​ให้สัมภาษณ์คณะครูโรงเรียนรุ่งอรุณ



คณะครูโรงเรียนรุ่งอรุณมาสัมภาษณ์เอาไปทำหนังสือที่ระลึก ในโอกาสครบวาระก่อตั้งโรงเรียนครบ ๒๐ ปี จึงนำคำให้สัมภาษณ์มาเผยแพร่อีกทางหนึ่ง



“รุ่งอรุณเป็นองค์กรที่เรียนรู้อยู่ตลอด”

“รุ่งอรุณเป็น Change Agent กล้าที่จะทำต่าง แล้วมีเป้าหมาย ไม่ได้ทำตามสูตร หาวิธีแล้วเรียนรู้ ครูมีลักษณะเฉพาะ กิจกรรมมีลักษณะเฉพาะ...นี่เป็นการเรียนสมัยใหม่”

………

ศาสตราจารย์นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช เป็นนายแพทย์และนักการศึกษาผู้มีคุณูปการกับโรงเรียนรุ่งอรุณมาโดยตลอด ในบทบาทของกรรมการมูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ ท่านให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ในการนำไปพัฒนาโรงเรียนอยู่เสมอ เพื่อเป้าหมายการพัฒนาผู้เรียนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีทั้งองค์ความรู้และทักษะที่จะพาให้ตนเองอยู่รอดในสังคมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

………

โรงเรียนรุ่งอรุณเป็นโรงเรียนที่ไม่มีสูตรแน่นอนตายตัว มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ครูต้องเรียนรู้อยู่ตลอด นี่คือวิถีรุ่งอรุณ เป็นโรงเรียนที่ไม่ใช่นักเรียนเรียนเท่านั้น แต่เป็นที่ที่ครูเรียน ผู้บริหารเรียน รวมทั้งกรรมการ (มูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ) ก็เรียนด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นลักษณะของโรงเรียนหรือสถานศึกษาในอุดมคติในโลกยุคปัจจุบันแห่งศตวรรษที่ ๒๑ คือเป็นองค์กรที่เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา”


“รุ่งอรุณมีลักษณะที่พิเศษ คือมีการเรียนรู้ด้านในด้วย อันนี้สุดยอด เพราะว่าการศึกษาไทยมีความเข้าใจผิดด้วยมิจฉาทิฏฐิ ในลักษณะที่ว่าสนใจแต่เรื่องเรียนด้านนอก ด้านวิชาเท่านั้น รุ่งอรุณนี้เรียกว่าทั้งนักเรียนและครูเรียนรู้ด้านในไปด้วยกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ยิ่งไปกว่านั้นสิ่งที่ถูกต้องก็ดำเนินไปเรื่อยๆ ไม่ได้หยุดนิ่ง มีการค้นพบสิ่งใหม่ไปเรื่อยๆ รวมทั้งเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมของครู”


“ครูที่รุ่งอรุณไม่ว่าสอนระดับชั้นไหน ไม่ได้สอนตามสูตร แต่จะคิดว่าเด็กควรได้อะไร มีการตั้งเป้าหมาย และมีการคุยกับผู้ปกครองด้วยว่าเป้าหมายในปีนี้คืออย่างนี้ แล้วมาช่วยกัน ผมว่าเป็นตัวอย่างที่ดี เพราะโรงเรียนทั่วไปไม่ได้ทำอย่างนี้ เขาจะมีสูตรตายตัว แต่ครูรุ่งอรุณต้องมาคิด เด็กจึงได้ประโยชน์มากกว่า และที่สำคัญคือครูได้ประโยชน์ด้วย เพราะครูได้คิดและได้ทบทวนตลอดเวลาว่าเด็กได้เรียนรู้จริงหรือไม่ นี่เป็นสิ่งที่ดี”


ความเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ของรุ่งอรุณ เป็นสิ่งที่หาได้ยากในที่อื่น เพราะไม่ใช่แค่ชุมชนแห่งการเรียนรู้ของนักเรียนหรือของครูเท่านั้น แต่เป็นของผู้ปกครองด้วย เป็นสิ่งที่สุดยอดมาก ดังนั้นครูรุ่งอรุณควรช่วยกันตั้งคำถามว่า รุ่งอรุณเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้อย่างไร การเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้อย่างนี้มีคุณค่าอย่างไร อาจชวนผู้ปกครองมาร่วมหาคำตอบด้วย แล้วอาจจะตั้งคำถามต่อว่า แล้วเราจะทำให้เกิดคุณค่ายิ่งกว่านี้ได้อย่างไรโดยไม่เป็นภาระเพิ่ม ปีที่ ๒๐ นี้เราพอจะช่วยกันระบุได้ไหม ว่ามีวิธีมองความเข้มแข็งของชุมชนแห่งการเรียนรู้กี่มิติ แต่ละมิติเรามีความเข้มแข็งอยู่ในระดับไหน มิติไหนที่เราน่าจะเข้มแข็งได้มากกว่านี้ ถ้าจะให้เข้มแข็งมากกว่านี้เราควรจะทำอะไรกัน การตั้งคำถามเหล่านี้จะเข้าไปเสริมความเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น”


“ในช่วง ๓-๔ ปีที่ผ่านมา ผมได้เรียนรู้เรื่อง Executive Function and Self-Regulation เป็นการฝึกเพื่อกระตุ้นสมอง ทำให้สมองส่วนควบคุมพฤติกรรมสามารถควบคุมแรงกระตุ้นจากอารมณ์หรือความต้องการได้ ในช่วงเด็กเล็กสำคัญที่สุด ถัดมาที่สำคัญมากคือช่วงวัยรุ่น จะช่วยทำให้ชีวิตเขามีสติกำกับควบคุมสิ่งเร้าที่จะเข้ามากระตุ้นให้มีพฤติกรรมแบบหุนหันพลันแล่นได้ เรื่องนี้เป็นวิธีการจัดการเรียนรู้อย่างหนึ่งที่ครูควรจะได้เข้าใจ เพราะหนังสือทางด้านการศึกษาและการเรียนรู้ในช่วงหลังๆ มักจะบอกว่า เก่งวิชาและฉลาดเฉลียวในแง่ความคิด สู้นิสัยดีไม่ได้ ที่จริงมันต้องมีทั้งสองอย่าง แต่เมื่อเอามาเทียบน้ำหนักกันแล้ว นิสัยดีมีผลต่อชีวิตที่ดีมากกว่า เพราะฉะนั้นจึงโยงมาสู่ที่ว่า โรงเรียนต้องเป็นที่เรียนรู้ให้เด็กได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเองทุกด้าน ทั้งด้านวิชาการความรู้ที่เป็น Cognitive Function คือการคิดเป็น แก้ปัญหาเป็น อีกส่วนหนึ่งเป็น Non-cognitive Function เป็นเรื่องของบุคลิกลักษณะ อุปนิสัยใจคอ ซึ่งครูต้องเอาใจใส่ ดังนั้นการมีชุมชนแห่งการเรียนรู้ที่โยงไปสู่พ่อแม่จึงเป็นประโยชน์มาก เพราะการปลูกฝังลักษณะนิสัยนั้น เชื่อว่าฝั่งพ่อแม่มีน้ำหนักมากกว่า เพราะอยู่ด้วยกันมากกว่า ใกล้ชิดกว่า ดังนั้นจะเห็นว่าเรื่องของชุมชนแห่งการเรียนรู้นี้โรงเรียนรุ่งอรุณทำได้ดีแล้ว เพราะว่าโยงผู้ปกครองเข้ามาด้วย ผู้ปกครองเป็นเหมือนผู้ช่วยครู ทั้งในแง่ Content expert และการมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันแล้วไปเสริมการเรียนรู้ของลูก”


“ในเด็กวัยรุ่นนั้นการพัฒนา Identity หรืออัตลักษณ์ของตัวเองนั้นสำคัญ คือการเข้าใจว่าตัวเองเป็นอย่างไร รู้จักตัวเองว่าชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ถนัดอะไร ไม่ถนัดอะไร แล้วต่อไปข้างหน้าอยากทำอะไรหรือมีชีวิตอย่างไร อยากเป็นอะไร ในแนวคิดการศึกษาเรื่อง Chickering 7 Vectors of Identity Development บอกว่านักเรียนต้องเติบโตใน ๗ ด้าน (การพัฒนาสมรรถนะ (Developing Competence) การจัดการอารมณ์ (Managing Emotions) การพัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง (Autonomy To Interdependence) การสร้างอัตลักษณ์ (Establishing Identity) การพัฒนาความเป็นอิสระจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (Developing Mature Interpersonal Relationships) การพัฒนาจุดมุ่งหมายในชีวิต (Developing Purpose) การพัฒนาความมั่นคงในคุณธรรม (Developing Integrity)) ซึ่งทั้ง ๗ ด้านนี้ต้องเติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ ตั้งแต่เด็ก แต่พอเข้าวัยรุ่น ด้าน Identity มีความสำคัญมากในการทำให้ชีวิตเขามีเป้าหมาย ไม่อย่างนั้นเขาจะล่องลอย แล้วโดนชักจูงไปในทางที่เป็นความสุขชั่วครู่ชั่วยามหรือเป็นอบายมุขได้ ผมคิดว่าโรงเรียนทั้งหลายต้องเอาใจใส่เรื่องนี้ให้มาก”


“ไม่ว่ายุคสมัยใด หลักใหญ่ๆ ของการศึกษาที่เหมือนกันคือ ศึกษาเพื่อพัฒนาครบด้าน เป็น Holistic Development หรือ Integrated Development พัฒนาโดยให้ถูกต้องตามหลักธรรมชาติของสมอง ต้องพัฒนาโดยให้เด็กลงมือสัมผัส ด้วยการทำที่ใกล้ความเป็นจริงหรือในสภาพจริง เป็น Authentic Learning เป็นของจริง ไม่ใช่สมมติ เสียก็เสียจริง ได้ผลก็ได้ผลจริง เป็นการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงและลึก หมายความว่าการเรียนรู้ต้องได้ทั้งตัววิชาความรู้ Cognitive part และส่วนที่เป็น Non-cognitive part ไปด้วยกัน สิ่งที่ท้าทายคือ ทำอย่างไรเขาจึงจะเรียนได้ลึกและเชื่อมโยง เป็น Mastery Learning หมายความว่า เขาเข้าใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ลึกจริงๆ ไม่ใช่เข้าใจเพียงผิวเผิน หรือไม่ใช่แค่ท่องจำแล้วตอบได้ แต่เขาอธิบายได้เอง ประยุกต์ใช้ได้เอง ซึ่งอยู่ที่วิธีการเรียนรู้ ถ้าเรียนโดยการปฏิบัติอย่างที่รุ่งอรุณทำ เด็กจะได้เอง”


“สิ่งที่เป็นความท้าทายอย่างยิ่งคือว่า เราต้องการให้เด็กเรียนรู้แบบ Mastery Learning แปลว่ารู้จริง และ Transformative Learning คือการเรียนในมิติที่ทำให้เกิดภาวะผู้นำ กล้าที่จะแตกต่าง เป็นตัวของตัวเอง แต่วงการครูมักจะถูกชักจูงให้เอาใจใส่ลูกศิษย์เก่ง ซึ่งผิด เพราะนักเรียนกลุ่มนี้สามารถเรียนได้อยู่แล้ว แต่ครูต้องหาทางพัฒนากลุ่มที่เหลือ เขาได้แค่ไหนแล้ว เขาเข้าใจแค่ไหนแล้ว จะหาทางทำอย่างไรให้เขาเข้าใจมากขึ้น จะหาทางสะท้อนกลับ (Feedback) หรือส่งเสริม (Encourage) เขาอย่างไร นี่คือแนวคิดเรื่อง Embedded Formative Assessment”


“เมื่อพูดถึงการประเมิน เรามักไปหมายถึง Summative Evaluation คือรอให้คนอื่นมาสอบ แต่การศึกษาที่ดีนั้น ครูต้องสอบเด็กนักเรียนอยู่ตลอดเวลา ทุกนาที และดูเป็นรายคน คนไหนที่ดูแล้วยังเก้ๆ กังๆ อยู่ ต้องหาวิธีพัฒนา ถ้าหากว่าการศึกษาไทยเราเป็นเหมือนอย่างห้องเรียนที่ฟินแลนด์หรือญี่ปุ่นที่เขาเอาใจใส่นักเรียน หรืออย่างสิงคโปร์ที่ครูเอาใส่ใจเด็กทั้งห้อง ตามเด็กและแก้ไข นี่เรียกว่าบรรลุผลลัพธ์การเรียนขั้นสูง นี่คือ Mastery Learning คือหัวใจของอนาคตที่การศึกษาไทยควรจะต้องทำ ซึ่งคนสำคัญที่สุดคือครู หมายความว่าครูต้องมีทักษะของการทำ Embedded Formative Assessment อยู่ตลอดเวลา”


“แล้วไม่ใช่แค่ถาม หรือว่า Formative Assessment เฉยๆ แต่ต้องตามด้วย Feedback ทันที ถ้าเมื่อไรก็ตามประเมินผลแล้วปล่อยไว้เฉยๆ ไม่มีความหมาย ไม่มีประโยชน์ ต้องตามด้วย Feedback ซึ่งเป็น Constructive Feedback เป็นการสะท้อนกลับในเชิงบวกเพื่อให้เกิดคุณค่าแก่เด็ก เด็กเกิดกำลังใจและมองเห็นลู่ทางที่จะพัฒนาต่อ วิธีการเหล่านี้จะทำให้พลเมืองของชาติยกกระดับขึ้น”


“การศึกษาในปัจจุบันมีคนเพียงส่วนน้อยที่เรียนแล้วได้ประโยชน์ เป็นความไม่เท่าเทียมกันในชั้นเรียน เพราะวงการศึกษาเอาใส่ใจเรื่องการได้รางวัลแล้วเอามาโชว์กัน ครูก็เลยเอาใจใส่แต่เด็กที่ได้รางวัล ผลลัพธ์คือทั้งประเทศด้อยคุณภาพอย่างที่เราเห็น เพราะครูเอาใจใส่แต่เด็กเก่ง แล้วก็ถูกผู้บริหารชวนให้ทำแบบนั้นด้วย ซึ่งการหนุนเด็กเก่งให้ได้รางวัลนั้นไม่ผิด แต่พอทำอย่างนั้นแล้วทิ้งเด็กไม่เก่ง อันนั้นผิด”

“ในอนาคตเรื่อง Learning Outcome คือผลลัพธ์การเรียนรู้ของเด็ก การเรียนรู้แบบ Integrated Learning และ Holistic Learning เป็นเรื่องสำคัญ ในสายตาผมไม่ใช่เรื่องยาก แต่ว่ายากเย็นถ้าครูไม่มีทักษะ ทักษะในที่นี้เหมือนขี่จักรยาน พอมีทักษะแล้วก็ทำได้โดยอัตโนมัติ พอครูเข้าไปในห้องเรียน ครูรู้ว่าจังหวะไหนจะพูดอะไร จะพูดด้วยโทนไหน ด้วยคำถามไหน พอเด็กตอบครูก็สะท้อนกลับได้ทันทีเป็นอัตโนมัติ พอครูทำแล้วเอาประสบการณ์มาแลกเปลี่ยนกัน เกิดเป็น Professional Learning Community (PLC) เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้แบบหนึ่ง”


“ครูจำนวนไม่น้อยอยู่ในวิธีคิดที่ว่า การเรียนรู้คือการรับถ่ายทอดความรู้สำเร็จรูป เพราะฉะนั้นจึงบูรณาการไม่ได้ เพราะความรู้จะเป็นส่วนๆ เป็นท่อนๆ นี่เป็นหัวใจสำคัญที่สุดของการศึกษาไทย คือต้องเปลี่ยนจากความเชื่อและความงมงายจากการถ่ายทอดความรู้สำเร็จรูปตายตัว มาเป็นให้เด็กเรียนโดยการปฏิบัติ ปัจจุบันนี้เรารู้ว่าการศึกษาที่ดีต้องเรียนโดยการปฏิบัติ แล้วเก็บข้อมูลด้วยตัวเอง แล้วเอามาตีความหาความหมาย ทำความเข้าใจ แล้วตรวจสอบกับคนอื่น ตรวจสอบกับในตำรา ว่าคิดเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งครูต้องคิดโจทย์ ต้องชวนเด็กคิดโจทย์ และต้องชวนเด็กสะท้อนคิด (Reflex) ว่าเราเรียนรู้อะไรกันบ้าง กิจกรรมนี้เราตั้งเป้าไว้อย่างไร แล้วเราได้เรียนรู้ตามเป้าหรือยัง ที่ว่าเรียนรู้แปลว่าอะไร ไหนลองอธิบาย เด็กก็จะเรียนรู้และปฏิบัติได้ตั้งแต่ตอนทำโครงงาน แล้วสามารถอธิบายได้ตอนทำ Reflection ก็จะเกิดการเรียนรู้แบบบูรณาการโดยปริยาย”


“เราพูดกันว่าต่อไปนี้การศึกษาต้องเป็น 21st Century Learning อย่าลืมว่าศตวรรษที่ ๒๑ เหลืออีกตั้ง ๘๔ ปี แต่หากลองมองแค่ ๒๐ ปีข้างหน้าว่าจะต่างกับตอนนี้อย่างไร ผมเองก็ไม่รู้ แต่ที่ทุกคนรู้คือ ปีนี้กับปีที่แล้วไม่เหมือนกัน ปีก่อนโน้นก็ไม่เหมือน ถ้าอย่างนั้นปีหน้าก็ไม่เหมือน คำถามคือแล้วไม่เหมือนอย่างไร มีฐานของความไม่เหมือนอย่างไร ดีขึ้นอย่างไร คำตอบควรจะเป็นว่า เราเชื่อว่าวิธีการที่เราใช้นั้นดีขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นวิธีการที่ทำให้เด็กเติบโตเต็มศักยภาพยิ่งขึ้น จากนี้คือหาทางให้เด็กเรียนรู้ เติบโต และพัฒนาเต็มศักยภาพยิ่งขึ้น”

“อย่างไรก็ตามเราอยู่ในการเปลี่ยนแปลง ครูได้ตระหนักหรือไม่ว่าตอนที่เด็กไม่ได้มาอยู่กับครู เขาเจออะไร หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมแบบใด ในเด็กอายุเท่ากันแต่ละรุ่นก็ไม่เหมือนกัน ปีที่แล้วกับปีนี้สภาพแวดล้อมก็ไม่เหมือนกัน ในช่วง ๑๐ ปีมานี้เด็กได้รับการกระตุ้นจากสื่อภายนอกเยอะมาก เขาเจอสิ่งแวดล้อมที่มากระทบ เจอสิ่งเร้ามากมาย เป็นคำถามท้าทายครูว่า แล้วครูจะออกแบบการเรียนรู้อย่างไร เราได้ทำให้ลูกศิษย์ของเราพัฒนาเต็มศักยภาพแล้วหรือยัง แล้วเราจะทำให้เกิดพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็กในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างไร จะจัดการศึกษาแบบองค์รวม (Holistic Education) ครูก็ต้องคิดแบบองค์รวม”

อนาคตของรุ่งอรุณควรที่จะทำประโยชน์ให้แก่วงการศึกษาไทย คงไม่ใช่เป็นโรงเรียนที่สอนนักเรียนจำนวนพันกว่าคนแค่นั้น แต่น่าจะเป็นที่ที่ให้ครูทั่วประเทศได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน เข้ามาร่วมกันขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง และเปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนรู้ให้แก่เด็ก ผมมองว่ารุ่งอรุณเป็น Change Agent กล้าที่จะทำต่าง แล้วมีเป้าหมาย ไม่ได้ทำตามสูตร หาวิธีแล้วเรียนรู้ ครูมีลักษณะเฉพาะ กิจกรรมมีลักษณะเฉพาะ เด็กต้องทำกับข้าวให้เพื่อน ต้องล้างถ้วยชาม ต้องออกไปเรียนข้างนอก มีการทำโครงงาน นี่เป็นการเรียนสมัยใหม่


“ถามว่าทำอย่างไร คำตอบของผมคือไปชวนครูของครูมา ชวนอาจารย์ศึกษาศาสตร์และครุศาสตร์ทั้งหลายมาดูการจัดการเรียนรู้ของรุ่งอรุณ เพราะหลักสูตรสอนครูต้องเปลี่ยนใหม่ ให้มี Classroom Skills มีทักษะในการโต้ตอบกับเด็ก วิธีโต้ตอบที่ดีนี้คือสุดยอดของความเป็นครู ที่จะสร้างแรงบันดาลใจ ที่จะยั่วยุ ที่จะทำให้เด็กมีกำลังใจ ถ้าเราไปหาทางชวนเขามาร่วมเรียนรู้ แล้วเปลี่ยนวิธีผลิตครู อันนี้จะเป็นประโยชน์มาก”


ถ้าการศึกษาถูกต้อง คนต้องมีเป้าหมายชีวิตที่มีคุณค่า เมื่อมาเป็นครูก็มีเป้าหมายเพื่อให้ลูกศิษย์ดี เพราะฉะนั้นเมื่อมาเห็นสิ่งดีๆ ก็ต้องไปหาทางลงมือทำ มากน้อยอีกเรื่องหนึ่ง”


“การศึกษาของรุ่งอรุณคือการศึกษาที่สร้างผู้นำ เป็น Learning by Doing ตามด้วย Reflection แล้วก็เป็นกลุ่ม ผลที่ได้คือ Transformative Learning แปลว่าได้ทักษะภาวะผู้นำ การเป็น Change Agent จะค่อยๆ ก่อขึ้น ซึ่งตั้งแต่เด็กอนุบาลก็เป็น Change Agent ได้ เพราะกล้าที่จะคิดต่าง เด็กพวกนี้จะมีลักษณะเฉพาะ เป็นตัวของตัวเอง กล้าคิดต่าง”


”เราต้องหาทางที่จะสร้าง Passion คือความรู้สึกมีพลัง ความเอาจริงเอาจัง ความรู้สึกที่จะทำร่วมกัน ที่รุ่งอรุณทุกคนมาทำงานแล้วได้สัมผัสชีวิตที่ดี อยู่ในขอบฟ้าของการที่จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง เพื่อสร้างเด็กรุ่นใหม่ที่เป็นผู้นำในอนาคตให้ได้ ด้วย Holistic Learning, Integrated Learning, Active Learning เราไม่ได้มองเฉพาะส่วนของเราเท่านั้น แต่มองส่วนของคนอื่นด้วย และมองส่วนของตัวเองที่จะไปข้างหน้าด้วย ทั้งหมดนี้ต้องการพลัง คุณค่านั้นอยู่ที่ตอนทำจริง”

……….................................

สัมภาษณ์และเรียนเรียง: ครูชัชฎาภรณ์ ศิลปะสุนทร, ครูชัยวัฒน์ พุ่มเฟือง, ครูศิริพร ทองตระกูล, ครูปิยะดา พิชิตกุศลาชัย, ครูพนอ เกียรติกังวาฬไกล, ครูฐณิชา มนตรี, น.ส.ปวิมล คงสุขโข



หมายเลขบันทึก: 619924เขียนเมื่อ 8 ธันวาคม 2016 21:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 ธันวาคม 2016 00:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท