ครูคือใคร


ครูคือใคร

เมล็ดพันธุ์ย่อมไม่สามารถเจริญงอกงามได้หากขาดปุ๋ยและการดูแลเอาใจใส่ คอยรดน้ำพรวนดิน นกที่ไร้ปีกย่อมไม่มีความสง่างาม ไม่อาจนำพาตนไปยังที่สูงได้ คนเราก็เช่นเดียวกัน ย่อมจะต้องได้รับการศึกษา การศึกษาจึงเปรียบเสมือนขนนกเล็กๆที่มาเติมต่อให้กลายเป็นปีกนกที่แข็งแรงและสง่างามพร้อมนำพาตนเองไปยังความสำเร็จ หากแต่คนหนึ่งคนย่อมไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ด้วยตัวเองจำเป็นต้องมีคนคอยส่งเสริมช่วยขัดเกลาความคิดและจิตใจ ซึ่งคนคนนั้นก็คือ “ครู” หากขาดครูแล้วไซร้ นกเหล่านั้นก็ย่อมไร้ปีก แล้วคนเราจะเป็นคนดีมีความสามารถได้อย่างไรกัน คนรุ่นใหม่จึงไม่อาจนำพาสังคมให้ขับเคลื่อนต่อไปได้

<p “=””> คำว่า “ครู”มาจากรากศัพท์ภาษาบาลีว่า “คุรุ” คือ “ครุ” แปลว่า น่าเคารพ หนัก สูง และมาจากภาษาสันสกฤตว่า “คุรุ” แปลว่า หนัก ใหญ่ ผู้สั่งสอน เมื่อสรุปความหมายจากรากศัพท์ภาษาบาลีและสันสกฤตแล้ว คำว่า “ครู” จึงหมายถึง ผู้ที่มีภาระหนักด้วยงาน หนักด้วยบุญคุณ ผู้ที่มีความหนักแน่น ผู้สั่งสอนอบรม และผู้ที่ควรค่าแก่การเคารพนับถือของศิษย์ ครูจึงเป็นบุคคลที่ควรค่าแก่การยกย่องและนับถือ เพราะถือว่าวิชาชีพครูนั้นเป็นวิชาชีพชั้นสูง มีนิยามให้ความหมายของคำว่าครูที่แตกต่างกันไป บ้างก็ว่า ครูคือเรือจ้าง บ้างก็ว่าครูคือผู้ให้ และบ้างก็ว่าครูคือแม่พิมพ์ของชาติ แต่นั่นคงไม่สำคัญมากนัก เพราะคนเป็นครูย่อมต้องการให้ศิษย์นั้นได้ดี และเป็นคนดีของสังคม แต่ในปัจจุบันการให้ความสำคัญกับครูยังน้อยนิด ครูหนึ่งคนสามารถสั่งสอนศิษย์นับร้อยนับพัน สังคมที่แตกต่างกันย่อมทำให้ความสำคัญของครูนั้นแตกต่างกันไปด้วย ในเมืองใหญ่ ให้ความสำคัญกับครูเสมือนลูกจ้างที่รับเงินเดือนคนหนึ่ง มีหน้าที่เพียงสอนเด็ก ไม่ได้อบรมขัดเกลาจิตใจเหมือนดังสมัยก่อน ทำให้ความเคารพยกย่องคนเป็นครูเริ่มเลือนหายไป สายใยระหว่างครูกับศิษย์เหลือเพียงน้อยนิด สายลมหนาวพัดโบกโบย พลิ้วดูแล้วสวยใสๆ เย็นลมเย็นไหวไหว สวยงาม บ้านอยู่ไกลทุรกันดารโรงเรียนอยู่หลังเขา มีแต่เราพวกเราไม่มีใคร ยามร้อนแสนร้อน ยามหนาวก็หนาวถึงใจ ไม่มีผ้าห่มคลุมกาย โรงเรียนมีครูหนึ่งคน ครูผู้เสียสละตน อดทนอยู่ห่างไกลความสบาย ใช่จะวอนให้เห็นใจ ความสำนึกต่อเพื่อนไทย ไทยกับไทยใยแตกต่างกันโรงเรียนของหนูอยู่ไกลไกล๊ไกล อยากให้คุณคุณหันมอง โรงเรียนของหนู บทเพลงชื่อ “โรงเรียนของหนู” ตอนหนึ่งของคุณ พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ สามารถสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของครูเอาไว้ด้วยภาษาที่สวยงาม เสียงคร่ำครวญยังดังก้องในถิ่นทุรกันดาร เด็กๆทุกคนโหยหาครู ครูคือทุกอย่างสำหรับพวกเขา ครูคือผู้ช่วยเติมต่อความฝันเล็กๆของเขา ทำให้ให้เขาได้รับการศึกษา และสามารถอ่านออกเขียนได้ เหมือนกับเด็กคนอื่นๆ ทั้งสองพื้นที่ในประเทศเดียวกันแต่ช่างแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง บ่อยครั้งที่คนเป็นครูถูกมองข้ามไป “ใครๆก็สามารถสอนได้” คำพูดนี้ย่อมได้ยินอยู่บ่อยๆจากบางคนที่ไม่ใช่ครู เพราะเขาคิดว่านั่นเป็นเรื่องง่าย แต่ในความเป็นจริงแล้วการเป็นครูไม่ใช่เพียงสอนหนังสือให้ศิษย์อ่านออกเขียนได้เท่านั้น แต่จักต้องใส่ใจ ใส่ความรัก ให้ศิษย์มีคุณธรรม จึงอาจเปรียบครูเป็น “ประติมากร” “ เป็นผู้ปั้นเราให้เป็นคนดีและมีประโยชน์ ” พระบรมราโชวาทตอนหนึ่ง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรวิทยาลัยวิชาการศึกษา เมื่อวันพุธที่ 19 ธันวาคม 2511 </p>

ข้าพเจ้าในฐานะที่เป็นนักศึกษาวิชาชีพครู อนาคตคือแม่พิมพ์ของชาติ มีปณิธานอันแน่วแน่ในการประกอบอาชีพนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าใฝ่ฝันตั้งแต่ครั้งยังเด็ก ข้าพเจ้ามองว่าการสอนหนังสือไม่ยากเย็นมากนัก หากแต่การเอาใจใส่ การสั่งสอนคนให้กลายเป็นคนดีนั้นยากยิ่งกว่า จะต้องทำอย่างไรนั้นก็สุดแล้วแต่บุคคลว่าจะใช้กลยุทธ์ใด คนรุ่นใหม่ต้องมีการพัฒนาทั้งความรู้ ความสามารถอยู่เสมอ ด้วยเหตุที่ว่า “ โลกไม่เคยหยุดพัฒนา ” ในเมื่อโลกไม่เคยหยุดหมุนและพัฒนา ฉะนั้นครูก็เช่นเดียวกัน ต้องพัฒนาตนเองให้มีความรู้เท่าทันโลกอยู่เสมอ เพื่อนำความรู้ถ่ายทอดให้แก่ศิษย์ ซึ่งครูไม่เพียงเก่งเท่านั้น แต่ต้องมีความเข้าใจ และเมตตาต่อศิษย์ด้วยเช่นกัน ข้าพเจ้าจึงได้ข้อสรุปที่ว่า

ครูเป็นผู้ขับเคลื่อนการศึกษา

การศึกษาพัฒนาคน

คนก็พัฒนาประเทศชาติต่อไป

และจะเป็นเช่นนี้เรื่อยไปตราบนานเท่านาน

คำสำคัญ (Tags): #ครูคือใคร
หมายเลขบันทึก: 619368เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2016 22:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2016 22:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท