ชีวิตที่พอเพียง : ๒๐๔๘. เรียนรู้จากการทำงานกรรมการตัดสินรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล


 

          การทำงานไปสู่การเสนอชื่อผู้สมควรได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เป็นระบบที่รัดกุมขึ้นเรื่อยๆ   ผมถือว่าเป็นระบบการทำงานวิชาการอย่างหนึ่ง    เน้นการทำงานเป็นทีม และทำอย่างเป็นระบบ    อาศัยทีมงานและระบบทำให้มีความรัดกุมแม่นยำ    โดยผมในฐานะประธานคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ (IAC – International Award Committee) เจียมตัวอยู่ตลอดเวลาว่าตนเองมีความรู้ความสามารถจำกัด   ต้องใช้วิธีทำงานเป็นทีมและเป็นระบบจึงจะสามารถสร้างผลงานที่ดีได้

          ไม่ว่าทำงานสาธารณะชิ้นใด (หรือตำแหน่งใด) ผมเตรียม exit strategy ไว้เสมอ หากทำได้    เพราะผมเชื่อว่า งานสำคัญๆ เหล่านี้ต้องวางระบบให้มีความต่อเนื่องยั่งยืน    ไม่ขึ้นกับตัวบุคคล    ผมจึงเตรียมคนไว้ทำงานแทน ชนิดที่ทำได้ดีกว่าผมไว้ล่วงหน้านานๆ

          ผมจึงภูมิใจมาก ที่ในปี ๒๕๕๖ ผมไม่ต้องเป็นประธาน SAC (Scientific Advisory Committee) แล้ว    มี ศ. นพ. ประสิทธิ์ วัฒนาภา ทำหน้าที่ประธานแทน   และกรรมการ SAC (ซึ่งเป็นคนไทยทั้งหมด) กว่าครึ่งเป็นคนใหม่    ซึ่งมาจากแนวทางสร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมารับหน้าที่เพื่อสร้างความต่อเนื่องยั่งยืนนั่นเอง 

          ปี ๒๕๕๖ มีผู้ได้รับเสนอชื่อใหม่ ๖๑ ราย   มีชื่อเก่าค้างอยู่ ๓ ราย   รวมเป็น ๖๔ ราย    คณะกรรมการ SAC ประชุมกัน ๓ ครั้ง/ปี   เสนอรายชื่อผู้มีผลงานเด่นที่เรียกว่า long short-list รวม ๑๕ รายกับ ๑ กลุ่ม    แล้วลดจำนวนเป็น short-list จริงๆ ๗ ราย กับอีก ๑ กลุ่ม

          ในฐานะประธาน IAC ผมคอยเฝ้าดูว่ามีรายชื่อคน(หรือกลุ่ม) ที่เมื่อตัดสินแล้ว จะสร้างความชื่นชมเห็นพ้องในวงการต่างๆ ทั้งภายในประเทศและวงการนานาชาติ   ซึ่งเมื่อรายชื่อใน short-list อยู่ในลักษณะดังกล่าว ผมก็โล่งอก

          ปีนี้เดิมกรรมการ IAC จะมาประชุมครบทุกท่าน   แต่พอใกล้เข้ามา Sir David Weatherall มีปัญหาภรรยาต้องเข้ารับการผ่าตัด และต้องพักฟื้นนาน   ท่านจึงมาไม่ได้   แต่เมื่อเราส่งผลงาน ที่เป็นข้อเสนอแนะจาก SAC ไป    ท่านก็ตอบ อี-เมล์ ให้คำแนะนำมาอย่างกระชับแต่ชัดเจนมาก    ยิ่งทำให้ผมสบายใจ

          ต่อมา ศาสตราจารย์ ทาดามิตสุ คิจิโมโตะ ประสบอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ชน แขนหัก มาไม่ได้    ท่านก็ให้ความเห็นมาทาง อีเมล์ เช่นเดียวกัน   

          ในวันประชุม IAC วันแรก คณะกรรมการ SAC รายงานผลการทำงาน   และนำเสนอผลงานของคนที่อยู่ใน short-list 7 คน กับ 1 กลุ่ม    ก็ได้รับคำชมเชยจากคณะกรรมการ IAC ว่า SAC ทำงานดีมาก    ทั้งเอกสารและการนำเสนอถือว่าเยี่ยม    และในช่วงชั่วโมงสุดท้ายของการประชุมวันแรก คณะกรรมการก็ร่วมกันให้ความเห็น    จนพอมองออกเลาๆ ว่าผลสุดท้ายจะออกมาอย่างไร

          ความสนุกและประเทืองปัญญา ในการทำงานกับ IAC ที่สมาชิกเป็นอัจฉริยะทั้งสิ้น (๒ คนได้รับรางวัลโนเบล)    อยู่ที่แต่ละคนมีความคิดเป็นของตัวเอง    มีจุดยืนแตกต่างกัน    แต่ก็มีความยืดหยุ่นในความคิด ที่จะประนีประนอมความแตกต่าง สู่ข้อยุติได้    ในกระบวนการและขั้นตอนเหล่านี้ ผมได้เรียนรู้มากจริงๆ    เป็นบุญของชีวิต

          วันประชุมวันที่ ๒ คือวันที่ ๒๔ ต.ค. ๕๖   ใช้เวลาอภิปรายไม่ถึงชั่วโมง คณะกรรมการ IAC ก็มีมติเป็นเอกฉันท์   เสนอให้พระราชทานรางวัลแก่ผลงานด้านการแก้ปัญหาโรคติดเชื้อ เอ็ชไอวี ทั้งรางวัลด้านการแพทย์    และรางวัลด้านสาธารณสุข    โดยรางวัลด้านการแพทย์ให้แก่ผลงานด้านการค้นพบกลไกการแพร่กระจายเชื้อไวรัส เอ็ชไอวี ในร่างกายของมนุษย์   นำไปสู่การค้นพบวิธีใช้ยาต้านไวรัสสูตรผสม ๓ ชนิด ที่เรียกว่า HAART (Highly Active Anti-Retroviral Therapy) ในการรักษาโรค   และทำให้ผู้ติดเชื้อดำรงความมีสุขภาพดีได้ ทั้งๆ ที่ยังมีเชื้อไวรัสอยู่ในร่างกาย    วิธีการแบบนี้เป็นทั้งการรักษาและป้องกันโรค    ที่เรียกว่าการป้องกันแบบทุติยภูมิ (secondary prevention) คือป้องกันไม่ให้เจ็บป่วย แม้จะมีโรค

          อาจกล่าวสั้นๆ ได้ว่า รางวัลด้านการแพทย์  มอบให้แก่ผู้ค้นพบ HAART   ที่นำไปสู่การเปลี่ยนชีวิตของผู้ติดเชื้อ เอ็ชไอวี โดยสิ้นเชิง    จากรอวันตาย สู่การมีชีวิตอยู่กับเชื้อ เอ็ชไอวี อย่างมีสุขภาพดี

          ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ลูคัส กรรมการท่านหนึ่ง ย้ำนักย้ำหนาว่า    เวลาสื่อสารการให้รางวัลแก่ HAART ต้องบอกด้วยว่า    HAART อย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะทำให้อุบัติการของการติดเชื้อ เอ็ชไอวี ลดลง    ต้องมีการรณรงค์ให้เปลี่ยนพฤติกรรมทางเพศ (และฉีดเสพยาเสพติดทางหลอดเลือด)   ท่านเอาผลการวิจัยในอัฟริกามาให้ดูเป็นหลักฐานด้วย

          รางวัลด้านสาธารณสุข ให้แก่ผลงานด้านการทำให้ข้อค้นพบ HAART เกิดประโยชน์แก่ผู้ติดเชื้อ เอ็ชไอวี ส่วนใหญ่ของโลก ซึ่งอยู่ในประเทศรายได้น้อยและรายได้ปานกลาง    โดยการประสานงานสร้างความร่วมมือกับฝ่ายต่างๆ ทั่วโลก  

          ชื่อผู้ได้รับการตัดสินขั้นสุดท้ายโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ให้เข้ารับพระราชทานรางวัล ในวันที่ ๒๘ ม.ค. ๕๗  อ่านได้ ที่นี่  

          ข้อเรียนรู้สำคัญที่สุดของผม มาจากความสำเร็จในการพัฒนาความเข้มแข็งของ SAC   ทำให้กระบวนการทำงานของ SAC เป็นการเรียนรู้    และทำให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่าง IAC กับ SAC ยิ่งทำให้เกิดการเรียนรู้   เป็นการเรียนรู้หลายมิติ ทั้งด้านวิธีคิด   ความระมัดระวังไม่ส่งสัณญาณผิดๆ ต่อสาธารณชน    การแยกแยะวิธีคิด เพื่อระมัดระวังเรื่องที่ล่อแหลมต่อความสับสนหรือความเข้าใจผิด    โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมอบรางวัลแก่คนที่ทำงานด้านนโยบาย (policy)    ที่อาจสับสนกับคนที่ทำงานด้านการเมือง (politics)

          เราได้เรียนรู้ความแตกต่างระหว่างการทำงานวิจัยวิทยาศาสตร์ในยุโรป   กับในสหรัฐอเมริกา    ว่านักวิทยาศาสตร์ในยุโรป ไม่ต้องไปยุ่งกับนักการเมือง    และพูดกับนักการเมืองไม่เป็น    ซึ่งตรงกันข้ามกับนักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐอเมริกา     ที่ต้องทำงาน political advocacy ด้วย 

          ผมบันทึกความรู้สึกในการทำงานเดียวกัน ของปี ๒๕๕๕ ไว้ ที่นี่    และของปี ๒๕๕๔ ที่นี่

 

วิจารณ์ พานิช

๒๔ ต.ค. ๕๖

 

 

รูปหมู่ IAC & SAC

 

บรรยากาศในห้องประชุม

 

ดอกไม้ประดับใน ล็อบบี้ ของโรงแรมโอเรียนเตล

 

ปักษาสวรรค์

 

ผีเสื้องาม

 

กุหลาบหินงาม

 

สิ่งประดับที่มุมหนึ่งของ ล็อบบี้

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 555335เขียนเมื่อ 4 ธันวาคม 2013 10:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 ธันวาคม 2013 10:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท