​ชีวิตที่พอเพียง : 2771. นิเวศน์วิทยาตาหนอน



เช้าวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๕๙ หลังส่งสาวน้อยไปทำงานที่โรงพยาบาลรามาฯ ผมแวะไปกินอาหารเช้าที่ ราคาถูกและอร่อยที่โรงอาหารคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โชคดีจริงๆ ที่วันนี้ รศ. ดร. สมโภชน์ ศรีโกสามาตร ถือจานข้าวเดินมาทัก


ผมกำลังนั่งกินอาหารไปอ่านหนังสือ จากหลากหลายกลายเป็นหนึ่ง ไป อ. สมโภชน์ทักว่า “อาจารย์กำลังอ่านหนังสืออะไร” การสนทนาจึงโยงระบบ chaordic สู่วิวัฒนาการทางชีววิทยา และระบบนิเวศน์ ที่ ดร. สมโภชน์ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญ ไปสู่การเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑


ท่านเอ่ยขึ้นว่าท่านพยายามประยุกต์การเรียนรู้แบบ Learning by Doing ในนักศึกษาชั้นปีที่ ๑ ที่ศาลายา จำนวนชั้นละ ๑๖๐ คน โดยชวนนักศึกษาออกนอกห้องเรียน ไปเรียนค้นหาความหมายของสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ ที่มหาวิทยาลัยมหิดลศาลายา นักศึกษาชอบมาก


ท่านบอกผมว่าวิทยาเขตศาลายาสวยงามและมีความเป็นธรรมชาติมากเมื่อมองภาพใหญ่ (macro) หรือมองด้วย “ตานก” แต่หากมองด้วย “ตาหนอน” หรือมองภาพละเอียด (micro) ความหลากหลายทางชีวภาพ ลดลงอย่างน่าตกใจ เข้าใจว่าเนื่องจากพนักงานดูแลสวนและสนามเน้นความสวยงามเป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นหลัก ไม่เข้าใจระบบนิเวศน์ที่เอื้อต่อการดำรงอยู่และสืบพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กเช่นแมลง เมื่อแมลงลดลง นกกินแมลงก็น้อยลงด้วย ความสวยงามมีชีวิตชีวาตามธรรมชาติก็ลดลงไป


ทำให้ผมได้คำอธิบายต่อตัวเอง ที่สงสัยมานานแล้ว ว่าเคยไปอยู่ในสถานที่คล้ายป่า มีต้นไม้ใหญ่ มากมาย บริเวณตกแต่งสวยงาม แต่ทำไมไม่ค้อยเห็นแมลงและนก


ผมรำลึกถึงภาพยนตร์ชุด Microworlds ที่ไปถ่ายสิ่งมีชีวิตตามใบไม้พุ่มไม้ และปฏิสัมพันธ์ระหว่าง สิ่งมีชีวิตเหล่านั้น ที่หากเราไม่สวมวิญญาณตาหนอน เราจะไม่เห็น โอกาสได้รับความรื่นรมย์จากธรรมชาติ ก็ลดลงไปอย่างน่าเสียดาย


วิจารณ์ พานิช

๑๖ ก.ย. ๕๙

หมายเลขบันทึก: 617110เขียนเมื่อ 17 ตุลาคม 2016 12:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 ตุลาคม 2016 12:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท