เพื่อให้มีครูวิทยาศาสตร์ชั้นเยี่ยม


หน้าที่หลักของครูคือ เตรียมตัวและสร้างแรงบันดาลใจ (prepare and inspire) แก่ศิษย์ ให้ศิษย์ได้ ทั้งสาระความรู้ (factual knowledge) และ ได้ฝึกฝนการตั้งคำถามและตอบคำถามทางวิทยาศาสตร์ และได้เข้าใจธรรมชาติของวิทยาศาสตร์

เพื่อให้มีครูวิทยาศาสตร์ชั้นเยี่ยม

บทความเรื่อง Build a Better Science Teacher เขียนโดย Pat Wingert    ตีพิมพ์ในนิตยสาร Scientific American ในปี ค.ศ. 2012    และพิมพ์ซ้ำในหนังสือ The Science of Education ในปี 2012  บอกว่าครูเป็นปัจจัย สำคัญที่สุด ต่อความสำเร็จในการเรียนของศิษย์ 

เขายกตัวอย่างครู Katie Belucci ครูสอนชั้น ป. ๕ ที่โรงเรียน Troy Prep ในรัฐนิวยอร์ก  ซึ่งมีเรื่องราวเล่าไว้ใน บทความนี้ ด้วย     วิธีการสอนคณิตศาสตร์ที่บทความเรื่อง Build a Better Science Teacher กล่าว สะท้อนภาพของครูที่ไม่สอนแบบถ่ายทอด   แต่สอนแบบตั้งคำถามกระตุ้นให้ศิษย์คิดหาวิธีการไปสู่คำตอบ   เชื่อมโยงกับชีวิตจริง   ทำให้บรรยากาศในชั้นเรียนเต็มไปด้วยความกระตือรือร้น   นักเรียนแย่งกันตอบคำถาม ที่ครูเชื่อมจากคำตอบของนักเรียน สู่คำถามประเภท how & why  ทำให้นักเรียนเห็นว่าคณิตศาสตร์ไม่ใช่วิชา ที่น่าเบื่อหน่าย

อ่านแล้วผมหวนระลุกถึงครูเรฟ ในหนังสือ ครูนอกกรอบกับห้องเรียนนอกแบบ ที่ผมเขียนเล่าไว้ ที่นี่

เคล็ดลับของครู เคตี้ คือ เมื่อจบชั้นเรียน นักเรียนทุกคนจะส่ง “บัตรจบชั้นเรียน”   บอกว่าโจทย์ หรือคำถาม ๒ คำถามที่สะท้อนหัวใจของบทเรียนนั้นคืออะไร    และคำตอบเป็นอย่างไร  .... อา! … นี่คือวิธีให้นักเรียนทบทวนไตร่ตรองสะท้อนความคิด (reflection / AAR) ในทุกคาบการเรียน    ที่แยบยลยิ่ง

รวมทั้งเป็น feedback แก่ครู    ว่านักเรียนได้เรียนรู้บทเรียนในคาบนั้นอย่างไร   โดยครูรู้ความก้าวหน้า (หรือไม่ก้าวหน้า) ของศิษย์เป็นรายคน  

นี่คืออีกตัวอย่างหนึ่ง ของ “ครูเพื่อศิษย์”

โรงเรียน Troy Prep เป็นโรงเรียนของลูกคนจน   แต่ผลการเรียนยอดเยี่ยม คือในปี ค.ศ. 2011 ซึ่งเป็นปีที่ ๒ ที่โรงเรียนนี้เปิดสอน   ผลการสอบคณิตศาสตร์ชั้น ป. ๕ ที่จัดโดยรัฐนิวยอร์ก นักเรียนโรงเรียนนี้สอบผ่าน ร้อยละ ๗๔   ในขณะที่ตัวเลขเฉลี่ยของทั้งรัฐคือ ๖๖   และในปีต่อมา ผลการสอบคณิตศาสตร์ ป. ๕ ของโรงเรียน Troy Prep ผ่านร้อยละ ๑๐๐    โดยนักการศึกษาอธิบายว่า ผลสำเร็จนี้เกิดขึ้นได้เพราะมีครูอย่างครู เคตี้   ซึ่งผมเข้าใจว่า ครูทุกคนในโรงเรียนนี้ ใช้วิธีสอนแบบที่ครู เคตี้ ใช้

บทความนี้ย้ำว่า “… good teacher is the single most important variable in boosting student achievement in every subject. A good teacher trumps such factors as socioeconomic status, class size, curriculum design and parents’ education levels.”   ครูดีเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดต่อผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน ในทุกวิชา   สำคัญกว่าสถานภาพทางเศรษฐสังคม, ขนาดชั้นเรียน, หลักสูตร และระดับการศึกษาของพ่อแม่  

ผลการวิจัยของ Eric Hanushek แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สรุปว่า ครูดีมีความสามารถ ร้อยละ ๕ บนของกลุ่ม  สร้างผลการเรียนรู้เพิ่มขึ้น ของศิษย์ (จากต้นปีเทียบกับตอนปลายปีการศึกษา) เท่ากับการเรียนรู้ตามปกติ ๑.๕ ปีการศึกษา     ในขณะที่ครูร้อยละ ๕ ล่าง สร้างการเรียนรู้แก่ศิษย์เท่ากับการเรียนรู้ ๐.๕ ปีการศึกษา   โดยไม่เลือกว่านักเรียนมาจากไหน   ครูดีมีค่าถึง ๓ เท่าของครูที่ไม่เอาไหน    นี่คือผลการวิจัย

เขาจึงสรุปว่า ที่ผลการเรียนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในอเมริกา ตกต่ำ ก็เพราะมีครูแบบครู เคตี้ น้อยเกินไป    ครูดีไม่อยากอยู่ในระบบที่ไม่เอื้อ ครูวิทย์จึงลาออกปีละ ๒๕,๐๐๐ คน (จากประมาณ ๕ แสนคน)    เพราะระบบการศึกษาของอเมริกา ให้ความดีความชอบแก่ครู ด้วยเกณฑ์ที่ผิด    ช่างเหมือนกับประเทศไทย เสียจริงๆ   

บทความนี้เป็นเรื่องของประเทศสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะ   เขาบอกว่า ระบบให้คุณค่าต่อครู ของสหรัฐ อเมริกานั้น ผิดหมด    คือหลงให้คุณค่าต่อปริญญาโทด้านศึกษาศาสตร์ และจำนวนปีที่มีประสบการณ์การเป็นครู    ในขณะที่ครู เคตี้ เรียนจบปริญญาตรีด้านคณิตศาสตร์ประยุกต์ จบแล้วไปทำงานเป็นพนักงานวิเคราะห์ข้อมูล ในบริษัทวิศวกรรม   แล้วจึงเบนเข็มชีวิตมาเป็นครู ที่โรงเรียน Troy Prep โดยไม่เคยมีประสบการณ์การสอน มาก่อนเลย

คุณค่าที่แท้จริงของครู เคตี้ คือ รู้จริงในเนื้อวิชาที่ตนสอน

คุณค่าที่แท้จริงของครูคือ รู้จริงในเนื้อวิชาที่ตนสอน    และสอนแล้วศิษย์เกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริง    แต่ระบบการศึกษาเลื่อนเงินเดือนให้แก่ครูตามปีที่สอน และตามปริญญาบัณฑิตศึกษาด้านครู     นี่คือปัญหาของการมีครูดีในระบบการศึกษา

บทความนี้บอกว่า ผลการวิจัยบอก ๒ ข้อ (๑) ผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน กลุ่มที่มีครูที่สอนมานานปี (ประสบการณ์มาก) กับกลุ่มที่มีครูที่เพิ่งสอนมา ๓ ปี (อย่างครู เคตี้) แตกต่างกันน้อยมาก   เขาบอกว่าหลัง ๓ ปีไปแล้ว ประสิทธิผลของครูไม่ได้เพิ่มขึ้นตามจำนวนปีที่เป็นครู   นี่ว่ากันตามสถิตินะครับ   หากจะมีครูที่ยิ่งประสบการณ์มากยิ่งเก่ง ก็คงจะมี   และยิ่งอยู่นานยิ่งหมดไฟ ก็คงจะมีเช่นกัน   (๒) การมีปริญญาระดับบัณฑิตศึกษาด้านการศึกษา ไม่ช่วยให้ผลสัมฤทธิ์ในผลการเรียนของนักเรียนสูงขึ้น   แต่หากเป็นปริญญาบัณฑิตศึกษาด้านคณิตศาสตร์ ผลสัมฤทธิ์สูงขึ้น

โจทย์วิจัยเหล่านี้ ควรมีการศึกษาในบริบทไทยอย่างยิ่ง  

  เพื่อปฏิรูประบบการสร้างครูของสหรัฐ เขามีโครงการ Teach for America, UTeach, และ NTPT (The New Teacher Project)

เนื่องจากระบบการศึกษาของสหรัฐเป็นระบบกระจายอำนาจไว้ที่รัฐ   ไม่ได้รวมศูนย์ที่รัฐบาลกลาง     จึงมีการดำเนินการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์หลากหลายแบบ   ซึ่งพอจะสรุปได้ว่า   ระบบที่ประสบความสำเร็จคัดเลือกครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์จากผู้ที่เรียน จบบัณฑิตศึกษา หรือทำงานวิจัยหลังปริญญาเอก ในสาขาหลักนี้   แล้วพบว่าไม่ชอบงานวิจัย ชอบงานสอนมากกว่า   โดยวิธีคัดเลือกคือสอบสอนด้วย   หลักการคือเลือกคนที่มีความรู้ด้านเนื้อวิชาดี และมีหน่วยก้านด้านการเป็นครูที่ดี   แล้วให้ค่าตอบแทนที่จูงใจ   มีระบบการพัฒนาระหว่างทำหน้าที่ครู   และมีระบบให้ข้อมูลป้อนกลับ (feedback) อย่างสม่ำเสมอ  ครูที่ทำงานได้ผลดี จะได้รับความเป็นอิสระที่จะ ใช้ความริเริ่มสร้างสรรค์ของตน  

หน้าที่หลักของครูคือ เตรียมตัวและสร้างแรงบันดาลใจ (prepare and inspire) แก่ศิษย์   ให้ศิษย์ได้ ทั้งสาระความรู้ (factual knowledge)   และ ได้ฝึกฝนการตั้งคำถามและตอบคำถามทางวิทยาศาสตร์   และได้เข้าใจธรรมชาติของวิทยาศาสตร์

ผมขอเชิญชวนท่านผู้อ่านที่สนใจเรื่องครูวิทยาศาสตร์เป็นพิเศษอ่านบทความใน New York Times ที่ลิ้งค์ไว้ข้างบน นะครับ   ทนอ่านหน่อยเพราะบทความยาว   แต่จะได้แนวความคิดเรื่องวิธีสร้างครูวิทยาศาสตร์ ที่ดี   ผมเอามาลิ้งค์ให้อีกที่ ที่นี่    สาระสำคัญที่สุดคือ ครูวิทยาศาสตร์ที่ดีสร้างได้    แต่ต้องมีวิธีสร้างที่ถูกต้อง    ทั้งสร้างก่อนรับเข้าทำงานและสร้างระหว่างทำงาน

วิจารณ์ พานิช

๓๐ ธ.ค. ๕๖

 

  

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 558157เขียนเมื่อ 4 มกราคม 2014 04:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2014 17:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เห็นด้วยครับว่าครูต้องรู้จริงในเนื้อหาที่ตนสอน การรู้จริงทำให้ออกแบบคำถามแบบ backward ได้ ทำให้สอนแบบตั้งคำถามได้ ปัญหาของเราคือนึกว่าครูเป็นเพียงผู้ถ่ายทอดสิ่งสำเร็จรูปที่กระทรวงหรือ สพฐ. จัดให้ การพัฒนาครูจึงไปผิดทาง ให้เป็นเพียงผู้ถ่ายทอด ไม่ใช่ผู้ประดิษฐ์กระบวนการเอง ครูจึงมักถามหาคำตอบสำเร็จหรือคู่มือ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท