​ระบบอาชีวศึกษาทวิภาคี



เช้าวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๕๙ ผมไปเรียนรู้ เรื่อง ระบบอาชีวศึกษาทวิภาคี ที่ ทีดีอาร์ไอ ไปฟังการนำเสนอผลการวิจัยระบบนี้ของเยอรมัน โดยคุณณัฐสิฏ รักษ์เกียรติวงศ์ นักวิจัยของ ทีดีอาร์ไอ


ฟังแล้วเห็นชัดเจน ว่าระบบของเยอรมันเขาดำเนินการอย่างเป็นระบบเอาจริงเอาจังมาก เป็นระบบที่ ๔ ฝ่าย คือ ฝ่ายเอกชน ฝ่ายสหภาพแรงงาน ฝ่ายการศึกษาและฝ่ายรัฐ ต่างก็มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ เป็นระบบจริงจัง คนที่เข้ารับการอบรมอาชีวศึกษาทวิภาคีได้รับเงินเดือน และต้องเซ็นสัญญา ที่แปลกสำหรับเราคือ ประกาศนียบัตรออกโดยกลไกฝ่ายเอกชน (Competent bodies) ฟังแล้ว ฝ่ายที่ทำหน้าที่หลักคือฝ่ายเอกชน และเมื่อจบ (ใช้เวลาเรียนและฝึก ๒ - ๓.๕ ปี) ได้ใบประกาศนียบัตรวิชาชีพ เป็นแรงงานระดับเชี่ยวชาญเฉพาะทาง โดยผู้รับรองคุณภาพคือสถานศึกษา


ความเป็นระบบของอาชีวศึกษาทวิภาคีของเยอรมัน อยู่ที่มีการควบคุมคุณภาพในทุกขั้นตอน สถานประกอบการที่จะรับผู้เข้ารับการอบรมต้องสมัครและผ่านการตรวจสอบว่ามีความพร้อมในการฝึกอบรม รวมทั้งยอมรับการตรวจสอบโดยกลไกของฝ่าย Competent bodies


ระบบอาชีวศึกษาทวิภาคีของไทย เริ่มตั้งแต่ปี ๒๕๒๗ ที่วิทยาลัยเทคนิคท่าหลวงซีเมนต์ไทยอุปถัมภ์ ต่อมาในปี ๒๕๓๔ ขยายไปอีก ๓ วิทยาลัย โดยได้รับการช่วยเหลือจากประเทศเยอรมนี ปัจจุบันมีผู้เรียนทวิภาคี ประมาณ ๙ หมื่นคน เท่ากับประมาณร้อยละ ๙ ของ นศ. อาชีวะ แต่ทำแบบไม่เป็นระบบ


งานวิจัยนี้ต้องการเสนอระบบของไทย และเสนอองค์กรกลางที่ภาคเอกชนมีบทบาทนำ เรียกชื่อว่าสภาส่งเสริมอาชีวศึกษาทวิภาคี ทำหน้าที่ Accreditation (รับรองสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ และรับรองแผนการฝึกของแต่ละสถานประกอบการ), Quality Assurance (จัดสอบสมรรถนะของผู้ผ่านการฝึกทวิภาคี และให้ประกาศนียบัตรผู้ผ่านการทดสอบ), Standards (จัดทำมาตรฐานการฝึกอบรม และจัดทำสัญญาฝึกงานมาตรฐาน), Clearing House (คัดเลือกผู้เรียนเข้าโครงการ) ซึ่งหมายความว่าสภาฯ ต้องมีสำนักงานที่เข้มแข็งทำหน้าที่จัดการภารกิจทั้ง ๔ มีข้อเสนอให้ออกกฎหมายจัดตั้งสภาฯ ให้เป็นองค์กรกึ่งเอกชน แบบสภาหอการค้าฯ เพื่อให้มีฐานะทางกฎหมาย โดยให้สถานประกอบการทั้งหมดเป็นสมาชิกโดยอัตโนมัต และต้องจ่ายค่าสมาชิกเท่ากับร้อยละ ๐.๒๕ ของค่าใช้จ่ายเงินเดือนพนักงานประจำปี และรัฐสมทบหนึ่งเท่าตัว เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการโครงการ


ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมบอกว่า ค่าสมาชิกไม่มีปัญหา สิ่งที่ต้องการคือ ขอให้ทำงานได้อย่างอิสระและมีประสิทธิผลจริงๆ มีคำแนะนำจากผู้เข้าร่วมประชุมว่า ต้องไม่ใช่แค่ฝึกทักษะในการทำงานระยะสั้นตามความต้องการของนายจ้างเท่านั้น ต้องวางฐานทักษะในการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้ด้วย


ที่น่าสนใจคือ อ. อนุพงศ์ มกรานุรักษ์ เจ้าของวิทยาลัยเทคโนโลยีอีสานเหนือ ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดอุดรธานี บอกว่า วิทยาลัยของตนเน้นการฝึกนักศึกษาให้มีความอดทน รักองค์กร มีระเบียบวินัยเป็นจุดเน้น เมื่อมีคุณสมบัติทั้งสาม ก็จะเรียนรู้ได้เอง วิทยาลัยใช้การส่งไปฝึกทวิภาคีนอกพื้นที่ ไกลบ้าน เช่น ที่นิคมอุตสาหกรรม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อให้ห่างพ่อแม่ จะได้ฝึกนิสัยได้ หลักการและวิธีการนี้ทำให้วิทยาลัยเทคโนโลยีอีสานเหนือเป็นที่นิยมของทั้งนักศึกษา ผู้ปกครอง และบริษัทร่วมฝึกทวิภาคี


ที่ประชุมเห็นพ้องกันว่า แนทางที่โครงการวิจัยเสนอเป็นแนวทางที่ดี โดยต้องมีหน่วยจัดการที่เข้มแข็ง


วิจารณ์ พานิช

๓ ธ.ค. ๕๙


หมายเลขบันทึก: 620743เขียนเมื่อ 26 ธันวาคม 2016 23:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 ธันวาคม 2016 23:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท