ชีวิตที่พอเพียง : ๑๖๙๙. เรียนรู้คุณค่าของผลงานที่ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๕๕



          สายวันที่ ๒๕ ต.ค. ๕๕ คณะกรรมการรางวัลนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ก็มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้เสนอแนะต่อคณะกรรมการมูลนิธิฯ ให้พระราชทานรางวัลด้านการแพทย์แก่ Sir Michael Rawlins จากผลงานสร้างสรรค์วิชาการ และสถาบัน พัฒนาหลักฐานประกอบการตัดสินใจ และจัดสรรทรัพยากร ด้านสุขภาพ (ซึ่งตัวสถาบันคือ NICE)  และ รางวัลด้านสาธารณสุขแก่ Dr. Uche Veronica Amazigo จากผลงานการสร้างสรรค์ ระบบการดำเนินการรักษาโรคแบบชุมชนอำนวยการ (Community-Directed  Intervention - CDI)


          ในฐานะประธาน ผมจึงขอให้คณะกรรมการใช้เวลาที่เหลือ ให้คำแนะนำว่า ควรสื่อสารคุณค่าของผลงานของท่านทั้งสอง ต่อสังคมโลก และสังคมไทย อย่างไร  จึงจะเกิดคุณค่าที่สุดต่อการพัฒนาสุขภาวะของผู้คน 


          โอ้โฮ! คณะกรรมการรางวัลนานาชาติแต่ละท่าน ให้คำแนะนำที่เปิดกระโหลกเพิ่มสติปัญญาแก่ผมอย่างที่สุด  การคุยกันเรื่องคุณค่าต่อผู้อื่น ต่อคนส่วนใหญ่ ตามรอยพระยุคลบาทสมเด็จพระบรมราชชนก นำสู่ปัญญาและความสุขเช่นนี้เอง 


          สำหรับ Sir Michaelผลงานที่เป็นรูปธรรมคือสถาบันNICE กับวิธีการทางวิชาการที่ NICE พัฒนาขึ้นใช้ประเมินความคุ้มค่าของเทคโนโลยีสุขภาพ  ผลงานนี้จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับสถานการณ์ของระบบสุขภาพในปัจจุบัน  ที่ผมคิดว่าแปลกมาก ไม่เคยคิดว่าจะได้ประสบในชีวิตของผม  คือเป็นสถานการณ์ที่ “สินค้า” มีมาก ดี แต่ราคาแพง  ในขณะที่เงินซื้อมีจำกัด  โดยที่ผลของการลงทุนซื้อคือชีวิตคน 


          หมอถูกสอนย้ำแล้วย้ำอีก ให้บูชาชีวิตคนเป็นสิ่งสูงสุด  ต้องทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อรักษาชีวิต (ของคนไข้)  เวลานี้สิ่งที่หมอ (และคนในวิชาชีพสุขภาพ) เผชิญ คือปัญหาเทคโนโลยีด้านสุขภาพที่ดี ประสิทธิผลสูง แต่ราคาแพงระยับ  หากคิดที่คนไข้เป็นรายคนก็ไม่ยากนัก ใครมีเงินจ่ายก็ได้รับ  ใครไม่มีเงินจ่ายก็ไม่ได้รับ  แต่โลกของระบบสุขภาพไม่ง่ายเช่นนั้น  เวลานี้เรามีระบบ “คุ้มครองสุขภาพถ้วนหน้า” (ที่ประเทศไทยได้รับการยกย่องมาก ว่ามีระบบที่ดีที่สุดประเทศหนึ่งในโลก)  ที่ประสบแรงกดดันจาก ๒ ขั้วตรงกันข้าม  คือผู้คนต้องการบริการที่ดีที่สุด  แต่เงินมีจำกัด


          นี่คือที่มาของผลงานของ Sir Michael คือผลงานสร้างเครื่องมือผลิตสารสนเทศเพื่อการตัดสินใจในสภาพที่ซับซ้อนของระบบสุขภาพ  ว่าเทคโนโลยีใดคุ้มค่า เทคโนโลยีใดไม่คุ้มค่า ในสถานการณ์นั้นๆ  โดยที่ความ “คุ้มค่า” นั้น ไม่ได้มองเฉพาะด้านการเงินเท่านั้น  ยังดึงเอาปัจจัยสำคัญหลากหลายมิติเข้ามาประกอบการพิจารณา


          นอกจาก NICE ซึ่งทำงานในระบบสุขภาพของสหราชอาณาจักรแล้ว  Sir Michael ยังตั้ง NICE International ขึ้นทำงานในบริบทที่หลากหลายของโลกด้วย  ตัวอย่างของผลงานทำนองเดียวกันกับ NICE ที่อยู่นอกประเทศอังกฤษคือ HITAPของประเทศไทย  ซึ่งทำงานก่อคุณประโยชน์แก่ระบบคุ้มครองสุขภาพถ้วนหน้าของไทยเป็นอย่างยิ่ง


          แต่กิจกรรมประเมินความคุ้มค่าของเทคโนโลยีสุขภาพไม่ใช่ว่าจะเป็นที่ชื่นชอบของคนทุกคน  โดยเฉพาะหมอ  มีหมอจำนวนหนึ่งไม่ชอบ  หรือไม่พอใจผลงานบางเรื่อง  เพราะผลงานบางชิ้นอาจนำไปสู่การตัดสินใจเชิงนโยบายที่ทำให้เกิดข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีบางอย่างในระบบคุ้มครองสุขภาพถ้วนหน้า


          ฝ่ายที่ไม่ชอบที่สุดคือบริษัทยา และบริษัทผลิตเครื่องมือแพทย์ใหม่ๆ ที่ราคาแพง  และมีคนพูดว่า ในบางกรณี และบางประเทศ บริษัทยาจะวิ่งเข้าหานักการเมือง  เพื่อ ล็อบบี้ให้ใช้ยาหรือเครื่องมือของตน ในชุดสิทธิประโยชน์ของบริการสุขภาพถ้วนหน้า  ก่อความสงสัยในผลประโยชน์ในลักษณะคอรัปชั่น  การมีเทคโนโลยี และบุคลากรที่มีความสามารถประเมินเทคโนโลยีอย่างเป็นวิชาการและตรงไปตรงมา  เพื่อแจ้งผลต่อสาธารณชนจึงมีประโยชน์ไปทั่วโลก  และประเทศไทยก็ได้รับผลประโยชน์มาก  ในหลายกรณี ทำให้บริษัทยาลดราคายาลงมา 


          เซอร์ กัส กรรมการท่านหนึ่งของ คณะกรรมการรางวัลนานาชาติ กล่าวในที่ประชุมว่า  ราคายาและสินค้าไฮเทคทั้งหลายไม่ได้ตั้งตามราคาทุน  แต่ตั้งตามความพอใจของตลาดที่จะซื้อ  ผมจึงคิดต่อว่า แต่ขีดความสามารถทางเศรษฐกิจของสังคมต่างๆ ไม่เท่ากัน  ราคายาจึงไม่ควรเท่ากัน  การมีเทคโนโลยีประเมินเทคโนโลยีตามแนวทางของ NICE จึงช่วยให้แต่ละประเทศมีเครื่องมือตรวจสอบความคุ้มค่าของเทคโนโลยีแต่ละอย่าง ตามบริบทของตน 


          ส่วน Dr. Uche Veronica Amazigoผลงานที่เป็นรูปธรรมคือ CDTI (Community Directed Therapy of Ivermectin) คือในทางรูปธรรมผลงานที่น่ายกย่องคือ การควบคุมโรค Oncocerciasis ในทวีปอัฟริกา  แต่ในสายตาของผม ที่น่ายกย่องกว่าคือตัวเครื่องมือที่ใช้ในการควบคุมโรคนั้น  ซึ่งก็คือเทคนิคการเอื้ออำนาจให้ชุมชนเข้ามาจัดการการควบคุมโรค (Community Empowerment หรือ Community-Directed Disease Control) ซึ่งผลงานชิ้นหลังนี้อาจเรียกว่า การสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบสุขภาพชุมชน


          มองอีกมุมหนึ่ง Dr. Amazigo ใช้การควบคุมโรค River Blindness (Oncocerciasis) ด้วยการให้ยา Ivermectin สำหรับตัดวงจรชีวิตของตัวพยาธิ  (ยานี้บริษัทเมิร์ค ให้ฟรี  และมีการจัดตั้งองค์กร APOC (African Program for Oncocerciasis Control) ขึ้นดำเนินการ) เป็นเครื่องมือสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบสุขภาพชุมชน  โดยในการดำเนินการนี้มีงานวิจัยตรวจสอบผล และยืนยันผลอย่างเป็นระบบ  งานวิจัยนี้เพื่อสร้างความรู้ทั้งเกี่ยวกับการป้องกันโรค River Blindness  และเกี่ยวกับการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน  ให้ชุมชนเป็นเจ้าของโครงการควบคุมโรคของเขาเอง


          เวลานี้ วิธีการให้ชุมชนเป็นเจ้าของและเป็นผู้ดำเนินการควบคุมโรคของตนเอง ใช้กับอีกหลายโรคในประเทศยากจนทั้งหลาย  ได้แก่ ในการป้องกันโรคมาลาเรีย โดยการแจกมุ้ง,  การให้เด็กกินวิตามิน เอ ป้องกันโรคตาบอด,  การรักษาวัณโรคด้วยการให้ยาระยะสั้น เป็นต้น




วิจารณ์ พานิช

๒๕ ต.ค. ๕๕


หมายเลขบันทึก: 510421เขียนเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2012 11:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2012 18:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท