ทางผู้รู้ 3


คุณสมบัติของคนดีหรือ ธรรมของผู้ดี


ในทุกสังคมมีทั้งคนดีและคนไม่ดี ทีนี้เราจะมีวิธีดูอย่างไรว่าคนไหนดีหรือไม่ดี จริงอยู่เราไม่สามารถจะไปตัดสินใครได้เพียงเพราะการมองเห็นหรือได้ยินสิ่งที่เขาพูดออกมา แต่สิ่งหนึ่งที่เราทำได้คือต้องหาหลักยึดมาประกอบการพิจารณาเหมือนนกหากิ่งไม้จับเพราะจะบินอยู่ตลอดไปนั้นไม่ได้ มาถึงมุมคิดของคนเราผู้เขียนจำกลอนมาว่า

คนจะดีมิใช่ดีที่ยศทรัพย์ มิได้นับญาติวงศ์เผ่าพงศา

สำคัญดีที่กายและวาจา มีวิชามีศีลธรรมประจำใจ

จากคำกลอนดังกล่าวนี้บอกถึงคนดีคือคนที่มีศีลธรรมประจำใจ เขาจึงจะอยู่เย็นเป็นสุขได้ อันคนดีนี้ถ้าเปรียบดังล้อรถยนต์ก็มีอยู่ 4 ล้อด้วยกันคือ

1.ล้อแห่งศีลธรรม สื่อถึง การมีกำแพงแก้วเป็นเกราะป้องกันภัยต่าง ๆ ได้ยิ่งกว่าการมีเครื่องป้องกันใดทั้งสิ้น

2.ล้อแห่งความดีมีในตน สื่อถึง ตนได้สร้างสมคุณงามความดีเอาไว้ไม่ขาดสายดุจสายฝนโปรยปรายลงมาตลอดเวลา ด้วยความดีที่ตนได้กระทำนั้นไม่สูญหายไปไหนถึงแม้ชีวิตจะดับสิ้นไปแล้วความดีก็ยังคงอยู่คู่ฟ้าดิน

3.ล้อแห่งความสามารถเฉพาะทาง สื่อถึง ผู้คนที่ฝากฝีไม้ลายมือเอาไว้ในแผ่นดินเพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้จดจำบันทึกเป็นตำนานเล่าขานกันตลอดไป

4.ล้อแห่งความสุขสงบใจ สื่อถึง ความสุขที่มีอยู่ในจิตใจตน ส่งผลให้แผ่ขยายออกไปสู่สังคมประเทศชาติในโลกได้ เหมือนแสงเทียนส่องธรรมถูกจุดขึ้นแล้วในดินแดนพุทธภูมิแล้วแผ่ขยายออกไปทั่วโลกอย่างนั้น

สำหรับความดีในหลักธรรมพระพุทธศาสนามีหลายคำที่คล้ายคลึงกันตามรากศัพท์ภาษาบาลี ดังนี้ บุญ, กุศล, ธัมมจริยะ, สุจริต และกรณียะเป็นต้น

คำว่า บุญ สื่อถึง ความดีอันเป็นเครื่องชำละล้างบาปให้ออกไปจากจิตใจ เพื่อให้จิตใจขาวสะอาดบริสุทธิ์

คำว่า กุศล สื่อถึง ความดีที่ลงมือกระทำด้วยความฉลาดรอบรู้ เพื่อตัดรากเหง้ากองกิเลสและเพียรเฝ้าระวังไม่ให้กิเลสตัวใหม่ไหลเข้ามาสู่จิตใจได้

คำว่า ธัมมจริยะ สื่อถึง ความดีที่คนเราสร้างพฤติกรรมที่ถูกที่ควรอันประกอบไปด้วยธรรมสัมมาปฏิบัติ ด้วยการมีศีลธรรมน้อมนำจิตใจอยู่เสมอ

คำว่า สุจริต สื่อถึง การตั้งจิตใจอันมั่นคงมีความเป็นด้วยความสัตย์ซื่อ ยึดถือความถูกต้องเป็นธรรม ไม่สร้างความเดือดร้อนทั้งต่อตนเองและผู้อื่น

คำว่า กรณียะ สื่อถึง ความดีที่สมควรลงมือกระทำตามคำแนะนำของคุณครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติดีปฏิบัติชอบประกอบไปด้วยธรรมแล้ว

อย่างไรก็ตาม คนเรานี้เมื่อทำเหตุดีแล้วก็จะเกิดผลดีตามมา มี 4 ข้อ คือ

1.การมีจิตที่มีสุขภาพดี คือ เป็นคนไม่หลงลืมง่าย

2.การมีจิตไม่ขุ่นมัว คือจิตไม่เศร้าหมองง่าย ไร้ข้อติเตียนใด ๆ

3.การมีจิตที่ห้อมล้อมไปด้วยสติปัญญา คือมีจิตจนสามารถมองเห็นเรียนรู้เท่าทันตามสภาพความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลายเพื่อไม่ให้ตนเองตกหลุมพรางใด ๆ

4.การมีจิตสงบนิ่ง คือการมีสภาวะจิตเป็นสุขสงบเย็นนี้สมดังพุทธสุภาษิตว่า นัตถิ สันติ ปะรัง สุขัง. คือ ความสุขอื่นใดจะยิ่งใหญ่เท่าความสุขสงบนี้ไม่มีอีกแล้วแล.

สำหรับแนวทางของผู้รู้แนะนำข้อคิดอันเป็นคุณสมบัติของคนดีหรือ ธรรมของผู้ดี ( พระธรรมปิฎก ( ป.อ. ปยุตฺโต ). 2538 : 244 ) มี 7 ข้อ คือ

1.รู้จักเหตุ คือ เมื่อมีเหตุก็มีความรอบรู้จักต้นสายปลายเหตุเพื่อรู้เรื่องนั้นจริง ๆ

2.รู้จักผล คือ เมื่อมีเหตุก็ย่อมมีผลติดตามมาแน่นอน เพราะผลก็ย่อมมาจากเหตุเสมอ

3.รู้จักตน คือ การเรียนรู้จักประเมินตนเองว่าตนมีความบกพร่องในเรื่องอะไรบ้าง แล้วหาทางปรับปรุงแก้ไขตนเองอยู่เสมอให้ดีขึ้น มีความประพฤติตนให้เหมาะสมแก่สภาพของตน

4.รู้จักประมาณ คือ การรู้จักความพอดีเป็นดำเนินชีวิตให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสมพอควร เรียนรู้ที่จะเดินตามทางสายกลาง

5.รู้จักกาล คือ เป็นการรู้จักวันเวลาที่เหมาะสมในการทำการงานต่าง ๆ เรียนรู้ว่าในวัยของเรานี้สมควรทำอะไรมีความเป็นอยู่อย่างไร จึงจะทำให้เกิดความเหมาะสมโดยรู้จักปฏิบัติตนให้เหมาะสมถูกต้องตามกาลเทศะ

6.รู้จักชุมชน คือ การรู้จักกลุ่มบุคคลที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย เรียนรู้ในการอ่านสังคมให้ออกว่าช่วงนี้สังคมนี้มีอะไรอยู่อย่างไร เราควรทำตนอย่างไร เพื่อการปฏิบัติตนเองให้ถูกต้องตามแบบอย่างของสังคมนั้น ๆ

7.รู้จักบุคคล คือ เราเรียนรู้จักประเภทบุคคลว่าเขาเป็นบัณฑิตหรือคนพาล การดูคนออกจะได้บอกคนถูกบอกคนเป็นเห็นสัจธรรมในตัวตนของคนเรานั้นแล

เมื่อเราได้ทบทวนดูจะได้เรียนรู้ว่ามุมมองของทางผู้รู้ชี้ชัดว่าคนดีนั้นเป็นอย่างไร..

....................................................

บรรณานุกรม

พระธรรมปิฎก ( ป.อ. ปยุตฺโต ). 2538 . พจนานุกรมพุทธศาสตร์ฉบับประมวลธรรม . พิมพ์ครั้งที่ 8 . กรุงเทพ ฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย .

หมายเลขบันทึก: 618143เขียนเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2016 12:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2016 12:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ได้อ่านทบทวนเรื่องดีๆ

ขอบคุณมากๆครับ

ขอบคุณครับ ท่านขจิต

บันทึกช่วยจำนำไปใช้สอนด้วยครับ 55

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท