ชีวิตที่ดิ้นรน บ้านบนรถ Camping สวีเดน


เรื่องเล่าระหว่างทำงานของผม เมื่อปลายปี 2558 ผมเห็นเรื่องราวอื่นๆ นอกเหนือมิติสุขภาพ.........

“นิว” (นามสมมติ)

อายุ 45 ปี

แรงงานหญิง


ชีวิตของ “นิว” ไม่แตกต่างจากหญิงสาวชนบทอีสานทั่วไปในยุคนั้น เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปลายแล้ว ก็ทำงานรับจ้างเป็นแม่บ้านภายในตัวอำเภอ เที่ยวไป-กลับจากหมู่บ้าน จนอายุ 25 ปี จึงตามเพื่อน ๆ ข้างบ้านไปเป็นสาวโรงงานที่กรุงเทพฯ ชีวิตสาวแรงงานช่างแปลกใหม่และตื่นตาตื่นใจ มีเพื่อน ๆ มากมาย และมีคนรู้ใจ พัฒนาเรื่อย ๆ จนเป็นคู่หมั้นกัน แต่โชคชะตาไม่เข้าข้างความรักของนิวเลย “ เคยมีแฟนค่ะ ถึงหมั้นกันไว้แต่ไม่ได้แต่ง เพราะว่าเราไปอยู่ไต้หวัน แล้วเขาก็มีผู้หญิงอื่น เราก็เลิกกัน หมั้นกันอยู่ 5 ปี ตอนนั้นทำงานอยู่บริษัทไนกี้ ที่กรุงเทพ”

นับเป็นการอกหักครั้งแรกของชีวิต ทำให้นิวซมซานกลับบ้าน เพื่อมารักษาบาดแผลในใจเกือบปี ก่อนโบยบินไปไต้หวันตามกระแสของคนในหมู่บ้านและเพื่อน ๆ นิวทำงานที่โรงงานทอผ้า การไปทำงานที่นั่น 3 ปี ไม่ทำเงินตามที่หวังไว้ แถมถูกหลอกจากนายหน้าด้วย “ไม่ได้เงินหรอกค่ะ เงินเดือนน้อยตอนนั้น ที่ไต้หวันเงินเดือนแค่ 15,800 บาทเอง จ่ายค่าหัวไปก็ตั้ง 1 แสนกว่า ตอนนั้นวางเงินสด 70,000 บาทเนาะ แต่ว่าเขาให้เขียนเป็น 150,000 บาท เพราะว่านายหน้าเขาเอาเงินไง”

หลังกลับจากไต้หวัน นิวมาเป็นสาวโรงงานเช่นเดิม วันหนึ่งได้ไปเที่ยวระยองกับเพื่อน ๆ และได้พบกับสามีชาวสวีเดนจนใช้ชีวิตร่วมกัน 9 ปีแล้ว “ เขามาร้านอาหารสวีเดนของสามีของเพื่อนเรา ตอนแรกเขามีเมียเป็นคนจังหวัดตราด เกาะช้าง เขาเลิก แล้วเขาก็มาคุยกับเรา ตอนแรกเราก็ไม่ได้ถูกใจอะไร เพราะว่าเขาแก่และอ้วนมาก ๆ ตอนนี้เขา 64 ปี”

นิวพบกับ “จอห์น” เพียง 2 ครั้งในช่วงเวลาเพียง 3 เดือน กับการตัดสินใจอยู่ด้วยกันอย่างรวดเร็วด้วยเหตุผล “ไม่กลัวแล้ว เราอยากมีคนเลี้ยง ไม่อยากเร่ร่อนนี่ อยู่กับแฟนก็โอเคเลย ถึงเงินไม่เยอะ แต่ก็ไม่ให้เราไปตัดอ้อย มันก็โอเคไง” นิวไม่ได้ทำงานแล้ว จอห์นเป็นฝ่ายดูแลทั้งหมด อยู่ด้วยกัน 6 เดือน แล้วแฟนก็กลับสวีเดนไป พอรอบที่ 3 ก็เช่าบ้านให้หนูอยู่ระยองนั่นแหละ อยู่ได้ปีกว่าๆ มาได้ 15 วัน แม่แฟนก็เสีย แล้วแฟนก็เอาเอกสารมาให้เราขอวีซ่า แล้วก็ตามไป 1 ปีเองเลยตัดสินใจไปนู่น”

ชีวิตแปลกใหม่ในสต๊อกโฮมของนิว “ไปด้วยวีซ่าท่องเที่ยว ต้องย้ายบ้าน เพราะแม่เขาไม่ได้เซ็นให้ลูกอยู่ต่อไง ถ้าแม่เซ็น สามีก็จะมีสิทธิ์อยู่ได้ เพราะคิดว่าแฟนจะมาอยู่เมืองไทย แล้วไม่คิดว่าแกจะเสียชีวิตเร็ว ฝรั่งอายุยืนนะ ตอนนั้นแม่อายุ 89 ปี”

สามีของนิวเคยแต่งงานกับหญิงชาวสวีเดน มีลูก 2 คน แล้วแยกทางกัน ต่อมาได้มาเที่ยวประเทศไทยได้ภรรยาชาวไทยที่เกาะช้าง ก่อนที่จะได้มาตกร่องป่องชิ้นกับนิว ปัจจุบันสามีเกษียณจากงานประจำเมื่ออายุ 60 ปี แต่ยังทำงานพิเศษในทุกวันนี้ คือ การขับรถบรรทุกส่งของ “แฟนได้เงินเดือนเกษียณเดือนละไม่ถึง 10000 โคนเลย และมีรายได้จากการขับรถส่งของ แบบพัสดุไปรษณีย์รายชั่วโมง ๆ ละ 135 โคนวันละ 14 ชั่วโมงเสียภาษีเดือนนึงก็ประมาณ 8000 กว่าโคน”

ในตอนแรกนั้นนิวไม่ได้ทำงาน กว่าจะเก็บของให้แม่สามีและสามีเสร็จ ใช้เวลาเกือบ 4 เดือน แต่สามีพาไปทำงานด้วย และไปซื้ออาหารและของใช้เข้าบ้าน “ไม่ค่อยได้เที่ยวค่ะ อยู่บ้าน อยู่เก็บของ แล้วเวลาแฟนไปทำงานก็นั่งรถไปด้วย เพราะแกทำงานขับรถส่งของพัสดุ เหมือนรถไปรษณีย์ค่ะ แต่ส่วนมากแกจะทำกลางคืน บางวันก็จะอยู่บ้าน ห้าโมงเย็นก็เริ่มงาน บ้านเมืองเขาสวยมาก ๆ เมืองไทยบ้านเราไม่มีระเบียบหรอก ที่สวีเดนเขาระเบียบดีกว่า”

ความรู้สึกของนิว เมื่อเจอผู้หญิงไทยในในสต๊อกโฮม การแสดงออกเหมือนดูถูกดูแคลนกัน “ยิ้มให้เขา เขาก็ไม่ยิ้มให้ ขนาดแฟนหนูไปขอเบอร์โทรมานะ แล้วเราโทรไป เขาพูดกับเราบอกว่า ไม่ทราบว่าเราเคยรู้จักกันที่ไหนคะ เราก็งง เมื่อวานยังคุยกันอยู่ดีๆอยู่เลย ไม่ค่อยชื่นชมกันเหมือนอยู่ไต้หวัน ไต้หวันนี่เขาจะดี ชื่นชมกัน แต่ที่สวีเดนไม่ใช่ เขาจะคิดว่า ผัวกูรวย ผัวมึงจน เปรียบเทียบกัน”

เวลาผ่านไป 4 เดือน เมื่อจัดการธุระและย้ายบ้านเสร็จแล้ว จึงเดินทางกลับมาเมืองไทย พักอยู่ที่ระยองเช่นเดิม เพื่อมาดำเนินการทำวีซ่าถาวร (Long Time VISA) ซึ่งขั้นตอนยุ่งยากมาก “เอกสารเยอะมาก ถามครอบครัวเรา พ่อ แม่ พี่ น้อง ลูกหลานมีกี่คนเอาหมด สัมภาษณ์เยอะมาก เขากลัวเราไปทำผิด ไปขายตัว เพราะมีแต่ผู้หญิงไทยทั้งนั้นแหละ ร้านนวด เขาปิดบังไง ที่เขาถามเราเยอะ เพราะเป็นคนโสดไป กลัวเราไปอยู่กับเขาแล้วพอได้ Visa แล้วก็จะหนี เขากลัวแบบนั้น”

นับจากนั้นมา นิวได้เดินทางกลับมาบ้านเกิดของตนเอง ทุกปีช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ่อแม่และญาติ ๆ ต่างชื่นชมที่นิวได้สามีฝรั่ง หลังจากนั้น นิวได้จดทะเบียนสมรสกับสามีที่สวีเดน เริ่มเรียนภาษาสวีเดน เรียนอยู่ 2-3 เดือน แล้วพอถึงเดือน กรกฎาคมถึงกันยายน ฤดูกาลหน้าเก็บหมากไม้ นิวได้ไปเก็บกับเพื่อนคนไทยที่เรียนภาษาด้วยกันและเคยเก็บ จนได้ค่าเดินทางกลับมาเมืองไทยทุกปี “มันมีบลูแบรรี่ แล้วก็ลีงอน(หมากไม้) ที่เก็บแล้วได้ราคาไม่ค่อยดี คนไทยมาเก็บกันเยอะนะ ถูกหลอกก็มี เพราะบางปีหมากไม้มันไม่ออกเลย”

ตอนนั้นนิวและสามียังไม่มีบ้าน ซื้อรถมาเป็นบ้าน จอดตาม Camping “ ดีนะ มีครบทุกอย่างห้องน้ำ แต่เครื่องซักผ้านี่จะมีที่นู่น ห้องซาวน่ามีอีกที่ มีห้องส้วมห้องอะไร ถ้าเราไม่ใช้ของเราก็ใช้ของส่วนรวมได้ เพราะว่าเขาเก็บเงิน ค่าน้ำ ค่าไฟ ต่างต่างนานา อยู่กันบนเกือบ 8 ปี”

วันหนึ่ง สามีเจ็บป่วยจนได้นอนพักในโรงพยาบาล ทำให้นิวกังวลเล็กน้อย แต่ในความโชคร้ายก็มีโชคดีที่ได้ทำงานโดยบังเอิญ “แฟนมีโรคหลายโรค ความดัน เบาหวาน น้ำท่วมปอด หลายโรค เพราะอ้วนขับรถจะปวดหลัง ปวดขา ไปอยู่โรงพยาบาล 15 วัน แกออกมาแล้ว ไปซื้อกับข้าวอยู่ตลาด ก็ไปเจอพี่คนไทยที่เขาอยู่บุรีรัมย์ แฟนแกเป็นเจ้าของบริษัททำความสะอาด แล้วหนูก็ไปแบบมอซอ เหมือนเด็กบ้านนอก เขาเลยถามว่า “...หนู คนไทยใช่ไหม...” เราก็ตอบรับไป สวัสดี แล้วก็เลยถามเขาว่า ไม่มีงานให้ทำเหรอคะ เขาเลยบอกให้เราเอาเบอร์ให้ แล้วเดี๋ยวเขาจะโทรมา ผ่านไปสองอาทิตย์นี่แหละ หนูก็คิดว่าคงไม่ได้แล้วมั้ง แต่แกก็โทรมาตาม”

งานทำความสะอาดตามอพาร์ตเม้นท์ นิวทำเฉพาะข้างนอก บันได และทางเดินเท่านั้น ทำวันละ6-7 ชั่วโมง ทำเพียง 3 - 4 วันต่อสัปดาห์ “ทำงานได้ชั่วโมงละ 95 โคนหนึ่งเดือนก็ประมาณ 6-7 พันโคน ตอนนั้น 5 บาท 50 สตางค์ แต่ตอนนี้ลงมากเลย 3.6 3.7 นี่แหละค่ะ แลกที่พัทยา ตอนนั้นต่อเดือน ประมาณ 30000 บาทเนาะตอนนั้น”

นิวทำงานทำความสะอาดตามอพาร์ตเม้นท์ได้ 2 ปี เพื่อนดึงไปทำงานร้านอาหารคนสวีเดน แต่ว่าขายอาหารไทย ร้านใหญ่มาก ทำงานอยู่ 2 ปีครึ่ง หน้าที่หั่นผัก หั่นเนื้อ หั่นไก่ เตรียมอยู่ในห้องครัว ไม่ได้เสิร์ฟ แต่พอนิวเดินทางกลับมาเยี่ยมบ้านที่เมืองไทย ก็ถูกเลิกจ้างงาน “คราวนี้มันเปลี่ยนเจ้าของไง เจ้าของเก่าเขาขายให้กับคนตุรกี แล้วเขาคัดคนไทยออกหมดเลย มันเอาแต่คนของมันไว้ ขนาดเพื่อนหนูที่ว่า เขาก็ไปเจอแฟนอยู่ร้านเขา เขาไปสวีเดนตั้งแต่ปี 1999 เขาทำอยู่ร้านนี้ เขายังโดนเด้งออกเลย เพราะเขาเอาออก”

นิวรู้ถึงความไม่ยุติธรรมกับการจ้างงาน “ถ้างานทำความสะอาด คนสวีเดนจะไม่ทำ เขาจ้างงานประเทศอื่น จ้างคนผิวดำบ้าง แต่ส่วนมากเขาจะชอบพวกคนไทย คนเอเชีย เพราะคนไทยเราขยัน เขาอยากได้แบบนี้ อีกอย่างเราก็หางานยาก เพราะไม่ได้ผ่านกรมแรงงาน เสาร์ อาทิตย์นั่นแหละ เขาไม่อยากจ้างเขาก็ให้หยุด เพราะเขาต้องจ่ายสองแรง เรารู้สึกว่าเราถูกลิดรอน แต่ถ้าคนสวีเดนไปทำนี่เขาได้นะ แต่พอเราไปทำแล้วมันไม่ได้ หัวหน้างานที่เป็นคนไทย เขายังพูดว่า นิวเอ๊ย เรามาอยู่นี่เราจะมาเอาอะไรมากมายไม่ได้หรอก นอกจากทำความสะอาด กับร้านอาหาร ที่เป็นอาชีพที่คนไทยทำได้ แล้วก็ไปเก็บผลไม้ไง และดูแลคนแก่”

เมื่อพูดถึงอาชีพการดูแลผู้สูงอายุ หรืออาชีพที่ต้องมีทักษะในต่างแดน นับเป็นข้อกำจัดของแรงงานไทยที่เข้ามาอยู่สวีเดนอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการสื่อสารด้านภาษา และการสะสมประสบการณ์ “อันนี้เป็นอาชีพใหม่ เราสนใจ แต่ยังไม่เก่งภาษา เราก็ต้องมีคนดึงเข้าไปอีก แต่ถ้าเป็นกุ๊กเองก็ทำไม่ได้หรอก สมองไม่ไว ต้องรับมือลูกค้าเยอะ”

กำลังใจในการดำเนินชีวิตของนิวเมื่ออยู่ที่สวีเดน มาจากสามีเป็นผู้คอยห่วงใยและช่วยเหลือต่าง ๆ ทั้งยามสุขและยามทุกข์ อย่างเหตุการณ์ถูกค้างค่าแรงจากนายจ้างตอนให้ออกจากงาน “เขาเอาเราออกไง แฟนก็เลยโทรไปถามว่า อ้าว แล้วเงินค่าจ้างแฟนฉันหล่ะ เขาก็ตอบ เออ เดี๋ยวฉันคิดให้นะ เพราะเขาก็กลัวไง เพราะแฟนเราเป็นคนสวีเดนไง แล้วเขาก็เป็นคนสวีเดนเหมือนกัน เขาเลยรีบโอนมาให้เลย อยู่สองปี ปีแรกก็ได้ 5000 พอปีสองตอนเขาเอาออกก็ได้ 6000 กว่า” แต่ความที่ห่างไกลจากบ้านเกิดเมืองนอน นิวย่อมมีความทุกข์ใจเป็นธรรมดา “ทุกข์ใจว่า เมื่อไหร่จะได้กลับมาอยู่บ้านเราหนอ เมื่อไรจะมีเงินหนอ อยากกลับมาอยู่บ้านบ้าง ในช่วงสงกรานต์ อยากกลับมาอยู่กับพ่อแม่นานๆ แต่ตอนนี้ยังสร้างหนี้เพิ่ม หนี้ยังไม่หมดค่ะ เพิ่งออกรถมาล้านนึงยังไม่มีเงินจ่ายเลย”

สองปีที่ผ่านมา นิวได้บัตรประชาชนสวีเดนแล้ว “หลังจาก 2 ปี ไปจดบัตรประชาชนได้เลย มีสิทธิ์ทุกอย่างแหละ แต่ว่าที่คนไทยเราเสียภาษี ทำไมขอบ้าน จองบ้านไม่ได้สักที แต่พวกคนดำพอเข้ามาปุ๊บ เขาให้เลยนะ” ทางการสวีเดนให้เหตุผลกับนิวว่า “เขาว่าเราเงินเดือนน้อย แล้วแฟนก็ติดส่งลูกแกไง ลูกคนโต 27 แล้ว ส่วนคนเล็กนี่ 22 จริงๆแล้วลูกนี่อายุเกิน 20 ปีแล้วเนาะ แฟนเขาไม่ได้หักแล้ว แต่ว่าที่เราค้างไม่ได้ส่งไง ก็ต้องหัก เขาก็ทบตัวนั้นไป มันเลยมีผลไม่ดีไปด้วย”

ทั้งนิวและสามี เลือกที่จะจดทะเบียนบ้านในเมืองไทยด้วย ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อด้อย “เราแจ้งโอนว่าเราจะย้ายมาอยู่เมืองไทย แต่สิทธิ์อะไรที่เราจะได้ ก็ไม่ได้นะ อย่างเงินที่เราทำงานไปนี่ เพราะถ้าเราครบ 65 ปี เราจะได้เงินคนแก่ไง เราก็จะไม่ได้ ส่วนสามีเขายังเป็นคนสวีเดนโดยกำเนิด สามารถได้เบี้ยผู้สูงอายุ”

เมื่อชีวิตลงตัวเข้าที่เข้าทางขึ้น นิวยังคงทำงานร้านอาหาร วันละ 4 ชั่วโมง ทุกวันจันทร์-ศุกร์ “ได้ชั่วโมงละ110 โคน หักภาษีแล้วก็เหลือประมาณ 70 โคน” และมีงานพิเศษ คือ ทำความสะอาด และสามีทำงานขับรถเช่นเดิม ถึงแม้ชีวิตในบ้านรถ มีความสะดวกสบายอีกแบบ แต่ทั้งนิวและสามีต้องการอยู่บ้าน การไม่มีเงินเก็บ ทำให้การซื้อบ้านมีความลำบาก เพราะต้องมีเงินจำนวนมาก เพราะราคาแพงทั้งที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จึงได้ไปเช่าบ้าน โดยแบ่งคนละครึ่งกับเพื่อนของสามีนิว “เราก็ต้องเช่าบ้านมือสองอยู่ บ้านมือสองมันก็ไม่มั่นคง เขาอยากไล่ออกเขาก็ไล่ออก ตอนนี้ที่เราไปอยู่กับเพื่อนแฟนนี่ จ่ายค่าใช้จ่ายช่วยเขา เดือนละ 4300 โคน เป็นค่าน้ำ ค่าไฟ ทุกอย่างเลย”

ในทุก ๆ เทศกาลสงกรานต์ นิวและสามีจะเดินทางกลับบ้านเกิดที่เมืองไทย โดยเป็นการลาพักร้อนประมาณเดือนกว่า ๆ “พักร้อนได้เงินด้วย ถ้าอาทิตย์นึงเราทำงานเท่านี้ เราก็จะได้ 12 เปอร์เซ็นต์ ก็ได้ประมาณหมื่นกว่าๆค่ะ” อุปสรรคหนึ่งของการที่ไม่มีเงินเก็บ เพราะใช้จ่ายเงินจำนวนมากในการกลับมาแต่ละครั้งของนิว “มาแต่ละครั้งเราก็ถือเงินสองแสนหมดเลยนะ ไม่รวมค่าเครื่องนะ กลับมาดื่มทุกวันเลย เดี๋ยววันนี้ไปงานบุญก็ดื่ม ตกเย็นนี่ก็ไปดื่มกับเพื่อนผู้ใหญ่บ้านอีก 4 ขวด มีงานบุญต่าง ๆ แจกซองให้ตลอดเลี้ยงญาติพี่น้องด้วย ไปเที่ยวกัน นาน ๆ มาเราจึงจ่ายเงิน ถือว่ามาซื้อความสุขและความคิดถึง”

เมื่อนิวทบทวนการใช้เงินที่ผ่านมา พบว่า ตนเองจำเป็นต้องมีระบบการใช้เรื่องเงินใหม่แล้ว “ ถ้าว่าเราเก็บสักห้าหมื่น สมมติว่าสิบปี ห้ามื่นนี่ จะมีเงินอยู่ในกระเป๋า ห้าแสน แบบอยู่นิ่งๆนะ ไม่ต้องใช้เลยนะ พอเราอายุเยอะมา เราก็จะมีเงินเก็บ เหลือก้อนนี้ไว้ เงินสองแสนที่เรามานี่ก็ใช้นี่นั่นหมดไป บวกดอกเบี้ยไปเรื่อยๆ”

นิวและสามียังคงดำเนินชีวิตเช่นนี้อีกยาวไกล จุดหมายปลายอยากกลับมาอยู่บ้านเกิดเมืองไทย ดังนั้น จำเป็นต้องสร้างฐานะของครอบครัวให้มั่นคงก่อน สำหรับนิวแล้วยังต้องเดินทางเรียนรู้การใช้ชีวิตในต่างแดน การประคับประครองชีวิตคู่ และการดำรงชีวิตอย่างไม่ประมาท “บางทีชีวิตเรามันอยู่บนความประมาทไม่ได้ ชีวิตเราถ้าเกิดเหตุอะไรมานี่ เกิดอุปสรรคบางสิ่งขึ้นมา มันจะทำไม่ได้ แล้วมันจะสาย เหมือนกับคนบางคนบอกว่า อย่าเพิ่งเก็บเงินก็ได้ ภาษิตบางสำนวนบอกว่า เงินนี่ ถ้าเราไม่รักที่จะอยู่กับเขา เขาก็จะไม่อยู่กับเรา แต่ถ้าเรารักที่จะเก็บ เขาจะอยู่กับเราตลอดไป”

***************

คำสำคัญ (Tags): #แรงงาน#ทิมดาบ
หมายเลขบันทึก: 617174เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2016 11:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 ตุลาคม 2016 11:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นเรื่องราว. ของคนไทยในต่างแดน. ที่เขียน ได้. ดี ค่ะ. ..สะท้อนให้เห็นความเป็นไปในชีวิต ที่ไม่ได้มีความแตกต่าง..ในเรื่องความร่ำรวยหรือยากจน..สำหรับผู้ที่่คิด (จะไปตายเอาดาบหน้า..กัน)..ในต่างประเทศ. หรือ. ชีวิตคู่ที่พบเจอและนำพาไป..(ที่เปลี่ยนน่าจะเป็นแค่สีผิว. อิอิ..แต่รสชาดยังคงเดิม..55..)

บางสิ่งบางอย่างที่ยังตกทอดมาและสร้างความรำเค็ญให้ชีวิต. คือ. การทำงานหาเลี้ยงกัน(ข้ามชาติข้ามประเทศ..)รายได้ส่วนใหญ่จะถูกส่งมาเลี้ยงครอบครัวในประเทศ..มีเงินเข้าประเทศวันละหลายพันล้าน ทีเดียว..มีท่านทูตเคยกล่าวไว้.ให้. ได้ยิน. ..กับหูมา. เจ้าค่ะ..

ชีวิต นี้. จะพอเพียง. ได้. อย่างไร. ..ถ้าเราเป็นเพียง. ทาสใหม่.ของ แรง งานและเงินตรา.. ที่ ไม่เคย. เงยหัว. ขึ้น...ได้ เลย. ในชีวิตคนเรา...

เพื่อนใหม่ คือ ของขวัญที่ให้กับตัวเอง

ส่วน เพื่อนเก่า หรือ มิตร คือ อัญมณีที่นับวันจะ เพิ่มคุณค่า


คิดถึงเสมอมา ค่ะ



พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท