เล่าถึงฮักนะเชียงยืน รุ่น ๒


กลุ่มเยาวชนฮักนะเชียงยืน เป็น "พลเมืองเด็ก" ที่รวมตัวกันเพื่อมาทำกิจกรรมเพื่อสะท้อนปัญหาชุมชนอันจะนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน เมื่อ ๔ ปีที่เเล้ว ข้าพเจ้าเเละเพื่อนๆได้ร่วมกันก่อตั้งกลุ่มเยาวชนนี้ขึ้นมา ในครั้งนั้นเสนอเข้ามูลนิธิกองทุนไทยเเละสายมกัมมาจล ทำโครงการชื่อลดมลพิษฟื้นชีวิตดิน เพื่อสะท้อนปัญหาของชุมชนนึงให้เห็นผลกระทบของการใช้สารเคมีในการเกษตรเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้มีความมุ่งหวังอยากให้ชาวบ้านในชุมชนป้องกันตนเองให้ความปลอดภัยจากสารเคมีที่ใช้อยู่เป็นประจำ โดยในปีแรกๆข้าพเจ้าเเละเพื่อนๆจะเน้นที่ค่ายพัฒนาเยาวชนในชุมชนเเละใช้เวทีเสวนากับชาวบ้านเป็นหลักสำคัญ ดำเนินโครงการมาตลอดระยะเวลา ๓ ปี ผลที่เกิดขึ้นอาจไม่มากนักแต่การพัฒนาคนนั้นไม่หยุดยั้ง ในช่วงปลายปีที่ ๓ มีกลุ่มน้องๆรุ่นที่ ๒ ขึ้นมารับหน้าที่นี้เเทน

กลุ่มฮักนะเชียงยืนรุ่นที่ ๒ สนใจชุมชนบ้านขามเปี้ย ประเด็น:การอนุรักษ์ป่าชุมชน(ป่าโคกหนองคอง บ.ขามเปี้ย ต.ขามเปี้ย อ.เชียงยืน จ.มหาสารคาม) เพื่อนำไปสู่การยกป่าชุมชนให้เป็นแหล่งอนุรักษ์อย่างถาวร ในครั้งนี้ได้รับทุนจากทางบริษัทซัมซุงจำกัด ให้เด็กๆกลุ่มนี้ได้ทำงานเเละเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง รูปแบบของน้องๆรุ่น ๒ คล้ายกับรุ่นแรก เเต่ต่างกันตรงที่ประเด็นเปลี่ยน เเละกระบวนการเปลี่ยนไปตามเนื้อหาของประเด็นนั้น "การอนุรักษ์ป่าชุมชน" ต้องมีการเดินสำรวจป่า สำรวจปริมาณคาร์บอน เสวนากับชุมชนอย่างมีส่วนร่วม เเละขณะเดียวกันก็ต้องพัฒนาเยาวชนเเละเครือข่ายเยาวชนไปพร้อมกัน ถือว่าเป็นงานที่ใหญ่เเละก้าวหน้ากว่าสมัยรุ่นพี่มาก ฉะนั้นเเล้ว เด็กกลุ่มนี้ได้เรียนรู้เเละพัฒนาตนเองจากอภิวัฒน์สังคมให้อุดมปัญญาอย่างมีศักยภาพเต็มเปี่ยม

ฮักนะเชียงยืนรุ่น ๒ นี้ ดำเนินโครงการมาตลอดระยะเวลา ๒ ปี ในช่วงแรกที่ลงชุมชนนั้น ส่วนใหญ่ต้องเก็บข้อมูลมาก เพราะต้องพัฒนาบนฐานวิชาความรู้เเละเอาชุมชนเป็นตัวตั้ง(ตามศาสตร์ในหลวง ร.๙) ต่อมาเริ่มจัดค่ายการเดินป่าให้รุ่นน้องของเขาได้เข้าใจในวิถีของป่าชุมชน เเละตระหนักในการอนุรักษ์ป่าชุมชนให้คงอยู่(จิตแห่งจริยธรรม) ต่อมาเขาเริ่มมีการพูดคุยกับผู้ใหญ่มากขึ้นโดยจัดเสวนาชาวบ้านประเด็นการยกพื้นที่ป่าให้เป็นป่าอนุรักษ์อย่างถาวร ข้าพเจ้าจึงมองว่า ผลที่เกิดขึ้นต่อชุมชนนั้น คือ ชาวบ้านได้เข้าใจเเละตระหนักถึงคุณค่าเเท้ของป่าชุมชน เเละในช่วงไม่นานมานี้เขาได้ขยายเครือข่ายไปยังโรงเรียนในจังหวัดมหาสารคามเเละเครือข่ายบริษัทซัมซุงจำกัด ที่นับว่าเป็นความสำเร็จด้านเครือข่ายการเรียนรู้ที่กว้างขวางมาก ในระดับพลเมืองเด็ก นอกจากนี้เด็กกลุ่มนี้ได้เรียนรู้เทคนิควิธีการต่างๆด้วยเทคโนโลยีอันเป็นเครื่องมือในการสื่อสารกับชุมชนอย่างเข้าใจเเละเข้าถึง เพราะพัฒนา

ข้าพเจ้ายังเฝ้าติดตามเด็กกลุ่มนี้ตลอด เเม้ไ่ได้ลงพื้นที่จริงด้วย เเต่บางครั้งก็ติดตามชื่นชมผ่านทางช่องทางอื่นๆ ทั้งนี้ข้าพเจ้ามองว่า คุณธรรมสำคัญของพลเมืองเด็กกลุ่มนี้ ที่เกิดขึ้นโดยแท้ มีดังนี้

  • จิตแห่งจริยธรรม คือ เขาเหล่านี้พยายามที่จะให้พ่อเเม่ผู้ปกครองเห็นถึงคุณค่าเเท้ของป่าชุมชน โดยเป็นหน้าที่ของทุกคนในชุมชนต้องอนุรักษ์ เป็นหูเป็นตาร่วมกัน ใช้ร่วมกัน
  • ความเอื้อเฟื้อต่อเพื่อมนุษย์ คือ เขาเหล่านี้พยายามจะสร้างการเรียนรู้ที่เเท้ แบ่งปันปัญหาบนฐานข้อมูล ให้กับน้องๆของเขาให้เห็นถึงคุณค่าเเท้เเละคุณค่าเทียมของการใช้ป่าชุมชน
  • สังคมอุดมปัญญาท่ามกลางสามัคคีธรรม คือ เขาเหล่านี้พยายามสร้างเครือข่ายการเรียนรู้เเละการทำงานของพวกเขาออกไปอย่างกว้างขวางเเละมีส่วนร่วม ทั้งนี้ต้องอาศัยพลังของเครือข่่ายเป็นหลักในการเอื้อให้เกิดการพัฒนาอย่างหลากหลายเเต่ต่อเนื่อง
  • คุณธรรมพื้นฐานปลูกฝังด้วยกระบวนการกลุ่ม คือ ครูพยายามฝึกใฟ้เขามีคุณธรรมพื้นฐาน ๘ ประการจากการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรง โดยข้าพเจ้าเชื่อว่าคุณธรรมพื้นฐานดังกล่าวถูกสอนโดยอย่างเเนบเนียน คือ ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย สภาพ สะอาด สามัคคี เเละมีน้ำใจ เมื่อเขาลงพื้นที่ได้คุยงานกัน ทำงานร่วมกันอย่างเเท้จริงเเล้ว คุณธรรมเหล่านี้จะเกิดขึ้นทั้งหมด เพียงประตุูบานเดียวที่สำคัญ คือ การเรียนรู้บนสภาพปัญหา(PBL)

แน่นอนว่าคุณธรรมนั้นเป็นผล เเต่เหตุนั้น คือ การที่เขาได้ลงมือทำเเละเรียนรู้ร่วมกัน นอกจากเขาจะกระตุ้นจิตสำนึกของชาวบ้านในชุมชนเเล้ว เขายังได้ปลดปล่อยจิตสำนึกเเห่งความดีงามของเขาออกมาอย่างไร้เงื่อนไข นี่ต่างหากเป็น "คุณธรรมที่เเท้" เป็นสิ่งที่เราพึงปรารถนาอยากให้เกิดกับเด็กทุกๆคน จิตสำนึกแห่งความดีงามเหล่านี้ จะทำให้เขาเป็นพลเมืองสำคัญของชาติในอนาคต


ด้วยรักจากพี่คนนึง
ธีระวุฒิ ศรีมังคละ (แสน)

หมายเลขบันทึก: 617169เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2016 10:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 ตุลาคม 2016 10:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ติดตามพี่แสนเสมอ เป็นกำลังใจให้ครับกับการทำสิ่งที่งดงามให้กับบ้านของเราครับ

ขอบคุณ อาจารย์ทิมดาบ ครับ
สบายดี ไหมครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท