มูลเหตุที่ชีวิตนี้ ต้องมาทำวิจัยและพัฒนาเรื่องสุขภาวะคนพิการ


จริงๆแล้ว ส่วนตัวผมไม่ค่อยชอบวิจัยอะไรที่มันดูหดหู่ มีไม่สวยโสภานะ ถึงจะลำบากก็ขอให้ไม่ลำบากมาก นึกอยู่ในใจเหมือนกันว่า ทำไมถึงเลือกมาศึกษาวิจัยเรื่องนี้ แถมเป็นเรื่องที่เข้าถึงยากซะด้วย

นั่นเป็นเพราะทัศนคติ เชิงลบตัวเอง ยังมีอยู่ครับ คือ ความกลัวที่จะทำงานไม่สำเร็จ เนื่องจากประเด็นคนพิการนี้เป็นเรื่องใหม่ ที่ผมไม่เคยศึกษามาก่อน และความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับคนพิการก็ไม่มี ที่ผ่านมา แม้จะวิจัยลงชุมชนมาเป็นสิบปี งานพัฒนาเด็กก็ทำมาสิบปี แต่เรื่องนี้เรามองข้ามไปเลย

แต่การมองข้ามไป ไม่ได้หมายความว่ามองไม่เห็นนะ จำได้ว่า นานมาแล้ว ช่วงที่ไปเป็นครูดอยอยู่ชุมชนปกาเกอะญอ บ้านปรอโก อำเภออมก๋อย จ.เชียงใหม่ น่าจะสิบหกสิบเจ็ดปีมาแล้ว เป็นครูคนแรกของหมู่บ้านเลย เราก็ไปเยี่ยมทำความรูจักกับทุกหลังคาเรือน มีอยู่หลังคาเรือนนึง บอกครูไม่ต้องขึ้นไป เราก็ถามว่าทำไม เจ้าของบ้านก็บอกว่า มีผีบ้าอยู่ เป็นลูกเขานั่นแหละ บ้ามาหลายปีแล้ว ผ้าผ่อนไม่นุ่ง น้ำไม่อาบกินนอน ขับถ่ายอยู่บนเรือน อ้อ ผม ได้แต่พยักหน้า ใจหนึ่งก็อยากขึ้นไปดูนะ แต่อีกใจก็กลัวๆ ไม่รู้จะเจออะไร ก็เลยปล่อยผ่านๆไป ผ่านมาอีกสิบปี ช่วงที่จัดสมัชชาเด็ก เยาวชน แม่ฮ่องสอนก็ดี (น่าจะช่วงปี 2554)กับช่วงที่รับงานสังเคราะห์ความรู้หน่วยงานที่จัดการศึกษาเด่นๆในแม่ฮ่องสอนก็ดี (ราวปี 2556) ก็เริ่มมีโอกาสสัมผัสกับงานคนพิการใน จ.แม่ฮ่องสอน ในคราวที่จัดเวทีสมัชชาเด็ก ก็ได้เชิญเอ็นจีโอก้านเด็กพิการ พาเด็กพิการขาและสมอง มาร้องเพลงและแสดงความเห็นต่อทิศทางการพัฒนาเด็กให้ฟัง พอตอนที่ทำการรวบรวมข้อมูลหน่วยงานการศึกษา ก็ได้ไปสัมภาษณ์ผู้อำนวยการและครูศูนย์การศึกษาพิเศษ ซึ่งก็เป็นช่วงที่เริ่มมีประสบการณ์ตรงกับชุมชนที่อาศัยอยู่ วัยรุ่นคนนึงตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์แล้วพยายามทำแท้ง แต่ไม่สำเร็จ คนเป็นแม่ปลอดภัย (แน่นอนว่าบอบช้ำทางจิตใจ) ส่วนเด็กคลอดออกมาพิการตาบอดและสมองกระทบกระเทือน แถมเป็นเด็กสาวจิตอาสาในสโมสรเยาวชนที่ผมก่อตั้งขึ้นเองเสียอีก

สภาพเด็กพิการที่ถูกเลี้ยงดูโดยแม่วัยรุ่นที่ไม่มีความพร้อมอะไรสักอย่าง จนท้ายสุดต้องส่งไปให้ศูนย์ดูแลเด็กพิการที่นนทบุรีอุปการะดูแล ถูกสะกดอยู่ในเบื้องลึกของผมอย่างเลี่ยงไม่ได้


เรื่องคนพิการเริ่มเขยิบเข้ามาสู่ประสบการณ์ของผมมากขึ้น เมื่อย้อนนึกถึงเมื่อปี 2551 จากการที่พ่อป่วยเป็นมะเร็งท่อน้ำดี ระยะสุดท้าย จนกระทั่งต้องนอนรักษาเสมือนหนึ่งคนพิการ ลุกไปไหนมาไหนไม่ได้ ผมไม่มีความรู้อะไรเกี่ยวกับคนพิการเลย ก็ได้แต่ไปเยี่ยมให้กำลังใจจนท่านจากไปไม่มีวันกลับ



ภาพงานศพ คุณพ่อ เมื่อ ต.ค. 2551


แต่เหตุการณ์ที่ทำให้ผมเข้าใจคนพิการมากขึ้น ก็ต้องขอบคุณโอกาสที่ทางมูลนิธิสร้างสรรค์สังคมและสุขภาวะ (มสส.) โดยมีหมออ้อม เพื่อนรุ่นพี่ นักสานพลังฯ (นนส.) เป็นตัวเชื่อมโยงเข้าไปเรียนรู้กิจกรรมสุนทรียสนทนาในวงคนทำงานด้านคนพิการจากจังหวัดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สงขลา ชัยนาท เชียงใหม่ เชียงราย กรุงเทพ ทำให้ได้ฝึกการฟังอย่างลึกซึ้ง ฟังโดยไม่ตัดสิน และจำลองบทบาทความพิการในรูปแบบต่างๆ ในแต่ละครั้ง เช่น แขนขาด ขาขาด นั่งวีลแชร์ ตาบอด หูหนวก ดูว่าถ้าเราเป็นเขาสักสามสี่ชั่วโมงชีวิตจะเป็นไง ประสบการณ์เรียนรู้ครั้งนั้นมีค่ามาก เมื่อทบทวนกับเรื่องราวต่างๆที่ตัวเองประสบพบมา พบว่าคนปกติบางกลุ่มที่ถือเป็นกลุ่มชายขอบแล้ว ยังมีคนพิการที่เป็นกลุ่มชายขอบยิ่งกว่า ทั้งที่เป็นสภาวะที่อยู่ใกล้ชิดเราทุกคน แต่สังคมไทยกลับมองข้ามไป ทำให้ย้อนนึกถามตัวเองว่า "เราในฐานะคนธรรมดาๆจะทำอะไรเพื่อคนพิการได้บ้าง"





ภาพการจัดกิจกรรมสุนทรียสนทนาและจำลองบทบาทความพิการ ที่ จ.เชียงราย 22-24 ม.ค.59


ย้อนดูความสามารถตัวเอง ก็คิดว่ามีสองสามด้านที่น่าจะเป็นประโยชน์ แรกสุด ก็คือการฝึกศิลปะป้องกันตัวให้กับคนพิการที่นั่งวีลแชร์ ซึ่งตอนนี้ก็ได้รับบริจาควีลแชร์ทาทดลองฝึกตัวเองไปก่อนแล้ว คือตนเองงต้องคล่องก่อนแล้วจึงจะไปสอนเขา อย่างที่สองนี่เป็นงานสื่อ ตั้งใจว่าจะไปสอนให้คนพิการสื่อสารเรื่องราวของตนเองออกไปสู่สาธารณะอย่างมีพลัง จะทำได้อย่างไร ตอนนี้ผมก็เลยเปิดกลุ่มบนเฟซบุ๊คไว้ ชื่อ "ใส่ใจผู้สูงวัยและพิการ" (ไปแอดเข้ากลุ่มกันได้ครับ) แต่การจะจัดอบรมเรื่องการสื่อสารให้คนพิการนั้น ยังต้องใช้เวลาเตรียมการสักพัก ผมยังต้องเรียนรู้มากกว่านี้ แต่คิดว่าคงมีโอกาสได้ทำแน่ สุดท้าย คือ งานวิจัยแนวมานุษยวิทยาวัฒนธรรม ตรงนี้ ผมเกาะติดมิติชาติพันธุ์มาโดยตลอด พอประสบพบช่องว่าทางสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ปี 59 กำลังสนใจเร่องคนพิการในมิติที่กว้างขึ้นกว่าการแพทย์สมัยใหม่ จึงได้เสนอ Proposal เข้าไป จนเกิดเป็นงานวิจัยเรื่องการจัดการสุขภาวะคนพิการชาติพันธุ์ชิ้นหนึ่งในแม่ฮ่องสอนซึ่งกำลังดำเนินงานอยู่ในชุมชนไทใหญ่และชุมชนละเวือะ



ชุมชนละเวือะ บ้านละอูบ จ. แม่ฮ่องสอน หนึ่งในพื้นที่ศึกษาวิจัย



ภาพการจัด Focus Group แกนนำชุมชนไทใหญ่ และครอบครัวคนพิการ บ้านปางหมู จ.แม่ฮ่องสอน


ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ การเขียนย้อนระลึก ก็เหมือนได้นึก วิเคราะห์ ทบทวนที่มาที่ไปของการก้าวมาถึงจุดๆนี้ ทำให้เห็นแรงบันดาลใจ เห็นตัวตนของตนเองที่ไม่ได้แยกชีวิต ประสบการณ์ ออกไปจากงานที่กำลังดำเนินอยู่เลย ทำให้มีแรงใจที่จะกล้าทำในสิ่งที่ยากจะเข้าถึงเช่นนี้


งานวิจัยดังกล่าว สร้างการเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง คราวหน้ามีโอกาสจะเขียนเผยแพร่นะครับ

หมายเลขบันทึก: 620998เขียนเมื่อ 3 มกราคม 2017 20:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มกราคม 2017 20:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท