Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

การรับรองความเป็นผู้ทรงสิทธิตามกฎหมายเอกชน เป็นสิ่งแรกที่ควรยืนยันเพื่อคนไร้รัฐไร้สัญชาติและคนมีรัฐแต่ยังไร้สัญชาติ มิใช่หรือ


บทนำทางความคิดในหนังสือเพื่อเล่าเรื่องถึงสถานการณ์ที่งดงาม (Beautiful Stories) เกี่ยวกับปัญหามนุษย์ที่ประสบปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย : มีความเป็นไปทางกฎหมายได้หรือไม่ที่คนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทยจะเป็นผู้ทรงสิทธิตามกฎหมายเอกชน ?

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๙

https://www.facebook.com/note.php?saved&&note_id=10154584068218834

---------------------------------------------------------

“การรับรองความเป็นผู้ทรงสิทธิตามกฎหมายเอกชน” ย่อมเป็น “ความจำเป็นประการแรก” สำหรับคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ซึ่งตกหล่นจากทะเบียนราษฎรของทุกรัฐบนโลก หรือสำหรับคนมีรัฐแต่ไร้สัญชาติ ทั้งนี้ เพราะไม่ถูกเป็นคนสัญชาติโดยรัฐใดเลยบนโลก

---------------------------------------------------------

ทุกขภาวะที่สำคัญของคนไร้รัฐไร้สัญชาติ หรือคนมีรัฐแต่ไร้สัญชาติ ก็คือ การถูกปฏิเสธสิทธิในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เราพบว่า คนไร้รัฐโดยสิ้นเชิง ซึ่งประสบทั้งความไร้รัฐและความไร้สัญชาตินั้น เสี่ยงต่อการถูกค้าเป็นสินค้า และการถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างไร้มนุษยธรรม

เราพบว่า ในสถานการณ์แรก นานารัฐจะรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายเอกชน (Legal Personality under Private Law) ในกฎหมายแพ่งหรือกฎหมายทั่วไปของตนให้แก่มนุษย์ เพียงเพราะเขานั้นเป็นมนุษย์

แม้มนุษย์คนใดจะตกหล่นจากการจดทะเบียนคนเกิดในทะเบียนบุคคลหรือทะเบียนราษฎรของรัฐก็ตาม ความเป็นมนุษย์ที่มีชีวิตก็เพียงพอที่พวกเขาเหล่านี้จะมีสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายแพ่ง หรือตามกฎหมายเอกชน หรือตามกฎหมายทั่วไป

สำหรับประเทศไทย เราดำเนินตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลนี้มาตั้งแต่การเริ่มต้นสถาปนารัฐไทยเป็นรัฐสมัยใหม่ในปลายสมัยในหลวงรัชกาลที่ ๕ ดังปรากฏว่า รัฐไทยได้ยืนยันว่า มนุษย์ไม่อาจตกเป็นทาสหรือทรัพย์สินมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๔๘ โดย พ.ร.บ.การเลิกทาษ ร.ศ.๑๒๓/พ.ศ.๒๔๔๘/ค.ศ.๑๙๐๕ ตลอดจนมาตรา ๓๙ แห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.๒๔๖๖/ค.ศ.๑๙๒๓ และมาตรา ๑๕ วรรค ๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.๒๔๖๘/ค.ศ.๑๙๒๕ ต่างก็บัญญัติว่า “สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารกและสิ้นสุดลงเมื่อตาย”

แนวคำพิพากษาของศาลยุติธรรมไทยยืนยันอย่างชัดเจนว่า เพียงความเป็นมนุษย์นั้นเพียงพอที่จะได้รับการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายเอกชนของรัฐไทย ซึ่งประกอบไปด้วย (๑) ความเป็นบุคคลตามกฎหมายในสถานการณ์ทั่วไป ตั้งแต่เกิดจนตาย (๒) ความเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ในสถานการณ์ที่เกิดหนี้สิน (๓) ความเป็นเจ้าของทรัพย์สินในสถานการณ์ที่ได้มาซึ่งสิทธิในทรัพย์สิน (๔) ความเป็นสมาชิกของครอบครัวเมื่อมีการก่อตั้งครอบครัวขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นการก่อตั้งครอบครัวตามธรรมชาติหรือจะเป็นการก่อตั้งครอบครัวบุญธรรม และ (๕) ความเป็นเจ้ามรดกและทายาทของกองมรดกเมื่อจะต้องสืบมรดกระหว่างมนุษย์

ขอให้ตระหนักว่า เพียงการรับรองให้คนไร้รัฐไร้สัญชาติ และคนมีรัฐไร้สัญชาติ เป็นผู้ทรงสิทธิในกฎหมายเอกชนใน ๕ ลักษณะนี้ ก็จะทำให้คนดังกล่าวเข้าถึงสิทธิอันจำเป็นเพื่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะสิทธิในปัจจัยอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตรอด และสิทธิในครอบครัวอันเป็นพื้นฐานของสันติสุขของมนุษย์

สำหรับประเทศไทย ระบบกฎหมายเอกชนของรัฐไทยสมัยใหม่ไม่เคยปฏิเสธสิทธิตามกฎหมายเอกชนของคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ปัญหาที่เกิดขึ้นจะมาจากความไม่รู้และอคติของเจ้าหน้าที่ของฝ่ายบริหารของรัฐไทย และอีก ๒ ปัญหาที่มักเกิดขึ้น ก็คือ (๑) ความไม่รู้จักและความหวาดกลัวของคนไร้รัฐไร้สัญชาติที่จะใช้กระบวนการยุติธรรมทางศาล และ (๒) ความล่าช้าในกระบวนการยุติธรรมทางศาล ซึ่งทำให้การรับรองสิทธิตามกฎหมายเอกชนเกิดอย่างล่าช้าเสมอ

เราพบบ่อยครั้งว่า คนไร้รัฐไร้สัญชาติหรือคนมีรัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย มักถูกปฏิเสธสิทธิตามกฎหมายเอกชนดังต่อไปนี้ (๑) สิทธิที่จะกำหนดชื่อสกุลในเอกสารทางทะเบียนราษฎร (๒) สิทธิที่จะกำหนดวันเกิดและเดือนเกิดในเอกสารทางทะเบียนราษฎร (๓) สิทธิในการถือครองทรัพย์สิน (๔) สิทธิก่อตั้งครอบครัวตามธรรมชาติ โดยการจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย และ (๕) สิทธิก่อตั้งครอบครัวบุญธรรม โดยการรับบุตรบุญธรรม

แต่อย่างไรก็ตาม เราพบว่า ทั้งศาลยุติธรรมและศาลปกครองของรัฐไทยก็มักจะยืนยันว่า ความเป็นมนุษย์เพียงพอที่จะก่อตั้งสิทธิตามกฎหมายเอกชน ดังนั้น คนไร้สัญชาติทั้งที่มีรัฐหรือไร้รัฐ ก็ย่อมมีสิทธิตามกฎหมาย ในลักษณะเดียวกันกับคนมีรัฐมีสัญชาติ


หมายเลขบันทึก: 617279เขียนเมื่อ 21 ตุลาคม 2016 02:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ตุลาคม 2016 02:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท