ชีวิตที่พอเพียง : 2796. เรียนรู้จากการทำงานตัดสินรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ๒๕๕๙



ผมเคยเขียนความประทับใจจากการทำงานเป็นประธานคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ (IAC – International Award Committee) รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลไว้ ที่นี่


ปี ๒๕๕๙ มีผู้ได้รับการเสนอชื่อใหม่ ๕๙ รายชื่อ จาก ๓๕ ประเทศ และมีอีก ๑ คนที่ดึงมาจากรายชื่อ ในปีก่อน คณะกรรมการที่ปรึกษาวิชาการ (SAC – Scientific Advisory Committee) เสนอรายชื่อคนที่ควรได้รับ การพิจารณาเป็นพิเศษ (very shortlist) ๘ ราย ซึ่งเมื่อเสนอต่อคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ ก็ได้รับความ เห็นชอบ ว่าให้พิจารณาลงรายละเอียด ๘ รายนี้


คณะกรรมการที่ปรึกษาวิชาการ (ที่มี ศ. นพ. ประสิทธิ์ วัฒนาภา เป็นประธาน และ ศ. นพ. ภัทรชัย กีรติสิน เป็นกรรมการและเลขานุการ) เตรียมเอกสารการศึกษารายละเอียดผลงานของทั้ง ๘ รายใส่แฟ้มประชุมไว้อย่างดี และยังมี PowerPoint นำเสนอ และเตรียมผู้ทำงานด้านนั้นๆ โดยตรงมานำเสนอต่อคณะกรรมการรางวัลนานาชาติเป็นที่ชื่นชมมาก


ผมมีข้อสังเกต ๔ ข้อ สำหรับระมัดระวังการทำงานในปีต่อๆ ไป (๑) ผู้นำเสนอจากฝ่ายไทยต้องไม่มาชักจูง หรือหว่านล้อมให้คณะกรรมการรางวัลนานาชาติเลือกรายที่ตนนำเสนอ ต้องมาทำหน้าที่ให้ข้อมูลเท่านั้น (๒) จะอย่างไรก็ตาม กรรมการรางวัลนานาชาติแต่ละท่านมีประสบการณ์ตรงของตนมาให้ เป็นข้อมูลเพิ่มเสมอ (๓) ต้องระวังผลประโยช์ขัดแย้ง (COI – Conflict of Interest) ทั้งของกรรมการและผู้นำเสนอฝ่ายไทย และของสมาชิกคณะกรรมการรางวัลนานาชาติเอง (๔) การที่เจ้าของผลงานอ้างว่าตนเองเป็นผู้ริเริ่มแนวคิดขึ้น ไม่อ้างอิงคนอื่น อาจเป็นจุดอ่อนเชิงจริยธรรม ที่หากพระราชทานทุนจะมีคนโต้แย้งได้


ความยากและละเอียดอ่อนของการทำหน้าที่กรรมการตัดสินรางวัลคือต้องทำใจเป็นกลาง ไม่ถือหางคนหนึ่งคนใด หรือเรื่องหนึ่งเรื่องใด ว่ากันตามเนื้อผ้า (merit)


การประชุมเพื่อตัดสินรางวัลเช่นนี้ มีรายละเอียดมาก ความน่าประทับใจคือกรรมการที่เป็นคนเก่งและ มีความรู้มากเช่นนี้ ย่อมมีความเห็นและมุมมองแตกต่างกันได้มาก ในบางช่วงของการอภิปรายดูจะตกลงกันได้ยาก แต่เมื่อรับฟังซึ่งกันและกันไประยะหนึ่ง ก็จะมีกรรมการท่านใดท่านหนึ่งออกมาเสนอความคิดแบบ แหวกแนว และมีกรรมการอีกหลายท่านสนับสนุน นำไปสู่ข้อยุติได้ เป็นข้อยุติที่กรรมการทุกท่านเห็นว่าได้ชื่อผู้สมควรพระราชทานรางวัลที่มีความเหมาะสมตามเกณฑ์ของรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล


ความยากลำบากของผมในฐานะประธาน คือบางทีผมฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง เพราะพื้นความรู้ในเรื่องนั้นๆ ของผมไม่แน่น ก็ต้องใช้วิธีเดาๆ เอา


กรรมการทุกท่าน บอกว่าการมาทำงานเป็นกรรมการรางวัลนานาชาติของรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลนี้ ประเทืองปัญญามาก จากปฏิสัมพันธ์แลกเปลี่ยนโต้แย้งกันในการประชุม ซึ่งสำหรับผม ผมรู้สึกว่าผมโชคดีที่ได้ เข้าชั้นเรียนโดยไม่ต้องจ่ายค่าเล่าเรียน


ปีนี้รางวัลสาขาการแพทย์ได้แก่ผลงานการพัฒนาแอนติบอดีย์เพื่อการรักษาโรค (Therapeutic Antibodies) มอบแก่ Sir Gregory Paul Winter แห่งสหราชอาณาจักร สาขาสาธารณสุขแก่ผลงานสร้างความรู้ และวิธีรักษาโรคสมองขาดเลือดเฉียบพลัน (stroke) และภาวะหลงลืม (dementia) มอบแก่ศาสตราจารย์ Vladimir Hachinski แห่งประเทศแคนาดา



วิจารณ์ พานิช

๒๒ ต.ค. ๕๙



1 บรรยากาศในห้องประชุม


2 ระหว่างการอภิปรายเพื่อถ่ายทำวีดิทัศน์


3 ถ่ายรูปหมู่หลังการถ่ายทำวีดิทัศน์แสดงทัศนะต่อรางวัลและวิธีตัดสินรางวัล


หมายเลขบันทึก: 618885เขียนเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2016 22:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2016 22:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท