งานวิชาการเพื่อสังคม : อบรมเชิงปฏิบัติการการเขียนบทความเพื่อสังคม


กระบวนการง่ายๆ เฉิ่มเฉยและดั้งเดิมเช่นนี้ ไม่ใช่เพียงแค่เชื่อมโยงให้เกิดกระบวนการสกัดข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผู้เข้าร่วมอบรมเพื่อให้วิทยากรได้รับรู้เพิ่มเติมเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงการละลายพฤติกรรมอย่างสร้างสรรค์ไปพร้อมๆ กับการสะท้อนให้เห็นฐานข้อมูลเล็กๆ ในเชิงประเด็นและเชิงพื้นที่ต่อวิทยากรและผู้เข้าร่วมอบรมไปในตัว

เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2559 ผมมีโอกาสได้เข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการการเขียนบทความเพื่อสังคมอันเป็นความร่วมมือระหว่างทีมวิจัยระบบและกลไกงานวิชาการเพื่อรับใช้สังคมจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับศูนย์ส่งเสริมนักวิชาการเพื่องานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดมหาสารคาม ร่วมกับสถาบันคลังสมองของชาติ โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือการหนุนเสริมความรู้และทักษะการเขียนบทความวิชาการเพื่อสังคมสู่การเผยแพร่และยกระดับความก้าวหน้าในวิชาชีพ ตลอดจนการต่อยอดเพื่อพัฒนานิสิตและชุมชน


เวทีดังกล่าวกำหนดจัดขึ้นเป็นเวลา 2 วัน คือวันที่ 27-28 กันยายน 2559 ซึ่งได้รับเกียรติจากรองศาสตราจารย์กาญจนา แก้วเทพ เป็นวิทยากร ขณะที่ผมและผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฉันทนา เวชโอสถศักดา ตลอดจนทีมวิจัยอีกหลายท่านรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพหลักในการเชื่อมโยงการเรียนรู้และให้บริการทั่วๆ ไปต่อผู้เข้าร่วมโครงการ





ในช่วงที่รอเวลาการเปิดเวทีอย่างเป็นทางการในเช้าวันที่ 27 กันยายน 2559 ผมมีโอกาสได้พบปะพูดคุยแบบกึ่งกระบวนการกับคณาจารย์และเจ้าหน้าที่ โดยใช้เวลาในราวๆ 45 นาที ประกอบด้วยกิจกรรมหลัก 4 กิจกรรม ได้แก่

  • การแนะนำตัวเปิดเปลือยตัวเองผ่านไมโครโฟน
  • การสอบถามความคาดหวังการเข้าร่วมโครงการ (BAR)
  • การสอบถามถึงประเด็นที่แต่ละคนเคยได้ขับเคลื่อนงานวิชาการเพื่อสังคม
  • การสอบถามถึงประเด็นที่มีความสนใจที่จะขับเคลื่อนงานวิชาการเพื่อสังคมในอนาคต





แนะนำตัว : สื่อสารสร้างข้อมูลต่อวิทยากร


ว่าด้วยการแนะนำตัว - ผมออกแบบกระบวนการแบบเรียบง่ายและดั้งเดิมเลยทีเดียว กล่าวคือ ผมรับหน้าที่เป็นเสมือนพิธีกรกึ่งกระบวนกรแนะนำรายบุคคล หรือกลุ่มคนแต่ละกลุ่ม โดยมุ่งสื่อสารข้อมูลส่วนตัวและองค์กร ตลอดจนประเด็นการทำงาน หรือผลงานเชิงประจักษ์โดยสังเขปในแบบ “บันเทิงเริงปัญญา” จากนั้นจึง “ส่งไมค์” (โยนไมค์) ไปยังบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้กล่าวคำทักทาย แนะนำตัวเพิ่มเติม

กระบวนการเหล่านี้ผมมีเจตนาชัดเจนที่จะสะท้อนข้อมูลผู้เข้าร่วมอบรมส่งผ่านไปยังวิทยากร เพื่อให้วิทยากรมีข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับผู้เข้าร่วมอบรม ซึ่งเป็นที่น่าชื่นใจเป็นที่สุด เพราะวิทยากรให้ความสำคัญกระบวนการและข้อมูลเหล่านี้เป็นอย่างมาก ดังจะเห็นจากการจดบันทึกข้อมูลที่ผมนำเสนอ หรือกระทั่งข้อมูลอันเกิดจาก “ปากคำ” ของอาจารย์แต่ละคนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง -




การที่วิทยากรให้ความสำคัญกับข้อมูลที่สื่อสารเช่นนี้ ผมมองว่านี่คือ “ความเป็นมืออาชีพ” ของวิทยากรที่ควรค่าต่อการเคารพและยึดเป็นแนวทางในการพัฒนาตนเองอย่างที่สุด เพราะก่อนหน้านี้วิทยากรก็ทำการบ้านล่วงหน้าเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้มาแล้วยกใหญ่ๆ ครั้นพอมาถึง “หน้างาน” ท่านยังคงให้ความสำคัญกับข้อมูลเหล่านี้อีกครั้ง ตอกย้ำความเป็นนักจัดการเรียนรู้ “มืออาชีพ” หรือ “โค้ช” ตัวจริงเสียจริงที่ควรค่าต่อการคาราวะอย่างไม่ต้องกังขา


จากกระบวนการดังกล่าวนี้ พบว่าหากไม่นับกลุ่มนักวิจัยเพื่อท้องถิ่นจากโหนด สกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น (CBR) ผู้ที่เข้าร่วมอบรมจะเป็นนักวิชาการที่มาจากงานบริการวิชาการแก่สังคม (โครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน) งานทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม (โครงการหนึ่งคณะหนึ่งศิลปวัฒนธรรม) งานวิจัย มมส เพื่อชุมชน หรือเครือข่ายอื่นๆ เป็นต้นว่า

  • ผู้แทนจากคณะต้นแบบงานบริการวิชาการแก่สังคม : คณะวิทยาการสารสนเทศ คณะการบัญชีและการจัดการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ฯ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
  • นักวิชาการจากคณะต่างๆ : คณะวิทยาศาสตร์ คณะวัฒนธรรมศาสตร์ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง
  • นักวิชาการจากหน่วยงานสนับสนุนการเรียนการสอน : สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน ศูนย์ความเป็นเลิศทางวัตกรรมไหม
  • สถาบันเครือข่าย : มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด




เหนือสิ่งอื่นใด ผมเชื่อเหลือเกินว่ากระบวนการง่ายๆ เฉิ่มเฉยและดั้งเดิมเช่นนี้ ไม่ใช่เพียงแค่เชื่อมโยงให้เกิดกระบวนการสกัดข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผู้เข้าร่วมอบรมเพื่อให้วิทยากรได้รับรู้เพิ่มเติมเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงการละลายพฤติกรรมอย่างสร้างสรรค์ไปพร้อมๆ กับการสะท้อนให้เห็นฐานข้อมูลเล็กๆ ในเชิงประเด็นและเชิงพื้นที่ต่อวิทยากรและผู้เข้าร่วมอบรมไปในตัว

หรือในอีกทำนองหนึ่งก็คือการเพียรพยายามที่จะสร้างกลไกการสื่อสารสร้างสรรค์และกลไกการสร้างเครือข่ายในกลุ่มนักวิชาการที่ทำงานด้านวิชาการเพื่อสังคมไปในตัวด้วยเช่นกัน





BAR : ความคาดหวังในการเข้าร่วมกิจกรรม

เป็นธรรมดาของการจัดเวทีการเรียนรู้ หรือเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผมไม่เคยละเลยที่จะถามทักถึงความคาดหวังในการเข้าร่วมกิจกรรม เพราะจะช่วยให้เราเข้าใจถึงหมุดหมายของผู้เข้าร่วมอบรม นำสู่การปรับความคาดหวัง หรือกระทั่งปรับกระบวนการไปด้วยกัน ซึ่งผู้เข้าร่วมได้สะท้อนคืนกลับมาผ่านไมโครโฟนและแผ่นกระดาษที่จัดเตรียมให้ ดังนี้

  • แนวทางการเผยแพร่งานวิชาการสู่สาธารณะ
  • ความรู้ใหม่ หรือนวัตกรรมใหม่ของงานวิชาการเพื่อสังคม
  • แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับวิทยากร
  • แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักวิชาการ
  • การสร้างเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคม
  • การสร้างแรงจูงใจให้กับตัวเอง
  • การเขียนบทความวิชาการเพื่อสังคมและการเขียนงานวิจัยเพื่อสังคม





ประเด็นงานวิชาการเพื่อสังคมที่เคยขับเคลื่อน


สืบเนื่องจากครั้งนี้ กลุ่มผู้เข้าร่วมอบรมหลากหลายที่มาที่ไป บ้างมาในสายงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น (สกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น) งานวิจัยเพื่อชุมชน (มมส วิจัยเพื่อชุมชน) บ้างมาในสายงานบริการวิชาการ หรือไม่ก็มาในมิติงานทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ซึ่งในบางรายถือเป็นครั้งแรกที่เข้าร่วมเวทีเช่นนี้

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงถือโอกาสให้แต่ละคนได้สะท้อนถึงประเด็นงานวิชาการเพื่อสังคม หรืองานวิชาการเพื่อรับใช้สังคมที่เคยดำเนินการมาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน แต่ก็มิได้บังคับให้ทุกคนต้องเขียนสะท้อนออกมาเสียทั้งหมด ทว่ายึดในหลักการว่า “เอาที่สบายใจ” ซึ่งพบประเด็นตัวอย่างดังต่อไปนี้

  • ดินจอมปลวกกับวิถีชีวิตและการปลูกผัก
  • การทำนาแบบโยนกล้า
  • การทำปุ๋ยหมักชีวภาพจากเศษอาหารและปุ๋ยคอกจากจุลินทรีพื้นบ้าน
  • การใช้เป็ดไล่ทุ่งกำจัดหอยเชอรี่และแมลงศัตรูพืช
  • การฟื้นฟูภูมิปัญญากังหันลมวิดน้ำแทนเครื่องยนต์สูบน้ำ
  • ภาษาเกาหลีกับการพัฒนานิสิตและชุมชน
  • ประเพณีการบวชควาย
  • โรงเรียนชีววิถีอีสาน
  • พิธีกรรมและความเชื่อของเจ้าปู่กู่ดำบ้านกำพี้
  • กระบวนการเรียนรู้กลุ่มผลิตผักอินทรีย์บ้านโนนสวรรค์
  • การย้อมสีธรรมชาติ
  • การผลิตครามและการย้อมคราม
  • การผลิตไหมพื้นบ้านและแปรรูปไหมพื้นบ้าน
  • การพัฒนาระบบการจัดการห้องสมุด
  • การพัฒนาองค์ความรู้เรื่องการใช้สารสนเทศอย่างสร้างสรรค์






ประเด็นงานวิชาการเพื่อสังคมที่อยากขับเคลื่อนในอนาคต

การทักถามถึงประเด็นที่นักวิชาการอยากขับเคลื่อน เป็นเสมือนการชวนให้ทบทวนถึงเส้นทางที่ผ่านมาสู่ปัจจุบันและอนาคต ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วผมอยากให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้รับรู้ร่วมกันว่า “ในอนาคตอันใกล้นี้ยังมีประเด็นอะไรที่ควรค่าต่อการขับเคลื่อนบ้าง ประเด็นเหล่านั้นมีใครเคยได้ดำเนินการไปบ้างแล้วหรือไม่”

การถามทักเช่นนี้เป็นเสมือนการแบ่งปันฐานข้อมูลสู่กันและกันในอีกมิติ หรือกระทั่งมิติของการเปิดพื้นที่ท้าทายต่อการชักชวนให้เกิดความร่วมมือที่จะผนึกกำลังขับเคลื่อนงานวิชาการเพื่อสังคมในแบบบูรณาการร่วมกันอย่างเสร็จสรรพไปในตัว ซึ่งพบประเด็นต่างๆ ดังนี้

  • การรับมือด้านภัยพิบัติ
  • หมู่บ้านต้นแบบกังหันลม
  • หมู่บ้านต้นแบบการทำนาแบบโยนกล้า
  • เกษตรอินทรีย์
  • การบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วม
  • การปรับตัวของชุมชนต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป
  • ระบบสารสนเทศเพื่อโรงเรียนและชุมชน
  • การศึกษาเพื่อยกระดับผู้ด้อยโอกาสในสังคม
  • นิสิตกับจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมต่อการสร้างสรรค์ชุมชน




นี่คือส่วนหนึ่งอันเป็นกระบวนการเล็กๆ ที่ผมมีโอกาสได้พบปะก่อนการเปิดเวทีอย่างเป็นทางการ เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลบางประการเพิ่มเติมไปยังวิทยากรและกระชับความสัมพันธ์ผู้เข้าร่วมอบรมเข้าด้วยกัน เพื่อก่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีต่อกัน และเพื่อก่อให้เกิดความพร้อมที่จะเรียนรู้ร่วมกันอย่างมีพลัง และไร้ซึ่งกำแพงแห่งปัญญา


...

ภาพ : พนัส ปรีวาสนา / ผศ.ดร.ฉันทนา เวชโอสถศักดา



ความเห็น (3)

เคยทำงานวิจัย สกว กับอาจารย์แต่นานมากๆแล้ว

ขอบคุณมากๆครับ

โห .... ดร.กาญจนา แก้วเทพ

ขอบคุณบทความนี้ที่ถ่ายทอดต่อนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท