สองมือ “ครู” ผู้ปั้นศิษย์


ครูที่แท้จริงคือผู้ที่ทำหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ในการสร้างลูกศิษย์ ให้เป็นคนโดยสมบูรณ์แบบเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่และเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมตลอดไป การเป็นครูนั้น ไม่เพียงแต่จะต้องมีความรู้ด้านวิชาการเท่านั้น แต่หน้าที่ของครูที่ควรจะทำควบคู่กันไปกับการสอนวิชาการ คือ การสอนวิชาชีวิต การอบรมสั่งสอน ให้ลูกศิษย์ของครูเป็นคนดี มีความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ ไม่เห็นแก่ตัว มีคุณธรรม จริยธรรม เพื่อนำสิ่งเหล่านี้ไปเป็นฐานพัฒนาตนเองและพัฒนาสังคม รวมถึงประเทศชาติในอนาคตต่อไป ครูเป็นผู้พัฒนาคนให้มีความรู้ความสามารถเพื่อให้คนเหล่านั้นไปพัฒนาสังคมประชาชาติ ภารกิจที่ครูพึงกระทำหรือจำเป็นต้องกระทำในฐานะผู้สร้างโลก เช่น สอนให้ศิษย์เป็นนักคิด สอนให้ศิษย์มีจิตใจที่เข้มแข็ง สอนให้ศิษย์ขยัน สอนให้ศิษย์สร้างครอบครัวที่มั่นคง สอนให้ศิษย์ใช้ความรู้ความสามารถให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม สอนให้ศิษย์สามัคคี และสอนให้ศิษย์พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง


มีความเชื่อว่า คนเก่ง 1-2 ปี ก็สามารถสร้างได้ แต่คนดีใช้เวลาทั้งชีวิตบางครั้งก็อาจสร้างไม่ได้”

นอกจากนี้ครูจะต้องเป็นต้นฉบับที่ดีแก่ศิษย์ ถ้าหากจะถามนักเรียนตั้งแต่ชั้นประถม ขั้นมหาวิทยาลัยจนถึงนิสิตนักศึกษามีผู้กล่าวว่าครูเปรียบเสมือนศิลปินที่ปั้นรูป เพราะครูทุกคนมีส่วนในการพัฒนาบุคลิกภาพของนักเรียน แต่ผลงานของครูไม่เหมือนกับปฏิมากรที่พองานแต่ละชิ้นสำเร็จก็เห็นผลงาน อาจจะตั้งให้ชมได้ ส่วนครูนั้นจะต้องรอจนนักเรียนกลับมาบอกครูว่าครูได้ช่วยเขาอย่างไรหรือมีอิทธิพลต่อชีวิตเขาอย่างไรและบางครั้งการรอก็เป็นการเสียเวลาเปล่าเพราะแม้ว่านักเรียนบางคนจะคิดถึงความดีของครู จึงทำให้คนทั่วไปรู้สึกว่าอาชีพครูเหมือนเรือจ้างที่มีหน้าที่ส่งคนข้ามฟากเท่านั้นซึ่งเป็นเครื่องชี้ถึงทัศนคติทางลบที่มีต่ออาชีพครูจึงมีส่วนทำให้คนบางคนตัดสินใจเลือกอาชีพครูเป็นอาชีพสุดท้าย จะเห็นว่าการเป็นครูที่ดีนั้นจะต้องเป็นด้วยจิตวิญาณมีความเข้าใจหลักการสอนกระบวนการสอน

ครูที่แท้จริง” ทำงานเพื่อช่วยโลก เพื่อยกโลก เพื่อสร้างโลก ไม่ได้ทำเพื่อเงินเดือน

การที่ครูได้รับการยกย่องให้เป็นวิศวกรสังคมก็เพราะครูมีบทบาททางสังคมเช่นเดียวกับงานวิศวกรในฐานะนักวิทยาศาสตร์ประยุกต์ได้กระทำ กล่าวคือ ครูเป็นนักสร้าง ออกแบบ แก้ไข ปรับปรุง และเป็นนักพัฒนาคน ด้วยเหตุนี้สังคมจึงยกย่องให้ครูเป็นวิศวกรสังคม งานของครูในฐานะที่เป็นวิศวกรสังคมที่สำคัญจึงมีดังนี้
1. ครูทำงานวิจัย ผู้ประกอบวิชาชีพครูต้องพยายามศึกษาค้นคว้าวิจัยตั้งแต่ระดับง่ายจนถึงขั้นสลับซับซับซ้อนเพื่อแก้ปัญหาการเรียนการสอน เช่นแก้ปัญหาการหนีเรียนของนักเรียน นักเรียนขาดเรียนโดยไม่ทราบสาเหตุ วิจัยเพื่อปรับปรุงหลักสูตรให้เหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน
2. ครูทำงานพัฒนา ครูนำความรู้ที่ได้จากการค้นคว้าทดลองทางการศึกษาและจิตวิทยาไปทดลองใช้ในการเรียนการสอน เพื่อหาความเหมาะสมและพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น จุดมุ่งหมายที่สำคัญยิ่งคือ “การพัฒนาคน”
3. ครูทำงานออกแบบ ออกแบบด้านกระบวนการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับพื้นฐานความสามารถของนักเรียน และให้สอดคล้องกับวัสดุอุปกรณ์ที่นำมาใช้ในการประกอบการสอนระดับต่างๆ
4. ครูทำงานการผลิต ครูให้ความรู้ความสามารถแก่นักเรียนนักศึกษาก่อนที่เขาเหล่านั้นจะออกไปรับใช้สังคม ครูจะต้องทดสอบครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อให้ผลิตผลของครูเป็นบุคคลที่มีคุณภาพตามที่สังคมต้องการ
5. ครูทำงานก่อสร้าง สร้างพฤติกรรมของคนให้เป็นไปตามรูปแบบที่สังคมส่วนใหญ่ต้องการ ซึ่งเป็นงานที่มีความยุ่งยากซับซ้อนมากกว่าการก่อสร้างตึกสร้างอาคารบ้านช่องเท่าใดนัก
6. ครูทำงานควบคุมโรงเรียน หากครูสามารถควบคุมดูแลโรงเรียนให้สะอาดเรียบร้อยตกแต่งอาคารบริเวณสวยงาม มีบรรยากาศน่าอยู่น่าเรียน นักเรียนในโรงเรียนอยู่ด้วยกันด้วยความรักสามัคคี สภาพแวดล้อมทางกายภาพและสังคมดี การจัดกระบวนการเรียนการสอนในโรงเรียนนั้นก็จะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพซึ่งส่งผลไปถึงผลผลิตของโรงเรียนคือ นักเรียนจะต้องมีคุณภาพด้วยอย่างแน่นอน
7. ครูทำงานทดสอบ ครูจะเป็นผู้รับผิดชอบในการออกแบบการทดสอบและดำเนินการทดสอบเองตามความเหมาะสม
8. ครูทำงานการขายและการตลาด ครูต้องเป็นบุคคลสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบ้านกับชุมชน โรงเรียนเปรียบเสมือนบริษัทหรือโรงงานผลิตสินค้า นักเรียนคือสินค้า ส่วนชุมชนหรือสังคมเปรียบเสมือนผู้ซื้อหรือลูกค้า ถ้าผู้เรียนมีคุณภาพดีแสดงว่าเป็นที่ต้องการของตลาดมากครูก็มีคุณภาพ
9. ครูทำงานบริหาร ผู้เป็นครูทุกคนจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจ ทั้งนี้เพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจอันดีต่อกันระหว่างผู้บริหารระดับต่างๆ
10. ครูทำงานที่ปรึกษา งานของครูทุกระดับชั้นต้องเกี่ยวข้องกับการให้คำปรึกษาแก่ศิษย์ และบางครั้งต้องให้คำปรึกษาแก่ประชาชนในชุมชนใกล้เคียงสถานศึกษาด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้คำปรึกษาแก่ศิษย์นั้นสำคัญยิ่ง
11. ครูทำงานการศึกษาโดยตรง งานการศึกษาเป็นงานของครูโดยตรงครูต้องรับผิดชอบกับการศึกษาทุกระดับชั้น ตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงระดับอุดมศึกษา รับผิดชอบในการสร้างคุณภาพของคนเพื่อให้คนไปสร้างสังคมต่อไป

งานที่มีเกียรติและเป็นงานที่สร้างคนให้กับสังคม ครู คือบุคคลที่มีหน้าที่ หรือมีอาชีพในการสอนนักเรียน เกี่ยวกับวิชาความรู้ หลักการคิดการอ่าน รวมถึงการปฏิบัติและแนวทางในการทำงาน โดยวิธีในการสอนจะแตกต่างกันออกไปโดยคำนึงถึงพื้นฐานความรู้ ความสามารถและเป้าหมายของนักเรียนแต่ละคน ปัจจุบันบุคคลที่จะทำอาชีพนี้จะต้องได้ใบประกอบวิชาชีพครูด้วย

อุปสรรคขวากหนาม คือ ความงามของความสำเร็จ การสร้างเยาวชนของชาติ ให้เป็นคนดีที่โลกต้องการ จึงสมเป็นงานของ “ครูผู้สร้าง” อย่างแท้จริง

จากที่กล่าวมาตั้งแต่ต้น ก็เพื่อที่จะสื่อถึงทุกคนให้ทราบว่า ทุกคนเกิดมาในโลกนี้ล้วนมีครูด้วยกันทั้งสิ้น ไม่มีใครที่รู้โดยไม่มีครู ไม่ว่าครูจะมีความรู้ความสามารถหรือความถนัดแตกต่างกันเพียงใด แต่บทบาทของครูโดยส่วนรวมแล้ว จะยังอยู่ในลักษณะเดียวกัน กล่าวคือ นอกจากครูจะต้องรับบทบาทเป็นผู้สอนคนให้มีความรู้ความสามารถทางด้านวิชาการต่างๆ ครูยังจะต้องรับบทบาทในการพัฒนาประเทศชาติในด้านต่างๆอีก เช่นการพัฒนาสังคม การเมือง เศรษฐกิจ ศาสนาและวัฒนธรรม เป็นต้น ดังนั้น ครูจึงต้องรับบทหนักทั้งในอดีตและปัจจุบัน และเป็นบทบาทในการสร้างสังคมในด้านต่างๆให้มีความเจริญก้าวหน้า จนกระทั่งในปัจจุบันนี้ได้มีผู้ให้สมญานามแก่ครูว่าเป็น วิศวกรสังคม ซึ่งหมายถึง ช่างผู้ชำนาญในการสร้างสังคมนั่นคือ หากครูให้การศึกษาแก่สมาชิกแก่สังคมอย่างไร สังคมก็จะเป็นอย่างนั้น เช่น ให้การศึกษาเรื่องระบอบประชาธิปไตยอย่างถูกต้อง สังคมก็จะเป็นประชาธิปไตย หากครูให้การศึกษาในระบอบอื่นสังคมก็จะเป็นเช่นนั้นด้วย



อ้างอิง

สุรางค์ โค้วตระกูล. จิตวิทยาการศึกษา. กรุงเทพมหานคร : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2544.

สมพงษ์ หุ่นสะดี. (2547, 25 มีนาคม ). เส้นทางสีขาว ครูดีที่โลกต้องการ. [ออนไลน์]. สืบค้นจาก http://www.kalyanamitra.org/.
สืบค้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2559.

__________. (2553). งานที่มีเกียรติ ครู อาชีพครู วิชาชีพครู. [ออนไลน์]. สืบค้นจาก https://educ105.wordpress.com.
สืบค้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2559.

Tubtib Kokyai. (2014). ความสำคัญของการเป็นครู. [ออนไลน์]. สืบค้นจาก https://sites.google.com.
สืบค้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2559.

หมายเลขบันทึก: 618277เขียนเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2016 01:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2016 01:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท