​เยี่ยมชมโรงเรียนกำเนิดวิทย์ เตลิดคิดฝันเฟื่อง


ธนาคารไทยพาณิชย์ และมูลนิธิสยามกัมมาจล นัดกับ ดร. ไพรินทร์ ชูโชติถาวร นายกสภาสถาบันวิทยสิริเมธี ไปชมโรงเรียนกำเนิดวิทย์และสถาบันวิทยสิริเมธี ในวันที่ ๓ - ๔ กันยายน ๒๕๕๙ ทั้งสองสถาบันนี้ก่อตั้งโดย ปตท. และตั้งอยู่ที่อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง


บันทึกนี้จะเล่าความประทับใจจากการไปชมโรงเรียนกำเนิดวิทย์ ที่มี ดร. ธงชัย ชิวปรีชา เป็นผู้อำนวยการ และมีรายละเอียดวัตถุประสงค์และอุดมการณ์การก่อตั้ง ที่นี่


โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนประจำ สอนสายวิทยาศาสตร์ ชั้น ม. ๔ - ๖ เรียนฟรี ค่าใช้จ่ายราวๆ ๘ แสนบาทต่อนักเรียน ๑ คน ต่อปี คัดเลือกนักเรียนที่เรียนเก่งระดับหัวกระทิจากทั่วประเทศ และตรวจสอบความเป็นคนดีทำประโยชน์ เพื่อส่วนรวมด้วย รับนักเรียนปีละ ๔ ห้อง ห้องละ ๑๘ คน รวม ๗๒ คน สอนด้วยภาษาอังกฤษทั้งหมด


ดร. ธงชัย เป็นอดีตผู้อำนวยการโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จึงนำวิธีการจัดการเรียนการสอนและ การกล่อมเกลานักเรียนของมหิดลวิทยานุสรณ์มาดัดแปลงใช้กับโรงเรียนกำเนิดวิทย์ โดยมีข้อได้เปรียบคือ มีเครื่องมือ ห้องปฏิบัติการ และห้องเรียนที่ทันสมัย และเน้นการเรียนแบบลงมือทำ (ที่ผมนึกในใจว่า ต้องตามด้วยการไตร่ตรองสะท้อนคิด - reflection) รวมทั้งมีระบบไอทีให้นักเรียนค้นอินเทอร์เน็ตได้สะดวก ห้องสมุดจึงไม่จำเป็นต้องมีหนังสือมาก


เป้าหมายของโรงเรียนคือ ปูพื้นและปลูกฝังให้เรียนไปเป็นนักวิจัย โดยเมื่อจบ ม. ๖ นักเรียนก็จะไปหาที่เรียนมหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรีเอง เวลานี้นักเรียนรุ่นแรกเรียนอยู่ชั้น ม. ๕


จากการไปเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการ ซึ่งเป็นชั้นเรียนไปด้วยในตัว บางห้องมีนักเรียนเป็นผู้อธิบาย เห็นได้ชัดในความฉะฉาน และรู้จริงของนักเรียน


ผมได้เรียนรู้ขั้นตอนในการจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ดังนี้


  • พ.ศ. ๒๕๒๗ พสวท. จำนวน ๑๐๐ คน
  • พ.ศ. ๒๕๔๔ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จำนวน ๒๔๐ คน
  • พ.ศ. ๒๕๕๑ กระทรวงวิทย์ จำนวน ๒๑๐ คน
  • พ.ศ. ๒๕๕๑ ห้องพิเศษ สพฐ. จำนวน ๕,๘๕๐ คน
  • พ.ศ. ๒๕๕๔ โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย จำนวน ๑,๗๒๘ คน
  • พ.ศ.๒๕๕๘ โรงเรียนวิทยสิริเมธี จำนวน ๗๒ คน

เท่ากับขณะนี้มีการผลิตนักเรียน ม. ปลาย ที่เก่งคณิตวิทย์ ปีละ ๘,๒๐๐ คน เทียบกับจำนวน เด็กเกิดปีละประมาณ ๘ แสนคน เท่ากับประมาณร้อยละ ๑ ไม่เลวเลยนะครับ


แต่เมื่อได้เห็นสิ่งที่ดีเลิศเพื่อคนส่วนน้อยแล้ว ผมอดคิดถึงเด็กส่วนร้อยละ ๙๙ ที่เหลือไม่ได้ ว่าเขาก็ควรได้รับการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันด้วยเช่นกัน แม้จะไม่ได้รับทุนและมีอาคารสถานที่ ห้องเรียน และครู ที่พิเศษและแพงลิ่วอย่างนี้ เขาก็ควรได้เรียนวิทยาศาสตร์ด้วยวิธีที่ถูกต้อง ไม่ใช่เรียนด้วยวิธีที่ล้าหลังหมดยุค อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน


วิธีที่ถูกต้องเป็นอย่างไร ผมเคยเขียนบันทึกไว้ที่ , , , ,


ผมเห็นด้วยว่า การพัฒนาประเทศแนว Thailand 4.0 ต้องขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์ตามความฝันของ ดร. ไพรินทร์ โดยผมขอเติมว่า การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในคนไทยต้องเดินสองขา คือขานักวิทยาศาสตร์ กับขาคนทั่วไป คนทั่วไปที่ไม่ได้เป็นนักวิทยาศาสตร์ ก็ต้องมีความรู้ความเข้าใจวิทยาศาสตร์ เพื่อการดำรงชีวิตที่ดี ไม่ถูกมายาหรือข้ออ้างผิดๆ ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหลอกลวงหรือชักจูง ผมได้เรียนเสนอ ดร. ไพรินทร์ และ ดร. ธงชัย ให้เอาใจใส่ส่งเสริมการเรียนรู้ “science for non-science” หรือวิทยาศาสตร์สำหรับนักเรียนที่ไม่ใช่สายวิทย์


ผมฝันเห็นโรงเรียนนี้มี senior project แบบ special project ชวนบริษัทมาร่วมทำ ให้เด็กใช้เวลาครึ่งหนึ่งออกไปทำโครงการจริง ในสถานการร์จริงในอุตสาหกรรม หรือในกิจการของภาคประชาสังคม โดยทำเป็นทีม เป็นโจทย์ที่ยาก ต้องเก็บข้อมูลมาก และต้องมีอาจารย์ที่ปรึกษาในโรงเรียน และจากสถานประกอบการ ให้ทีมนักเรียนได้ทำงานที่สร้างสรรค์สุดๆ และยากอย่างไม่น่าเชื่อว่าจะทำได้ แต่ด้วยการทำงานอย่างเป็นระบบ มีทฤษฎีหรือหลักการ และมีความมานะพยายาม ก็สามารถทำสำเร็จได้


ภายในพื้นที่ ๑,๐๐๐ ไร่ ของโรงเรียนกำเนิดวิทย์ และสถาบันวิทยสิริเมธี มีสระเก็บน้ำถึง ๘ สระ ผมจึงเสนอต่อ ดร. ไพรินทร์ว่า น่าจะส่งเสริมให้นักเรียนศึกษานิเวศน์วิทยาเชิงลึกระยะยาวของสระน้ำแต่ละสระ ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น


เนื่องจากเป็นโรงเรียนประจำ นักเรียนจึงมีเวลาว่างจากการเรียนในวันหยุดสุดสัปดาห์ ผมจึงคิดว่า น่าจะส่งเสริมให้นักเรียนตั้งชมรมบำเพ็ญประโยชน์เพื่อการเรียนรู้ด้านใน สมาชิกรวมตัวกันออกไปทำประโยชน์ แก่ผู้อื่นในชุมชนใกล้เคียง โดยทำกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง หลังจากกิจกรรมแต่ละครั้งสมาชิดกลับมา ทำ critical reflection เพื่อการเรียนรู้ด้านใน และเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง


ผมฝันเห็นโรงเรียนกำเนิดวิทย์ เป็นกลไกหนึ่งของการปฏิรูปการเรียนรู้ด้านคณิต-วิทย์ของการศึกษาไทย



วิจารณ์ พานิช

๔ ก.ย. ๕๙


1 ทางเข้าโรงเรียน


2 อาคารโรงเรียน ถ่ายจากทางเดินไปหอพัก


3 อาคารหอพักนักเรียน


4 ฟังการบรรยายสรุป


5 ห้องสมุด


6 ห้องปฏิบัติการชีววิทยา เป็นทั้งห้องเรียนและห้องปฏิบัติการ


7 ห้องปฏิบัติการฟิสิกส์


8 ห้อง workshop งานโลหะ


9 ห้อง workshop 3-D printer และอื่นๆ


10 ห้องศิลปะ


11 ห้องดนตรีไทย


12 ห้องดนตรีสากล


13 ห้อง workshop electronics


หมายเลขบันทึก: 616598เขียนเมื่อ 5 ตุลาคม 2016 08:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2016 09:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท