หุ่นกระบอกแบบดั้งเดิมจากย่างกุ้ง Traditional puppetry from Yangon


หุ่นกระบอกแบบดั้งเดิมจากย่างกุ้ง Traditional puppetry from Yangon


ในช่วงค่ำวันอาทิตย์วันหนึ่ง ณ.มิวเซียมสยาม กรุงเทพฯ ได้จัดให้มีการแสดงหุ่นกระบอกแบบดั้งเดิมจากย่างกุ้ง กำหนดการแสดงเวลา 17.00น.ถึง 19.00น. แม้จะเป็นวันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันหยุด แต่การจราจรในกรุงเทพฯนั้นไม่มีวันหยุด มีแต่วันติดขัดและวันที่การจราจรอยู่นิ่ง ลุงชาติเผื่อเวลาเดินทางเอาไว้สองชั่วโมง แม้ว่าจะมาทันก่อนการแสดงเริ่ม กระนั้นก็ยังดูเหมือนช้าไป ต้องไปนั่งชมอยู่ด้านหลังๆห่างจากเวทีการแสดงค่อนข้างไกล คือเขาจัดเวทีการแสดงและที่นั่งชมให้ผู้ชมปูเสี่อหรือนั่งบนพื้นสนาม อยู่ในสนามหญ้าของมิวเซียมสยาม ใครมาถึงก่อน ก็เลือกที่นั่งได้ก่อนตามสะดวกครับ







ก่อนการแสดงจะเริ่มขึ้น ยังมีเวลาเหลืออยู่ พอได้เก็บบรรยากาศใกล้ๆกับบริเวณที่ลุงชาตินั่งรอชมการแสดง ถ่ายภาพโดยไม่ด้องลุกขึ้นเดินไปไหน ผู้ชมบางคน แต่งกายมาแล้วเดาได้ว่าตั้งใจมาให้กำลังใจนักแสดงจากพม่าเลยทีเดียว







ภาพบรรยากาศน่ารักๆ

บริเวณใกล้ๆตัวครับ











ใกล้เวลาที่จะแสดง พิธีกร ได้กล่าวแนะนำ คณะหุ่นกระบอกทเว อู (Htwe Oo Myanmar) เป็นคณะศิลปินหุ่นกระบอกที่ก่อตั้งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสืบสานและอนุรักษ์การแสดงและการผลิตหุ่นกระบอก ทั้งยังเป็นการเสริมอาชีพและสวัสดิการให้กับนักเชิดหุ่น และช่างทำหุ่นกระบอกอาวุโส







มีการพูดคุยกับหัวหน้าคณะหุ่นกระบอก ซึ่งเคยได้รับรางวัล ชนะเลิศการแสดงหุ่นกระบอกระดับโลก World Carnival of Puppet ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพฯเมื่อปีพศ.2557


เมื่อคุยกับหัวหน้าคณะหุ่นกระบอกแล้ว พิธีกรก็ได้หันมาคุยกับผู้ชมต่อ งานแสดงหุ่นกำลังจะเริ่มขึ้น ท่านผู้ชมสามารถถ่ายภาพได้นะคะ แต่กรุณางดใช้แสง งดใช้แฟลชทุกชนิดนะคะ เห็นช่างถ่ายภาพที่อยู่แถวด้านหน้าใกล้ๆเวที ต่างเก็บไฟเก็บแฟลชกันหลายรายทีเดียว อุส่าห์หิ้วขาตั้งมาซะหนักอึ้งไปเลย





การแสดงหุ่นกระบอกในวันนี้ แบ่งการแสดงออกเป็นสองภาค ภาคที่หนึ่ง เป็นการแนะนำให้รู้จักหุ่นตัวแสดงต่างๆ ให้เห็นท่าทาง บุคลิคเฉพาะตัวของหุ่น... ส่วนภาคที่สอง จะเป็นการแสดงละครชาดกเป็นเรื่องราว วันนี้จะแสดงละครชาดกเรื่อง “สัมพุลา”

ภาคที่หนึ่ง เริ่มต้นด้วยการไหว้ครู หุ่นตัวละครเดินออกมาจากหลังฉากตามทำนองดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดง แล้วนั่งคุกเข่าตรงโต๊ะที่วางพานบูชาเอาไว้ ก้มลงกราบ พอกราบเสร็จ หุ่นก็ยกพานบูชา ยกลอยสูงขึ้นมาจากพื้นโต๊ะ โดยที่พานบูชานั้นไม่มีสายเชือกชัก เรียกเสียงปรบมือจากผู้ชมได้เลยทีเดียว









การแสดงหุ่นกระบอกของพม่า มีเอกลักษณ์และลีลาพลิ้วไหว ใช้เทคนิคการชักที่ยากและซับซ้อน หุ่นตัวผู้ชายมีสายชัก 18 เส้น หุ่นตัวผู้หญิงมีสายชัก 19 เส้น หุ่นบางตัวมีสายชักมากถึง 60 เส้น แต่บังคับโดยนักเชิดหุ่นเพียงคนเดียว ส่วนใหญ่นักเชิดหุ่นจะเป็นผู้สรรสร้างแกะสลักหุ่นด้วยตัวเอง ภาพชุดนี้ยังคงเป็นการแสดงบุคลิคลีลาท่าทางของตัวแสดงหุ่นที่เป็นมนุษย์







ต่อไปเป็นการแสดงบุคลิคลีลาท่าทางของตัวแสดงหุ่นที่ไม่ใช่มนุษย์ เป็นประเภทสัตว์ในชาดก เป็นยักษ์ เป็นลิง เป็นเทวดา มีการสู้รบ เหาะบ้าง เคลื่อนไหวบ้าง บางช่วงก็เปิดฉากให้เห็นลีลาของคนที่ชักหุ่นด้วย สนุกสนานกันทีเดียว ผู้ชมปรบมือให้กับความสามารถกันเกรียวกราว จนจบการแสดงหุ่นกระบอกในภาคที่หนึ่ง













เมื่อจบการแสดงหุ่นกระบอกในภาคที่หนึ่ง พิธีกรก็ได้มาพูดคุยกับผู้ชมต่อ งานแสดงหุ่นที่กำลังจะเริ่มขึ้นในภาคต่อไป ภาคที่สอง ละครชาดกเรื่อง “สัมพุลา” ตอน พระโสตถิเสนกุมารกับพระนางสัมพุลา (Sutti Sayana Sambula)





ภาคที่สอง เริ่มฉากแรกในเมือง ในวัง และฉากที่สอง พระโสตถิเสนกุมารป่วยเป็นโรคเรื้อน จึงหลบหนีเข้าป่า พระนางสัมพุลาซึ่งเป็นมเหสีก็ตามไปดูแลปรนนิบัติทุกอย่างโดยมิได้รังเกียจ







พระนางสัมพุลาออกมาอาบน้ำ พบกับอสูร จะจับนางไปเป็นภรรยา พระนางสัมพุลาไม่ยอม อสูรก็จะจับนางกินเสีย ความทุกข์ของพระนางสัมพุลา ทำให้พิภพสั่นไหว ท้าวสักกะ รับรู้ จึงมาจับตัว และจองจำอสูรไว้ด้วยตรวน









เมื่อพระนางสัมพุลากลับมาที่พัก ไม่พบสามี ก็ร้องไห้เสียใจ พระโสตถิเสนกุมารแอบดูอยู่เพื่อลองใจนาง จึงออกมาถามว่านางหายไปไหนมาจนมืดค่ำ นางเล่าความจริงว่า ไปพบอสูร จะถูกอสูรจับ พระโสตถิเสนกุมารไม่เชื่อ นางจึงตั้งสัจจกิริยาว่า หากพูดความจริง ขอให้น้ำที่อาบลงบนร่างกายสามี ให้สามารถล้างรักษาโรคเรื้อนออกไปได้ แล้วก็เป็นดังคำสัตย์ พระโสตถิเสนกุมารหายจากการเป็นโรคเรื้อน





ทั้งพระโสตถิเสนกุมารกับพระนางสัมพุลา จึงพากันกลับเมือง แต่พอกลับมาในเมืองแล้ว พระโสตถิเสนกุมารกลับไม่สนใจพระนางสัมพุลา กลับหลงใหลอยู่แต่นางสนม พระนางสัมพุลาได้แต่เศร้าใจ





ครานั้น พระพุทธเจ้าเสวยชาติเป็น พระสัสสุรดาบส ผู้เป็นบิดา จึงเรียกพระโสตถิเสนกุมาร มาตักเดีอนให้นึกถึงความดีของพระนางสัมพุลา ตอนที่คอยดูแลอยู่ด้วยกันในป่า



ในฉากใกล้จบตอนท้ายๆนี้ สามารถเรียกเสียงปรบมือจากผู้ชมได้มากทีเดียว ตอนที่พระสัสสุรดาบสเดินออกมาจากหลังฉากนั้น ร่มที่ถือมาด้วยยังไม่ได้กางออก





พอพระโสตถิเสนกุมาร ออกมาแสดงด้วย พระสัสสุรดาบส ก็กางร่มพรึ่บออกมา เรียกเสียงปรบมือได้เกรียวกราว





อีกฉากหนึ่งที่เรียกเสืยงปรบมือได้มากตอนใกล้จะจบ มีการเต้นรำ สื่อถึงความสุข ความสนุกสนาน ท่าทางการเต้นรำของตัวหุ่น พระโสตถิเสนกุมาร (หุ่นที่หันหลังอยู่ในภาพ) มีท่าเต้นที่สนุกสนานเร้าใจผู้ชมมากมาย ประกอบกับนักเชิดหุ่นทุกคน มีฝีมือในการเชิดหุ่นชั้นเยี่ยม ทำงานประสานกันได้คล้องจองถูกจังหวะเป็นอย่างดี ขอชื่นชม


สุดท้ายนักเชิดหุ่น ก็ได้นำตัวละครหุ่นมาพบปะกับผู้ชมอย่างใกล้ชิด และเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้ถ่ายภาพร่วมกับตัวละครเอาไว้เป็นที่ระลึก



ขอขอบคุณมิวเซียมสยาม ผู้ที่จัดให้มีการแสดงดีดีแบบนี้ขึ้นมาให้เราได้ชื่นชม ขอบคุณคณะหุ่นกระบอกทเว อู (
Htwe Oo Myanmar) ที่มาแสดงศิลปะสวยงาม ขอคารวะนักเชิดหุ่นทุกคนอย่างจริงใจ...









เพลงประกอบวิดีโอที่เลือก

"Resonant Chamber" - Animusic.com




ขอเชิญท่านชมวิดีโอคลิปจากยูทูป

หุ่นกระบอกแบบดั้งเดิมจากย่างกุ้ง Traditional puppetry from Yangon




แล้วพบกันใหม่ในโอกาสต่อๆไปนะครับ


ขอขอบคุณทุกท่านที่ให้กำลังใจที่ดีเสมอมา

ขอขอบคุณ gotoknow

ที่ให้พื้นที่ในการแบ่งปันความสุข

ขอบคุณครับ

หมายเลขบันทึก: 618818เขียนเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2016 13:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2016 13:11 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สนุกสนานไปด้วยเลยค่ะ เนื้อเรื่องคุ้น ๆ นะคะ ดูเหมือนสังคมไทยแถว ๆ บ้านเราก็มี

พอสุขสบายมาลืมคนเก่าคนหลังที่ร่วมทุกข์มาด้วยกัน

สังเกตคนเชิดหลายวัยนะคะ หน้ายังเด็ก ๆ ก็มี แบบนี้ไม่น่าห่วงเรื่องการสืบทอดต่อไปถึงภายหน้านะคะ

ขอบคุณมากค่ะ ดีจังค่ะคุณลุงชาติ ถ่ายทอดให้คนไกลที่ไม่มีโอกาสไปชมใกล้ ๆ

@ ธิ

สนุกสนานไปด้วยเลยค่ะ เนื้อเรื่องคุ้น ๆ นะคะ ดูเหมือนสังคมไทยแถว ๆ บ้านเราก็มี

พอสุขสบายมาลืมคนเก่าคนหลังที่ร่วมทุกข์มาด้วยกัน

สังเกตคนเชิดหลายวัยนะคะ หน้ายังเด็ก ๆ ก็มี แบบนี้ไม่น่าห่วงเรื่องการสืบทอดต่อไปถึงภายหน้านะคะ

ขอบคุณมากค่ะ ดีจังค่ะคุณลุงชาติ ถ่ายทอดให้คนไกลที่ไม่มีโอกาสไปชมใกล้ ๆ


สวัสดีครับคุณหมอ
เนื้อเรื่องเป็นชาดก ที่ตกทอดต่อกันมา
ศิลปวัฒนธรรมของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านก็คงใกล้เคียงกันครับ

ขอขอบคุณ คุณหมอที่แวะมาเยี่ยมแวะมาให้กำลังใจกันครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท