ญี่ปุ่น...ความคิดถึงที่กรุ่นในใจเสมอ


เรื่องเล่าระหว่างทำงานของผม เมื่อปลายปี 2558 ผมเห็นเรื่องราวอื่นๆ นอกเหนือมิติสุขภาพ.......

“ต้อย” (นามสมมติ)

อายุ 56 ปี

แรงงานหญิง


ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่สวยงามและน่าท่องเที่ยวของผู้คนทั่วโลก ท่ามกลางความหลากหลาย ของฤดูกาลที่สวยสดงดงามชวนอภิรมย์ยิ่งนัก ชีวิตหญิงสาวคนหนึ่ง ที่มีโชคชะตา และวาสนานำพาให้ไปทำงานที่ญี่ปุ่นหลายปี นับเป็นประสบการณ์ชีวิตที่โชกโชนและน่าจดจำของ “ต้อย” ที่ไม่อาจลืมเลือนไปชั่วชีวิต

เมื่อต้อย เรียนจบ ปวท. ด้านบัญชี ในเวลานั้นเอง โรงงานน้ำตาลในอำเภอเพิ่งเริ่มกิจการ จึงได้สมัครงานและได้ทำงานที่นี้ ตั้งแต่อายุ 24 ปี ถึง 30 ปี ด้วยปัญหาหนี้สินของครอบครัว และเงินเดือนที่ได้รับไม่พอรายจ่าย ชีวิตของต้อยจึงเริ่มต้นก้าวสู่แดนกิโมโน “ถ้าจำไม่ผิด ตอนนั้น พ.ศ. 2535 เป็นปีที่พุ่มพวง ดวงจันทร์ ตายพอดี”

ในเมืองหลวงโตเกียว ญาติสายตรงที่มีศักดิ์เป็นป้าของต้อย มีสามีเป็นคนญี่ปุ่น และเปิดร้านสแน็คบาร์ (แหล่งขายบริการทางเพศ) และเป็นนายหน้าหาผู้หญิงไทยมาเข้ามาในบาร์ด้วย ส่วนใหญ่แล้วจะสมัครใจและรู้ว่าตนเองมาทำงานอะไร แต่ละคนจ่ายค่าหัวตอนนั้น คนละ 1 ล้านบาท นับว่า ในเวลานั้นเป็นเงินจำนวนมากมหาศาล แต่สำหรับต้อยแล้ว ป้าเห็นว่าหลานต้องใช้เงินมาก ๆ เพื่อจุนเจือครอบครัว จึงชักชวนมาอยู่ด้วย ให้มาทำงานดูแลทำความสะอาดของบาร์ ต้อยจึงตัดสินใจมา เพราะไม่ให้มาเพื่อขายตัว ต้อยเพียงจ่ายค่าเครื่องบิน 1 หมื่นกว่าบาทเท่านั้น มาในฐานะนักท่องเที่ยว

ต้อยทำงานภายในบาร์เกือบ 1 ปี ทำใจไม่ได้ที่เห็นผู้หญิงไทยบางคนถูกหลอกมาขายตัว หรือถึงสมัครใจขายตัว แต่ก็มีปัญหาขัดแย้งกับซาโจ้ (เถ้าแก่หรือมีศักดิ์เป็นลุงเขย) เช่น ไม่ยอมรับแขก ทะเลาะกับเพื่อน ๆ หรือหลบหนีจากบาร์ทั้งที่ยังใช้หนี้ไม่หมด ซาโจ้จะสั่งให้ยากูซ่ามาลงโทษ ตบตี และทรมาน ต้อยมีความสงสารและเห็นใจแต่ตนเองไม่สามารถทำอะไรได้ จึงขอป้าออกมา และด้วยความคุ้นเคยและได้ภาษาญี่ปุ่นบ้าง จึงเริ่มต้นไปสมัครงานด้วยตัวเอง

งานแรกหลังจากออกมาจากบาร์ ต้อยได้เดินทางจากโตเกียวมาเมืองคานาซาว่า ซึ่งไม่ไกลกันมากเลย ได้งานโรงงานพลาสติก เป็นอุปกรณ์ของโมเดลที่เป็นส่วนประกอบของของเล่นเด็ก ๆ ต้อยได้ค่าจ้าง ชั่วโมงละ 650 เยน และทำวันละ 8 ชั่วโมง “ตอนนั้น 100 เยน ประมาณ 20 บาท ทำงานวันหนึ่งได้เงิน 1 พันกว่าบาท ถ้าย้อนหลังไป 20 ปีกว่า ๆ ก็ได้เงินมาก แต่ค่าใช้จ่ายที่นี้ ก็แพงเป็นเงาตามตัวด้วย” ต้อยทำงานและพักในโรงงานเลย และที่โรงงานต้อยได้เจอกับชาติชายหนุ่มชาวอุดรธานี ด้วยความใกล้ชิดจึงทำให้ทั้งสองได้ตกลงเป็นสามีภรรยากัน ชาติมีวีซ่าญี่ปุ่น ถึง 5 ปี แต่สำหรับต้อยวีซ่าขาดอายุไปนานแล้ว ทำให้เกรงกลัวตำรวจจับ ต้อยจึงเปลี่ยนงานอีกครั้ง หลังจากที่ทำงานโรงงานพลาสติก ได้เกือบหนึ่งปี

ต้อยได้งานที่ร้านรับซื้อของเก่าในครอบครัวเล็ก ๆ เป็นงานคัดกรองแยกเหล็ก กระดาษ เครื่องแก้ว จาน ของที่ระลึก และขยะต่าง ๆ ซาโจ้ใจดีให้ต้อยและชาติมาพักในบ้านด้วย ได้ชั่วโมง 650 บาท เช่นเดิม แต่ต้อยทำเพียง 5 ชั่วโมง และอีก 2 ชั่วโมงครึ่ง ต้อยไปทำงานที่สนามกอล์ฟดูแลความสะอาดบริเวณทั่ว ๆ ไป และล้างห้องน้ำ ได้ค่าแรงมากขึ้น ถึงชั่วโมงละ 2,500 เยน ต้อยมีความสุขกับงานและเงินที่ได้รับ สามารถส่งเงินกลับบ้านมาให้แม่ที่เมืองไทยปลดหนี้ได้ ในระยะเวลา 8 ปีกับงานดังกล่าว เป็นช่วงที่ต้อยไม่ต้องกังวลกับการถูกจับของตำรวจ เพราะการทำตัวกลมกลืนกลายเป็นคนญี่ปุ่น และรู้ทางหนีทีไล่จากตำรวจ ทำให้รู้สึกปลอดภัย แต่เนื่องจากซาโจ้ทั้งสอง ได้เลิกกิจการทำให้ต้อยและชาติต้องหางานใหม่อีกครั้ง

ช่วงเวลานี้ ต้อยกับชาติต้องแยกกันทำงาน ชาติไปทำงานโรงกลึง ส่วนต้อยไปทำงานโรงงานราเม้ง เมื่อนับเวลาจนถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลา 16 ปีแล้ว ที่ต้อยทำงานโรงงานราเม้งตลอดมา ถึงแม้จะย้ายโรงงานมาแล้ว 2 ครั้ง และเงินค่าแรง ที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจุบันได้ชั่วโมงละ 850 เยน ต้อยทำงานวันละ 8 ชั่วโมง “ตอนนี้ 100 เยน ประมาณ 30 บาท ทำงานวันหนึ่งได้เงิน 2 พันกว่าบาท รวมต่อเดือนหกหมื่นกว่าบาท แต่ค่าครองชีพก็สูง เช่น ข้าวผัดกระเพรา จานละ 200-300 บาท ค่าเช่าบ้านตอนนี้ก็จ่ายเอง เดือนละ 20,000 บาท ต้องประหยัดสุด ๆ เพื่อเก็บเงินให้ได้มากที่สุด ตัวเองก็อายุมากแล้ว”

ซาโจ้ของโรงงานราเม้งที่ต้องทำงานอยู่ชอบแรงไทยมากกว่าแรงงานอุกันดา เปรู บราซิล เวียดนาม เพราะเป็นแรงงานไทยมีนิสัยขยัน อดทน ไม่อู้งาน และทำงานเรียบร้อย “เราอดทนขนาดไหน เพื่อนปวดปัสสาวะวันละหลายครั้ง ฝากงานให้คอยดูแล เราไม่ยอมเข้าห้องน้ำเลย ทำงานทุ่มเทมาก ๆ” แต่เนื่องจากต้อยไม่มีวีซ่า จึงถูกหัวหน้าแรงงานขู่เรียกเอาเงินบ้าง หรือให้ออกจากโรงงานบ้าง เมื่อถูกขอดูเอกสาร เพราะถ้าไล่คนออกได้ หัวหน้าแรงก็ได้ค่ารายหัวของแรงงานที่สมัครงานใหม่ แต่สำหรับโรงงานที่นี้ ต้อยอยู่เกือบ 10 ปี ซาโจ้เป็นคนใจดี และเห็นต้อยเป็นคนทำงานดี จึงไม่เคยไล่ต้อยออกจากโรงงานเลย

อย่างไรก็ตาม ต้อยก็ยังกลัวตำรวจ เพราะตัวเองผิดกฎหมาย จึงต้องคอยระวังตัวอย่างดี ถ้าวันใดมีงานเร่งด่วนต้องทำงานล่วงเวลา หรือซาโจ้สั่งงานเพิ่ม เลิกงานมืด ๆ ค่ำ ชาติจะนำรถจักรยานยนต์มารับ ทิ้งจักรยานที่ต้อยถีบมาไว้ที่นี้

แม้จะป้องกันตัวเป็นอย่างดี แต่ต้อยก็ประสบเหตุการณ์เลวร้ายที่ไม่สามารถลืมได้ชั่วชีวิต เย็นวันหนึ่งสิ้นเดือน ขณะที่ต้อยถีบจักรยานเดินทางกลับบ้านพัก มีรถเก๋งเก่า ๆ ปาดหน้าต้อย จนต้อยต้องหยุดรถจักรยาน มีผู้ชายข้างคนขับรถลงมา แล้วเอามีดมาจ่อที่ท้องต้อย และกระชากกระเป๋าพร้อมเงินเดือน 6 หมื่นกว่า และเอกสารทางราชการของเมืองไทยที่ติดตัวต้อยเป็นประจำไปด้วย เนื่องจากเป็นเวลาค่ำและฝนตกปรอย ๆ ต้อยร้องขอความช่วยเหลือจากใคร ๆ ไม่มีใครเลย เพราะไม่มีคนผ่านไปผ่านมา บนถนน ต้อยร้องไห้ฝ่าสายฝนกลับบ้าน เมื่อมาถึงบ้านปรึกษากับชาติ แต่ด้วยต้อยลักลอบเข้าญี่ปุ่น ไปแจ้งความกับตำรวจ ผลเสียที่คืนกลับมาหาต้อยจะมีมากกว่า จึงไม่ได้แจ้งความ เหตุการณ์นั้น ทำให้ต้อยทุกข์ทรมาน นอนไม่หลับไปหลายวัน

จนกระทั่งเมื่อปี 2554 ชาติได้ทำวีซ่าให้ต้อย และว่าจ้างชายสูงวัยญี่ปุ่นมาจดทะเบียนสมรสให้กับต้อย รวมถึงจ้างทนายดำเนินการด้วย เป็นเงิน 1 ล้านบาท ซึ่งเมื่อปี 2556 ชายสูงวัยญี่ปุ่นที่เป็นสามีตามกฎหมายของตายได้เสียชีวิตลง ต้อยรอเวลาให้ครบ 5 ปี จึงจะจดทะเบียนสมรสกับชาติได้ และสามารถใช้ชีวิตในฐานะคนญี่ปุ่นได้อย่างสมบูรณ์ รวมถึงการจ่ายเงินภาษีให้กับรัฐ เงินประกันสุขภาพในแต่ละปีเป็นเงินจำนวนมากเช่นกัน ในช่วงนี้จึงเป็นช่วงอยู่ตัว และมีความสุขของต้อย รวมถึงความภูมิใจของต้อย คือ การส่งเงินกลับมาบ้านทุกเดือน ซื้อที่ดินและสร้างบ้านให้แม่ ซื้อรถยนต์ไว้ให้พี่น้องพาแม่ไปเที่ยว

ต้อย ได้เดินทางกลับมาเมืองไทย เพราะทางครอบครัวอยากให้ต้อยมาดูแม่ที่เจ็บป่วยหนักในขณะนี้ ซึ่งต้องรอเวลาให้แม่หายและแข็งแรงดีก็จะกลับไปญี่ปุ่นเช่นเดิม เพราะตลอด 26 ปี ถ้านับเวลาแล้วถือว่า เป็นเวลายาวนานมากที่ต้อยอยู่ที่นั้น ผ่านเหตุการณ์และความเป็นอยู่ที่ทั้งสุข และทุกข์ จนคุ้นเคยประเทศญี่ปุ่นมากกว่าที่ประเทศไทย ถึงแม้บ้านยังมีแม่ และพี่น้องที่ต้อยยังห่วงใย และคิดถึง แต่ถ้ากลับมาอยู่บ้าน ต้อยไม่รู้ว่า ตนเองจะทำงานอะไร จะเริ่มต้นที่ตรงไหน และใช้ชีวิตต่อไปอย่างไร

******************

คำสำคัญ (Tags): #แรงงาน#ทิมดาบ
หมายเลขบันทึก: 617172เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2016 10:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 ตุลาคม 2016 10:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เพื่อนใหม่ คือ ของขวัญที่ให้กับตัวเอง

ส่วน

เพื่อนเก่า หรือ มิตร คือ อัญมณีที่นับวันจะ เพิ่มคุณค่า


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท