​ในวันที่หัวใจเปราะบาง


ในวันที่หัวใจเปราะบาง

เช้าวันนี้ตื่นมา สิ่งแรกก็คือสำรวจสภาพจิตใจตนเอง ใช้เวลาไม่นานก็พอบอกได้ว่ายังไม่ปกติ ยังมี "อะไรตึงๆ" ระหว่างคิ้วและสองขมับ มี "อะไรมึนๆ" แถวๆลึกๆหลังหน้าผาก เดินไปเดินมาสักพักก็พบว่าสายตาของเราปรับภาพอะไรชัดชั่วขณะแล้วก็จะกลายเป็นเหม่อลอย สรุปก็คือ "น่าจะยังทุกข์อยู่"

ในฐานะที่เข้าใจวาตนเองก็ศึกษาเรื่องนี้ ฝึกเรื่องนี้ รวมทั้งสอนและดูแลเรื่องนี้อยู่ระยะเวลายาวนานพอควร ก็คือมีทั้งศาสตร์และศิลป์และภาคสนามปฎิบัติมาพอสมควร ยังรู้สึกว่าคงต้องอีกสักพัก ไม่ทราบว่าจะพักใหญ่แค่ไหน ที่เราต้องค่อยๆเยียวยาตนเองต่อไปอีก ความเศร้า ความทุกข์ครั้งนี้ไม่ธรรมดา สามารถจับต้องได้ในอบอวลในบรรยากาศ ตามถนนหนทาง รถรับจ้างสาธารณะ ร้านอาหาร หรือศูนย์การค้า เป็น "มวลทุกข์" ขนาดใหญ่มาก จึงขอเรียบเรียงวิธีการต่างๆที่อาจจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเอง และผู้ร่วมชะตากรรมในครั้งนี้ และถ่ายทอดลงมา ณ ที่นี้

ความทุกข์เป็นอารมณ์ความรู้สึกก็จริง แต่ส่งผลกระทบต่อความคิด และออกอาการทางกายได้แทบจะทุกระบบ ดังนั้นบางคนอาจจะเริ่มเจ็บไข้ได้ป่วยไปก็มี ส่งผลต่อสมรรถภาพก็ได้ เพราะทุกข์มากๆมักไม่อยากจะขยับไปไหน ท้อแท้ และหมดกำลังใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องราวของเหตุแห่งทุกข์นั้นมันเป็นความจริงแท้ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ยิ่งคิดยิ่งวนเวียน เหมือนแหวกว่ายอยู่ในหลุมทรายดูด มีแต่จะจมลงๆ ดังนั้นสิ่งแรกๆที่เราพอทำได้คือ "กลับไปหาจุดเริ่มต้นความสุขของตัวเรา (salutogenesis สุขภาวะกำเนิด)" ของใครของมัน แต่ละคนก็สะสมเอาไว้อยู่แล้ว เพราะทุกคนเคยยิ้มแย้ม เคยหัวเราะ เคยมั่นใจในตัวเอง เคยเป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์ มีความมุ่งมั่นมาก่อน มีคนที่เรารัก มีคนที่รักเรา สิ่งเหล่านี้ยังไม่ได้ถูกเปลี่ยนแปลงมากนักจากทุกข์ในครั้งนี้ ย้อนกลับไปหา The Source of Happiness แหล่งที่มาความสุขของเราก่อน

ซึ่งจะมีแหล่งความสุขภายใน และแหล่งพลังจากภายนอก ภายในก็คือความถนัดของเรา เรื่องเลาของเรา วิธีเล่าก็ของเรา ภายนอกก็คือต้นทุนที่เราสร้างความสัมพันธ์ไว้กับทุกสิ่งทุกอย่างนอกตัวเราเอง

จะเห็นว่าโดยที่เราไม่รู้ตัว เราก็ใช้กลไกเหล่านี้ไปบ้างแล้ว บ้างก็ร้องห่มร้องไห้เพราะเราชัดเจนในอารมณ์ ไม่เก็บกักอารมณ์ พอมันดันออกมาก็เปิดวาว ปลดปล่อยออกมา ไม่ระเบิด บ้างก็อาจจะละเมียดไปทางเขียนบทกวี แต่งเพลง ฟังเพลง ให้สุนทรียภาพเข้ามาเยียวยาจิตใจที่บอบช้ำ บ้างก็เขียนพรรณนา บ้างก็ดูรูป ชมภาพยนต์ กลุ่มนี้มีทักษะจัดการอารมณ์ด้วยอารมณ์ก็ทำไป

อีกกลุ่มหนึ่งจะเน้นด้านจัดการความคิดเป็นหลัก ถ้าถนัดก็ทำไป อันนี้แล้วแต่คน แต่ที่พึงระวังก็คือ การใช้ logic หรือตรรกะ หรือ "ระบบคิด" มาจัดการมวลอารมณ์นั้น มันใช้กลไกทางอ้อม กลุ่มนี้ "ความสุข" คือชีวิตที่ยังมีระบบ มีระเบียบ เป็นวิธีการเล่าชีวิตที่อาศัย "ปกติ" หรือ "ถูกต้อง" มาเป็นเสาเข็มของชีวิตที่มั่นคง กลุ่มนี้อาจจะเริ่มรีบกลับไปใช้ชีวิตที่เคยเป็น เคยทำ เคยมี ให้เร็วที่สุด ปกติเมื่อไร เมื่อนั้นก็จะโอเค

ข้อพึงระวัง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มที่อาศัยความ "ปกติ ถูกต้อง" มาเยียวยาภาวะอารมณ์ที่ไม่ปกติก็คือ เรายังอาศัยอยู่ในโลกใบเดียวกัน ไม่ว่าเราจะใช้วิธีเยียวยาตนเองที่แตกต่างกันเพียงไรก็ตาม ดังนั้น วิธีของเราและวิธีของพวกเขา ก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของ "กระสายยา" ของคนอื่นๆไปด้วยเสมอ (แม้จะไม่ตั้งใจก็ตาม)
ดังนั้นกลุ่มเน้นปกคิ เน้นหลักการ ก็อาจจะมีสภาวะแบบนี้ขึ้น
@ เห็นบางคนไปดูหนัง ดูละคร ก็จี๊ด ตอนนี้ยังจะไปหาความสุขกันอีก
@ เห็นคนใส่ชุดสีอะไรนอกเหนือไปจากที่เรายอมรับ ก็จี๊ด เพราะมัน "ผิด protocol"
@ เกิดสภาวะจิตของ "ตำรวจการจัดการความทุกข์" หรือ "อารักษ์แห่งประเพณีการจัดการความทุกข์ที่ถูกต้อง" ขึ้น และเข้าใจว่าต้องปกป้องสิ่งนี้ให้ถึงที่สุด มิฉะนั้นโลกปกติของตนจะล่มสลายลง
ส่วนกลุ่มอารมณ์เป็นหลัก ก็จะเจอสภาวะแบบนี้ได้
@ พอทำอะไรก็จะมีคนมาเตือน มาบอก เอ๊ะ กฏเหล่านี้มันมีด้วยเหรอ ไม่เข้าใจ (ตอนเราใช้อารมณ์ มันไม่เหมาะที่เราจะ "เรียนรู้กฏใหม่ๆ")
@ รำคาญมากๆ ก็เกิดทุกข์ทับถม จะ react เกิดปฏิกิริยาโต้ตอบ และอาจจะง่ายที่จะรุนแรงกว่าปกติด้วยซ้ำ เพราะตอนนี้ฐานอารมณ์ก็เปราะบางอยู่แล้ว คนส่วนหนึ่งไม่ทราบว่า การมีมารยาท หรือสุภาพในสังคมนั้น เป็นสุขภาวะทางอารมณ์ คือ ความตระหนักว่าอยู่ในสังคม อยู่กับผู้อื่น ผู้อื่นมีความรู้สึก และเราอยากจะดูแลความรู้สึกนั้นของผู้อื่น กระบวนทังหมดกลายเป็น "มารยาท" เพราะฉะนั้นเดิมพูดอะไรกัน ไม่เข้าหู เราก็อาจจะเฉยๆ ไม่เป็นไร แต่ตอนนี้อาจจะไม่ใช่

ควรจะทำเช่นไร?


๑) แม้ว่าเราจะทุกข์แค่ไหน ทันทีที่มีสติ นึกถึงความรู้สึกของคนอื่นด้วย
๒) แม้ขณะที่เรากำลังต้องการ "จัดการระบบชีวิต" ของเรามากเพียงไร ระมัดระวังที่จะ "ไปจัดการระบบชีวิตของคนอื่น" ให้มาก Internet หรือ social network เป็นพื้นที่ที่อ่อนไหวเวลาเราไปยุ่งกับชีวิตคนอื่น มันไม่เห็นหน้า ไม่ได้ยินนำ้เสียง และแถมบางครั้งยังเต็มไปด้วยเสียงแห่งการตัดสินดั้งเดิมมากมาย
๓) ทานที่ต้องฝึกมากในช่วงนี้คือ "อภัยทาน" จิตใจทุกคนกำลังเปราะบาง กำลังหวั่นไหว กำลังกลัว กำลังไม่มั่นใจมากพออยู่แล้ว การ "สั่งสอน" หรือการ "ตักเตือน" ในตัวมันเองก็กำลังแซะความไม่รู้ของคนอื่นอยู่เสมอ ถ้าอยากจะทำหรือต้องทำจริงๆ ก็ต้องใช้ศิลปอย่างยิ่ง บอกตัวเองว่ากำลังทำเพราะต้องการดูแลเขา ที่เขาไม่รู้ แต่ไม่ได้ทำเพราะลึกๆอยากจะดูแลตนเอง อยากจะรักษา norm ของโลกตนเองเท่านั้น ซึ่งก็แปลว่าเราเองก็เปราะบาง กำลังจะหัก ไม่น้อยไปกว่าคนอื่นๆเลย
๔) ไม่เสียหายที่จะเริ่มต้นบทสนทนาด้วยการบอกว่าตนเองทุกข์อยู่นะ และตามด้วยรับรู้ว่าอีกฝ่ายก็ทุกข์อยู่นะ มนุษย์เป็นสัตว์สังคม พอรับรู้ว่าอีกฝ่ายกำลังเปราะบาง มันกระตุ้นอารมณ์พิเศษที่มหัศจรรย์มากคือ "ความรักและความเมตตา" เป็นโอสถขนานเอกที่ทุกคนมี แต่ต้องเริ่มด้วยกระสายยาดีๆ อย่าไปเริ่มด้วยยาพิษ

หวังว่าจะเห็นรอยยิ้มของคนไทยจากหัวใจทั่วแผ่นดินอีกครั้งในเวลาไม่นานจากนี้ หวังจะได้ยินเสียงหัวเราะของคนในชาติจากหัวใจ หวังจะได้เห็นว่าพวกเราทุกคนเติบโตขึ้นมาจากการได้รับความรักอย่างที่สุด ความเสียสละอย่างที่สุด ความเพียรพยายามอย่างที่สุด ของมหาบุรุษท่านหนึ่ง ที่มาโปรดพวกเรา ดูแลพวกเรามานานถึง ๗๐ ปี

ยังเศร้าอยู่

นายแพทย์สกล สิงหะ
บ้านพักแพทย์ พ.๓๑ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
วันเสาร์ที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๙ เวลา ๑๘ นาฬิกา ๓๒ นาที
วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีวอก

หมายเลขบันทึก: 617049เขียนเมื่อ 15 ตุลาคม 2016 18:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 ตุลาคม 2016 18:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณมากค่ะ อาจารย์ เป็นหนึ่งในข้อคิดที่ดีมากๆในยามนี้ อาจารย์ทำหน้าที่ให้สติได้อย่างดีมากด้วยบันทึกนี้ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท