เสียงจากนิสิตวิชาภาวะผู้นำ : วิชาบ้าบออะไรไม่รู้ แต่เรียนแล้วกลับได้รู้อะไรมากมาย (วรวุฒิ บุตรพรม)


แต่พอได้ลงพื้นที่ ได้ทำงานกันเป็นกลุ่ม ได้ใช้ชีวิตอยู่กับกับเพื่อนๆ ได้ให้ความรู้แก่น้องๆ สิ่งเหล่านี้กลับทำให้ผมคิดได้ว่า รายวิชานี้ไม่ได้เน้นที่การเรียนในห้องเรียน ไม่ได้เน้นที่ทฤษฎี แต่รายวิชานี้เน้นการเอาความรู้ที่มีในห้องและความรู้ตามศาสตร์ที่ตนได้เรียนมาไปทำประโยชน์ต่อส่วนร่วม

โครงการ ‘ติวแคลลูลัส 1’ เป็นโครงการที่ผมได้รับเลือกจากเพื่อนๆ ให้เป็น ‘หัวหน้ากลุ่ม’ ตอนแรกที่ได้รับเลือกผมไม่ค่อยมั่นใจเลยว่าจะพากลุ่มไปตลอดรอดฝั่งหรือเปล่า ไม่รู้เลยว่าจะพากลุ่มไปลงพื้นที่จัดกิจกรรมกันที่ไหนดี ไม่รู้ว่าจะทำอะไรและไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นจากตรงไหนดี แต่พอได้มาเป็นจริงๆ เมื่อเริ่มพูดคุยกันมากขึ้น ผมก็เริ่มที่จะมั่นใจมากขึ้น จากนั้นก็เริ่มที่จะพาเพื่อนในกลุ่มทำนุ่นทำนี่ แต่ไม่ใช่การนั่งสั่งนะครับ ผมและเพื่อนๆ ทำแบบ ‘ร่วมมือกัน’ หรือทำไปเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน

พอยิ่งได้ทำงานร่วมกันมากขึ้นก็ยิ่งได้เห็นความเป็นผู้นำในตัวของเพื่อนแต่ละคนด้วย เรียกได้ว่า ‘ดูคนออก –บอกคนได้- ใช้คนเป็น’ อย่างเช่นที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมชาย แก้ววังชัยได้พูดไว้ในชั้นเรียน



วรวุฒิ บุตรพรม : ประธานกลุ่มและแกนนำการติวเตอร์


สำหรับการแบ่งงานกันภายในกลุ่มนั้น ตอนแรกจะเลือกคนที่ดูแล้วมีลักษณะบ่งบอกความเป็น ‘ผู้นำ’ มากที่สุด แบบว่าเห็นความเป็นผู้นำจากใครมากที่สุดก็มอบหมายให้เป็นหัวหน้าแต่ละฝ่าย โดยดูจากลักษณะสำคัญๆ เช่น พูดเก่งสื่อสารดี รับฟังผู้อื่น แก้ปัญหาได้ดี มีความละเอียดอ่อนกับงาน ซึ่งทั้งหมดเราสังเกตจากการทำงานกลุ่มมาเป็นระยะๆ

พอเราได้หัวหน้าแต่ละฝ่ายแล้วก็จะให้หัวหน้าได้ ‘เลือกลูกทีม’ ด้วยตนเอง แต่ก็เลือกโดยความเห็นชอบของเพื่อนๆ ในกลุ่มนั่นแหละ ซึ่งจะดูตามความเหมาะสมในแต่ละสายงาน เช่นงานฝ่าย ‘ติวเตอร์’ ส่วนมากจะเลือกเพื่อนๆ ที่มาจากสายวิทย์เป็นหลัก เพราะจะได้เข้าใจในเนื้อหาที่จะทำการติว และง่ายต่อการประสานงาน เพราะเรียนอยู่ใกล้ๆ กัน





ส่วนฝ่ายอื่นๆ เช่น ฝ่ายประมวลผลจะเลือกเพื่อนที่อยู่คณะเดียวกันเป็นหลักเหมือนกัน เพราะจะได้มีเวลาตรงกันในตอนที่ประมวลผลแบบสอบถาม มีเวลาในการตรวจข้อสอบ ขณะที่งานด้านการเงินก็ให้เพื่อนที่เรียนสายคณะบัญชีฯ เป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนฝ่ายสวัสดิการก็จะเลือกคนที่มีรถ เพื่อให้ง่ายต่อการเดินทางและขนอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งจริงๆ แล้วก็แบ่งงานกันตามความถนัดทางวิชาชีพนั่นแหละครับ และเลือกเข้าทีมกันตามความสมัครใจด้วย

การทำงานระยะแรกๆ เราประสบปัญหาหลักคือนัดประชุมกันค่อนข้างลำบากมาก โดยแรกๆ เราจะนัดประชุมตอนสี่โมงเย็น ผลปรากฏว่าเพื่อนมากันไม่ครบ เพราะเรียนต่างคณะกัน เวลาว่างเลยไม่ค่อยตรงกัน ทางกลุ่มจึงได้ปรับแก้เป็นการนัดประชุมใหม่โดยกำหนดเป็นเวลาสามทุ่ม ซึ่งก็ได้ผลเป็นอย่างดี จนกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานในระบบทีมที่เริ่มจะเข้มแข็งขึ้น จากจุดนี้เองทำให้ผมได้เรียนรู้ว่า นอกจากการแบ่งงานตามความสามารถและความสมัครใจแล้ว เรื่องของเวลาก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดความเป็นทีมและทำงานได้อย่างสำเร็จ จะอาศัยแค่ประเด็นใดประเด็นหนึ่งไม่ได้โดยเด็ดขาด



กรณีการติวเตอร์นั้นผมและเพื่อนๆ ไม่ได้จัดกิจกรรมนี้เพียงลำพัง แต่ได้ชักชวนเพื่อนๆ ในสาขาเข้ามาช่วยด้วยเหมือนกัน ซึ่งโดยปกติทั้งผมและเพื่อนในสาขาก็ติวให้น้องเป็นระยะๆ อยู่แล้ว โดยล่าสุดก่อนการสอบกลางภาคก็ติวไปแล้ว นั่นคือส่วนหนึ่งที่เป็นแรงบันดาลใจในการที่จะอยากทำกิจกรรมนี้ต่อยอดในรายวิชาภาวะผู้นำ และจะไม่ยุติแค่นี้ เพราะผมและสมาชิกในกลุ่มจะส่งให้น้องๆ ที่มาติวในครั้งนี้ได้เข้าร่วมการติวที่จะมีขึ้นในสัปดาห์หน้า หรืออื่นๆ ของสาขาอีกต่อไป

และจากการประเมินผลล่าสุดก็เป็นที่น่าดีใจ น้องๆ เกือบทั้งหมดผลทดสอบได้คะแนนเพิ่มขึ้นเกือบหมด มีเพียง 2 คนเท่านั้นที่คะแนนลดลง





ในส่วนของโจทย์หรือแบบฝึกหัดที่นำมาสอนเสริม หรือติวให้น้องๆ ส่วนใหญ่มาจากประสบการณ์ตรงที่ผมทำงานด้านการติวเตอร์มายาวนาน ส่วนหนึ่งมาจากการจดจำจากข้อสอบในแต่ละปี รวมถึงจดจำจากตัวอย่างและแนวทางการสอนของอาจารย์แต่ละท่าน ซึ่งพอนำมาสื่อสารกับน้องๆ ก็ง่ายต่อการทำความเข้าใจและสร้างความมั่นใจให้กับน้องๆ ในการที่จะเรียนรู้

ในการประเมินผลการเรียนรู้ของน้องๆ นั้นเรามี ‘พรีเทส-โพสเทส’ ด้วยทุกครั้ง และมีประเมินผลความพึงพอในต่อกิจกรรมผ่านแบบสอบถาม การสัมภาษณ์ทั้งผ่านการพูดคุยและการบันทึกลงวีดีโอ เพื่อจะนำมาประมวลผลและตัดต่อเป็นสื่อประกอบการประเมินผลโครงการ




ก่อนหน้านี้ผมไม่ค่อยได้เข้าร่วมกิจกรรมของสโมสรคณะมากนัก ไม่ได้เป็นทีมบริหารชมรมใดๆ แต่ก็มีได้ไปออกค่ายกับชมรมบ้านฟิสิกส์ชมรมในสังกัดคณะเป็นครั้งคราว แต่พอได้มาทำกิจกรรมในรายวิชาพัฒนานิสิตได้เข้าใจอะไรหลายๆ อย่างมากขึ้น เช่น

  • การทำงานอย่างเป็นทีม
  • ได้ฝึกการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
  • ได้มิตรภาพระหว่างเพื่อนในกลุ่ม จากตอนแรกไม่คุยกันเลยด้วยซ้ำ แต่พอทำกิจกรรมร่วมกันมาจนถึงวันนี้ เราคุยกันมากขึ้น คุยกันจนสนิทสนมกันเลยครับ
  • ได้ทำให้ตัวเองความกล้าแสดงออกมากขึ้น
  • เปิดใจฟังเหตุผลและข้อเสนอแนะจากเพื่อนในกลุ่มมากขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
  • ได้เห็นความเป็นผู้นำของเพื่อนแต่ละคน
  • ขณะเดียวกันก็ได้รับมิตรภาพจากน้องๆ ด้วยครับ น้องบางคนถึงกับเอาของมาฝากผมและเพื่อนๆ เลยทีเดียว


ท้ายที่สุดนี้อยากจะสารภาพว่า ตอนแรกที่ลงเรียนรายวิชานี้ ตอนแรกคิดเพียงแค่ลงเพื่อให้ครบตามหลักสูตรเท่านั้นเองครับ เพราะผมไม่เก่งทางด้านภาษา บางวิชาในหมวดเดียวกันเพื่อนก็บอกว่ายาก ผมเลยลงวิชานี้เพื่อเก็บหน่วยกิตให้ครบเท่านั้นเอง ยิ่งวันที่ได้เรียนจริงผมยิ่งรู้สึกว่า วิชานี้เรียนลำบาก สอนอะไรก็ไม่รู้เสียเวลา ห้องเรียนก็ร้อน เก้าอี้ก็ไม่มีให้นั่ง เรียนก็หลายชั่วโมง แถมยังต้องลงพื้นที่บ้าๆบอๆ เสียเงินอีกต่างหาก แต่พอได้ลงพื้นที่ ได้ทำงานกันเป็นกลุ่ม ได้ใช้ชีวิตอยู่กับกับเพื่อนๆ ได้ให้ความรู้แก่น้องๆ สิ่งเหล่านี้กลับทำให้ผมคิดได้ว่า รายวิชานี้ไม่ได้เน้นที่การเรียนในห้องเรียน ไม่ได้เน้นที่ทฤษฎี แต่รายวิชานี้เน้นการเอาความรู้ที่มีในห้องและความรู้ตามศาสตร์ที่ตนได้เรียนมาไปทำประโยชน์ต่อส่วนร่วม แม้ในรายวิชาอื่นจะมีการทำงานเป็นกลุ่ม แบ่งกลุ่มให้ แต่ยังไงเสียนิสิตก็ทำงานแค่คนสองคนอยู่ดี ตรงกันข้ามกับรายวิชานี้ สอนสิ่งที่เรียกว่าการทำงานเป็นทีมอย่างแท้จริง




สำหรับตัวผม ผมถือว่า รายวิชาภาวะผู้นำ เป็นที่สุดของรายวิชาในหมวดศึกษาทั่วไปเลยทีเดียว สิ่งเหล่านี้ทำให้การมองรายวิชานี้ของผมเปลี่ยนไป และอยากให้มีรายวิชานี้อยู่คู่กับนิสิตไปนานๆ รุ่นหลังๆ จะได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีมอย่างแท้จริง


หมายเหตุ

เรื่อง : วรวุฒิ บุตรพรม ชั้นปี 2 สาขาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์
ภาพ : เยาวภา ปรีวาสนา/นิสิตวิชาภาวะผู้นำ
วันที่ 7 พ.ย.2559

หมายเลขบันทึก: 618138เขียนเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2016 09:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2016 11:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

น้องเขียนออกมาดี

ได้เห็นบรรยากาศการช่วยเหลือกันในมหาวิทยาลัย

นิสิตที่ติวจะเกิดความชำนาญในการสอนด้วยครับ

ครับ

ดร.ขจิต ฝอยทอง


ผมเข้าไปสังเกตกระบวนการกิจกรรมของน้องๆ กลับมาก็สัมภาษณ์น้องผ่านเฟช ให้เขาเขียนตอบมา เกือบทั้งหมดเป็นข้อความของเขาล้วนๆ ผมแค่เรียงลำดับเนื้อหา เชื่อมประโยคให้เท่านั้นเอง ส่วนบางกลุ่มใช้วิธีนั่งคุยสัมภาษณ์ไปในตัว ขึ้นอยู่กับว่าจะมีเวลาไหม หรือจะไปแย่งเวลาการทำงานของน้องๆ ครับ

แต่กลุ่มนี้ ถ้าอ่านทวนไปถึงอีกคนเราจะเห็นระบบการแบ่งงานกันที่เป็นระบบ มีการศึกษาค้นความเพิ่มเติมมาสู่การสร้างสื่อ มีระบบการประมินเป็นระยะๆ มีการดึงเครือข่ายอื่นๆ มาช่วย ฯลฯ

น่าสนใจเหมือนกันครับ

-สวัสดีครับ

-เป็นเสียงสะท้อนเกี่ยวกับการเรียนรู้ที่ประสบผลสำเร็จมาก ๆครับ

-"ผมถือว่า รายวิชาภาวะผู้นำ เป็นที่สุดของรายวิชาในหมวดศึกษาทั่วไปเลยทีเดียว สิ่งเหล่านี้ทำให้การมองรายวิชานี้ของผมเปลี่ยนไป และอยากให้มีรายวิชานี้อยู่คู่กับนิสิตไปนานๆ รุ่นหลังๆ จะได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีมอย่างแท้จริง...."


สวัสดีครับ

อ.เพชรน้ำหนึ่ง

ที่ดีใจมากก็คือ วิชานี้ช่วยให้นิสิตหลายๆ คนที่ไม่ชอบ หรือไม่มีเวลาที่จะเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมในระหว่างเรียน ได้มีโอกาสในการเข้าร่วมกิจกรรมทั้งในฐานะผู้จัด หรือผู้เข้าร่วมไปในตัวอย่างเสร็จสรรพ

ผมว่านี่คือข้อดีของการจัดการเรียนรู้ที่เน้นให้ผู้เรียนได้ลงมือทำ เรียนรู้ผ่านการลงมือทำ หรือเรียนรู้ผ่านโครงการ นั่นเอง ซึ่งเป็นมนต์เสน่ห์อันชวนหลงรัก ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท