต่อ "มนุษย์" นั่นคือ ความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรม สำหรับวิชาชีพแพทย์นั้นเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะข้อมูลเกือบทุกประการที่แพทย์นำมาใช้ มีผลกระทบไม่ทางตรงก็ทางอ้อมต่อคนจริงๆ หลายๆคน หลายๆครอบครัว

กิจกรรมอย่าง "แจ้งข่าวร้าย (breaking the bad news)" จึงเป็นหนึ่งในสาระสำคัญทางการแพทย์ และอยู่ในวิชา "จริยธรรม" อันมีนัยยะว่าไม่เพียงแค่ "รู้" เท่านั้น ยังต้องมีทักษะและเจตนคติที่ถูกต้องในเรื่องนี้ด้วย ข่าวร้ายนั้นก็บอกพลังงานอยู่แล้วว่าให้ผลทางลบต่อชีวิต แต่เนื่องจากมันเป็น "ความจริง" ที่จะเป็นพื้นฐานต่อไปว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้น แพทย์จะต้องหาทางใช้ความจริงที่ว่านี้ให้ได้ดีที่สุด

เริ่มต้นจาก
๑) ตระหนักว่าข้อมูลนั้นมีผลอะไรบ้างต่อชีวิต ได้แก่ ความคิด ความรู้สึก อารมณ์ และเรื่องเล่าในชีวิต การตระหนักเป็นการเตรียมจิตใจของคนบอกข่าวให้สำเนียกถึงความสำคัญของข่าว ทักษะที่ต้องใช้คือ ความเห็นอกเห็นใจ (empathy) อันเป็นต้นลำธารของความเมตตา กรุณา ความรัก ความสงสาร
๒) มีความเห็นอกเห็นใจแล้ว ทักษะต่อไปคือ "ความรู้เรื่องชีวิต (life competency)" ซึ่งมีเรื่องราวที่หลากหลาย เราเองจะมีการรับรู้ ความคิด ความรู้สึกแบบของเรา และคนอื่นๆก็จะมีการรับรู้ ความคิด ความรู้สึกในแบบของเขา อย่ารีบด่วนไปใช้เรื่องราว "ของเรา" ไปตัดสินของๆเขาอย่างเด็ดขาด
๓) หน้าที่หลักของแพทย์คือ "ผู้เยียวยา" ไม่ใช่ผู้เแถลงข่าว หรือแค่กระบอกเสียงถ่ายทอดข่าว วิธีการสื่อเพื่อการเยียวยานั้นมีอยู่ และในเวลาเดียวกัน การสื่อบางรูปแบบก็สามารถทำร้ายผู้คนได้อย่างมากมาย การสื่ออาจจะเป็นการบดขยี้เกลือและกรวดลงไปบนแผลสด แผลเปื่อยก็ได้ เราจะต้องไม่ทำเช่นนั้น
๔) แพทยศาสตร์ คือ สาระความรู้ที่จะทำให้เรามี "ข่าวดี" ทั้งๆที่มีข่าวร้าย นักศึกษาแพทย์พึงเชื่อมโยงความรู้ ทักษะ และทัศนคติ เพื่อที่จะตระหนักว่า เรากำลังเรียนวิทยาศาสตร์ทั้งหมดนี้เพื่อจะสะสม "ข่าวดี" ไปช่วยคนที่กำลังทุกข์เพราะข่าวร้าย เราไม่ได้สะสมความรู้มากมายเพื่อเป็นเพียง hard-drive บรรจุข้อมูล ศัพท์แสง ฯลฯ งานแบบนั้นคอมพิวเตอร์ หรือ flash-drive ก็ทำได้ดีและสมบูรณ์แบบกว่าเรา แต่เราจะต้องเป็นคนทำให้วิทยาศาสตร์เหล่านี้กลายเป็น "ข่าวดีสำหรับชีวิตคนจริงๆ" ให้ได้

ทุกวันนี้เห็นคนเสพข่าว ใช้ข่าว แชร์ข่าว โดยไม่ได้แยกแยะว่ากำลังทำให้เกิดพลังงานแบบใดบ้าง ก็เกิดความกลัว และเกิดความมุ่งมั่นว่า เราคงจะต้องทุ่มเทมากกว่าเดิม อย่างน้อยที่สุดก็กับนักศึกษาที่เรามีความรับผิดชอบอยู่ และกับคนที่เราพอจะสื่อสารด้วยได้ มาช่วยกันใช้ข่าว แชร์ข่าว กันเพื่อการเยียวยา การจรรโลง และสร้างสรรค์กันเถิด

น.พ.สกล สิงหะ
หน่วยชีวันตาภิบาล ร.พ.สงขลานครินทร์
วันศุกร์ที่ ๖ มกราคม ๒๕๖๐ เวลา ๑๐ นาฬิกา ๔๖ นาที
วันขึ้น ๙ ค่ำ เดือนยี่ ปีวอก

หมายเลขบันทึก: 621124เขียนเมื่อ 6 มกราคม 2017 10:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มกราคม 2017 10:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท