ปฏิทินการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนรายวิชาศึกษาทั่วไป ปีการศึกษา ๒๕๕๙


เรียน อาจารย์ผู้ประสานงานรายวิชา อาจารย์ผู้สอนรายวิชาศึกษาทั่วไป และผู้สนใจ ที่เคารพทุกท่าน

สำหรับอาจารย์ผู้ประสานงานรายวิชาและอาจารย์ผู้สอนรายวิชาศึกษาทั่วไป ทุกท่านคงจะทราบดีแล้วถึงการเปลี่ยนแปลงต่างๆ จากการปรับปรุงหลักสูตรหมวดวิชาศึกษาทั่วไป พ.ศ. ๒๕๕๘ ทำให้จำนวนรายวิชาลดลงจาก ๑๓๐ รายวิชา ลงมาเหลือเพียง ๓๒ รายวิชา (ปรับเพิ่ม ๑ รายวิชา) ทำให้นิสิตได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองครบตามคุณลักษณะที่พึงประสงค์ฯ ทั้ง ๙ ด้าน และนำมาซึ่งผลการประเมินประกันคุณภาพการศึกษาระดับสถาบัน ที่สะท้อนว่า เรามาถูกทาง


(ข้อเสนอแนะจากกรรมการประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๘ อย่างไม่เป็นทางการ @ขอบพระคุณผู้หวังดี ที่ส่งภาพมาให้)

อย่างไรก็ดี เพื่อส่งเสริมคุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ตามอัตลักษณ์นิสิตของมหาวิทยาลัยสู่ศตวรรษใหม่นี้ จะต้องมีการพัฒนาให้ดีขึ้นอีก ทั้งระบบและกลไกในการจัดการเรียนการสอน การพัฒนาอาจารย์ และโดยเฉพาะการออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนของแต่ละรายวิชา

ปัญหาสำคัญประการหนึ่งในการจัดการเรียนการสอน ซึ่งพบได้ทั่วไป ไม่เฉพาะการจัดการเรียนการสอนรายวิชาศึกษาทั่วไปเท่านั้น คือ ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องการจัดทำและติดตามเอกสารที่เกี่ยวข้องกับกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ หรือ (มคอ.) หรือ TQF ที่ สกอ. กำหนดไว้ในเกณฑ์การประเมินประกันคุณภาพการศึกษา เมื่อ "ถึงเวลา" อาจารย์หรือเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบจึงต้อง "จัดทำ" เพื่อให้ผ่านตามเกณฑ์ โดยส่วนใหญ่ก็จะพบกันทั่วไปว่า ในทางปฏิบัติของการสอนนั้นไม่ได้เป็นไปตามสิ่งที่เขียนไว้ใน มคอ. มากนัก จึงทำให้ไม่บรรลุผลตามเจตนาหรือความปรารถนาของ สกอ. ซึ่งต่อมาได้มี มติผ่อนปรนให้แต่ละมหาวิทยาลัยใช้รูปแบบของตนเองได้ (ผมเคยเขียนไว้ที่นี่)

โจทย์คือ ทำอย่างไรให้ "ระบบ มคอ." ใช้งานได้จริง บรรลุผลตามวัตถุประสงค์ที่อยากให้แต่ละวิชามีมาตรฐานและการพัฒนาที่ต่อเนื่อง คำตอบไม่น่าจะยาก ก็เพียงแต่ลด "มายาคติ" หรือสิ่งที่ไม่ได้ใช้ใน มคอ. ที่ทำกันอยู่ในปัจจุบันลงไปให้มากที่สุด ตัดภาระงานด้านเอกสารที่ไม่จำเป็นออกไปให้มากที่สุด เหลือไว้แต่เพียงสิ่งที่เป็น "แก่นแท้" ของการพัฒนา เพิ่มเวลาให้อาจารย์ได้ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ ดูแลและปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียนได้มากที่สุด

หลักการที่นำมาปรับใช้แก้ปัญหาและพัฒนาเรื่องนี้มี ๓ ประการ ได้แก่ ๑) ทำให้ง่ายขึ้น ๒) ใช้การมีส่วนร่วม และ ๓) คิดอย่างเป็นองค์รวม

๑) ทำให้ง่ายขึ้น (สำหรับทุกคน)

ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สำนักศึกษาทั่วไป จะออกหนังสือแจ้งให้อาจารย์ผู้ประสานงานรายวิชา ต้องจัดทำ มคอ. ๓ ส่งก่อนเปิดเรียนประมาณหนึ่งเดือน และแจ้งให้อาจารย์ผู้สอนทุกท่านต้องส่ง มคอ.๕ ภายในเวลาที่กำหนด หากไม่ทัน ค่าตอบแทนการสอนก็จะล่าช้าไป ... ทำให้หลายครั้งที่ค่อนข้างเป็นปัญหา ทำให้ทุกข์โดยไม่เกี่ยวอะไรกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนิสิตเลย

อาจารย์ผู้ประสานงานรายวิชาฯ ก็ต้องรับภาระในการจัดทำ มคอ.๓-๕ ที่มีรายละเอียดเยอะ และที่ยากที่สุดคือการประสานงานกับอาจารย์ผู้สอนทุกคนให้ส่งข้อมูลต่าง ๆ ที่ต้องเติมลงไปในรายละเอียดของแต่ละหมวดของ มคอ.

สำนักศึกษาทั่วไป จึงได้พัฒนา ระบบจัดทำ มคอ.๓ และ มคอ.๕ ขึ้น และจัดให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ นำเข้าข้อมูล (คีย์) เกี่ยวกับ มคอ.๓ และ มคอ.๕ ของทั้ง ๓๒ รายวิชา ที่สำนักฯ มีข้อมูลอยู่แล้วลงในระบบทั้งหมด ซึ่งอาจารย์ผู้ประสานงานสามารถเข้าไปแก้ไขในหมวดหรือหัวข้อที่ต้องการได้ และสามารถสั่งพิมพ์ได้ง่าย โดยไม่ต้องยุ่งวุ่ยวายเรื่องรูปแบบอีกต่อไป

สิ่งที่ง่ายขึ้นมาก ๆ คือ การจัดทำ มคอ. ๕ ซึ่งต่อไป ๑ รายวิชาให้จัดส่งเพียงชุดเดียว และเจ้าหน้าที่สำนักฯ ผู้รับผิดชอบ จะเป็นผู้ดึงเอาข้อมูลจากระบบระเบียน เช่น เกรดทุกกลุ่มการเรียน ผลการประเมินอาจารย์จากนิสิต เป็นต้น เข้ามาไว้ใน มคอ.๕ ของทุกรายวิชาให้ โดยอาจารย์ผู้ประสานงานฯ ไม่ต้องรวบรวมจากอาจารย์ผู้สอนอีกต่อไป

และจากการศึกษาพบว่า มคอ.๓ ของแต่ละภาคการศึกษาในปีการศึกษาเดียวกัน ไม่แตกต่างกันมากนัก ดังนั้น การจัดทำ มคอ.๓ ในภาคการศึกษาปลาย และภาคการศึกษาพิเศษ สำนักฯ จะเป็นผู้จัดทำร่าง และนำเข้าที่ประชุมอาจารย์ผู้ประสานงานรายวิชาฯ เพื่อพิจารณา ...จึงน่าจะง่ายขึ้นสำหรับอาจารย์ผู้ประสานงานฯ

๒) ใช้การมีส่วนร่วม (ของอาจารย์)

ปัญหาสำคัญอีกประการในการจัดการเรียนการสอนที่ผ่านมา คือ ความยากลำบากในการประสานงานเพื่อรวบรวมเอาข้อมูลหรือเอกสารต่าง ๆ จากอาจารย์ผู้สอน โดยเฉพาะรายวิชาที่มีอาจารย์ผู้สอนจำนวนมาก และเมื่อไม่สามารถรวบรวมได้ทันเวลาที่สำนักฯ กำหนด สุดท้ายก็กลายมาเป็นภาระของอาจารย์ผู้ประสานงานที่ต้องดำเนินการเอง

อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องเอกสารไม่ใช่เรื่องใหญ่ เรื่องใหญ่คือ จะทำอย่างไรให้การจัดการเรียนการสอนของรายวิชามีมาตรฐานและมีพัฒนาการที่ดีขึ้นเรื่อย ปัจจัยแห่งความสำเร็จที่สำคัญที่สุดในการจัดการเรียนรู้คือ "ครู" ก็คือตัวอาจารย์ผู้สอน ดังนั้น อาจารย์ผู้สอนทุกท่านจะต้องมาร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนารายวิชาไปด้วยกัน คือ ต้องมีส่วนร่วมทุกคน

สำนักฯ จึง สร้างระบบและกลไกการทำงานอย่างมีส่วนร่วมขึ้น โดยกำหนดให้ทุกรายวิชา มีการประชุมเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของรายวิชาเป็นประจำทุกภาคเรียน ภาคเรียนละ ๑ ครั้ง โดยกำหนดเวลาตามรายละเอียดดังภาพ (คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)



ปฏิทินการศึกษาแบบวงกลมด้านบนนี้ ใช้สีเป็นสัญลักษณ์แยกแต่ละภาคการศึกษาให้ต่างกัน ภาคต้นสีน้ำเงิน ภาคปลายสีเขียว ส่วนภาคพิเศษเป็นสีน้ำตาล ตัวอักษรสีใด จะเกี่ยวข้องกับปฏิทินของภาคเรียนนั้น ๆ ประเด็นสำคัญที่จะทำให้ท่านดูง่ายขึ้นมีดังนี้

  • ขั้นตอนสำคัญได้แก่ ส่ง มคอ.๓ -> เปิดให้ลงทะเบียนฯ -> สอบกลางภาค ->สอบปลายภาค ->นิสิตประเมินอาจารย์ ->ส่งเกรด และ -> ส่ง มคอ.๕
  • มีการประชุมเพื่อพัฒนารายวิชาอย่างน้อย ๑ ครั้ง ต่อภาคเรียน
    • ภาคเรียนต้น ปีการศึกษา ๒๕๕๙ นี้ ควรจัดประชุมในช่วงวันที่ ๒๐ - ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๙
    • ภาคเรียนปลาย ปีการศึกษา ๒๕๕๙ ควรจัดประชุมในช่วงวันที่ ๑๖ - ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๙
  • สำนักศึกษาทั่วไป จะจัดประชุมอาจารย์ผู้ประสานงานเป็นประจำก่อนจะเปิดเรียนในภาคการศึกษานั้น ๆ ๑ - ๒ เดือน เพื่อพิจารณา มคอ.๓ และวางแผนการพัฒนการจัดการเรียนการสอนและพัฒนาอาจารย์ร่วมกัน ซึ่งในปีการศึกษานี้ จะเป็นประมาณวันที่ ๑ พ.ย. ๑ เม.ย. และ ๑. ก.ค.
  • ในการประชุมเพื่อพัฒนารายวิชา สำนักศึกษาทั่วไปจะเป็นผู้นัดประชุม จัดทำวาระการประชุมร่วมกับอาจารย์ผู้ประสานงาน และจัดทำรายงานการประชุม โดยอาจารย์ผู้ประสานงานทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ในการประชุมจะมีวาระเพื่อพิจารณาที่จำเป็นต้องได้มติเพื่อนำไปเติมใน มคอ.๕ ของภาคเรียนนั้น ๆ เช่น ปัญหาอุปสรรคในการจัดการเรียนการสอน การปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนในภาคการศึกษาต่อไป เป็นต้น

๓) มองอย่างเป็นองค์รวม

ระบบทุกระบบ คนทุกคน องคาพยพทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการผลิตบัณฑิตจะต้องเชื่อมโยงกันอย่างเป็นองค์รวม การสร้างให้นิสิตมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของหมวดวิชาศึกษาทั่วไป ต้องขับเคลื่อนไปพร้อม ๆ กัน อย่างบูรณาการ ทั้งการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียน การจัดกิจกรรมเสริมการเรียนรู้ และการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีสำหรับการศึกษาด้วยตนเอง

ในขั้นตอนปฏิบัติต้องคำนึงถึงความเชื่อมโยงกันทั้งเชิงระบบ ไม่ซับซ้อนเกินไป ลดขั้นตอน ไม่ซ้ำซ้อน เชิงเทคนิค ต้องนำไอทีและเทคโนโลยีมาช่วยอย่างเหมาะสม ระบบ มคอ.3-5 จะกลายเป็นจุดเชื่อมโยงไปสู่การสร้างและแชร์สื่อการสอนออนไลน์ต่างๆ เป็นต้น และในเชิงคุณภาพ จะต้องมีการควบคุมและติดตามประเมินผลการจัดการเรียนการสอนอย่างถ้วนทั่ว พร้อม ๆ ไปกับการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ชุมชนเรียนรู้ของอาจารย์ผู้สอนรายวิชาศึกษาทั่วไป เป็นต้น

เขียนมายืดยาว...ต้องขออภัยที่ท่านต้องใช้เวลาอ่าน หากท่านไม่เข้าใจส่วนใด ... ผมยินดีอธิบายทุกครั้งที่มีโอกาสครับ

ด้วยความเคารพอย่างสูง

อ.ต๋อย

หมายเลขบันทึก: 617282เขียนเมื่อ 21 ตุลาคม 2016 03:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ตุลาคม 2016 08:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท