สวีเดน...บ้านหลังที่สอง


เรื่องเล่าระหว่างทำงานของผม เมื่อปลายปี 2558 ผมเห็นเรื่องราวอื่นๆ นอกเหนือมิติสุขภาพ....

“ขาว” (นามสมมติ)

อายุ 61 ปี

แรงงานหญิง


“ก่อนอื่น ขอเรียกตัวเองว่า “แม่” ก็แล้วกันนะ เพราะเพิ่งได้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุมา แม่ไปเก็บหมากไม้ “บักแบร์” ยุคแรก ๆ เลย ถ้านับอีกสามเดือนที่แม่จะไปอีกครั้ง เป็นปีที่ 21 ไปตอนแรก ๆ ก็ลำบากหน่อย ต่อมาก็สบาย และได้กำไรพอสมควร สามารถส่งลูกสาวคนโตเป็นพยาบาล ซึ่งแม่ภูมิใจมาก ต่อมาลูกสาวคนสุดท้อง ไม่ชอบเรียนหนังสือ อยากไปเก็บด้วย ก็ได้สามีเป็นคนสวีเดน มีครอบครัวและหลาน ๆ ที่นั้น แม่ยิ่งสบายใหญ่เลย ไปสวีเดนเหมือนกลับไปบ้านตนเอง กลับไปหาลูกและหลาน และเก็บบักแบร์ได้เงินกลับมาบ้านอีก ”

แม่ขาวเริ่มต้นการพูดคุยด้วยสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส เหมือนมีความสุขมากมายเมื่อเล่าถึงชีวิตแรงงานในสวีเดน แต่จริง ๆ แล้ว ช่วงเริ่มต้นไปประเทศสวีเดนก็ลำบากไม่น้อย เพราะความไม่คุ้นเคย ความแปลกใหม่ และความกลัวกับสิ่งที่ไม่สามารถคาดเดาได้

“ย้อนไป 20 ปี ที่ผ่านมา ถ้าทบทวนดูยาวนานมาก ๆ แต่เหมือนเพิ่งเกิดขึ้น ผ่านความทุกข์และลำบากมาสมควร ตอนนั้นญาติสนิทมาชวนไปเก็บบักแบร์ที่สวีเดน เขาบอกว่า ได้เงินดีนะ เขาเปิดตลาดใหม่ คนขอนแก่นก็เริ่มไปกัน ตอนนั้นพ่อและแม่เลยคิดกันว่า ทำนาได้แต่ข้าวกิน เงินไม่มีเลย ลูกสาว 2 คน กำลังเรียนหนังสือ เลยคิดว่า น่าจะดีตามที่ญาติเขาบอก เลยตอบตกลงไป เพราะเชื่อใจ เขาก็ไปกันเป็นครอบครัวเหมือนกัน”

ก่อนเดินทางไปสวีเดนไม่กี่วัน มีเพียงสิ่งเดียวที่แม่ขาวเตรียมอย่างดี คือ เตรียมใจ แต่อย่างอื่นไม่ได้เตรียมตัวอะไรเลย เตรียมเพียงแต่เสื้อหนา เพราะอากาศหนาวเย็น ส่วนสิ่งของส่วนตัวหรือใช้ในการเก็บหมากไม้ เขาบอกว่า ที่นั้นมีให้อยู่แล้ว แต่มีสิ่งหนึ่งที่สร้างความสงสัยในใจของแม่ขาว

“แม่ถามญาติคนที่มาชวนว่า ทำไมคนสวีเดนเขาไม่เก็บบักแบร์เอง ทั้งที่เขาบอกว่า มีราคาดี ได้เงินดี ทำไมต้องให้พวกเรา คนไทยไปเก็บด้วย ญาติคนนั้น ตอบว่า คนสวีเดนเขาก็เก็บอยู่ แต่เก็บมากินเท่านั้น แต่ก่อนก็ปล่อยให้มันร่วงเต็มพื้นอย่างนั้น เพราะเขาก็มีงานอย่างอื่นทำ เพราะการเก็บบักแบร์ต้องเดินทางไปที่ต่าง ๆ ตามป่าสน ตามภูเขาบ้าง อากาศก็หนาว ให้แรงงานต่างชาติมาเก็บดีกว่า”

คำตอบของญาติทำให้แม่ขาวต้องเตรียมใจมากขึ้นกว่าเดิม เพราะตนเองไม่ชอบอากาศหนาวเลย และช่วงที่ไปเก็บเป็นช่วงฤดูหนาว และมีฝนตกด้วย เงินค่าหัวก็จ่ายไปแล้วคนละ 40,000 กว่าบาท โดยแม่ขาวและพ่อ เอาที่นาไปจำนองและกู้เงินกับเศรษฐีในตลาด ได้เงินมาหนึ่งแสน ใช้หมดพอดี เพราะต้องเอาเงินไว้ให้ยายหรือแม่ของแม่ขาว ไว้จ่ายใช้ และเลี้ยงดูลูก ๆ ตอนไม่อยู่ช่วง 3 เดือน ที่ไปสวีเดน

บรรยากาศเมื่อไปถึงสวีเดน เหมือนกับแรงงานที่ไปเช่นปัจจุบันนี้ คือ พักอยู่ในแคมป์นอกตัวเมือง ห้องหนึ่ง ๆ พักกันประมาณ 8-10 คน แคมป์ส่วนใหญ่จะแยกชาย-หญิง แต่แม่ขาวโชคดี ที่ได้พักกับพ่อ และญาติ ๆ ด้วยกันที่พักกันเป็นคู่ ๆ การทำงานก็เช่นเดียวกัน ต้องทำงานแข่งกับเวลา เพราะต้องทำงานเอาเงินที่เราจ่ายไปคืนกลับมาให้ได้มากที่สุด เพราะนอกจากเสียค่าหัวแล้ว ยังมีค่าที่พัก ค่าอาหาร และค่ารถ ถ้าตอนนั้น เมื่อ 20 ปีก่อน ก็เกือบ 70,000 บาท

แม่ขาวตื่นนอนตั้งแต่ตีสามกว่า ๆ ตีสี่ต้องออกจากแคมป์กันแล้ว เดินทางด้วยรถตู้คันเล็ก ๆ รวมคนขับแล้ว 8 คน คนขับรถก็เป็นคนไทย และเคยมาแล้ว เขาจะขับรถพาพวกเราไปตามภูเขาต่าง ๆ ต้องมีการวางแผนด้วยว่า ที่ไหนที่เราไปแล้ว ที่ไหนยังไม่มีคนไป ทำให้คนขับรถมีความสำคัญ จึงไม่ต้องแชร์ค่ารถ และค่าน้ำมัน เมื่อไปถึงก็เริ่มต้นเก็บหมากไม้กัน ตอนแรกแม่ขาวมีความตื่นอกตื่นใจ เพราะไม่เคยเจอมาก่อน แม่ถึงกลับอุทานว่า “สะออนหลาย ลูกดกสีแดงแปร๊ด เต็มต้น” อากาศหนาวเย็น แต่ก็ต้องเร่งเก็บให้ได้มากที่สุด เวลาผ่านไปไม่รู้ตัว เพราะพระอาทิตย์จะไม่ตกจากฟ้า กว่าจะกลับแค้มป์กันเวลาล่วงเลย 4-5 ทุ่ม ต้องรอคิวชั่งหมากไม้ก่อน กลับมาห้องแทบไม่ได้คุย หรือได้คิดถึงอะไรเลย ต้องรีบนอน

แม่ขาวแอบได้ยินพวกผู้ชายบ่นว่า “ผู้หญิงเป็นตัวถ่วง ชักช้า อืดอาด เพราะต้องคอยห่วงอันตรายต่าง ๆ และต้องคอยยกถุงที่เต็มไปด้วยหมากไม้ เพราะผู้หญิงยกของหนักไม่ได้” แต่ช่วงสุดท้ายก็ใจชื่นขึ้นมาบ้าง “ถ้าไม่มีเมียมาด้วย ทิ้งอยู่บ้าน ก็ห่วงเขาอีกนั้นแหละ”

ปีแรกที่ไปแม่ขาวได้เงินที่หักรายจ่ายทั้งหมดไม่ถึงหมื่น ส่วนสามีได้ 20,000 กว่าบาท แม่ขาวคิดว่า ถึงได้เงินน้อย ถ้าคิดเวลาแล้วรวม 3 เดือน เป็นช่วงเข้าพรรษาพอดี แต่ก็ได้ประสบการณ์และการเรียนรู้ว่า ถ้าไปครั้งหน้า หรือปีหน้าต้องทำอย่างไร ที่จะได้เงินมาก ๆ

การคาดการณ์ของแม่ขาว ก็เป็นจริง ในช่วงปีที่ 2 – ปีที่ 7 การเก็บหมากไม้ได้สร้างเงินให้แม่ขาว ไม่ต่ำกว่า ปีละ 50,000 บาท และสามีของแม่ขาวก็ ไม่ต่ำกว่า ปีละ 80,000 บาท ซึ่งสร้างแรงบันดาลใจให้เพื่อนบ้านในหมู่บ้านต่างมีความต้องการไปเก็บหมากไม้มากมายขึ้น

ชีวิตของแม่ขาวและสามี ต่างรอคอยฤดูกาลไปสวีเดน ช่วงก่อนไปก็ดำนา ไปเก็บหมากไม้มาก็เกี่ยวข้าวตัวเอง และรับจ้างตัดอ้อยเป็นงานอดิเรก ทำให้สามารถส่งเสียลูกสาวคนโตที่ขยันเรียนหนังสือจนได้เป็นพยาบาล ซึ่งสร้างความภูมิใจให้แม่ขาวมาก ๆ เพราะชาวบ้านคนหนึ่งสามารถสนับสนุนลูกได้เป็นข้าราชการ

เมื่อเวลากลับมาจากสวีเดนในปีที่ 7 สามีของแม่ขาวเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอด ทำให้ชีวิตแม่ขาวเคว้งคว้าง ไม่รู้ว่าจะเดินทางไปอย่างไรดี กับภาระของครอบครัว ถึงแม่ลูกสาวคนโตที่เป็นพยาบาล อายุ 24 ปี แต่ก็ยังไม่มีฐานะหลักฐานให้ลูก ลูกสาวอีกคน อายุ 20 ปี เรียนจบชั้นมัธยมฯ 6 ไม่ชอบเรียนหนังสือ จึงไม่เรียนต่อ ทำให้แม่ขาวตัดสินใจพาลูกสาวคนสุดท้องไปเก็บหมากไม้ที่สวีเดนด้วยกัน

จากประสบการณ์ที่แม่ขาวไปมาหลายครั้ง ทำให้สามารถบอกต่อกับลูกสาว และได้รับเงินไม่ต่างจากแม่ขาวเลย ต่อจากนั้นมา แม่ขาวและลูกสาวก็ไปสวีเดนทุกปี

จนกระทั่งปีที่ 10 และเป็นปีที่ 3 ของลูกสาว ลูกสาวไม่ได้เดินทางกลับเมืองไทยกับแม่ขาว เพราะลูกสาวได้แต่งงานกับคนสวีเดนที่ทำงานชั่งหมากไม้ในแคมป์ ลูกเขยก็มีงานทำที่มั่นคง และมีบ้านพักเป็นของตัวเอง ทำให้แม่ขาวอุ่นใจและภูมิใจที่สนับสนุนให้ลูกสาวได้เป็นฝั่งเป็นฝา และเป็นผู้ใหญ่

ตั้งแต่นั้นมา แม่ขาว จะไปสวีเดนทุกปี เหมือนกลับไปบ้านหลังที่สอง เพราะที่นั้น มีลูกสาวลูกเขย และหลานอีก 2 คน นำความรักและความคิดถึงไปเยี่ยมลูก ๆ และหลาน ๆ บางปีพวกเราก็กลับมาพร้อมกับแม่ขาวที่เมืองไทย แม่ขาวยืนยันว่า จะไปเก็บหมากไม้จนกว่าสังขารจะไม่ไหว เพราะแม่ขาวสามารถได้เงินกลับบ้านในตอนนี้ ปีหนึ่ง ๆ ไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท ค่านายหน้าไม่ได้เสีย เพราะเดินทางไปเอง ค่าที่พักก็พักบ้านลูกสาว ค่ารถและน้ำมัน ลูกสาวก็จ่ายให้ เพราะลูกสาวก็ไปเก็บเช่นกัน และลูกสาวรู้ว่าแหล่งว่า ที่ใดที่ให้ราคาหมากไม้ดีก็นำไปขายให้ เหมือนไปขาย “อ้อยเงินสด” ที่บ้านของเรา

“แม่มีความสุขมาก ๆ ถ้าพ่อของลูก ๆ ได้อยู่ด้วยเขาคงมีความสุขเช่นกัน แม่บอกไม่ได้ว่า รักพ่อมากไหม จึงไม่ได้แต่งงานใหม่ แต่รู้ว่า อยู่แบบนี้มีความสุขมากแล้ว กับ 9 เดือน แม่อยู่กับลูกที่เป็นพยาบาล แม่ เขา และลูกเขยก็ซื้อที่นาที่ไร่ สร้างบ้านใหม่ อยากกินอะไรก็กิน เขาไม่มีลูกนะ แต่งงานมานานแล้ว แม่ชวนไปหาน้องไม่ค่อยมีเวลาขึ้นแต่เวร อีก 3 เดือน ก็กลับบ้านอีกหลังไปหาลูก ๆ และหลาน ๆ ที่สวีเดน ไปเก็บบักแบร์ ได้ทำอาหารให้ลูก ๆ หลาน ๆ กิน หลาน ๆ เขาชอบไข่ที่แม่เจียว ส่วนลูกสาว ลูกเขย ชอบแกงเห็ดน้ำผึ้ง ที่ไปเก็บบักแบร์แล้วเก็บเห็ดด้วย แม่เตรียมเครื่องปรุง ตำพริกเมี่ยง ปลาร้าผงจากเมืองไทยไป ลูกสาวและลูกเขยชมว่าอร่อยมาก ๆ”

แม่ขาวทิ้งท้ายกับเรื่องราวชีวิตและการทำงานอย่างมีความสุข ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า คนไทยมีความขยัน อดทน และพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาในชีวิต สามารถประยุกต์ความเปลี่ยนแปลงนั้นให้กลับกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของตนเอง และชีวิตของแม่เป็นตัวอย่างหนึ่งของ “งานบันดาลใจ”

*********************

คำสำคัญ (Tags): #ทิมดาบ#แรงงาน
หมายเลขบันทึก: 617170เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2016 10:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 ตุลาคม 2016 10:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท