​เยี่ยมชมสถาบันปลูกป่า ปตท. ที่อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง



ต่อจากบันทึกสะท้อนความคิดจากการไปเยี่ยมชมโรงเรียนกำเนิดวิทย์ และสถาบันวิทยสิริเมธี ของ ปตท. เมื่อวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๕๙ ค้างคืนที่บ้านพักรับรองของสถาบันปลูกป่า ๑ คืน รุ่งขึ้นวันที่ ๔ กันยายน เราก็ได้เยี่ยมชมสถาบันปลูกป่า


น่าชื่นชมที่ ปตท. ทำเรื่องปลูกป่ามาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ และดำเนินการเรื่อยมา ปลูกป่ากระจายไปทั่วประเทศ รวมแล้ว ๑ ล้านไร่ทั้งป่าบกและป่าชายเลน ผมถามผู้รู้ว่าผลงานปลูกป่าของ ปตท. ได้ป่าจริงหรือไม่ ได้ความตรงกันกับที่ทาง ปตท. บอกคือ เมื่อปลูกแล้วก็ยกให้กรมป่าไม้ดูแล ปตท. ไม่ได้ติดตามดูแลเอง จึงเดาได้ว่าคงจะได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง แต่ผู้รู้บอกว่าการปลูกป่าชายเลนได้ผลดีมาก ตัวอย่างคือ ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศน์ป่าชายเลนสิรินาถราชินี ที่ผมเคยไปเยี่ยมชมตาม บันทึกนี้ อ่านเรื่องราวของ การปลูกป่า ๑ ล้านไร่ ที่นี่


ที่จริงคืนวันที่ ๓ กันยายน เราไปนอนพักที่เรือนรับรอง ซึ่งอยู่ในบริเวณปลูกป่า และอาคารสถาบัน ปลูกป่าก็อยู่ใกล้ๆ ตอนเช้ามืดผมวิ่งไปดูโดยไม่รู้ว่าเป็นอะไร ตอนสายจึงได้ไปเยือนอาคารรูปร่างสูงโย่ง ใต้ถุนโล่ง มีเสาที่ไม่ตรงเป็นสัญลักษณ์ ด้านบนเป็นนิทรรศการเรียนรู้เกี่ยวกับป่า และการปลูกป่าที่น่าชมมาก เป็นสถานเรียนรู้ป่าของนักเรียนที่ดีมาก น่าชื่นชมทาง ปตท. ที่สั่งสมความรู้จากโรงการปลูกป่าที่ทำต่อเนื่องกว่า ๒๐ ปี มาจัดทำสถาบันวิชาการเพื่อการปลูกป่าให้แก่ประเทศ รวมทั้งปลูก ป่าวังจันทร์ ขึ้นเป็นป่าเรียนรู้ และสาธิต ที่ ปตท. ดำเนินการเองอย่างต่อเนื่อง บนพื้นที่ ๓๕๑.๓๕ ไร่ เป็นป่าคาร์บอนต้นแบบ ที่เชิงเขา ขุนอินทร์ที่เราไปเยือน


จากการเดินชมนิทรรศการป่าชนิดต่างๆ ทำให้ผมได้ทราบว่าป่าพญาเสือโคร่งที่ภูลมโล ที่ผมไปชมตาม บันทึกนี้ นั้น ปตท. เป็นผู้ปลูก ในบันทึกเที่ยวภูลมโลผมได้เล่าไว้ว่า ทางกรมป่าไม้บอกผู้สื่อข่าวว่ากรมเป็นผู้ปลูก แต่ชาวม้งที่นั่นบอกว่าตนปลูก มาคราวนี้ ปตท. บอกว่าตนปลูก “ความจริง” มีหลายมิตินะครับ


เราได้รับแจกหนังสือปกแข็งประกอบภาพสวยงามมา ๒ เล่ม คือ โครงการป่าวังจันทร์ กับ โครงการป่าในกรุง ก่อนกลับ ดร. ไพรินทร์เชิญเราไปเยี่ยมชมป่าในกรุง ที่ถนนสุขาภิบาล ๒ ซึ่งคงจะได้ นำมาเล่าการไปเยือนในโอกาสหน้า


วิจารณ์ พานิช

๕ ก.ย. ๒๕๕๙


หมายเหตุ วรรคตอนในบันทึกนี้ อาจไม่ถูกต้องตามหลักภาษาศาสตร์ เนื่องจากข้อจำกัดในการแสดงผล ขนาดตัวอักษร และการจัดหน้าของระบบ


1 เรือนรับรอง



2 สาวแม้วที่หน้าอาคารสถาบันปลูกป่า


3 อาคารสถาบันปลูกป่า



4 ป่าที่ปลูกโดยวิธีมายาวากิอายุเพียงปีเศษ



5 ทางเข้านิทรรศการ



6 กาลานุกรมการปลูกป่าของ ปตท. เริ่มจากปี ๒๕๓๕



7 ต้นพญาเสือโคร่งที่ภูลมโล ถ่ายจากภาพในนิทรรศการ



8 วิธีปลูกป่าตามหลักมิยาวากิ



9 เมื่อน้ำชุ่มป่าก็งอกงาม


10 นกกินปลี ถ่ายจากนิทรรศการภาพถ่าย


หมายเลขบันทึก: 616827เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2016 22:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ตุลาคม 2016 18:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท