เป้าหมายของการเรียนการสอนการอ่าน


เป้าหมายของการเรียนการสอนการอ่าน

เฉลิมลาภ ทองอาจ, ค.ด.





สังคมในยุคที่อุดมไปด้วยข้อมูลข่าวสาร ทำให้คนยุคใหม่ต้องมีทักษะการอ่าน ซึ่งอยู่ในระดับที่เรียกว่า
“อ่านเป็น” โรงเรียนและสถาบันการศึกษาจึงต้องให้ความสำคัญต่อกิจกรรมการเรียนการสอนการอ่าน เพื่อที่จะพัฒนานักเรียนให้เกิดทักษะการอ่าน อันเป็นทักษะสำคัญสำหรับการเรียนรู้ในสังคมยุคใหม่ อย่างไรก็ตาม
มีประเด็นที่ควรสังเกต และทำความเข้าใจในเบื้องต้นก่อนว่า เป้าหมายของการสอนอ่านนั้น ควรมีอะไรบ้าง เพื่อที่ครูและผู้เกี่ยวข้องจะสามารถวางแผนและพัฒนากระบวนการเรียนการสอนที่มุ่งไปสู่เป้าหมายเหล่านั้น
ได้อย่างถูกต้อง

เป้าหมายของการสอนอ่าน หรือสิ่งที่จะเกิดกับนักเรียนเมื่ออ่านสิ่งใด ๆ ก็ตาม โดยทั่วไปสามารถแบ่งได้เป็น 2 เป้าหมาย คือ การอ่านเพื่อความเข้าใจ (reading comprehension) และการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ (critical reading) สำหรับเป้าหมายดังกล่าวนั้น เดิมมีทฤษฎีที่อธิบายว่า การอ่านทั้งสองลักษณะไม่เกี่ยวข้องกัน หรือถ้าเกี่ยวก็เกี่ยวในลักษณะของลำดับขั้น คือ การอ่านอย่างมีวิจารณญาณต้องใช้ระดับความสามารถทางสติปัญญาสูงกว่าการอ่านเพื่อความเข้าใจ อย่างไรก็ตาม จากคำอธิบายของนักวิชาการด้านการอ่าน กลับอธิบายว่า การอ่านทั้งสองลักษณะเกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กัน ทั้งอาจจะยังส่งเสริมกันและกันอีกด้วย

สาเหตุที่ทำให้เกิดเป้าหมายในการอ่านทั้ง 2 เป้าหมายที่แยกออกมาจากกัน เกิดจากการพิจารณาด้วยพื้นฐานความคิดที่ต่างกัน ดังที่ James W. Cunningham (1980) ได้อธิบายไว้ในบทความเรื่อง Reading Comprehension is Crucial but not Critical โดยสรุปได้ว่า การอ่านเพื่อความเข้าใจ เกิดจากฐานคิดเกี่ยวกับเรื่องของ “ความรู้” คือ มองว่าเมื่อนักเรียนอ่านแล้ว นักเรียนจะรู้ความหมายของสิ่งที่อ่านอย่างไรได้บ้าง เมื่อความรู้เกี่ยวข้องกับข้อมูล การอ่านเพื่อความเข้าใจจึงเน้นไปที่การให้นักเรียนอ่านแล้วจดจำ จับใจความ สรุป ทำนาย เปรียบเทียบ ฯลฯ ข้อมูลในสิ่งที่อ่าน ในขณะที่การอ่านอย่างมีวิจารญาณนั้น ฐานคิดเกิดขึ้นจากเรื่อง “คุณค่า” อันเกิดจากการความคิดเห็นส่วนตัวของปัจเจกบุคคล ดังนั้น การให้นักเรียนอ่านอย่างมีวิจารณญาณ กิจกรรมก็จะมุ่งเน้นไปที่การพิจารณาคุณค่า ประโยชน์ โทษ ความสมเหตุสมผล ความเป็นไปได้ แนวทางการนำไปใช้ประโยชน์ ซึ่งจะเห็นได้ว่าแตกต่างจากการอ่านในลักษณะแรก อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของการอ่านทั้งสองลักษณะนี้ ถือว่าเกี่ยวข้องกัน เพราะความรู้ความเข้าใจที่เกิดจากอ่าน เป็นพื้นฐานของการนำไปตัดสินคุณค่า ในขณะเดียวกัน การพิจารณาสิ่งที่อ่านในหลากหลายมิติ พิจารณาคุณประโยชน์โทษ ก็ช่วยให้เกิดความเข้าใจสิ่งที่อ่านมากขึ้นเช่นกัน จากความสัมพันธ์ดังกล่าว จึงนำไปสู่การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนอ่านที่จะต้องนำพานักเรียนในฐานะผู้อ่านไปสู่เป้าหมายทั้งสองประการให้ครบถ้วน

ครูภาษาไทยเมื่อเข้าใจเรื่องเป้าหมายในการอ่านข้างต้นแล้ว สามารถที่จะแนวคิดดังกล่าวมากำหนดหลักการของการสอนอ่านในชั้นเรียนภาษาไทยของตนเองได้ ด้วยการให้นักเรียนสร้างความเข้าใจในสิ่งที่อ่าน ผ่านการใช้กลวิธีต่าง ๆ ที่ช่วยเสริมสร้างความเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นการอ่านจับใจความ การทำสรุป การจดบันทึก การใช้แผนภาพ แผนผัง การตั้งคำถาม การทำนาย การเปรียบเทียบ การยกตัวอย่าง การอนุมาน หรือการคาดคะเนเพื่อสร้างข้อสรุปตามหลักเหตุผลการบอกสาเหตุ-ผลลัพธ์ เป็นต้น จากนั้นจึงให้นักเรียนมาพูดคุย อภิปราย หรือถกกันเกี่ยวกับคุณค่าของสิ่งที่อ่าน ว่ามีประโยชน์ หรือมีความงดงาม หรือนำไปใช้ประโยชน์ตรงไหนอย่างไรได้บ้าง เมื่อสอนอ่านตามเป้าหมายดังกล่าว ก็จะทำให้ครู ไม่ใช้เพียงแต่สอนด้วยการให้นักเรียนถอดความหรือแค่รู้เรื่องเท่านั้น แต่ยังจะนำไปสู่การเชื่อมโยงเรื่องที่อ่านกับชีวิตของตนเอง และมองในแง่ของคุณค่าหรือประโยชน์ที่ตนเองหรือสังคมจะได้รับจากสิ่งที่อ่าน ทำให้นักเรียนเกิดทักษะการอ่านที่ลุ่มลึกมากยิ่งขึ้น

เป้าหมายของการสอนอ่านทั้งในลักษณะของการรู้เรื่อง เข้าใจความหมาย และลักษณะของการเห็นคุณค่า ประโยชน์ เป็นสิ่งที่จะต้องนำมากำหนดไว้ในการเรียนการสอนอ่าน ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะให้นักเรียนสามารถใช้การอ่านเป็นเครื่องมือในการพัฒนาตนเองในแง่ต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการดำรงอยู่ในสังคมแห่งข้อมูลข่าวสารเช่นในปัจจุบันนี้

___________________________________________________________________________________

รายการอ้างอิง

Cunningham, J. W. (1980). Reading comprehension is crucial but not critical. Reading Horizons, 20(3), p 165-168.

หมายเลขบันทึก: 617652เขียนเมื่อ 30 ตุลาคม 2016 18:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 ตุลาคม 2016 18:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท