​ครูอาสาสู่ชนบท ครั้งที่ 14


ในความเป็นจริงก็น่าสะเทือนใจอยู่มิใช่ย่อย เพราะเดิมชมรมครูอาสามีองค์กรที่รับปากจะสนับสนุนงบประมาณในจำนวนเงิน 10,000 บาท ครั้นเดินทางถึงพื้นที่กลับไม่ได้รับการสนับสนุนเหมือนที่หารือกันไว้ ทำให้ต้องปรับแผนกันอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะในหมวดหมู่รายการของการกินอยู่นั้นต้องรัดเข็มขัดเป็นที่สุด – เป็นการรัดเข็มขัดจนแทบหายใจไม่ออก อะไรไม่จำเป็นต้องจ่ายก็ตัดทิ้งไป ทุกๆ อย่างถูกบริหารจัดการใหม่เกือบทั้งหมด คงไว้แต่เฉพาะงบดำเนินการที่จะจัดสร้างสิ่งต่างๆ ให้กับโรงเรียนและชุมชน เพราะนั่นคือเป้าหมายหลักของการเดินทางมาทำค่าย




ชมรมครูอาสา สังกัดสโมสรนิสิตคณะศึกษาศาสตร์จัดโครงการ “ครูอาสาสู่ชนบท ครั้งที่ 14” ระหว่างวันที่ 24-30 พฤษภาคม 2559 ณ โรงเรียนบ้านพองหนีบ ตำบลศรีฐาน อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญๆ เช่น เสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้คู่บริการแก่นิสิตและปลูกฝังจิตสำนึกสาธารณะแก่นิสิต ตลอดจนเพื่อพัฒนาโรงเรียนและชุมชนผ่านระบบและกลไกทางการศึกษาแบบมีส่วนร่วม




โครงการ “ครูอาสาสู่ชนบท ครั้งที่ 14” คือค่ายอาสาพัฒนาอีกรูปแบบหนึ่งในวิถีของนิสิตที่เรียนวิชาชีพครู แม้จะไม่ได้ปักหมุดเป็นการไปแนะแนวการศึกษาและติวเตอร์เหมือนโครงการ “เปลวเทียนสู่ฝัน” แต่ก็ยังอบอวลด้วยวิถีกิจกรรมในทางการศึกษาอยู่อย่างเต็มล้น มีโรงเรียนเป็นสถานีการเรียนรู้และบูรณาการทำงานร่วมกับชุมชนเพื่อให้โรงเรียนมีแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายและมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น

นี่คือความแตกต่างระหว่างค่ายครูอาสาสู่ชนบทและค่ายเปลวเทียนสู่ฝัน กล่าวคือ ค่ายครูอาสาสู่ชนบทจะเป็น “ค่ายสร้าง” แต่ค่ายเปลวเทียนสู่ฝันจะเป็น “ค่ายสอน” และโรงเรียนที่เลือกเป็นสถานที่จัดออกค่ายไม่จำเป็นต้องทุรกันดาร หรือขาดแคลนเรื่องสื่อและอุปกรณ์การเรียนรู้ของนักเรียน แต่ค่ายครูอาสาสู่ชนบทกลับต้องยึดสิ่งเหล่านั้นเป็นโจทย์ในการออกค่าย





ค่ายครูอาสาสู่ชนบท ครั้งที่ 14 เป็นเหมือนการเดินทางกลับสู่ร่องรอยการเดินทางของตัวเองอีกครั้ง หลังจากเมื่อ 10 ปีก่อนนี้ชมรมฯ เคยได้ไปออกค่ายสร้างห้องสมุดไว้ที่โรงเรียนบ้านพองหนีบ ต่อเมื่อวันเด็กแห่งชาติประจำปี 2559 รุ่นพี่ที่เคยไปออกค่ายที่นั่นจึงขอความช่วยเหลือให้รุ่นน้องในชมรมได้เข้าไปช่วยแจกสิ่งของแก่น้องนักเรียน ซึ่งพอคณะกรรมการบริหารชมรมครูอาสาในรุ่นปัจจุบันได้เดินทางไปถึงก็เกิดความประทับใจในร่องรอยการทำงานของรุ่นพี่ที่ก่อเกิดประโยชน์ต่อโรงเรียนอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน รวมถึงการซึมซับกับวิถีอันเป็นโอกาสทางการศึกษาของน้องๆ นักเรียน จึงเกิดเป็นแรงบันดาลใจที่จะหวนกลับไปทำค่ายอาสาพัฒนาที่นั่นอีกครั้ง





ค่ายครั้งนี้ขับเคลื่อนในลักษณะสหกิจกรรม หรือบูรณาการการเรียนรู้หลากหลายกิจกรรมเข้าด้วยกัน อันเป็นภาพที่พบทั่วไปในวิถีของค่ายอาสาพัฒนาบนถนนสายกิจกรรมนอกหลักสูตร ครอบคลุมระบบและกลไกกิจกรรมครบทั้ง 4 ด้าน ดังนี้

  • กลไกด้านบำเพ็ญประโยชน์ ประกอบด้วยการจัดสนามเด็กเล่นตามหลักคิด BBL การทาสีและวาดภาพตกแต่งรั้วกำแพงโรงเรียนเพื่อเสริมการเรียนรู้และสีสันที่น่าสนใจ การทาสีหอพระและพระพุทธรูปประจำโรงเรียน ทาสีห้องสมุด ปรับแต่งภูมิทัศน์ภายในโรงเรียน ปลูกผักในกระถางที่ทำจากยางรถยนต์
  • กลไกด้านวิชาการ ประกอบด้วยการเขียนป้ายรณรงค์ประเด็นวินัย คุณธรรม การจัดกิจกรรมเพิ่มพูนทักษะการเรียนรู้ผ่านการอ่าน เกมฝึกสมอง




  • กลไกด้านศิลปวัฒนธรรม ประกอบด้วยกิจกรรมศิลปะการแสดงลูกทุ่งหมอลำ (ครูอาสาวาทศิลป์) ที่นำเอาเรื่องราวจากวรรณคดีมาแสดงในแบบบันเทิงเริงรมย์ เช่น ขูลูนางอั้ว สังข์ทอง รวมถึงกิจกรรมขับร้องสรภัญญะ พิธีบายศรีสู่ขวัญ การเรียนรู้วิถีชุมชนผ่านระบบพ่อฮักแม่ฮัก และการ “กินพาแลง” ร่วมกับพ่อฮักแม่ฮัก
  • กลไกด้านกีฬาและนันทนาการ ประกอบด้วยกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ กิจกรรมแอโรบิกภาคเช้า กีฬาเชื่อมความสัมพันธ์ กิจกรรมรอบกองไฟและการประกวดขวัญใจชาวค่าย รวมถึงกิจกรรม “สมุดกระจก” ที่ใช้เป็นสื่อในการบันทึกการเรียนรู้ของแต่ละคนในแต่ละวัน พร้อมๆ กับการเชื่อมโยงไปสู่การเปิดใจถึงกันและกันในวิถีของ “คนค่าย”




ในด้านการมีส่วนร่วมของชุมชน- ชุมชนและโรงเรียนตลอดจนส่วนราชการในชุมชนได้ให้การสนับสนุนอุปกรณ์การดำเนินงานและสวัสดิการในบางส่วน พร้อมทั้งช่วยค้ำยันภารกิจการเป็น “พ่อช่าง” พานิสิตลงมือปฏิบัติการจริง มีทั้งที่เป็นการถ่ายทอดความรู้และการร่วมลงมือทำเคียงบ่าเคียงไหล่กับนิสิต หรือแม้แต่การระดมชาวบ้านมาช่วย “ปรับแต่งหน้าดิน” บริเวณสนามเด็กเล่นโดยมิให้รอให้เป็นภาระของนิสิตแต่เพียงฝ่ายเดียว




ถึงแม้ค่ายครั้งนี้จะไม่พบภาพที่ชัดเจนในเรื่องของการนำวิชาชีพความเป็นครูไปใช้โดยตรงเหมือนค่ายเปลวเทียนสู่ฝันที่เน้นการถ่ายทอดความรู้แก่นักเรียนเป็นหัวใจหลัก แต่ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่ากิจกรรมทั้งหมดล้วนยึดโยงกับวิชาชีพความเป็นครูอย่างเลี่ยงไม่ได้ เนื่องเพราะการจัดทำสนามเด็กเล่น การทาสีและเขียนภาพบนกำแพง การเขียนป้ายสำนวน-ภาษิตคำคม ฯลฯ

กิจกรรมเหล่านี้ต่างเป็นกิจกรรมนอกชั้นเรียนที่เน้นสร้างระบบสิ่งแวดล้อมมารองรับการเรียนรู้ของนักเรียน รองรับการเรียนรู้ด้วยตนเองและการเรียนรู้ผ่านการเรียนการสอนของคุณครู เช่นเดียวกับกิจกรรมเคารพธงชาติในทุกๆ เช้าก็ถือเป็นอีกหนึ่งกระบวนการของการเรียนรู้ในวิชาชีพครูแทบทั้งสิ้น ซึ่งก็เป็นที่น่าชื่นชมมากมิใช่ย่อย เพราะในแต่ละเช้านิสิตก็ไม่ละเลยที่จะออกมาร่วมกิจกรรมกับทางโรงเรียน –




ท้ายที่สุดที่อยากจะกล่าวเพิ่มเติมก็คือประเด็นด้านงบประมาณ พบว่าค่าย “ครูอาสาสู่ชนบท ครั้งที่ 14” เป็นค่ายที่แทบจะเรียกได้ว่าต้องจัดหางบประมาณออกค่ายเองเกือบทั้งหมด นี่คือข้อจำกัดของชมรมในสังกัดคณะที่ไม่ค่อยมีงบประมาณสนับสนุนมากมายนัก นับเป็นจุดอ่อนที่ก่อเกิดและมีตัวตนมาในทุกยุคทุกสมัย แต่ก็ยังดีที่นิสิตได้กำจัดจุดอ่อนสู่การพลิกผันให้ตนเองกล้าและแกร่งมากขึ้น เสมือนการเรียนรู้ที่จะหยัดยืนด้วยตนเองโดยไม่งอมืองอเท้ารอรับการหนุนเสริมจากระบบเสียทั้งหมด เมื่อเทียบกับกิจกรรมบางกิจกรรมที่เป็นประเพณีนิยม “ดู-แดก-ดิ้น” (ตีกลองร้องเต้น) อันหลากล้นในมหาวิทยาลัยฯ ซึ่งได้รับการสนับสนุนเงินก้อนโตโดยไม่ต้องดิ้นรนจัดหางบเองให้เหนื่อย จะเห็นได้ว่ากิจกรรมของชาวค่ายเช่นนี้ชวนค่าต่อการหนุนเสริมและกราบหัวใจของพวกเขาเป็นที่สุด





กรณีดังกล่าวนี้ทำให้รู้ว่าโครงการ “ครูอาสาสู่ชนบท ครั้งที่ 14” โดยรวมแล้วเป็นงบจัดหาเองเกือบทั้งหมด ได้รับการสนับสนุนจากรายวิชากระบวนทัศน์ทางการศึกษา จำนวน 5,000 บาท จากอาจารย์ที่ปรึกษา (รศ.ดร.ธูปทอง กว้างสวาสดิ์) จำนวน 3,000 บาท ที่เหลือมาจากการจัดหาเองผ่านการเปิดหมวกร้องรำทำเพลง หรือไม่ก็จำหน่ายเสื้อชมรมฯ อีก 52,000 บาท รวมเสร็จสรรพใช้งบไม่ต่ำกว่า 70,000-75,000 บาทอย่างไม่ต้องสงสัย

กระนั้นในความเป็นจริงก็น่าสะเทือนใจอยู่มิใช่ย่อย เพราะเดิมชมรมครูอาสามีองค์กรที่รับปากจะสนับสนุนงบประมาณในจำนวนเงิน 10,000 บาท ครั้นเดินทางถึงพื้นที่กลับไม่ได้รับการสนับสนุนเหมือนที่หารือกันไว้ ทำให้ต้องปรับแผนกันอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะในหมวดหมู่รายการของการกินอยู่นั้นต้องรัดเข็มขัดเป็นที่สุด – เป็นการรัดเข็มขัดจนแทบหายใจไม่ออก อะไรไม่จำเป็นต้องจ่ายก็ตัดทิ้งไป ทุกๆ อย่างถูกบริหารจัดการใหม่เกือบทั้งหมด คงไว้แต่เฉพาะงบดำเนินการที่จะจัดสร้างสิ่งต่างๆ ให้กับโรงเรียนและชุมชน เพราะนั่นคือเป้าหมายหลักของการเดินทางมาทำค่าย





นี่คืออีกหนึ่งบทสรุปของเหล่าบรรดา “ครูอาสา” ที่หัวใจยังเต็มไปด้วยไฟฝันแห่ง “จิตอาสา” และไม่ยี่หระต่อการแบกเป้ออกเดินทางไปสู่การเรียนรู้ที่จะพัฒนาชุมชนไปพร้อมๆ กับการพัฒนาตนเองบนฐานวิชาชีพผ่านกิจกรรมนอกหลักสูตร โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงวาระของการเป็น “ครูฝึกสอน” ตามระบบแล้วค่อยลงมือเรียนรู้และสอนหนังสือ ขืนมัวแต่จะนั่งตบยุงรอวาระการฝึกสอนอย่างเป็นทางการในชั้นปีที่ 5 ย่อมไม่ทันการณ์ และอาจต้องอุทานเสียงหลงออกมาดังๆ ประมาณว่า “รอให้ถึงฝึกสอน....ก็สายเสียแล้ว”



อาทิฌา กาโน : ผู้รับผิดชอบหลักค่ายครูอาสาสู่ชนบท ครั้งที่ 14



ตอนไปถึงค่าย เราก็ได้รู้ว่าเราไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากองค์กรที่เคยได้รับปากเราไว้ ตอนนั้นเราตกใจกันมาก เราต้องปรับแผนกันยกใหญ่ ทุกอย่างประหยัดกันแบบที่สุดถึงที่สุด โดยเฉพาะการประหยัดเรื่องอาหาร แต่วิกฤตก็มีโอกาส เพราะต่อมาพ่อฮักแม่ฮักก็พากันหาข้าวหาปลามาให้เราอยู่ตลอดเวลา ของป่า อาหารป่าที่ไม่เคยกินก็ได้กิน มันเป็นความรู้สึกที่ประทับใจมากๆ ประทับใจในความเมตตาของชุมชนที่มีต่อนิสิต และถึงแม้โรงเรียนแห่งนี้จะเป็นโรงเรียนที่อยู่กลางหุบเขา เดินทางไปค่ายอย่างลำบาก แต่เราก็มีความสุขกับการได้ทำค่ายนี้ ความสุขที่ได้ทำประโยชน์ต่อโรงเรียนและชุมชน ความสุขที่ได้กลับไปต่อยอดในสิ่งดีๆ ที่รุ่นพี่ได้เคยทำไว้

...

อาทิฌา กาโน
ชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาภาษาไทย คณะศึกษาศาสตร์



ต้นเรื่อง/ภาพ : ชมรมครูอาสา
เรียบเรียง : พนัส ปรีวาสนา (8 มิถุนายน 2559)

หมายเลขบันทึก: 619018เขียนเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2016 23:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2016 23:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท