ชีวิตที่พอเพียง : ๑๔๕๔.เรียนรู้จากการทำงานเป็นประธานคณะกรรมการนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล


          ผมได้เล่าเรื่องการประชุม IAC ของรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ปี ๒๕๕๔ ไว้ที่นี่การประชุมจัด ระหว่างวันที่ ๒๖ - ๒๘ ต.ค.๕๔   ผมชมคุณผึ้งว่า ปีนี้แฟ้มประชุมครบถ้วนสมบูรณ์เป็นพิเศษ    และคณะกรรมการ SAC ก็ทำการบ้านมาดีเป็นพิเศษ ช่วยให้การประชุมสะดวกขึ้นมาก   แต่ก็เป็นการประชุมในสถานการณ์ที่ผู้คนระทึกขวัญกับเหตุการณ์น้ำท่วม    กรรมการ SAC ท่านหนึ่งคือ อ. หมอปรีดา ออกจากบ้านไม่ได้ โดนน้ำล้อมรอบ   อีกท่านหนึ่งคือ ศ. นพ. ประเสริฐ เอื้อวรากุล ติดป้องกันน้ำท่วมบ้าน   แต่เหตุการณ์น้ำท่วมทำให้กรรมการ SAC มาร่วมประชุมได้คับคั่ง เพราะการประชุมอื่นงด    สังเกตได้ว่าห้องประชุมของโรงแรมโอเรียนเต็ลเงียบเหงา    ไม่คึกคักอย่างตอนเรามาประชุมปีก่อนๆ 

          ปีนี้มีผู้ได้รับเสนอชื่อ ๗๖ คน   และมีชื่อที่เราเก็บมาจาก ๓ ปีก่อน อีก ๔ คน   SAC เสนอชื่อที่เป็น strong candidate จำนวน ๘ คน   และเตรียมคนเขียน recommendation ของ strong candidate แต่ละคนเสนอ IAC ทางอีเมล์ตั้งแต่เดือนที่แล้ว    และทำแฟ้มแจกในวันนี้ด้วย    และตอนนำเสนอ ก็มี PowerPoint ประกอบด้วย

          กรรมการ IAC มีทั้งหมด ๑๓ คน   เป็นคนไทย ๔ คน   มาประชุมทั้งหมด ๗ คน เป็นคนไทย ๓ คน   กรรมการ ๓ ท่านไม่อยู่ในสภาพที่จะมาประชุมได้เพราะอายุมาก สุขภาพไม่ดี    แต่ที่มาประชุม ๗ คน ก็ทำงานได้อย่างมีคุณภาพสูงมาก

          ข้อเรียนรู้อย่างมากสำหรับผมคือรายละเอียดของวิธีคิด   ที่เล่าลงรายละเอียดไม่ได้ เป็นความลับที่ไม่ควร เอามาเปิดเผย   บอกได้เพียงว่า เป็นเรื่องของการช่วยกันป้องกันอคติส่วนตัวของกรรมการบางคนต่อ candidate บางคน

          นอกจากนั้น สิ่งที่ควรเอามาบันทึกเป็นข้อเรียนรู้สำหรับนักวิชาการและสังคมไทยก็คือ    candidate คนหนึ่งถูกผู้ใกล้ชิดกล่าวหาว่า ตอนที่ทำงานวิจัยเรื่องที่เราจะให้รางวัล (เกือบ ๕๐ ปีมาแล้ว) มี นศ. ปริญญาเอกทำวิทยานิพนธ์เรื่องนั้น และตอนตีพิมพ์อาจารย์ใส่ชื่อตนเองเป็นชื่อแรก ไม่ใช่ชื่อนักศึกษา    กรรมการเห็นพ้องกันหมด (ในคณะกรรมการที่มาประชุม ๒ คนได้รับรางวัลโนเบล) ว่าหากตรวจสอบกับแหล่งที่เชื่อถือได้ ว่าข้อกล่าวหานี้เป็นจริง ก็จะต้องไม่ให้รางวัล    คือเรื่องแบบนี้จากแหล่งเดียวยังถือเป็นข้อยุติไม่ได้ ต้องสืบหาข้อมูล (ซึ่งทำยากมาก) จากแหล่งอื่นด้วย   หากจริงก็ถือเป็นเรื่องคอขาดบาดตายทางจริยธรรม

          การทำงานพิจารณาตัดสินรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล มีความละเอียดลออเป็นระบบขึ้นเรื่อยๆ    และมีข้อเรียนรู้มากขึ้นเรื่อยๆ ว่า    ต้องทำงานอย่างมีข้อมูลหลักฐานยืนยัน (evidence-based)    ในปีก่อนๆ ผมเห็นกรรมการที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ด้าน bio-medical เรียกหา evidence แล้วผมก็งงว่าเขายอมรับเฉพาะ scientific evidence ที่เป็น hard science เท่านั้นหรือ   มาปีนี้ก็เบาใจ เมื่อเขาเอาคนที่เขาเคย reject ไปแล้วในปีก่อน เอาไปถามผู้รู้ในสาขานั้นในประเทศของเขา    และถือว่าความเห็นของคนที่น่าเชื่อถือเป็น peer opinion ที่จัดเป็น evidence ได้   และ evidence ของการเอาผลงานไปใช้แพร่หลายก็ดูจากการที่ประเทศสำคัญๆ เอาไปใช้กับทั้งระบบ ของประเทศ นี่เป็นข้อเรียนรู้ที่ผมประทับใจทั้งต่อหลักการ และต่อตัวบุคคลที่มีความตั้งใจและรับผิดชอบในการ ทำหน้าที่กรรมการอย่างแข็งขัน

          กรรมการเห็นพ้องกันว่า ใบเสนอชื่อ (Nomination Form) ที่ใช้อยู่ ยังไม่ดีพอ ที่จะให้ผู้เสนอชื่อลง รายละเอียดที่ให้ข้อมูลหลักฐานชัดเจน ง่ายต่อการพิจารณาผลงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานทางด้านสาธารณสุข ซึ่งมีความซับซ้อน และบางกรณีหาข้อมูลหลักฐานยาก   ศ. ลูคัส ผู้เชี่ยวชาญด้านการคิดหลักการเสนอให้มี หมายเหตุที่แบบฟอร์มว่า   ขอให้ระบุหลักฐานที่แสดงผลงานที่นอกเหนือจากการทำงานตามโปรแกรมที่ candidate รับผิดชอบ   ที่นำไปสู่ผลงานที่

๑. สร้างความรู้ใหม่  เช่น ค้นพบสาเหตุใหม่ของโรคหรือความเจ็บป่วย   หรือปัจจัยเสี่ยงใหม่


๒. สร้างเทคโนโลยีใหม่ สำหรับการป้องกันหรือควบคุมโรค  หรือเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ


๓. พัฒนายุทธศาสตร์ที่เป็นนวัตกรรมสำหรับระบบสุขภาพ ที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผลดี

          ขั้นตอนของการตัดสินที่ยากยิ่ง คือค้นหาหลักฐานเพื่อตัดสินใจว่า ในการทำงานสร้างความก้าวหน้า ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งนั้น    ตามปกติจะมีคนทำงานหลายกลุ่มหลายคน   ใครคือคนที่เด่นที่สุดที่ควรได้รับการยกย่อง    มีหลักคิดอย่างไรที่จะให้เมื่อประกาศให้รางวัลออกไปแล้วไม่โดนวิจารณ์แย้งว่าให้ผิดคน   คือถูกเรื่องแต่ผิดคน   เราหลงไปให้คนที่เป็นรอง ไม่ใช่คนที่เด่นที่สุด   เมื่อไรแยกไม่ออกต้องให้รางวัลคู่หรือ ๓ คน เพราะเขาทำด้วยกัน จริงๆ    กรรมการที่ชำนาญถามว่าชื่อผู้เป็นเจ้าของสิทธิบัตรมีกี่ชื่อ

          หลักการคิดหาตัวบุคคลที่จะให้รางวัลมีหลัก ๓ ขั้นตอนคือ

๑. discovery หรือ etiology
๒. epidemiology
๓. development of method / product

          ตอนพิจารณาเรื่อง Rotavirus เราถกกันมากว่าใครบ้างมีบทบาทต่อการลดอัตราตายในเด็กจากโรค ท้องร่วงเนื่องจากเชื้อตัวนี้   แยกออกมาให้เหลือ ๒ คนตามเกณฑ์ของการให้รางวัลไม่ได้   จนในที่สุดก็ต้องตัดสินใจให้แก่ผู้ค้นพบเชื้อและศึกษายืนยันหลักฐานว่าเป็นสาเหตุสำคัญของโรคท้องร่วงในเด็ก  คือ Ruth F. Bishop แห่งมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ออสเตรเลีย

          ผมได้เรียนรู้เรื่อง community-directed health intervention   ว่าบทบาทของชุมชนมากกว่า community-based   และในประเทศกำลังพัฒนาต้องการปฏิบัติการสาธารณสุขแนวนี้   คนที่ริเริ่มและดำเนินการจนเกิดความ สำเร็จอย่างชัดเจนในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเป็นรูปธรรม อยู่ในข่ายที่จะได้รับรางวัล    โดยถือว่าเป็นการสร้าง เทคโนโลยีใหม่ ที่เป็นนวัตกรรมด้านการพัฒนาสุขภาพ  

          อุดมการณ์ของรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล คือการส่งเสริมแรงบันดาลใจของผู้คนให้มุ่งมั่นทำงานเพื่อ ประโยชน์ของมนุษยชาติ   ซึ่งในกรณีนี้คือประโยชน์ด้านสุขภาพ   กรรมการ IAC ท่านหนึ่งบอกว่าความหวังอยู่ที่ อนาคต ซึ่งหมายถึงบทบาทของคนรุ่นใหม่    เขาอ่านเอกสารแจ้งเพื่อทราบเรื่องโครงการเยาวชนแล้วก็แนะว่า ต้องเพิ่มจำนวนผู้ได้รับพระราชทานทุนจาก ๕ คน ให้มีจำนวนมากขึ้น    ซึ่งผมคิดว่า ควรขยายไปที่วิชาชีพอื่นด้วย   โดยต้องมีกลไกการจัดการที่ดี   เวลานี้ โครงการเยาวชนของสาขาแพทย์ปีละ ๕ คน มีระบบการจัดการที่ถือว่า เข้มแข็งมาก  

          เราเห็นโอกาสใช้มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ทำประโยชน์ในการสร้างคน ให้แก่วงการสุขภาพไทย มากกว่าที่เป็นอยู่    แต่คอขวดอยู่ที่กลไกการจัดการ
ผมได้รับคำแนะนำให้รู้จัก Kavli Prizeของนอร์เวย์   สำหรับศึกษาวิธีการสร้างให้รางวัลเป็นที่รู้จัก กว้างขวาง   ซึ่งที่จริงผมไม่สันทัดในเรื่องการประชาสัมพันธ์    และเรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่ของผม   แต่ก็คงต้องช่วยๆ กันศึกษาและออกความเห็น
พิธีประกาศชื่อผู้ได้รับรางวัลจัดเมื่อวันที่ ๑๔ ธ.ค. ๕๔ ดังมีรายละเอียดอ่านได้ที่นี่

 

 

วิจารณ์ พานิช
๒๙ ต.ค.๕๔ ปรับปรุง ๑๑ ธ.ค. ๕๔ 
 

หมายเลขบันทึก: 471501เขียนเมื่อ 16 ธันวาคม 2011 14:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 02:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท