จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๗๓ : สิ่งที่จีรังยั่งยืน


จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๗๓ : สิ่งที่จีรังยั่งยืน

เดือนธันวาคมปี ๒๕๕๘ ท่านโซเกียล ตรุงปะ ริมโปเช (Sogyal Rinpoche) ได้มาเยือนเมืองไทย และเราได้มีโอกาสเชิญท่านมาแสดงปาฐกถาเรื่องศิลปของการอยู่และการตาย ประโยคหนึ่งที่เป็นพื้นฐานสำคัญของเรื่องราวทั้งหมดที่ท่านได้เขียนไว้ในหนังสือ The Tebetan Book of living and dying ก็คือ "จากสัจจธรรมข้อที่ว่าคนทุกคนต้องตายนั่นเอง ที่ทำให้ชีวิตนี้ช่างมีค่าอย่างที่สุด"

เพราะ "เวลานั้นมีจำกัด" การใช้เวลานั้นจึงสำคัญ รวมทั้งการไม่ให้ความสำคัญกับการใช้เวลาด้วย ก็สำคัญ!!

ความเจ็บไข้ได้ป่วยนั้นเป็น "สัญญาน" ประการหนึ่งว่าเวลามีจำกัด เรื่องราวที่เกิดขึ้นกลายเป็นเรื่องเล่า ไม่ใช่เฉพาะของคนๆนั้นคนเดียว แต่เป็นเรื่องของคนหลายคน ตัวผู้ป่วย ครอบครัว ญาติมิตร โดยมีแพทย์ พยาบาล และสังฆะทั้งหลายเป็นตัวประกอบของเรื่องเล่านั้นๆ คำถามที่ผมมักจะใช้ถามนักศึกษาแพทย์เสมอๆก็คือ "น้องอยากจะเป็นตัวแสดงบทไหน?"
"อยากเป็นพระเอก"
"อยากเป็นนางเอก"
"อยากเป็นตัวร้าย (ไม่ค่อยจะมีคนตอบอันนี้)"
หรือ "อยากจะเป็นตัวประกอบ"
คำตอบเหล่านี้ แม้จะไม่ได้ตอบออกมาดังๆ แต่สามารถเป็นตัวกำหนดบทบาท และพฤติกรรมที่เราจะแสดงออกเมื่อไปปรากฏตัว ณ ข้างเตียงคนเหล่านั้นได้

ถ้าเราบอกว่าเราอยากเป็นพระเอก นางเอก เราก็จะให้ความหมายของคนอื่นๆ ณ ที่นั้นว่าเป็น "ตัวรอง" เพราะเราจะเด่นที่สุด เก่งที่สุด มีความหมายมากที่สุด แม้กระทั่ง "สำคัญที่สุด" โดยไม่รู้ตัว เราก็จะทำแบบนั้นกับคนรอบๆข้างไปด้วย ผลกระทบที่สำคัญที่สุดน่าจะเป็นต่อตัวผู้ป่วยและครอบครัว ที่ถูก demote ลงไปเป็นเพียงตัวประกอบของเราเท่านั้น

ผมอยากจะให้เราคิดว่าวิชาชีพของเรานั้น มีบทบาทเป็น "ตัวประกอบ" และเหนือไปกว่านั้นก็คือ เราน่าจะทำให้เป็น "ตัวประกอบยอดเยี่ยม" ให้ได้ โดยคำนึงถึงจุดมุ่งหมายหลักของ "ตัวประกอบ"ในเรื่องเล่าใดๆก็ตาม ไม่ใช่การแย่งซีนคนอื่น หากแต่เป็นทำให้ความสำคัญของตัวเอกนั้นเด่นชัดที่สุด เหมือนสีดำ สีแดงจะเด่นชัด ก็ต้องวางอยู่บนพื้นหลังสีขาว ภาพ portrait ของคนจะสวยงาม ก็เพราะความเบลอของฉากหลังที่ช่วยขับความชัดของคนข้างหน้า

ที่เขียนเรื่องนี้มาก็เพราะว่าบางทีผมก็เป็นห่วงน้องๆนักศึกษาแพทย์เวลารายงาน case ผู้ป่วยมา เพราะบทบาทของน้องๆในเรื่องเล่าเหล่านั้นมันหายไป บางทีเราทำตัวเหมือนคนดู ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น ซึ่งความจริงไม่ใช่เช่นนั้น ทันทีที่เราเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับใคร เรามีส่วนในชีวิตของคนเหล่านั้นทันที บางคนก็เป็นข่าวดี บางคนก็เป็นข่าวร้าย บางคนทำให้ชีวิตของเขามีความสำคัญมากขึ้น แต่บางคนก็ซ้ำเติมว่าชีวิตของเขาเป็นเพียงแค่ data เป็นเพียงแค่ "ข้อมูล" เป็นเพียงแค่ black dot on the white paper ของงานวิจัยชิ้นหนึ่งเท่านั้น

เพราะชีวิตนั้นไม่จีรังยั่งยืน หากแต่ "เรื่องเล่าของชีวิต" ของเราทุกคนต่างหาก ที่จะสร้างความหมาย ทิ้งร่องรอย ว่าครั้งหนึ่ง เราเคยเดินอยู่บนโลกใบนี้ เราเดินอย่างไร มีผลกระทบต่อชีวิตคนอื่นๆ ต่อโลกใบนี้อย่างไร

ความตายจึงสำคัญที่สุดเพราะเหตุนี้

นพ.สกล สิงหะ
หน่วยชีวันตาภิบาล ร.พ.สงขลานครินทร์
วันจันทร์ที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ เวลา ๘ นาฬิกา ๕๗ นาที
วันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีวอก

หมายเลขบันทึก: 619320เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2016 09:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2016 09:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท