​ชีวิตที่พอเพียง : 2787. ไปอเมริกา ๒๕๕๙ : ๕. เที่ยว ฟิลาเดลเฟีย



๗ ตุลาคม ๒๕๕๙

เราเดินทางโดยรถโดยสาร Megabus ค่าโดยสารสองคนรวมทั้งสิ้น ๓๕.๕ ดอลล่าร์เท่านั้น ถึงที่จอดรถบัสฟิลาเดลเฟียเวลา ๙.๓๐ น. นั่งรถแท็กซี่ไปสัก ๑๐ นาทีก็ถึงโรงแรมที่จองไว้ คือ Penn’s View Hotel ค่าโดยสาร ๑๒ ดอลล่าร์


เนื่องจากห้องยังทำความสะอาดไม่เสร็จ เราจึงขอแผนที่ออกไปเดินชมสถานที่ท่องเที่ยว โดยเดินไปทาง Market Street ตรงไปเรื่อยๆ ก็ไปเข้าดงสถานที่ประวัติศาสตร์เอง เราเดินไปพบ Franklin Court ซึ่งเป็นบริเวณที่เป็นบ้านของ Benjamin Franklin ใกล้ๆ กันเป็น Benjamin Franklin Museum เราจ่ายเงินคนละ ๕ เหรียญเข้าไปชม


Benjamin Franklin เกิดที่บอสตัน ในปี 1706 พอโตขึ้นก็ย้ายไปอยู่ที่ฟิลาเดลเฟีย มีการศึกษาในระบบ เพียง ๒ ปี แต่มีความรู้ที่ได้จากการศึกษาค้นคว้าเอง ถือเป็นปราชญ์ในทุกด้าน และอยู่ในกลุ่มผู้นำในการ ประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา


จากนั้นเราเดินต่อไปบนถนน Market ผ่าน National Museum of American Jewish History ไปยังถนนที่ ๕ พบร้านอาหารจีน Take Away บุฟเฟ่ต์ที่ขายแบบชั่งกิโล สาวน้อยหิวอาหารเที่ยงพอดี จึงเข้าไปซื้อและ นั่งกินที่นั่น อร่อยดี


กินเสร็จข้ามถนนไปนั่งพักใน Independence Mall แล้วเดินไปหาทางเข้าชม Liberty Bell Center ไปเข้าแถวอยู่พักหนึ่ง สาวน้อยไปสอดแนมพบว่า หากมีมีดพับเล็กๆ ในกระเป๋าเขาไม่ให้เข้า เราจึงถอยออกมา ไปที่ Independence Visitor Center หาข้อมูลสถานที่เที่ยว แล้วสาวน้อยหมดแบต ขอเดินกลับไปนอนที่โรงแรม ก่อนกลับแวะซื้อเสบียงอาหารเย็นที่ร้านจีน


หลังพักผ่อนชาร์จแบต หลังกินอาหารเย็น เราชวนกันไปเดินเล่นที่สะพานข้ามถนนที่หัวถนน Market Street ไปยังชายทะเล Penn’s Landing เราเดินไปเพียงถึงที่จอดรถเมล์ ไม่ได้เดินไปจนสุดทางเพราะไกลเกินไป คนแก่ต้องออมแรง


สาวน้อยมือดี หยิบแผ่นพับชื่อ Independence ของ National Park Service ที่มีแผ่นเดียวกลับมาโรงแรม อ่านแล้วได้เกร็ด ประวัติศาสตร์ดีมาก โดยเฉพาะเรื่องท่าทีของผู้นำประเทศเกี่ยวกับทาส เขาระบุชัดเจนว่า ปธน. วอชิงตัน แสดงท่าทีทางการเมืองที่ต้องการให้เสรีภาพแก่ทาส แต่ตนเองมีทาสอย่างน้อย ๙ คน เขายกตัวอย่างทาสของ ปธน. วอชิงตันที่หนีไปใช้ชีวิตอิสระ และท่าน ปธน. พยายามเอาตัวกลับ แต่ไม่ได้ผล เขาบอกว่า ปธน. จอห์น อดัมส์ มีท่าทีทางการเมืองต่อต้านการมีทาส และตนเองก็ไม่มีทาส สาระนี้ บอกเราว่า แม้เป็นบุคคลคนพิเศษของชาติ ที่คนรักและเทอดทูน ในฐานะหัวหน้าคณะก่อการประกาศเอกราช และเป็น ปธน. คนแรก แต่ก็ยังเป็นปุถุชนที่มีด้านลบด้วย


ที่ยิ่งดีคือเขาให้เว็บไซต์ www.ushistory.org ที่ให้ค้นความรู้ด้านประวัติศาสตร์ สรอ. ดีมาก ไปเที่ยวฟิลาเดลเฟียต้องเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ผมลองค้นประวัติของ Independence Hall ได้ความรู้ดีมาก และเนื่องจากนี่คือเมืองแห่งการประกาศเอกราช และเป็นเมืองหลวงอยู่ ๑๐ ปี (ค.ศ. 1790 – 1800) ก่อนย้ายเมืองหลวงไปวอชิงตัน ดีซี ผมจึงเน้นเรียนรู้เรื่องการประกาศเอกราช ซึ่งเว็บไซต์ https://www.nps.gov/inde/index.htm ให้ความรู้ดีมาก



วันเสาร์ที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๕๙

วันนี้วางแผนว่าจะไปดูพิพิธภัณฑ์ ๒ แห่ง กับหากโชคดีอาจได้ตั๋วเข้าชม Independence Hall ในรูปแบบของ Guided Tour


ตอนเช้า ผมออกไปวิ่งออกกำลัง เวลา ๖.๓๐ น. ยังมืดอยู่ ตอนแรกว่าจะวิ่งไปตามถนน N. Front Street ที่ผ่านหน้าโรงแรม แต่เห็นมันเปลี่ยวและไม่มีอะไรให้ดู จึงเปลี่ยนใจไปวิ่งบน Market Street ซึ่งทางเท้ากว้างขวางสวยงาม และเป็นย่านเมืองเก่า มีป้ายบอกสถานที่สมัยก่อน วิ่งไปจนถึง Constitution Mall ก็เห็นมีคนมาตั้งเต๊นท์ที่สนามหญ้าหน้า Constitution Vositor Center น่าจะมีงานฉลองอะไรสักอย่าง


วิ่งกลับมารับสาวน้อยลงไปกิน complimentary continental breakfast มีโยเกิร์ต ไข่ต้มหรือลวกเอง น้ำส้ม กาแฟ ขนมปังปิ้งเองและผลไม้ ดีกว่าที่ BnB ของคุณลินนี่ที่วอชิงตัน ดีซี ๑๐ เท่า เรารีบกินเพื่อจะไปเข้าคิวรับบัตรเข้าชม Independence Hall



Independence Hall

เราไปเข้าแถวที่ Independence Visitor Center ตั้งแต่ก่อน ๘ น. เล็กน้อย มีคิวอยู่แล้วราวๆ สิบคน และมีคนมาเพิ่มเรื่อยๆ พอ ๘.๓๐ น. ประตูก็เปิด เราไปเข้าคิวรับบัตร โดยเราของคิวแรกคือ ๙.๐๐ น. เขาบอกให้เดินตรงไป ๑ บล็อก แล้วเดินไปทางซ้าย ๑ บล็อก ก็จะถึงทางเข้า โดยมีเจ้าหน้าที่ของ National Park Service มายืนรอบอกทาง เขาสแกนอาวุธก่อนให้เข้าไปข้างใน ไปยืนต่อคิวอีก ๑๐ นาที ก็เดินเข้าไปนั่งในห้องฟังการบรรยายสรุป โดยเจ้าหน้าที่ของ National Park Service ได้ความรู้เรื่องเหตุผลที่ มีการประกาศเอกราชจากอังกฤษ ผู้นำชมบอกว่าเขาสรุปเองว่าเหตุผลหลักคือต้องการปกครองตนเอง ไม่ต้องการอยู่ใต้ปกครองของอังกฤษ


ที่จริงในช่วงต้นของการเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ๑๓ อาณานิคม ทางอังกฤษบอกว่ายูปกครองกันเองไปเถิดทางอังกฤษจะไม่มายุ่ง แต่ในช่วง ค.ศ. 1750s มีโรคระบาดในเมืองขึ้นอเมริกานานหลายปี ทางรัฐบาลอังกฤษจึงเข้าช่วยเหลือ ใช้เงินภาษีของคนอังกฤษไปมาก คนอังกฤษจึงเรียกร้องว่าคนที่เมืองขึ้นต้องเสียภาษี เพื่อช่วยตัวเองด้วยซี รัฐบาลพระเจ้า จอร์จ ที่ ๓ แห่งอังกฤษจึงเก็บภาษีต่อเมืองขึ้นอเมริกา จนคนในอเมริการู้สึก ว่าถูกรีดภาษีอย่างไม่เป็นธรรม ก่อกระแสประกาศเอกราช


เขาบอกว่าผู้คนและผู้แทน ๑๓ รัฐโต้เถียงกันมาก ว่าควรแยกตัวเป็นเอกราช หรือควรอยู่กับอังกฤษ เบนจามิน แฟรงคลิน อยู่ฝ่ายแยกตัว ส่วนลูกชายซึ่งก็เป็นนักการเมืองอยู่ฝ่ายพระเจ้าจอร์จ


หลังจากนั้น เขาพาเดินเข้าในตัวอาคาร Independence Hall ห้องแรกเป็นศาลสูง ห้องที่สองและเป็นห้องสุดท้ายที่เราเข้าชมเป็นรัฐสภาที่ประชุมตัวแทนจาก ๑๓ รัฐเมืองขึ้น เรียกว่า Congress Hall เขาเล่าเหตุการณ์การโต้เถียงโต้แย้ง ที่เผ็ดร้อนรุนแรง เราได้เห็นสภาพห้องประชุมสมัยปี ค.ศ. 1776 คือ ๒๔๐ ปีมาแล้ว ที่ยังใช้เทียนไขและปากกาขนนก



National Museum of American Jewish History

หลังนั่งพักผ่อนที่เก้าอี้ข้างสนาม เราก็ไปที่พิพิธภัณฑ์ยิวอเมริกัน ที่อยู่ใกล้ๆ ซื้อตั๋วในราคาผู้สูงอายุ (เกิน ๖๕) คนละ ๑๑ เหรียญ (ราคาเต็ม ๑๒ เหรียญ) พิพิธภัณฑ์นี้เพิ่งอายุ ๕ ปี บอกเรื่องราวเป็นช่วงๆ เทียบ ๓ หมวดคือ เรื่องของยิวอเมริกัน เรื่องประเทศสหรัฐอเมริกาและเรื่องของโลก เป็นกาลานุกรมที่ให้ความรู้มาก ผมดูและถ่ายรูปด้วยความเพลิดเพลิน แต่สาวน้อยเบื่อแล้วเบื่ออีก ว่าการจัดแสดงไม่มีชีวิตชีวา ผมกลับเห็นว่าภาพประกอบให้ความรู้ว่าคนสมัยก่อนเขาอยู่กันอย่างไร


คนยิวคนแรกในสหรัฐอเมริกา ชื่อ Jacob Barsimon อพยพจากเมืองอัมสเตอร์ดัม ไปอยู่ที่นิวอัมสเตอร์ดัม (เวลานี้เรียกว่า นิวยอร์ก) ในปี ค.ศ. 1654 สองสัปดาห์ต่อมาก็มีคนยิว ๒๓ อพยพไปจากเมือง Recife ที่บราซิล หนีภัยโปรตุเกส ที่ไปยึดครองเมืองนั้น และขับไล่คนยิวกับคนนับถือโปรเตสแต๊นท์ ไปขึ้นบกที่นิวอัมสเตอร์ดัม ซึ่งเวลานั้นอยู้ใต้การปกครองของดัทช์ โดยมีบริษัท West India เป็นผู้ดูแล ทางผู้ว่าการเมืองตกใจ และเตือนว่าเมื่อมีคนยิวไปอยู่คนอื่นจะอยู่ไม่เป็นสุข แต่ทางบริษัทเวสต์อินเดียบอกว่าต้องการทักษะการค้าของยิว ที่จะทำให้เกิดความเจริญแก่เมือง


คนยิวถือเป็นชนกลุ่มน้อย มีศาสนา วัฒนธรรมประเพณีของตนเอง ในท่ามกลางชนส่วนใหญ่ ที่เป็นคริสต์ เขาต้องเรียกร้องสิทธิของชนกลุ่มน้อย แต่ก็ปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนาร่วมกันในบ้าน จนถึงปี 1730 จึงมีโบสถ์ยิว (synagogue) แห่งแรกในอเมริกาเหนือที่นิวยอร์ก


คนยิวในอเมริกามาจากหลายประเทศในยุโรป ที่ยุโรปคนยิวถูกกฎหมายห้ามทำธุรกิจอื่นๆ นอกเหนือจากการค้าและการเงิน แต่ในอเมริกามีอิสระมากกว่า คนยิวก็เพิ่มจำนวนขึ้นจนเป็นราวๆ ๒,๐๐๐ ในช่วงปี 1700s ทำธุรกิจหรืออาชีพหลากหลาย และมีมหาเศรษฐี เช่นครอบครัว Gomez, Lopez


อ่านเรื่องราวในนิทรรศการแล้ว ผมสรุป (ไม่ทราบว่าสรุปถูกหรือผิด) ว่าคนยิวเจริญก้าวหน้าเพราะอยู่ใน แรงกดดันอยู่ตลอดเวลา ที่จะต้องรักษาความเป็นยิว และในขณะเดียวกันก็ต้องปรับตัวให้อยู่กับสังคมโดยรอบให้ได้


แม้ว่าคนยิวจะมีแนวโน้มอนุรักษ์นิยม อยู่ร่วมกันเป็นชุมชนยิว และอยู่เป็นครอบครัวใหญ่ แต่ก็ออกไปทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่นๆ ในสังคม เป็นทหาร ศิลปิน นักดนตรี นักกีฬา และอื่นๆ Steven Spielberg นักสร้างหนังผู้ยิ่งใหญ่ก็เป็นยิว ผมแปลกใจที่เขาไม่เอ่ยถึงไอน์สไตน์เลย สาวน้อยติดใจ Rebecca Gratz ที่เป็นสาวสวยมีเสน่ห์ แต่อุทิศชีวิตให้กับการทำงานกุศลช่วยเหลือเด็กและหญิงยากไร้ เล่าลือกันว่านางเอก ในนวนิยายอันลือลั่น Ivanhoe โดย Sir Walter Scot ได้ตัวแบบมาจากรีเบคก้าคนนี้ โปรดดูรูปในลิ้งค์ที่ให้ไว้ นะครับว่าเธอสวยเพียงไร


ในอเมริกา คนยิวไม่ได้รวมตัวเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในเรื่องใหญ่ๆ ของบ้านเมือง ตั้งแต่เรื่องการประกาศเอกราช มีทั้งคนยิวที่อยู่ฝ่ายประกาศเอกราช และที่อยู่ฝ่ายพระเจ้าจอร์จ (ที่ ๓) ตอนสงครามกลางเมือง ก็เช่นเดียวกัน


ในที่สุดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโลก หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ก็ทำให้คนยิวมีประเทศของตนเอง คือ อิสเรลคนยิวในอเมริกาก็ถูกกระแสการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่คนฐานะดีอพยพไปอยู่ชานเมืองและกลายเป็นครอบครัวเดี่ยว (nuclear family) เหมือนคนอเมริกันทั่วไป


ชมพิพิธภัณฑ์นี้แล้ว ไม่ใช่แค่ได้เรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์ยิวในอเมริกา ยังได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์อเมริกัน และประวัติศาสตร์โลก



Philadelphia History Museum

ไม่ได้ไป เพราะสาวน้อยแบตหมด กลับมาพักที่โรงแรม รวมทั้งตอนบ่ายฝนตกตลอด เธอกลัวฝน เกรงว่าหวัดจะกลับมา ผมถือหลักพาเมียไปเที่ยว จึงไม่แยกตัวกลับไปชมพิพิธภัณฑ์นี้ ใช้วิธีชมแบบ virtual แทน


ที่เว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์นี้มี online exhibition เช่นเรื่อง The African American Experience in Philadelphia เพราะเมืองนี้เป็นจุดสำคัญต่อการมีทาส การเลิกทาส (abolition) และขบวนการสิทธิพลเมือง (civil rights movement) ในสหรัฐอเมริกา เกิดคลื่นการอพยพของคนดำจากรัฐทางใต้มาอยู่ในเมืองนี้สองช่วง เกิดชุมชนคนดำ การสร้างชุมชน และการมีบทบาทด้านต่างๆ รวมทั้งด้านการเมือง


นอกจากนั้น เขายังมี archive ของการจัดแสดงครั้งก่อนๆ ให้ชมด้วย ที่นี่ ดูเรื่องต่างๆ แล้วเห็นชัดเจนว่าพิพิธภัณฑ์ที่ดี สามารถเป็นกลไกให้ผู้คนรัก และภาคภูมิใจในถิ่นบ้านเกิดเมืองนอนของตน

เพื่อให้เข้าใจชีวิตของคนฟิลาเดลเฟียในอดีต เขาผลิตวีดิทัศน์ Philadelphia History Channel ให้คนเข้าไปดูได้ ที่นี่

ในห้องพักมีหนังสือปกแข็ง PHILADELPHIA ให้อ่าน โดยมีเว็บไซต์ที่ www.visitphilly.com



วิจารณ์ พานิช

๙ ต.ค. ๕๙

ห้องพัก ๒๐๒ โรงแรม Penn’s View Hotel, Philadelphia





1 บริเวณที่เคยเป็นบ้านของเบนจามิน แฟรงคลิน.jpg



2 หน้าพิพิธภัณฑ์ เบนจามิน แฟรงคลิน



3 ตอนแก่ เบนจามิน แฟรงลินเป็นเก๊าท์ ต้องนั่ง Sedan Chair



4 Constitution Mall



5 Independence Hall



6 ภายใน Congress Hall เก้าอี้ตัวตรงหน้าคือของจริงที่ ปธน. วอชิงตันนั่ง



7 หน้า National Museum of American Jewish History



8 ภายในพิพิธภัณฑ์


9 ร้านอาหารจีน คิดเงินตามน้ำหนักอาหารที่ตัก



10 ภายใน Independence Visitor Center



11 ฟิลาเดลเฟียในปี 1799



12 นี่ก็ปี 1799



13 ปี 1757



14 ภาพการอ่านคำประกาศอิสรภาพ



15 แผนที่โลกในปี แสดงว่าสหรัฐฯเป็นประเทศเดียวในโลกที่ปกครองแบบ Constitutional Democracy



16 คนไม่เหลิงอำนาจ ไม่รับเป็นกษัตริย์ตามแรงยุ และไม่ยอมเป็น ปธน. สมัยที่สาม


หมายเลขบันทึก: 618269เขียนเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2016 22:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2016 08:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท