หาวิธีปฏิบัติธรรมที่เหมาะกับตัวเอง


เรื่องปฏิบัติแล้วไม่ดีเหมือนกับคนอื่นเขานี้ก็อย่าเพิ่งท้อใจ ไม่ใช่ว่าเราคงมีบุญน้อยกว่าเขาจึงทำไม่ได้ สิ่งที่ทำให้การปฏิบัติไม่ดีอีกอย่างคือจริตนิสัยของเราไม่ถูกกับวิธีนี้ เรื่องที่เราจะรู้ว่าจริตของเราเหมาะกับวิธีไหนนี้เป็นเรื่องยากที่เราจะรู้ได้ ในสมัยพุทธกาลแม้พระสารีบุตรเองบางครั้งก็ไม่สามารถแนะนำกรรมฐาน(วิธีการปฏิบัติ)ที่เหมาะสมกับลูกศิษย์ได้ เป็นวิสัยของพระพุทธเจ้าเท่านั้นที่จะสามารถบอกได้ว่าวิธีไหนจะเหมาะกับใคร

เดี๋ยวนี้มีหลายคนที่เข้าวัดเพื่อศึกษาธรรมะมากขึ้น บางคนแม้ยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว วัยเริ่มทำงานก็เข้ามาศึกษาธรรมแบบเชิงลึกกันมากขึ้น ซึ่งก็คงทราบดีว่าธรรมะนั้นสามารถปรับปรุงคุณภาพใจให้ดีขึ้นได้ และเมื่อใจดีขึ้นทุกอย่างก็จะดีขึ้นตามทั้งในด้านครอบครัวและการทำงาน

ความจริงการศึกษาธรรมะนั้นควรจะลงให้ถึงการปฏิบัติธรรมเลย เพราะจะได้ประโยชน์ในด้านความสงบทางจิตใจโดยตรง เมื่อได้สัมผัสความสงบบ้างแล้วก็จะเห็นคุณประโยชน์เกิดมีกำลังใจและหาวิธีพัฒนาความรู้ความเข้าใจมากขึ้น

เมื่อได้ยินคนอื่นพูดว่าการปฏิบัติธรรมดีอย่างนั้นอย่างนี้ก็เกิดความสนใจ แต่พอจะเริ่มลงมือปฏิบัติก็เกิดความสงสัยว่าจะเลือกวิธีไหนดี วิธีปฏิบัติธรรมมีมากเหลือเกินจะไปเริ่มต้นที่ไหนดี สำนักปฏิบัติก็มีมาก แต่ละสำนักก็มีวิธีปฏิบัติที่แตกต่างกันออกไป

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าอย่าเพิ่งไปสนใจในวิธีการวิธีปฏิบัติธรรมของแต่ละสำนัก ควรศึกษาก่อนว่าหลักคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นมีการปฏิบัติธรรมกี่อย่าง และมีขั้นตอนอย่างไร และแต่ละขั้นตอนทำเพื่ออะไร หากเราจับหลักได้อย่างนี้ก็ไม่ยากและพอเริ่มมองออกว่าวิธีการปฏิบัติของแต่ละสำนักนั้นอยู่ตรงไหนที่พระพุทธเจ้าทรงสอน

ขอสรุปสั้นๆตรงนี้สำหรับผู้สนใจเริ่มลงมือปฏิบัติว่า การปฏิบัติธรรมมีสองขั้นตอนหลักๆคือ ขั้นแรกเรียกว่าสมถะ(อ่านว่าสะมะถะ) ขั้นที่สองเรียกว่าวิปัสสนา วัตถุประสงค์ของสมถะทำเพื่อให้ใจสงบ มีความสุข จิตใจสดชื่นมีกำลัง มีหลายวิธีเช่นการแผ่เมตตา การดูลมหายใจ การดูแสงสว่าง การดูสีเขียว สีแดง เป็นต้นรวมๆแล้วประมาณสี่สิบวิธี ส่วนวิปัสสนาทำเพื่อให้เกิดปัญญารู้ความจริงในธรรมชาติของกายและใจสามารถทำได้สี่วิธีคือ การรู้กาย การรู้เวทนา การรู้จิต และการรู้ธรรม หลักๆมีเท่านี้ ดังนั้นที่ว่าแต่ละสำนักสอนไม่เหมือนกันก็เพราะครูบาอาจารย์ของสำนักนั้นๆท่านชำนาญหรือเชี่ยวชาญในวิธีนั้นๆซึ่งก็อยู่ในสมถะสี่สิบวิธีและหรืออยู่ในวิปัสสนาสี่วิธี หากนอกเหนือจากนี้ ก็ไม่ใช่วิธีที่พระพุทธเจ้าสอน แต่ก็อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าไม่ใช่เพราะบางทีผู้ที่เริ่มศึกษาใหม่ๆอาจยังเชื่อมโยงเข้ากับหลักไม่ได้ ต้องค่อยๆศึกษาไปต่อไปก็จะรู้ได้ไม่ยากนัก

เมื่อรู้ว่าอะไรเป็นอะไรแล้วพอลงมือปฏิบัติกับเขาบ้าง ทำไมเขาบอกว่าดีแต่เราทำไมทำแล้วไม่ดี หรือยิ่งทำยิ่งสับสน เลยพาลจะเลิกปฏิบัติไปเสียเลย หรือบางคน พอเข้าวัดเข้าหน่อยก็ทำตัวเสียลำบาก ต้องให้ดูดีเข้าไว้เพราะคนรู้ว่าเข้าวัดแล้วยังไม่ดีเดี๋ยวเขาจะว่า ปัญหานี้จะหมดไปเมื่อเราปรับทัศนะคติเสียใหม่โดยคิดว่า การที่มีใครเข้าวัดแสดงว่าคนนั้นเป็นคนที่อยากพัฒนาตัวเองมากกว่า คืออยากเป็นคนดี ดังนั้นคนที่เข้าวัดใหม่ๆก็ยังไม่ดีเท่าไรเพียงแต่คิดอยากดีเท่านั้น ดังนั้นจึงควรทำตัวให้สบายๆไม่ต้องไปสนใจคนอื่น หากแต่เพียงหัดเริ่มรักษาศีลห้าบ้างเท่านั้น และหากไปเห็นกิริยาอาการของคนที่มาวัดด้วยกันหรือคนที่อยู่ในวัดไม่ดี ก็ไม่ต้องตกใจให้คิดว่าเป็นเหมือนกับเราคือยังไม่ดีแล้วอยากฝึกตัวเองให้ดีเหมือนกัน จงให้อภัยกันแล้วจะสบายใจ

เรื่องปฏิบัติแล้วไม่ดีเหมือนกับคนอื่นเขานี้ก็อย่าเพิ่งท้อใจ ไม่ใช่ว่าเราคงมีบุญน้อยกว่าเขาจึงทำไม่ได้ สิ่งที่ทำให้การปฏิบัติไม่ดีอีกอย่างคือจริตนิสัยของเราไม่ถูกกับวิธีนี้ เรื่องที่เราจะรู้ว่าจริตของเราเหมาะกับวิธีไหนนี้เป็นเรื่องยากที่เราจะรู้ได้ ในสมัยพุทธกาลแม้พระสารีบุตรเองบางครั้งก็ไม่สามารถแนะนำกรรมฐาน(วิธีการปฏิบัติ)ที่เหมาะสมกับลูกศิษย์ได้ เป็นวิสัยของพระพุทธเจ้าเท่านั้นที่จะสามารถบอกได้ว่าวิธีไหนจะเหมาะกับใคร

ถึงแม้จะยากแต่ก็ยังพอมีแนวทางบ้างสำหรับผู้มีความพยายาม คือเราต้องให้เวลาทดลองปฏิบัติดู ศึกษาจากตำราด้วยบ้างควบคู่กันไปกันผิดพลาด แล้วก็ลองหลายๆวิธีหลายๆครูบาอาจารย์เรียนรู้ด้วยความเคารพจากท่านและสอบถาม ซึ่งส่วนใหญ่ท่านจะเมตตาตอบให้ หรือดูจากหนังสือที่ท่านเขียน จากสื่อต่างๆที่ท่านไปแสดงธรรม ช่วงทดลองนี้อาจจะนานเป็นเดือนเป็นปีหรือหลายปี แต่ก็ไม่เสียเวลาเปล่าเพราะจะได้ความเข้าใจตนเองมากขึ้นเรื่อยๆ และเพียรไปเรื่อยๆในที่สุดก็จะเจอเองว่าแต่ละวิธีที่แต่ละสำนักสอนนั้นไม่ผิดแต่มีวิธีการปฏิบัติบางอย่างเท่านั้นที่เหมาะสมกับเรา ซึ่งบางทีก็ไม่ใช่วิธีเดียวกันกับที่ครูบาอาจารย์ที่เราเคารพศรัทธาสอน

วิธีดูว่าถูกจริตหรือไม่ถูกจริตดูจากอะไร หากเป็นสมถะก็ดูว่าทำแล้วใจสงบ ทำแล้วมีความสุข หรือไม่ หากใช่ก็แสดงว่าถูกจริตทำต่อไปได้ แต่หากทำแล้วมันฝืน มันเครียด ต้องคอยบังคับใจให้ทำก็แสดงว่าไม่ถูกจริต ให้เปลี่ยนวิธีเสีย ส่วนวิปัสสนาก็วัดด้วยความสงบ ความสบายใจเหมือนกัน แต่เป็นความสงบที่ไม่ลงลึก เน้นเป็นผู้รู้ ผู้ดู ดูกายดูใจทำงาน ดูความรู้สึกไม่ไปเป็นความรู้สึกนั้นเสียเอง หากว่าลองทำแล้วมีตัวรู้ตัวดูเด่นขึ้นมาบ่อยๆและมีความสบายๆ มีความสุขเป็นระยะที่ดู ก็แสดงว่าถูกจริต แต่หากลองแล้วตึง แน่น เครียด ฝืน นานๆจะมีตัวรู้ตัวดูโผล่ขึ้นมาสักที ก็แสดงว่าไม่ถูกจริต แต่สำหรับวิปัสสนานี้การที่จะรู้ว่าจริตของตัวเองเหมาะกับวิธีไหนนี้ใช้เวลามากเหมือนกัน ต้องทดลองและคอยสังเกตตัวเองบ่อยๆ

สมถะและวิปัสสนานี้เป็นวิชาสำคัญในพระพุทธศาสนา ผู้มีปัญญาไม่ควรพลาดที่จะศึกษาเรื่องนี้ หากเข้าใจและลงมือปฏิบัติให้ต่อเนื่องแล้วจะได้ประโยชน์มาก ที่สำคัญคือจะไม่หลงตาย แม้ตอนเจ็บป่วยก็จะมีวิธีคลายทุกข์ให้ตัวเอง หรือหากเป็นนักทำงานก็สามารถนำมาปรับปรุงอารมณ์เพิ่มสติในการทำงานได้อีก

หมายเลขบันทึก: 619930เขียนเมื่อ 8 ธันวาคม 2016 22:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 ธันวาคม 2016 22:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท