คำนิยม หนังสือเพลินกับการพัฒนา


ผมตีความว่า หนังสือเล่มนี้บอกเราว่า ครูเพลินคือนักตั้งเป้าแล้วค้นหาวิธีการบรรลุเป้า โดยที่เป้าหมายคือการเรียนรู้ของนักเรียน ตามรายละเอียดในข้อความจากต้นบทที่ ๒ ที่ยกมาข้างต้น โปรดสังเกตว่า ครูโรงเรียนเพลินพัฒนาไม่ได้เชื่อตามสูตรสำเร็จใดๆ ในการจัดการเรียนรู้แก่ศิษย์ แต่ได้พยายามช่วยกันคิดค้น หาวิธีการใหม่ๆ โดยไปเรียนหลักการและทฤษฎีมาจากภายนอก เช่นไปเรียน KM จาก สคส.(สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม) เรียนเรื่อง Lesson Study และ Open Approach จากญี่ปุ่น ผ่านทาง ผศ. ดร. ไมตรี อินทรประสิทธิ์ เรียนเรื่องการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ (หน้า ...) จาก ศ.นพ. เกษม วัฒนชัย เป็นต้น นำมาทดลองค้นหาวิธีการที่ใช้การได้จริงในบริบทของตน ผมขอเสนอต่อผู้มีอำนาจบริหารระบบการศึกษาไทยว่า โรงเรียนทั้งประเทศต้องใช้วิธีการตามที่ระบุระหว่างบรรทัดในหนังสือเล่มนี้ และที่ผมตีความ ไว้ในย่อหน้านี้ การศึกษาไทยจึงจะมีคุณภาพอย่างแท้จริง

คำนิยม

หนังสือเพลินกับการพัฒนา

วิจารณ์ พานิช


นี่คือเรื่องเล่าการเดินทางของ “องค์กรเรียนรู้” (Learning Organization) คือโรงเรียนเพลินพัฒนา เล่าโดย “บุคคลเรียนรู้” (Learning Person) คือครูใหม่ วิมลศรี ศุษิลวรณ์ และครูท่านอื่นๆ อีกจำนวนมาก เล่าเรื่องราวของ “ครูนักเรียนรู้”แห่งโรงเรียนเพลินพัฒนา


อ่านสาระทั้งหมดแล้ว ผมสรุปว่า “เพราะสนุกกับการเรียนรู้ จึงเพลินกับการพัฒนา” หรืออาจตั้งชื่อหนังสือเล่มนี้ใหม่ว่า “เพลินกับการเรียนรู้” ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นการเรียนรู้สามชั้น คือการเรียนรู้ของนักเรียน การเรียนรู้ของครู และการเรียนรู้ของพี่เลี้ยงของครู (คือครูใหม่และครูปาด) และเมื่ออ่านต้นฉบับไปถึงหน้า ๗๗ ผมก็เห็นร่องรอยของ “การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง” (Transformative Learning) ของครู จากบันทึกของครูหนึ่ง - ศรัณธร แก้วคูณ ที่ใช้คำว่า “สู่การปรับโครงสร้างวิธีคิดของตัวเอง”รายละเอียดของการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงของทั้งนักเรียน และครูอยู่ในบทที่ ๔ แต่จริงๆ แล้ว เรื่องราวใน หนังสือทั้งเล่มสะท้อน “การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง” ทั้งสิ้น


หนังสือเล่มนี้เล่าการก่อกำเนิด และการเดินทางของ “ชุมชนเรียนรู้” (Learning Community) ของครู ที่ในวงการศึกษาเรียกว่า PLC (Professional Learning Community) โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “การเรียนรู้จากชั้นเรียน” (Lesson Study) และการเปิดชั้นเรียนเพื่อการเรียนรู้ร่วมกันของครูที่เรียกว่า Open Class คือเปิดโอกาสให้เพื่อนครูไปสังเกตชั้นเรียนของครูคนอื่น เพื่อนำสิ่งที่พบเห็นในชั้นเรียนมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในลักษณะ “เรียนจากการปฏิบัติจริง” ที่มีรายละเอียดอยู่ในครึ่งหลังของบทที่ ๕ และในบทที่ ๖ ที่ฝึกประสบการณ์วิชาชีพ


"แนวทางการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนเพลินพัฒนา มุ่งไปที่การสร้างเจตจำนงในชีวิต มุ่งสร้างอุปนิสัยที่สำคัญในการดำรงชีวิตที่ดีงาม สร้างสรรค์ พร้อมไปกับการสร้างความรักในการเรียนรู้และการสร้างความสามารถในการเรียนรู้ ให้เพิ่มพูนขึ้นอยู่เสมอ

นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นในการพัฒนาผู้เรียนให้เติบโตเต็มตามศักยภาพแห่งวัย ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญา โดยคำนึงถึงการพัฒนาทักษะชีวิตและทักษะทางสังคมควบคู่กันไป ผู้เรียนจะได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง ด้วยกิจกรรมการเรียนรู้ที่มีความหลากหลาย"


ผมชอบข้อความข้างบนนี้มาก เป็นข้อความเริ่มต้นบทที่ ๒ แนวทางการเรียนรู้ของเพลินพัฒนา สะท้อนเจตจำนงความมุ่งมั่นที่ชัดเจน และตรงตามหลักการศึกษาแห่งศตวรรษที่ ๒๑ นี่คือเข็มมุ่งของการเรียนรู้ของ PPLC (Plearn Professional Learning Community) ที่สมาชิกมีความเชื่อร่วมกันว่านักเรียน จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ ต้องเรียนจากการลงมือปฏิบัติจริงเท่านั้น ไม่ใช่โดยครูสอนความรู้สำเร็จรูป ครูโรงเรียนเพลินพัฒนาจึงต้องเรียนรู้วิธีแสดงบทบาทการเป็นโค้ชของการเรียนรู้จากการปฏิบัติให้แก่ศิษย์ ซึ่งก็คือการพัฒนา "วิธีทำหน้าที่ครูแห่งศตวรรษที่ ๒๑" นั่นเอง


โปรดสังเกตว่าครูที่เพลินอยู่กับการพัฒนา หรือเพลินอยู่กับการเรียนรู้ ตามในหนังสือเล่มนี้ ใช้กระบวนการจัดการความรู้ (KM – Knowledge Management) เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่ง และเครื่องมือของ การจัดการความรู้ที่ใช้มากที่สุดคือ การไตร่ตรองสะท้อนคิด (Reflection) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าการทบทวนหลังการปฏิบัติ (AAR - After Action Review) ทั้งครูและนักเรียนของโรงเรียนเพลินพัฒนา ใช้เครื่องมือนี้เพื่อการเรียนรู้ให้ลึกและเชื่อมโยง รวมทั้งเพื่อ "เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง" (Transformative Learning) ท่านผู้อ่านโปรดสังเกตการไตร่ตรองสะท้อนคิดของครู ผ่านบันทึกต่างๆ ในหนังสือ บันทึกของครูหนึ่งที่เอ่ยถึงไปแล้วก็ใช่ บันทึกของครูสุ - สุภาพร กฤตยากรนุพงศ์ เรื่องมหัศจรรย์กับคณิตศาสตร์ ในหน้า ๘๗ - ๘๕ ก็ใช่ อาจกล่าวได้ว่าหนังสือ เพลินกับการพัฒนา เล่มนี้ทั้งเล่ม เดินเรื่องด้วยเรื่องเล่าที่มีส่วนหนึ่งเป็นผลของการใคร่ครวญไตร่ตรองสะท้อนคิดของครู เป็นการเล่าเรื่องราวของการ "พัฒนาตนด้วยผลสะท้อน" ของครูซึ่งเป็นชื่อของบทที่ ๕


ผมตีความว่า หนังสือเล่มนี้บอกเราว่า ครูเพลินคือนักตั้งเป้าแล้วค้นหาวิธีการบรรลุเป้า โดยที่เป้าหมายคือการเรียนรู้ของนักเรียน ตามรายละเอียดในข้อความจากต้นบทที่ ๒ ที่ยกมาข้างต้น โปรดสังเกตว่า ครูโรงเรียนเพลินพัฒนาไม่ได้เชื่อตามสูตรสำเร็จใดๆ ในการจัดการเรียนรู้แก่ศิษย์ แต่ได้พยายามช่วยกันคิดค้น หาวิธีการใหม่ๆ โดยไปเรียนหลักการและทฤษฎีมาจากภายนอก เช่นไปเรียน KM จาก สคส.(สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม) เรียนเรื่อง Lesson Study และ Open Approach จากญี่ปุ่น ผ่านทาง ผศ. ดร. ไมตรี อินทรประสิทธิ์ เรียนเรื่องการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ (หน้า ๑๑๙ - ๑๒๐) จาก ศ.นพ. เกษม วัฒนชัย เป็นต้น นำมาทดลองค้นหาวิธีการที่ใช้การได้จริงในบริบทของตน ผมขอเสนอต่อผู้มีอำนาจบริหารระบบการศึกษาไทยว่า โรงเรียนทั้งประเทศต้องใช้วิธีการตามที่ระบุระหว่างบรรทัดในหนังสือเล่มนี้ และที่ผมตีความ ไว้ในย่อหน้านี้ การศึกษาไทยจึงจะมีคุณภาพอย่างแท้จริง


เรื่องเล่าในหนังสือเล่มนี้ เล่าโดยใช้คำว่า "นักเรียนทำงาน" "ผลงานของนักเรียน" "ชิ้นงาน" และเล่าการตีความการเรียนรู้ของศิษย์ผ่านผลงานเหล่านั้น และผ่านพฤติกรรมต่างๆ ของนักเรียน โดยครูเป็นผู้ตีความ แล้วครูแสดงปฏิกิริยาป้อนกลับ (feedback) ต่อศิษย์ทันที นี่คือสุดยอดของ EFA – Embedded Formative Assessment และ CFB – Constructive Feedback ภาคปฏิบัติ ที่ในภาคทฤษฎีมีรายละเอียดในหนังสือ ประเมินเพื่อมอบอำนาจการเรียนรู้ ซึ่งสามารถอ่านรายละเอียดได้ที่ https://www.gotoknow.org/posts/tags/Dylan_Wiliam


ชีวิตครูไม่ได้ราบรื่นเสมอไป ดังที่เล่าในบันทึกของครูบิ๊ก เรื่อง รอยยิ้มของครูกับการพัฒนาผลเจตคติ (หน้า ๒๒๓ - ๒๒๘) ที่ครูจะต้องเผชิญความท้าทายจากพฤติกรรมของนักเรียนวัยรุ่น แต่การต้องเผชิญ ปัญหาก็คือส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ ผมฝันอยากเห็นครูไทยเขียนหนังสือเล่าประสบการณ์การเผชิญปัญหาต่างๆ ในอาชีพครูนำมาเป็นข้อเรียนรู้ ทั้งการเรียนรู้ระดับบุคคล และการเรียนรู้ด้านการจัดการระบบ ดังตัวอย่างหนังสือ ครูแท้แพ้ไม่เป็น เทคนิคและกำลังใจเพื่อครูมือใหม่ถึงครูวัยเก่า เขียนโดยครูเรฟ เอสควิท แปลโดย ผศ. อุบลรัตน์ เต็งไตรรัตน์


ผลงานของเด็กหญิงเอมี่ (หน้า ๑๘๕ - ๑๘๗) เป็นผลงานจากการออกไปเรียนรู้จากชีวิตจริงนอกโรงเรียน สะท้อนภาพของการเรียนในโรงเรียนเพลินพัฒนาแผนกประถมที่จัดให้เด็กนักเรียนออกไปสัมผัสชีวิตจริง แล้วสะท้อนคิดทำชิ้นงานออกมานำเสนอ ดังนั้นข้อเสนอของผมในบล็อกที่ครูใหม่นำมาลงในหนังสือเล่มนี้ ด้วย (หน้า ๓๒๖) จึงไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง คือจริงๆ แล้วโรงเรียนเพลินพัฒนาได้ดำเนินการนำนักเรียนออกไปเรียนรู้โดยการสัมผัสชีวิตจริง ตามที่ผมเสนอแนะอยู่แล้ว และเมื่อได้ออกไปเรียนรู้ชีวิตจริง ภายนอก นักเรียนได้กลับมาใคร่ครวญไตร่ตรองสะท้อนคิดข้อเรียนรู้ของตนนำเสนอเป็นชิ้นงานดังผลงาน ของเด็กหญิงเอมี่


ผมตีความว่าหนังสือ เพลินกับการพัฒนา เล่มนี้สะท้อนภาพของการเรียนรู้ในอุดมคติ ห้องเรียนในอุดมคติ นักเรียนในอุดมคติ ครูในอุดมคติ โรงเรียนในอุดมคติ สำหรับชั้นประถม ที่เป็นภาพพลวัตไม่ใช่ภาพหยุดนิ่ง รับประกันได้ว่าห้องเรียน และกิจกรรมการเรียนรู้ ในชั้นประถมของโรงเรียนเพลินพัฒนาในอนาคตสิบปีข้างหน้าจะไม่เหมือนกับที่เล่าในหนังสือเล่มนี้ คือจะมีการพัฒนาต่อเนื่อง ยกระดับการเรียนรู้ขึ้นไปอีก


ผมขอแสดงความยินดีและขอบคุณต่อครูใหม่ (วิมลศรี ศุษิลวรณ์) และคณะครูโรงเรียนเพลินพัฒนา แผนกประถม ต่อความสำเร็จในการทำงานและเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน ได้ทั้งผลงานที่ผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนและผลงานการเรียนรู้ของครู กลั่นออกมาเป็นหนังสือเล่มนี้ ที่น่าจะใช้เป็นคู่มือให้บริการจัด workshop พัฒนาครู ตามที่ผมเสนอไว้ในหน้า ๓๒๒ - ๓๒๓ ผมขอตั้งความหวังว่าจะมีหนังสือ เพลินกับการพัฒนา เล่ม ๒ เล่ม ๓ และเล่มต่อๆ ไปไม่รู้จบ ขอตั้งความหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวางให้ครูไทยได้ใช้ประโยชน์ และมีส่วนร่วมสร้างการปฏิรูปการศึกษาไทยให้เกิดผลจริงจัง



วิจารณ์ พานิช

๒๒ กันยายน ๒๕๕๙

หมายเลขบันทึก: 616632เขียนเมื่อ 5 ตุลาคม 2016 12:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2016 14:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

น่าสนใจมากค่ะ จะสั่งซ้อหนังสือนี้ได้ที่ไหนคะ

ขณะนี้หนังสือกำลังจัดพิมพ์อยู่ค่ะ

อาจารย์สามารถติดต่อเข้ามาที่อีเมล [email protected] ซึ่งเป็นอีเมลของดิฉันได้เลยค่ะ

ขอบพระคุณค่ะ

ครูใหม่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท