จ้างตัวเองมาลำบาก...ที่ฟินแลนด์


เรื่องเล่าระหว่างทำงานของผม เมื่อปลายปี 2558 ผมเห็นเรื่องราวอื่นๆ นอกเหนือมิติสุขภาพ....

“หนุ่ม” (นามสมมติ)

อายุ 42 ปี

แรงงานชาย


กระแสเก็บบักแบร์ของแรงงานไทยในฟินแลนด์ เริ่มต้นจากคนไทยที่เดินทางไปเยี่ยมญาติที่อาศัยอยู่ในประเทศนั้น ๆ แล้วหารายได้พิเศษด้วยการเข้าป่าหาผลเบอร์รี่เก็บเอามาขาย ทำให้ตลาดมีความต้องการมาก และการเก็บเบอร์รี่สามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ เมื่อมีการบอกปากต่อปาก คนในชุมชนจึงเกิดความต้องการที่จะบินไปเก็บเบอร์รี่ ไม่พ้นแม้กระทั่ง “หนุ่ม” เช่นกัน

หนุ่มจ่ายค่าหัวให้กับนายหน้า เป็นเงินจำนวน 75,000 บาท ก่อนที่จะโบยบินสู่ประเทศฟินแลนด์ พร้อมกับคนในหมู่บ้าน 5 คน พอไปถึงแคมป์ มีคนมากมาย และส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่มาจากทั่วทุกภาคของประเทศไทย รวมแล้วมีประมาณ 100 คน

หนุ่มเล่าถึงสัญญาจ้างงานจะระบุระยะเวลา เงินเดือน และชั่วโมงการทำงานสัปดาห์ละอย่างน้อย 40 ชั่วโมง โดยคนงานต้องจ่ายค่ารถและค่าน้ำมันในการเดินทางไปเก็บหมากไม้ และค่าอยู่กินด้วยตัวเอง นอกเหนือจากจ่ายค่านายหน้ามาแล้ว จำนวน 75,000 บาท ต้องจ่ายเพิ่มส่วนนี้จากการหักจากรายได้จากการเก็บหมากไม้ รวมแล้ว จำนวน 100,000 บาท

เมื่อหนุ่มลบบวกคูณหารในใจแล้ว ถ้าหากเก็บหมากไม้แล้วอยากได้เงินแสนกลับบ้าน ต้องเก็บได้อย่างน้อยๆ 30-40 กิโลกรัมต่อวัน “ผมต้องออกไปเก็บบักแบร์ทุกวัน ซึ่งเวลา 3 เดือนที่ไป ไม่ไปเก็บเพียง แค่ 2-3 วันเอง เพราะสภาพร่างกายไม่ไหวจริง ๆ และแม้แต่ฝนจะตก น้ำจะท่วม เป็นไข้ไม่สบายก็ต้องไปเก็บ เพราะอย่างนั้น ผมต้องขาดทุน ไม่ได้เงินกลับบ้านเลย”

“เราจ้างตัวเองมาลำบาก ก็เครียดกันทุกคนละครับ กลัวไม่ลุหนี้ (หมดหนี้) ผมต้องให้กำลังใจบอกเพื่อนๆ ให้ขยัน ให้อดทน แม้ขึ้นภูเขาบางครั้งเจอบักแบร์ลูกเดียวก็ต้องเก็บ เพราะมันคือเงิน”

ด้วยสภาพการทำงานที่หฤโหด อยู่ด้วยความตึงเครียด และกดดันสูง นอกจากคนไทยแล้ว คงไม่มีใครยอมเก็บเบอร์รี่แบบถวายชีวิตเช่นคนไทย

“วิธีการเก็บ พวกเราจะเห็นว่าลูกมันอยู่ติดพื้นดินเลย การเก็บบักแบร์นั้นหนักยิ่งกว่าทำนาอีก ต้องก้มทั้งวันยังไม่พอ ต้องปีนเขาเก่งด้วย และมีข้อห้ามของบริษัท ห้ามนอนป่า ห้ามค้างคืน ต้องกลับแค้มป์ทุกวัน เพราะอากาศตอนกลางคืนหนาวเย็นมากๆ อาจตายได้”

ยิ่งในวันใด ถ้ายังเก็บไม่ได้มาก ทุกคนก็จะเครียดกันมาก หนุ่มบอกว่า “ไม่มีเวลาดูความสวยงามอะไรเลย นอกจากเห็นบักแบร์เงินเท่านั้น” หนุ่มกับชีวิตในประเทศฟินแลนด์ ชั่วระยะเวลาเกือบ 3 เดือน ลำบากลำบนมาก ๆ เพราะต้องทำงานตั้งแต่ตีสามตีสี่ จนถึงสี่ห้าทุ่มเกือบทุกวัน บางคนไม่หลับไม่นอนกันเอาเลย นอนแค่ 2 ชั่วโมงก็มี อาหารการกิน ไม่มีรสชาติ อาหารซ้ำ ๆ เดิม ๆ คือ ไข่เจียว ไข่ทอด ไข่ต้ม น่องไก่ทอด อาศัยเหยาะพริกน้ำปลาไปเยอะๆ ก็กินกันได้ คอยเตือนตัวเองว่าเรามาทำงาน ไม่ได้มากิน ต้องอดทนเอา เรื่องอาหารเป็นปัญหามากเช่นกัน ทั้งเรื่องกินไม่เป็นเวลา กินแบบเร่งรีบ กว่าจะได้กินข้าว อาหารก็เย็นชืดไม่น่ากินแล้ว ซึ่งหนุ่มตอกย้ำกับความเป็นอยู่แบบนี้บ่อย ๆ ว่า “เราจ้างตัวเองมาลำบากแท้ ๆ”

หนุ่มคิดทบทวนว่า คนหมู่บ้านเดียวกับเรา แม้จะเป็นญาติ และเพื่อนสนิท แต่เมื่อพบหมากไม้มาก ๆ จะไม่บอกเพื่อนๆ เพราะกลัวเพื่อนจะมาแย่งเก็บ “การเก็บต้องมีไหวพริบด้วยนะครับ..ต้องสังเกตดูให้ดี มือเก็บ...ตาเหลียวมอง...การเจอแหล่งเบอร์รี่ป่าและเห็ดดก ถือเป็นความลับ” จึงไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดใดที่จะเกิดการไม่กินเส้นกัน กลั่นแกล้งกัน ระหว่างคนในหมู่บ้านเดียวกัน เพราะความเห็นแก่ตัว

แต่ในมุมกลับกันของหนุ่ม พบว่า การไม่หวง หรือการบอกให้เพื่อนๆ รู้แหล่งหมากไม้ จะทำให้มิตรภาพ เกิดขึ้นอย่างยาวนาน และส่งผลให้เกิดการปันกันในอนาคต “การเรียนรู้ ไม่เห็นแก่ตัว รักกันคนบ้านเดียวกัน จะช่วยเหลือกัน และพึ่งพากันได้ แม้ในยามอยู่ที่นี้ และกลับมาถึงบ้านเราแล้ว ”

ชีวิตของคนเราต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดเสมอ หนุ่มเช่นกัน ที่แอบไม่ซื่อสัตย์กับนายจ้างในแคมป์ “วันไหนผมเก็บได้เยอะ ส่วนที่เก็บได้เฉลี่ยแต่ละวัน จะเอาไปชั่งตอนที่กลับแคมป์ ส่วนที่เหลือที่คิดว่าได้เยอะ ผมจะแอบไปขายกับพ่อค้าคนกลาง กับเพื่อนๆ ที่ไปด้วยกัน เหมือนกับที่บ้านเรา ที่ไม่ต้องส่งอ้อยโควตาของโรงงานให้โรงงาน แต่แอบเอาไปขาย “อ้อยเงินสด” ตามตำบลต่างๆ แต่ต้องแอบขายนะ เพราะถ้าแคมป์รู้ เขาก็จะลงโทษเรา และครั้งต่อไปถ้าเราจะมาอีก เขาจะไม่เอาเรา สถานที่แอบขาย ส่วนใหญ่ จะขายที่บ้านเมียฝรั่ง ส่วนใหญ่จะเป็นเมียคนไทย พวกผมจะเรียกว่า “มาดาม”

ปัญหาจากการทำงานของหนุ่มก็มีเช่นกัน เรื่องการลื่นล้มเป็นเรื่องปกติที่เกือบทุกคนอาจจะต้องพบพาน อีกปัญหาหนึ่งคือเรื่องบู๊ทกัดเท้า เพราะต้องสวมรองเท้าบู๊ทเดินทั้งวัน ผ่านไปเดือนหนึ่งก็เท้าก็จะเริ่มระบมและเล็บขบ หรือเล็บหายเพราะการถูไถกับบู๊ทตลอดเวลา คนงานจำนวนไม่น้อย กลับบ้านด้วยสภาพเล็กเท้ากุด และใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ในการคืนสภาพเดิม แต่อีกปัญหาสุขภาพหนึ่ง ที่หนุ่มแก้ไม่หายและยังมีอาการอยู่ถึงปัจจุบัน “ ส่วนใหญ่จะปวดมือ และปวดแขน เพราะเอาที่ตัก ไถไปตักบักแบร์กลับไปกลับมาวันละหลายพันครั้ง นิ้วชี้ของผมจะผิดรูปไป และเบ้เอียงรักษาไม่หายเลย”

หนุ่มไปเก็บหมากไม้ครั้งนั้น ซึ่งหักจากรายจ่ายทั้งหมดแล้ว หนุ่มได้เงิน จำนวน 18,000 บาท เมื่อคำนวณต่อเดือนแล้ว ได้เพียงเดือน 6,000 บาท ทำให้หนุ่มตัดสินใจว่า จะไม่ไปเก็บหมากไม้ที่ฟินแลนด์ หรือแม้สวีเดนอีกแล้ว ถึงแม้คนในหมู่บ้านยังคงเดินทางไปในแต่ละปีอย่างไม่ขาดสาย เพราะหนุ่มคิดว่า มันไม่คุ้มกับการลงทุนเลย และยังเตือนกับคนในหมู่บ้านเสมอ ๆ ว่า “ควรศึกษาข้อมูลให้ดี ๆ และถูกต้อง ไม่ใช่เห็นภาพเงินที่มาหลอกล่อ ว่ามาแค่ 3 เดือน แล้วได้เงินกลับเป็นแสน มันเป็นความจริงเพียงไม่กี่คนเลย”

นอกจากนั้น สภาพความเป็นอยู่ในการทำงานไม่สุขสบายเหมือนบ้านเราหรือเมืองไทยเลย หนำซ้ำถึงเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า หรือมีอาการเจ็บไข้ได้ป่วย โดยเฉพาะไอ ไข้ และปวดเมื่อยตามเนื้อตัว การทำงานที่ต้องเดินลุยหนอง ขึ้นเขา ข้ามเขา แบกถังเบอร์รี่ลงจากเขา บางครั้งก็หลายกิโลเมตร และในระหว่างเก็บต้องก้มๆ เงยๆ ตลอดทั้งวัน รวมทั้งอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศหนาวเย็น และฝนตกบ่อยๆ โดยในเดือนแรก ฝนตกเกือบทุกวัน แรงงานส่วนใหญ่รวมทั้งหนุ่มด้วย ไม่สามารถหยุดงานได้ เพราะถ้าเมื่อหยุด หมายถึงว่า เราต้องขาดทุนลูกเดียว

หนุ่มฝากรอยยิ้มและคำพูดสุดท้ายว่า “จ้างให้ผมไม่ไปอีกแล้ว นับเป็นประสบการณ์ไปทำงานต่างประเทศครั้งแรก และคงเป็นครั้งเดียวในชีวิต เพราะเข็ดหลาบมาก ๆ เพราะจนป่านนี้ยังต้องมารักษาอาการปวดมือจนถึงทุกวันนี้”

****************

คำสำคัญ (Tags): #ทิมดาบ#แรงงาน
หมายเลขบันทึก: 617171เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2016 10:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 ตุลาคม 2016 10:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ชีวิตนี้ฉัน ไม่เคยได้ทำงานเลยสักวัน ทุกวันเป็นวันสนุกหมด

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 36 แผนที่ชีวิตพ่อ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท