แนวทางชนะความทุกข์ (3)


ปัญหาอันยิ่งใหญ่ของคนเราก็คือ ความทุกข์ ความกลัดกลุ้มใจ

17.  จงจำไว้ว่า ปัญหาอันยิ่งใหญ่ของท่านก็คือ ความทุกข์ ความกลัดกลุ้มใจ และความทุกข์นั้นก็จะไม่หมดไปได้เพราะการไหว้วอนบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ แต่มันจะหมดไปได้จากใจของท่านได้ ถ้าท่านมีปัญญารู้เท่าทันตามเป็นจริงในสิ่งที่ทำให้ท่านเป็นทุกข์นั้น

18.  ดังนั้นในการฝึกสมาธิทุกครั้ง ท่านจึงต้องกำหนดจิตให้สงบจิตเสียก่อน จากนั้นจึงเอาจิตที่สงบนั้นมาพิจารณาทบทวนปัญหาที่ทำให้ท่านเป็นทุกข์

19.  ท่านจะต้องรู้ความจริงด้วยว่า ปัญหาหลายๆ อย่างท่านไม่สามารถจะแก้ไขมันได้ เพราะมันเป็นสิ่งที่แก้ไขไม่ได้ตามสภาวะแวดล้อมของมัน แต่หน้าที่ของท่านคือ ท่านจะต้องพยายามหาวิธีทำกับมันให้ดีที่สุด โดยคิดว่า ท่านทำได้ดีที่สุดเพียงเท่านี้ ผลจะเกิดขึ้นอย่างไรก็ช่างมัน ปัญหามันจะหมดไปหรือไม่ก็ช่างมัน ท่านจะได้หรือจะเสียก็ช่างมัน ท่านทำหน้าที่ของท่านได้ดีที่สุดแล้ว ท่านก็ถูกต้อง เรื่องจะดีร้ายได้เสียมันก็ไม่ใช่เรื่องของท่าน

20.  ท่านจะต้องเปิดใจให้กว้าง ให้ยอมรับในทุกสิ่งที่เกิดขึ้นว่ามันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตามเหตุปัจจัยของมัน เช่น เรื่องไม่ดีที่ไม่น่าปรารถนา มันก็อาจจะเกิดขึ้นกับท่านได้ตามเหตุปัจจัยของมัน เพราะทุกสิ่งเป็นของไม่เที่ยงแท้แน่นอนอะไร บางทีมันก็ดี บางทีมันก็ไม่ดี มันเป็นอยู่อย่างนี้เอง เรื่องไม่ดีที่ไม่น่าปรารถนานั้น แท้จริงแล้วมันเป็นสิ่งที่มีอยู่คู่โลกนี้มานานแล้ว ทุกคนที่เกิดมาในโลกก็ล้วนแต่จะต้องประสบกับมันทั้งนั้น แม้ว่าอาจจะมีลักษณะแตกต่างกันบ้างก็ตาม เรื่องไม่ดีไม่ปรารถนานั้น ไม่ใช่เกิดมาจากอำนาจของเทวดาฟ้าดินที่ไหนเลย มันเป็นของธรรมดาที่มีอยู่ในโลกอย่างนี้เอง มันเป็นไปตามกรรม

21.  จงรู้จักธรรมะข้อที่ว่า “อนิจจัง” ซึ่งแปลว่า ความไม่เที่ยง สิ่งที่มีเหตุปัจจัย ปรุงแต่งทั้งหลายในโลกนี้ ล้วนแต่เป็นของไม่เที่ยงทั้งนั้น ความเปลี่ยนแปลงจากดีไปเลว เปลี่ยนจากความสมหวังไปเป็นความผิดหวัง ฯลฯ ก็ล้วนแต่เป็นเพราะความเป็นของไม่เที่ยงของมันนั่นเอง ดังนั้นจงอย่าเป็นทุกข์เศร้าโศกไปกับเรื่องดีร้ายเสียที่เกิดขึ้นกับตัวเอง แต่จงรู้จักมันว่า มันเป็นอย่างนี้เอง มันไม่เที่ยงแท้แน่นอเลยสักสิ่งเดียว ถ้าท่านรู้อย่างนี้ด้วยความสงบของสมาธิ จิตของท่านก็จะไม่เป็นทุกข์เลย

22.  จงรู้จักธรรมะข้อที่ว่า “ทุกขัง”  ซึ่งแปลว่า ความเป็นทุกข์  จงจำไว้ว่า ชีวิตของคนเรานั้นล้วนแล้วแต่มีความเป็นทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น ลักษณะของความทุกข์นั้น ได้แก่ ความเกิด ความแก่ ความตาย ความโศกเศร้า ความอาลัยอาวรณ์ ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ  ความคับแค้นใจ ความที่ได้รับสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา ความพลัดพรากจากคนรักหรือของรัก และความผิดหวัง เหล่านี้แหละคือความทุกข์ที่คนทุกชาติทุกภาษาในโลกนี้กำลังประสบอยู่

23.  จงรู้จักธรรมะข้อที่ว่า “อนัตตา”  ซึ่งแปลว่า ความไม่ใช่ตัวเราหรือของเรา หรือความปราศจากแก่นสารที่ยั่งยืนถาวร ข้อที่ว่า สิ่งทั้งหลายไม่มีตัวตนแก่นสารที่ถาวรนั้น หมายความว่า สิ่งเหล่านั้นมันจะมีอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น จะนานหรือไม่นานก็แล้วแต่เหตุการณ์ของมันเท่านั้นเอง มันไม่มีสิ่งใดจะคงอยู่ในโลกนี้ได้ตลอดไป ดังนั้นตัวตนที่เป็นของยั่งยืนถาวรของมันจึงไม่มีซึ่งสิ่งเหล่านั้น มันหมายรวมทั้งร่างกายและจิตใจของเราทุกคนด้วย

24.  เมื่อทุกสิ่งเป็นของไม่เที่ยง ชวนแต่จะทำให้เราเป็นทุกข์กับมัน และไม่ใช่สิ่งที่เป็นแก่นสารถาวรเช่นนั้นแล้ว เราจะมัวไปหลงใหลอยากได้อยากเป็นอะไรในมันให้มากเรื่องไปโดยเปล่าประโยชน์อีกเล่า

อิสระ

หมายเลขบันทึก: 471499เขียนเมื่อ 16 ธันวาคม 2011 13:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 23:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อ่านแล้วรู้สึกสดชื่น ทุกข์น้อยลง

ขอบคุณครับที่ไดรับประโยชน์จากบันทึกนี้ แต่ต้องลองฝึกปฏิบัติดูครับจะทำให้ได้ผลที่สุดยอดครับ ธรรมะของพระพุทธเจ้านี้ ใครปฏิบัติก็จะรู้เอง เกิดขึ้นกับตัวเองจริงๆ ศาสนาพุทธเป็นศาสนาวิทยาศาสตร์ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท