​ชีวิตที่พอเพียง : 2810. อารมณ์ในมานุษยวิทยา กับชีววิทยา



หนังสือ แว่นตา อารมณ์ สังคม ความจริง หนึ่งทศวรรษเวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย บทที่ ๔ เรื่องมานุษยวิทยากับอารมณ์ เขียนโดย ผศ. อภิญญา เฟื่องฟูสกุล ทำให้ผมนึกสนุกลองเปรียบเทียบเรื่องอารมณ์ ในมุมมองของสองศาสตร์ คือมานุษยวิทยา กับชีววิทยา


ความสนุกของทฤษฎีทางมานุษยวิทยามาจากการถกเถียงโต้แย้งระหว่างทฤษฎีที่แตกต่างในระดับ สองขั้ว เช่น อารมณ์ - เหตุผล กาย - จิต สากลนิยม - สัมพัทธ์นิยม ใช้อารมณ์ - ไร้อารมณ์ ในการศึกษาวิจัย และตีความปรากฏการณ์ต่างๆในด้านพฤติกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านวิธีวิทยาในการวิจัย มานุษยวิทยา การถกเถียงระหว่างกลุ่มที่เชื่อว่า เพื่อให้แม่นยำ นักวิจัยต้องปลอดจากอารมณ์ ในขั้วตรงกันข้าม บอกว่านักวิจัยต้องไวต่อการจับอารมณ์และเข้าใจอารมณ์ของตนเอง และของผู้ถูกศึกษา เพื่อจะได้ตีความ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ลึก


อ่านแล้วผมบอกตัวเองว่า ผมเป็นนกสองหัว คือเชื่อทั้งสองขั้ว ต้องใช้ทั้งสองขั้ว สำหรับเอามา ตีความประกอบกัน


ผมเสียดายที่นักมานุษยวิทยา / สังคมวิทยา ในปัจจุบัน ทำความเข้าใจอารมณ์มนุษย์โดยไม่คุยกับ นักวิทยาศาสตร์สมอง (neuroscience) และนักวิทยาการเรียนรู้สมอง (cognitive neuroscience) ที่เวลานี้มีความรู้ก้าวหน้าไปมาก เชื่อมโยงส่วนของสมอง และการทำงานของสมอง กับอารมณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลไกกำกับอารมณ์ ที่เรียกว่า Executive Functions of the Brain ที่ก้าวหน้าไปอย่างมากมาย และเรารู้ว่า สามารถฝึกการกำกับอารมณ์ได้


ผมเข้าใจว่า ทางธุรกิจใหญ่ข้ามชาติ ที่ต้องขายสินค้าในต่างถิ่นต่างวัฒนธรรม เขาต้องศึกษา มานุษยวิทยาธุรกิจ มานุษยวิทยาการตลาด รู้จักจบจุดอ่อนทางอารมณ์เร้าการบริโภค ศาสตร์ human – machine interface ใช้นักมานุษยวิทยาทำความเข้าใจพฤติกรรมการใช้เครื่องมือ โดยเฉพาะเครื่องมือไอที ของมนุษย์ เพื่อจะได้ออกแบบเครื่องมือ ให้ตรงรสนิยม หรือตรงการใช้งานของมนุษย์


สมัยผมไปทำงานที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตหาดใหญ่อยู่เกือบ ๒๐ ปี ผมได้เรียนรู้ว่า ญี่ปุ่นทำการศึกษาด้านมานุษยวิทยาของคนไทยอย่างลับๆ ในชื่ออื่น คือการให้ทุนวิจัยทางสังคมศาสตร์ เพื่อรู้จักนิสัยคนไทย และผลิตสินค้ามาขายให้ตรงรสนิยม ตอนนั้นผมรู้ว่า รถยนต์โตโยต้ามี ๓ เกรด เกรดเอขายในญี่ปุ่น เกรดบีขายในมาเลเซีย เกรดซีขายในเมืองไทย แต่มีเครื่องประดับจุกจิกมากกว่า



วิจารณ์ พานิช

๒๙ พ.ย. ๕๙


หมายเลขบันทึก: 619923เขียนเมื่อ 8 ธันวาคม 2016 21:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 ธันวาคม 2016 00:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท