สวีเดน...เห็นบักแบร์เป็นเงินเป็นทอง


เรื่องเล่าระหว่างทำงานของผม เมื่อปลายปี 2558 ผมเห็นเรื่องราวอื่นๆ นอกเหนือมิติสุขภาพ....

“เชษฐ์” (นามสมมติ)

อายุ 28 ปี

แรงงานชาย


ในช่วงประเพณี “เข้าพรรษา” ระยะเวลา 10 ปีมานี้ นับเป็นกระแสของแรงงานในหมู่บ้าน ที่นิยมสวีเดน และฟินแลนด์ ไปเก็บผลไม้หรือหมากไม้ (บักไม้) ซึ่งแรงงานไปเก็บนั้นนิยมเรียกว่า “บักแบร์” หรือ ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่

ระยะเวลาเพียงไม่ถึง 3 เดือน คือ ประมาณกลางเดือนกรกฎาคม ถึงต้นเดือนตุลาคมของทุกปี แต่แรงงานก็สามารถหอบเงินกลับมามากมายทุกคน คนละสองสามแสนบาท หรือมากกว่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม ก็ได้ยินข่าวว่า แรงงานในหมู่บ้านโดนหลอกลวงในการจ่ายเงินไปแล้วแต่ไม่ได้ขึ้นเครื่องบิน และเมื่อมาถึงป่าเมืองหนาวแล้ว กลับไม่มีบักแบร์ให้เก็บ ทำให้แรงงานติดหนี้ธนาคารบ้าง หรือหนี้นอกระบบ ซึ่งการเดินทางของพวกเขาก็ไม่ต่างไปจากวิธีการเสี่ยงโชคโยนหัวก้อย คือมันเป็นไปได้สองทางเลือก คือ “ความเฮง หรือ ความซวย”

แรงงานที่ไปเก็บบักแบร์ครั้งแรกในทุกๆ คน จะมีเครือข่ายในการเดินทาง ซึ่งทั้งหมดจะเป็นญาติสนิท สนมกัน และนิยมเป็นคู่ๆ แบบสองผัวเมีย หรือแบบญาติพี่น้องที่เป็นผู้ชาย ผู้หญิงจะมีส่วนน้อย และไปรวมกันให้ครบ 4 คู่ หรือ 8 คน เพราะในห้องพักห้องหนึ่งๆ ในประเทศสวีเดน จะพักได้ห้องละ 8 คน

เชษฐ์” ชายหนุ่ม เล่าว่า “ผมไปตอนแรกปีแรก หลานที่อยู่อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ และน้องชายของเมียชักชวนกันไป จึงไปสมัครที่บริษัทสินซันชายที่เขาออกมาแนะนำ มีคนไปสมัครมากมาย และเขาทำกันมาหลายรุ่น ผมจึงมั่นใจว่าไม่ถูกหลอกเหมือนข่าว ผมตื่นเต้นมาก เพราะต่างคนต่างไม่เคยไป ไปครั้งแรกกันเลย ผมไป 4 คู่ 8 คน มีแต่พี่ๆ น้องๆ”

สำหรับการใช้จ่ายในการเดินทางไปสวีเดนนั้น เชษฐ์เล่าว่า “ผมเสียค่าใช้จ่ายทั้งหมดในเมืองไทย ประมาณแล้ว 75,000 บาท และในระยะเวลาเก็บบักแบร์ ผมต้องจ่ายค่าใช้จ่ายค่าที่พัก ค่าอาหาร และค่ารถในการเดินทางไปเก็บบักแบร์ตามที่ต่าง ๆ ซึ่งตรงแคมป์ที่ผมอยู่ เขาจะหักเงินจากการผมเก็บบักแบร์ได้ ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้รามแล้ว ประมาณ 35,000 บาท รวม ๆ ค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้วอยู่ที่ 100,000 กว่าบาท”

เงินก้อนโต ๆ ที่ต้องจ่ายไปนั้น ทำให้เชษฐ์หนักใจพอสมควร เพราะตั้งแต่เกิดมา ไม่เคยมีครั้งไหนในชีวิตที่ต้องจ่ายเงินเป็นก้อนใหญ่ ๆ เลย ซึ่งเงินจำนวนนี้ เชษฐ์ต้องเอาที่นาของตนเองที่พ่อและแม่ให้มา ในการสร้างฐานะ มาค้ำประกันกับธนาคาร ซึ่งถ้าตนเองพลาด อาจทำให้ชีวิตพังทลาย ไม่ใช่เพียงตนเองเท่านั้น แต่รวมถึงภรรยา และลูกน้อยที่รอคอยในเมืองไทย

จากเดิมที่ตนเองไม่เคยยุ่งเกี่ยวและข้องแวะกับใคร ๆ ในหมู่บ้านมากนั้น แต่เมื่อต้องไปสวีเดน จึงต้องออกสอบถามคนในหมู่บ้านที่เคยเดินทางไปแล้วว่า ต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง การเป็นอยู่ที่นั้นเป็นอย่างไร ต้องปรับตัวอะไรบ้าง การเตรียมอุปกรณ์ รวมถึงวิธีการเก็บบักแบร์ซึ่งเป็นสิ่งที่ตนเองไม่คุ้นเคย “มีใครหลายคนว่า ถ้าไปปีแรก ๆ อาจจะได้เงินไม่มากนัก เมื่อหักล้างหนี้ เพราะไปใหม่ ๆ ต้องปรับตัวหลายอย่างอากาศ ความเป็นอยู่ ประสบการณ์ในการเก็บหมากไม้ แต่ผมคิดว่า ผมจะทำให้เต็มที่มากที่สุด อย่างน้อยก็ขอให้เอาเงินต้นและเงินดอกมาคืนธนาคารให้ได้”

เมื่อมาถึงสวีเดน เชษฐ์เล่าว่า มันเหมือนความฝันที่ได้เดินทางมาถึงอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งอากาศหนาวเย็นมาก ๆ ฝนโปรยปรายทั้ง ๆ ที่อากาศหนาวเย็น จะไม่มีปี่มีขลุ่ย พระอาทิตย์เกือบจะไม่หลับนอน ช่วงเวลากลางวันจะยาวนานกว่าเมืองไทย นึกในใจตอนแรก ๆ นึกว่า จะได้เห็นฝรั่งเดินไปเดินมา หรือเห็นตึกรามบ้านช่อง แต่ที่ไหนเลย กลับเป็นที่ห่างไกลเมืองมาก ๆ มองไปทางไหนเห็นแต่ต้นไม้ และภูเขา รวมถึงแรงงานไทยที่มีจำนวนมากมาย โดย แรงงานต้องกระจายกันออกไปอยู่ตามแค้มป์ต่าง ๆ ซึ่งเพื่อนแรงงานที่เคยไปก่อนนั้น บอกว่า “เป็นโรงเรียนเก่า”

เชษฐ์โชคดีที่แค้มป์ที่อยู่มีความสะดวกสบาย และมีน้ำประปาและไฟฟ้าให้ใช้ แต่สิ่งเหล่านั้น แทบไม่สลักสำคัญเลย เพราะตนเองและเพื่อน ๆ ใช้เวลาในการอยู่ในแค้มป์น้อยมาก “ทุกคนจะตื่นตั้งแต่ตี 4 เพื่อออกเดินทางเข้าป่าและเก็บเกี่ยวผลเบอร์รี่ให้ได้มากที่สุด ข้าวเช้าจะกินกันแบบเร่งรีบ เช่น ไข่ต้ม ไข่เจียว ไข่ดาว ที่แม่บ้านคนไทย ทำไว้ให้ และแม่บ้านจะห่อข้าวกลางวันที่นำไปรับประทาน ส่วนใหญ่ก็เป็นขนมปัง ข้าวไข่ต้ม กว่าจะได้กลับแค้มป์ก็ในช่วงค่ำถึงดึก ประมาณ 4-5 ทุ่ม แต่ยังเห็นพระอาทิตย์อยู่เลย แม้เวลาอยู่จะสั้น ๆ แต่ก็อดคิดบ้านไม่ได้ แต่ผมต้องตั้งใจทำงาน แม้กระทั่งเวลาป่วยผมก็จะไม่หยุดพัก เพราะต้องการเก็บบักแบร์แลกเงิน และนายหน้าไม่ได้ใจดีอย่างที่คิด คือเขาก็ไม่อยากให้เราหยุด เขาก็ต้องทำเป้าของแค้มป์เขาเช่นกัน”

บรรยากาศในการเดินทางไปเก็บหมากไม้นั้น เป็นเช่นเดียวกันเหมือนที่เชษฐ์ไถ่ถามคนในหมู่บ้านมา คือ จะนั่งรถตู้เล็กและเก่า ๆ ไปกัน 8 คน นับคนขับรถด้วย และการเดินทางต้องเดินทางไกลมาก ๆ เพราะต้องไปต้องจำภูเขาแต่ละลูกให้ได้ ว่าภูเขาลูกไหนเคยมีหมากไม้จำนวนมาก ๆ และมีผู้คนที่ยังไม่ไปเก็บด้วยเช่นกัน ซึ่งถ้ามีผู้มีประสบการณ์มาเก็บหลายปี นั่งอยู่ในรถตู้ด้วยแล้ว จะทำให้มีโอกาสเก็บหมากไม้ในแต่ละวันจำนวนมากเช่น “นั่งรถไกลมาก ไกลน้อยสุดประมาณเกือบชั่วโมงหรือประมาณ 50-60 กิโล แต่ไกลสุดประมาณไปจากบ้านเรา (อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ) ไปจังหวัดสกลนคร ขึ้นลงภูขึ้นเขา ประมาณ “เตางอย นั่งจนปวดหลังประมาณ 3-4 ชั่วโมง”

“ภายในรถตู้ จะมีที่ตักบักแบร์ที่เรา (แบบเหล็ก) เตรียมไป หรือแบบที่ฝรั่งจัดให้ (แบบไม้) มีถุงปุ๋ยที่มีหูรัด มีถาดเก็บผลไม้ ในรถมีแอร์อุ่น เพราะอากาศข้างนอกหนาวมาก ถึงจะเป็นหน้าแล้งของเขา ซึ่งช่วงที่ไปเก็บจะเป็น “หน้าแล้ง” ของเขา ไม่มีหิมะ แต่อากาศหนาวเย็นมาก ตลอดทั้งวัน ฝนจะตกบ่อย เกือบทุกวันก็ว่าได้ คิดถึงบ้านมาก โดยเฉพาะเวลาฝนตก” ช่วงที่ฝนตกแทบไม่เว้นวัน ทำให้เชษฐ์เข้าใจดีถึงความลำบากเลือดเข้าตา ของบรรดาคนเก็บแบร์ที่ต้องขึ้นเขาหลาย ๆ ลูกบุกฟ้าฝนไปเก็บ ตอนกลับลงมาก็ต้องแบกลงมา ล้มลุกคลุกคลานเจ็บไปทั้งตัว

“บักแบร์” ในภาพความคิดแรก ๆ ของเชษฐ์ ทำให้เรียกเสียงหัวเราะของตนเองได้อย่างมากมาย “ ผมไม่รู้อะไรเลย ไม่เคยเห็นภาพบักแบร์ นึกว่าจะเก็บบนต้นลูกใหญ่เท่าลูกแอปเปิ้ล ” แต่เมื่อไปเห็นของจริงแล้ว ทำให้เห็นว่า บักแบร์ เป็นไม้พุ่มเตี้ยติดพื้น ที่จะพากันฟื้นตัวเมื่อน้ำแข็งละลาย และจะค่อยๆ ออกผลให้เก็บได้ตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคมจนถึงต้นเดือนตุลาคมของทุกปี “ จะดกเป็นทีๆ ไปกันแปดคน ป่าไหนมีมากก็จะสามารถเก็บได้หมดภายใน 2-5 วัน ส่วนมากจะหมดภายในหนึ่งวันหรือไม่กี่ชั่วโมง อันนี้แล้วแต่โชคเข้าข้าง ปีที่แล้วภูเขาลูกนี้มีบักแบร์เยอะ แต่ปีนี้อาจจะมีน้อยหรือไม่มีเลย หรือไปด้วยกัน บางคนเก็บได้เยอะ แต่บางคนเก็บได้น้อย เหมือนเราไปเก็บหน่อไม้ ตาของคนไม่เหมือนกัน”

การมาเก็บแบร์ ไม่ต่างไปจากชีวิตชาวนา ปีไหนฝนดีก็ได้ผลผลิตดี ชาวนาก็ได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ หมากไม้จะมีจำนวนมากหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับ ฝนฟ้าอากาศ หนาวมากไปดอกก็ร่วง ฝนตกมากไปก็ไม่มีผล แห้งเกินหรือฝนตกไม่ถูกช่วง เชษฐ์สรุปให้ฟังว่า “คงเหมือนดินฟ้าอากาศที่เปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกับเมืองไทยบ้านเรา”

เชษฐ์เล่าถึงรายได้ที่ได้รับจากการกลับจากสวีเดนมา “ผมไปประมาณเกือบสามเดือนหักลบกลบหนี้แล้ว ผมเหลือเงินประมาณ 50,000 บาท พยายามอย่างเต็มที่แล้วนะ อาจเพราะไปครั้งแรกเหมือนคนอื่น ๆ ว่าไว้ เพราะบางคนได้ถึงเกือบ 400,000 บาท เขาเก่งและโชคดีมาก ๆ สำหรับเงินก้อนนี้ ถึงแม้ได้เพียงเท่านี้ แต่ผมก็คิดว่า ได้มากแล้ว ถ้าทำงานอยู่บ้านเราคงไม่ได้เงินก้อนแบบนี้ ไม่มีงานไหนที่ทำสบายแล้วรายได้ดี ผมก็เครียดเหมือนกัน ที่ต้องเก็บบักแบร์ไปคิดถึงเรื่องเงินไป แต่อย่างน้อยก็ได้ประสบการณ์ ผมคิดว่า ผมจะไปอีกปีหน้า เพราะไป 3 เดือนเอง ไปไม่นานเลย แต่ตอนนั้นก็เหงาและคิดถึงบ้าน และ แล้วก็ได้กลับบ้านมาอยู่กับครอบครัว พอนาน ๆ เจอกันก็มีความรู้สึกดี ๆ อีกแบบ ปีหน้าคงได้เงินมากกว่านี้”

*********************

คำสำคัญ (Tags): #แรงงาน#ทิมดาบ
หมายเลขบันทึก: 617166เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2016 10:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 ตุลาคม 2016 10:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท