สัมปชัญญะ ๔ ประการ : การปฏิบัติกรรมฐานและเจริญสติ


"สัมปชัญญะ ๔ ประการ"

ขอนอบน้อมด้วยเศียรเกล้า แด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น

ธรรมะรับอรุณ ณ บ้านเย็นยิ้ม

วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน 2559

สัมปชัญญะ ๔ แปลว่า ความรู้ตัว, ความรู้ตัวทั่วพร้อม, ความรู้ชัด, ความรู้ทั่วชัด, ความตระหนัก สัมปชัญญะ เป็นธรรมที่มีอุปการะ คู่กับสติ มีอยู่ ๔ ประการ ได้แก่

๑. สาตถกสัมปชัญญะ แปลว่า รู้ชัดว่ามีประโยชน์ หรือตระหนักในจุดหมาย คือ รู้ตัวตระหนักชัดว่าสิ่งที่กระทำนั้น มีประโยชน์ตามความมุ่งหมาย อย่างไรหรือไม่ หรือว่า อะไรควรเป็นจุดมุ่งหมาย ของการกระทำนั้น เช่น ผู้เจริญกรรมฐาน เมื่อจะไป ณ ที่ใดที่หนึ่ง มิใช่สักว่ารู้สึกหรือนึกขึ้นมา ว่าจะไปก็ไป แต่ตระหนักว่าเมื่อไปแล้ว จะได้ปีติสุขหรือความสงบใจ ช่วยให้เกิดความเจริญโดยธรรม จึงไปโดยสาระคือ ความรู้ตระหนักที่จะเลือกทำ สิ่งที่ตรงกับวัตถุประสงค์ หรืออำนวยประโยชน์ที่มุ่งหมาย

๒. สัปปายสัมปชัญญะ แปลว่า รู้ชัดว่าเป็นสัปปายะ หรือตระหนัก ในความเหมาะสมเกื้อกูล คือรู้ตัวตระหนักชัดว่า สิ่งของนั้น การกระทำนั้น ที่ที่จะไปนั้น เหมาะกันกับตน เกื้อกูลแก่สุขภาพ แก่กิจ เอื้อต่อการสละละลด แห่งอกุศลธรรมและการเกิดขึ้น เจริญงอกงามแห่งกุศลธรรม จึงใช้ จึงทำ จึงไป หรือเลือกให้เหมาะ เช่น ภิกษุใช้จีวรที่เหมาะกับ ดินฟ้าอากาศ และเหมาะกับภาวะ ของตนที่เป็นสมณะ ผู้เจริญกรรมฐานจะไปฟังธรรม อันมีประโยชน์ในที่ชุมนุมใหญ่ แต่รู้ว่ามีอารมณ์ ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อกรรมฐาน ก็ไม่ไป โดยสาระคือ ความรู้ตระหนักที่จะเลือกทำ แต่สิ่งที่เหมาะสบายเอื้อต่อกาย จิต ชีวิต กิจ พื้นภูมิ และภาวะของตน

๓. โคจรสัมปชัญญะ แปลว่า รู้ชัดว่าเป็นโคจร หรือตระหนักในแดนงามของตน คือ รู้ตัวตระหนักชัดอยู่ตลอดเวลา ถึงสิ่งที่เป็นกิจ หน้าที่ เป็นตัวงาน เป็นจุดของเรื่องที่ตนกระทำ ไม่ว่าจะไปไหนหรือทำอะไรอื่น ก็รู้ตระหนักอยู่ภายใน ไม่ปล่อยให้เลือนหายไป มิใช่ว่าพอทำอะไรอื่น หรือไปพบสิ่งอื่นเรื่องอื่น ก็เตลิดเพริดไปกับสิ่งนั้นเรื่องนั้น เป็นนกบินไม่กลับรัง โดยเฉพาะ การไม่ทิ้งอารมณ์กรรมฐาน ซึ่งรวมถึงการบำเพ็ญจิตตภาวนา และปัญญาภาวนา ในกิจกรรมทุกอย่าง ในชีวิตประจำวัน โดยสาระคือ ความรู้ตระหนักที่จะคุมกาย และจิตไว้ให้อยู่ในกิจ ในประเด็น หรือแดนงานของตน ไม่ให้เขว เตลิด เลื่อนลอย หรือหลงลืมไปเสีย

๔. อสัมโมหสัมปชัญญะ แปลว่า รู้ชัดว่าไม่หลง หรือตระหนักในตัวเนื้อหาสภาวะ ไม่หลงใหลฟั่นเฟือน คือเมื่อไปไหน ทำอะไร ก็รู้ตัวตระหนักชัดในการเคลื่อนไหว หรือในการกระทำนั้น และในสิ่งทีกระทำนั้น ไม่หลง ไม่สับสนเงอะงะ ไม่ฟั่นเฟือน เข้าใจล่วงตลอดไปถึงตัวสภาวะ ในการกระทำที่เป็นไปอยู่นั้น ว่าเป็นเพียงการประชุมกัน ขององค์ประกอบและปัจจัยต่างๆ ประสานหนุนเนื่องกันขึ้นมา ให้ปรากฏเป็นอย่างนั้น หรือสำเร็จกิจนั้นๆ รู้ทันสมมติ ไม่หลงสภาวะ เช่น ยึดเห็นเป็นตัวตน โดยสาระคือ ความรู้ตระหนัก ในเรื่องราว เนื้อหา สาระ และสภาวะของสิ่งที่ตนเกี่ยวข้อง หรือกระทำอยู่นั้น ตามที่เป็นจริงโดยสมมติสัจจะ หรือตลอดถึงโดยปรมัตถสัจจะ มิใช่พรวดพราดทำไป หรือสักว่าทำ มิใช่ทำอย่างงมงายไม่รู้เรื่อง และไม่ถูกหลอกให้ลุ่มหลง หรือเข้าใจผิดไปเสียด้วยความพร่ามัว หรือด้วยลักษณะอาการภายนอกที่ยั่วยุ หรือเย้ายวนเป็นต้น


"สัมปชัญญะในการปฏิบัติกรรมฐาน"

๑. สาตถกสัมปชัญญะ คือ สัมปชัญญะที่กำหนด พิจารณาก่อนที่จะทำ จะพูด สิ่งใดๆ ที่เหมาะสมกับเวลา สถานที่ ว่าพึงทำ พึงพูด เช่นไร (อนาคต)

๒. สัปปายสัมปชัญญะ คือ สัมปชัญญะที่อาการจิต ที่ไม่มีทุกขเวทนามาก จนขันธ์ทำงานได้ปกติดี เช่น คนมีทุกข์มากย่อมขาดสติได้ ผู้ที่ทุกข์น้อยก็อาจคุมสติได้ดีกว่า

๓. โคจรสัมปชัญญะ คือ สัมปชัญญะที่กำหนดรู้ในปัจจุบัน ในการกระทำใดๆ ว่าทำสิ่งใดอยู่ ร่างกายเคลื่อนไหวเช่นไร (ปัจจุบัน) ในมหาสติปัฏฐาน กายานุปัสสนานั้น หมายถึงโคจรสัมปชัญญะนี้

๔. อสัมโมหสัมปชัญญะ คือ สัมปชัญญะที่กำหนด รู้สิ่งที่ผ่านมา เคยทำ คำสอนในอดีตที่พึงใช้ รู้ว่าเราเป็นใครมีหน้าที่อะไร สิ่งที่เคยพูดให้สัญญาเอาไว้ เช่น รู้ตัวว่าเราเป็นพระพึงรักษาวินัย รู้ตัวว่าละครที่ดูเป็นเพียงการแสดง เราเป็นเพียงคนดูหนังอยู่ คนเราต้องแก่เป็นธรรมดา เท่านั้น (อดีต)

"สัมปชัญญะเมื่อใช้กับการเจริญสติ"

๑. สาตถกสัมปชัญญะ การกำหนดว่า อารมณ์ที่พิจารณานี้เป็นประโยชน์หรือไม่ ? เห็นไตรลักษณ์ได้หรือไม่ ? สาตถกสัมปชัญญะ คือปัญญาที่รู้ถึงประโยชน์ ของการเจริญสติปัฏฐาน ๔ ว่าเป็นวิธีการฝึกจิต เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายคือ พระนิพพาน แล้วจากนั้นเริ่มลงเจริญสติปัฏฐาน หรือเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ที่เป็นหนทางเดียว ในการพ้นจากทุกขอริยสัจ และเข้าถึงความสุขสูงสุด ของพระพุทธศาสนา

๒. สัปปายสัมปชัญญะ การกำหนดว่า อารมณ์ที่พิจารณานี้ เป็นที่สบายแก่จิตแก่จริตหรือไม่ ? เป็นการพยายาม ควบคุมการกำหนดสติ จดจ่อเกินไป เคร่งเครียด หรือปล่อยรู้สบายตามธรรมชาติ สัปปายสัมปชัญญะ เป็นเพียงการมีสติ ระลึกรู้อารมณ์ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ โดยไม่เพ่ง จี้ บังคับ กด อารมณ์ใดๆ ที่เกิดขึ้น เพียงแต่เจริญสติ กำหนดได้ต่อเนื่อง เท่าทันตามจิตที่ไปรับอารมณ์ อย่างเป็นธรรมชาติ

๓. โคจรสัมปชัญญะ การกำหนดว่าอารมณ์ที่พิจารณานี้ ปรากฏในปัจจุบัน เกิดขึ้นเอง หรือได้นึกคิดปรุงแต่งสร้างขึ้น เห็นปัจจุบันหรือไม่ ? การกำหนดเจริญสติ ตามการรับรู้ หรืออารมณ์ของจิต ที่เกิดขึ้นได้ทันปัจจุบัน จากอารมณ์หนึ่ง ไปอีกอารมณ์หนึ่ง ได้อย่างต่อเนื่อง ตลอดเวลาที่เจริญกรรมฐาน ในอิริยาบถย่อย เดินจงกรม และนั่งสมาธิ โดยไม่ได้เกิดความคิดปรุงแต่ง หรือพิจารณาด้วยความคิด

๔. อสัมโมหสัมปชัญญะ การกำหนดว่า อารมณ์ที่พิจารณานี้เป็นสมมติบัญญัติ หรือเป็นปรมัตถ์ เห็นรูปนามหรือไม่ ? อสัมโมหสัมปชัญญะ เป็นปัญญาที่เจริญสติ ระลึกรู้ได้ทันอารมณ์ที่เกิดขึ้น โดยไม่เผลอ มึน นิ่ง หรือคิดฟุ้งซ่าน ด้วยอารมณ์โมหะ เพียงเจริญสติให้ทันปัจจุบันขณะ

ที.อ. ๑/๒๒๘; วิภงฺค.อ. ๔๕๑; พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม.

...

ธรรมะรักษา วิปัสสนาคุ้มครองค่ะ
อจ.พิณจ์ทอง แมนสุมิตร์ชัย (ฉัตรนะรัชต์)

ขอน้อมอุทิศถวายบุญกุศล เป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ

หมายเลขบันทึก: 619314เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2016 07:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2016 16:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท