ITSC : สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


วันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๕๙ ช่วงบ่าย หลังจากศึกษาเรียนรู้ดู BP ของสถาบันภาษา LICMU ในภาคเช้า ซึ่งนอกจาก ผอ.เหรียญ ท่านจะให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น เลี้ยง "ส้มลาวตำ" และปีกไก่เลิศรสจากโรงอาหารของสถาบัน ท่านยังจัดรถนำทางให้เราตรงมายังสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (Information Technology Service Center: ITSC) สถานที่ BP ด้านสื่อและนวัตกรรมการการเรียนรู้ที่เราประสงค์จะมาดูเป็นแนวทาง

รองศาสตราจารย์ ดร. ถนอมพร เลาหจรัสแสง ผู้อำนวยการสำนักฯ (สมัยที่ ๓) และหัวหน้าทีมงานสำคัญ ๆ ของท่าน ให้การต้อนรับอย่างดี เริ่มด้วยการเปิดวีดีทัศน์แนะนำสำนักฯ แล้วเล่าภาพรวมและผลงาน เปิดโอกาสให้ซักถามอย่างเต็มที่ ก่อนจะให้หัวหน้างานผู้ปฏิบัติจริงๆ เล่าละเอียดและพาเดินสำรวจอาคารและอธิบายในแต่ละส่วนตลอดทั่วอาคาร




ITSC เป็นหน่วยงานคล้ายๆ สำนักคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัย มีการขยายพันธกิจเพิ่มเติมในปี ๒๕๔๓ ในการนำไอซีทีมาใช้ในด้านการเรียนการสอน (๑๕ ปีที่แล้ว) โดยปรับเป็นองค์กรนอกระบบ ก่อนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะออกนอกระบบตามมาในปี ๒๕๕๑ เป็นเวลากว่า ๑๕ ปี ที่มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง


ในด้านการพัฒนาการเรียนรู้ จุดแข็งสำคัญ ๕ ประการของ ITSC มช. ได้แก่ ๑) การบูรณาการนำเอาไอซีทีที่เป็นพันธกิจหลักของหน่วยงานไปบูรณาการใช้ในการเรียนการสอน เช่น การพัฒนาระบบ e-learning การผลิตสื่อการเรียนการสอน ฯลฯ ๒) ผู้บริหารของ ITSC เป็นแกนนำสำคัญในการพัฒนาการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ ขับเคลื่อนเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง ๓) ITSC มีบทบาทหน้าที่อย่างหนึ่งในการพัฒนาอาจารย์และเตรียมบุคลากรสำหรับการเปลี่ยนแปลงของ Ed-teach ๔) เป็นผู้รับผิดชอบในการพัฒนาทักษะด้านการรู้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Technology) และ ๕) มีประสบการณ์และศักยภาพในการผลิตสื่อการเรียนการสอน ซึ่งพัฒนามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี ๒๕๔๓-๔๓


ITSC มีเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไปสู่ Digital University ด้วยบริการ ๘ ด้าน ดังรายละเอียดในคลิปด้านบน ... ผมจับประเด็นอย่างรวดเร็วได้ดังนี้ครับ

  • ให้บริการอินเตอร์ไร้สาย Wi-Fi ครอบคลุมพื้นที่ในมหาวิทยาลัยกว่า ๒,๗๐๐ จุด สามารถเข้าพร้อมกันได้ ๕ อุปกรณ์
  • CMU Mobile Applications
    • CMU Portal Connect Service ศูนย์รวมข้อมูลและบริการของมหาวิทยาลัย
    • CMU Online Service เรียนรู้ผ่านสื่อออนไลน์ได้ทุกที่ทุกเวลา
    • e-Doc Mobile Alert Service บริการแจ้งเตือนเอกสาร เข้าผ่านสารบรรณอิเล็กทรอนิคสำหรับบุคลากร
    • CMU News Service บริการข่าวสารต่าง ๆ รอบรั้วมหาวิทยาลัย
    • Calendar บริการปฏิทินแจ้งเตือนนัดหมายกิจกรรมที่ไม่ควรพลาด
    • CMU Broadcast Service บริการแจ้งเตือนเรื่องสำคัญเร่งด่วนสำหรับอาจารย์และนักศึกษาเพื่อความรวดเร็ว
  • BI (Business Intelligent) ระบบสารสนเทศสำหรับผู้บริหาร ช่วยในการบริหารงานบนฐานของข้อมูลที่ถูกต้อง
  • IT for English เตรียมความพร้อมนักศึกษาสู่สมาคมอาเซียน ให้บริการสื่อภาษาต่างประเทศ และโปรแกรมฝึกด้านภาษาอังกฤษต่าง ๆ
  • ITSC Conner ทั้งหมด ๔๗ ศูนย์ทั่วมหาวิทยาลัย ให้บริการคอมพิวเตอร์พีซีที่ทันสมัยกว่า ๑,๐๙๐ เครื่อง รองรับการทำงานมัลติมีเดีย และการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างสร้างสรรค์ได้
  • Smart Learning, Smart Classroom ส่งเสริมการเรียนการสอนในศตวรรษที่ ๒๑ และ Software ลิขสิทธิ์ จาก Microsoft และ Autodesk
  • ศูนย์ทดสอบออนไลน์ตามมาตรฐานสากล ICDL
  • ความร่วมมือทางวิชาการกับบริษัท Plan-it Consultant จำกัด ในการพัฒนา Digital Literacy ของบุคลากรและนักศึกษา

หลังจากชมคลิปแล้ว ผอ.สำนัก เล่าเสริมในด้าน Facilities & Hardware มุ่งให้นักศึกษาเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้จากทุกจุด จึงพัฒนา Wi-Fi จากเดิม ๖๐๐ จุด เป็น ๒,๗๐๐ จุด (ภายในสองปี) จัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์สเปคสูง ปัจจุบันสามารถรองรับนักศึกษาสามารถเข้าถึงได้ด้วยตนเองถึง ๙๕ เปอร์เซ็นต์แล้ว (นักศึกษาชั้นปีละประมาณ ๗,๐๐๐ คน) ก็มีศูนย์บริการ ๔๗ ศูนย์บริการ (ITSC Conner) ให้บริการครอบคลุมกลุ่มนักศึกษา ๕ เปอร์เซ็นต์ที่ยังไม่มีอุปกรณ์ของตนเอง

ในด้านการเรียนรู้ นอกจากเรื่อง e-learning การผลิตสื่อนวัตกรรมต่าง ๆ แล้ว ตอนนี้ มช. กำลังมุ่งทำ MOOC (Massive Open Online Course) ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนเป็นส่วนหนึ่งของโครงการของ สกอ. ล่าสุดประสบผลสำเร็จในการนำ MOOC มาใช้ในการจัดการเรียนการสอน ที่สามารถทำให้นักศึกษาเข้าไปเรียนรู้ครบทุกโมดุล และจะเริ่มนำร่องกับรายวิชาศึกษาทั่วไปบางรายวิชา เช่น วิชาภาษาอังกฤษ วิชาทางรัฐศาสตร์ เป็นต้น

ในด้านการพัฒนาอาจารย์ ท่านเล่าว่า เริ่มเห็นการตื่นตัวของอาจารย์มากขึ้น มีอาจารย์ลงทะเบียนเข้ารับการอบรม และสนใจมาใช้บริการการผลิตสื่อจำนวนมาก ซึ่งจากการค้นทางอินเตอร์เน็ต พบรายละเอียดและผลงานต่าง ๆ จำนวนมาก ผู้สนใจสามารถคลิกได้ที่นี่ ... บันทึกนี้ขอกล่าวถึงเฉพาะสิ่งที่เราสนใจไปศึกษาดูงาน และใช้วิธีหยิบเอาผลงานของ ITSC ที่ผมประทับใจมาวางเป็นลิงค์ไว้ให้ท่านผู้สนใจได้ลองชื่นชม


ผลิตสื่อและนวัตกรรมการสอน

สิ่งที่ประทับใจมาก ๆ คือคลิปการสอนเรื่อง "เชื้อแบคทีเรียซาโมเนลลา ไทฟิมูเรียม" ของอาจารย์ ดร. นพ. ปารเมศ เทียนนิมิตร (เชิญคลิกดูที่นี่) เป็นสื่อการสอนที่เข้าใจได้ง่าย จากเรื่องยาก ๆ ท่านทำให้ดูง่าย เข้าใจง่าย เห็นภาพ ใช้เวลาสั้น ... เหมาะสมแล้วที่สื่อนี้ได้รับรางวัล

สำหรับกระบวนการผลิตสื่อ ITSC มีห้องสตูดิโอถ่ายทำสมบูรณ์แบบ (ดังภาพด้านล่าง) อาจารย์ที่สนใจจะเข้ามาคุยวางแผนร่วมกันกับเจ้าหน้าที่ด้านต่างๆ เพื่อกำหนดความต้องการ กำหนดขอบเขตเนื้อหา สร้างพล็อตเรื่อง และนัดหมายวันถ่ายทำ โดยอาจารย์จะเป็นผู้กำหนดด้านเนื้อหาวิชการ ส่วนงานด้านกราฟฟิค การ์ตูน รูปภาพ ฯลฯ ทาง ITSC จะเป็นผู้ให้บริการทั้งหมด ... ฟังว่าอัตราในการผลิตจะอยู่ประมาณหัวเรื่องละ ๒ สัปดาห์หากไม่ติดปัญหาใด ๆ





สื่อทั้งหมดที่ผลิตขึ้นรวมทั้งสื่ออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน ITSC จะรวบรวมไว้เป็นแหล่งเรียนรู้ CMU Learning Portal ในที่นี้คลิปต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นในลักษณะเดียวกันนี้จะอยู่ในห้องย่อย "CMU Cute Ajarn"

ทาง มมส. เองก็มีศักยภาพสูงและกำลังทำเรื่องนี้อยู่ ดังนั้นสำนักศึกษาเองคงไม่จำเป็นต้องสร้างสตูดิโอของตนเอง เพราะทางสำนักคอมพิวเตอร์และฝ่ายประชาสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัย มีเครื่องมือสถานที่และเชี่ยวชาญเรื่องนี้อยู่แล้ว และเปิดให้บริการด้านนี้ (ที่นี่) ... สิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรกก็คือ ต้องไปคุยกับท่านเหล่านั้นเพื่อสร้างเครือข่ายเพื่อทำสิ่งนี้ร่วมกัน


MOOC และ e-learning

ITSC จัดงานบริการ e-learning ไว้ในชื่อ "CMU Online" อาจารย์ทุกท่านสามารถสร้าง "กระบวนวิชา" เพื่อบริหารจัดการการเรียนรู้ออไลน์ของรายวิชาที่ตนเองสอนได้ โดยใช้โปรแกรมมูเดิล Moodle ผู้สนใจสามารถสามารถเข้าใช้งานได้ที่ https://elearning.cmu.ac.th/

สิ่งที่ประทับใจและคิดในใจว่า เราจะกลับมาสานต่อให้เป็นรูปธรรม คือการนำ MOOC หรือ Massive Open Online Course ซึ่ง สกอ. กำลังสนับสนุนเรื่องนี้เต็มที่ ผู้สนใจลองคลิกไปที่ THAIMOOC.ORG
และสำนักคอมพิวเตอร์ มมส. เราก็อยู่ในเครือข่ายนี้ด้วย ... สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ไปคุยกับทางสำนักคอมฯ โดยเฉพาะงานด้านการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้


กล่องความทรงจำ (Memo Box)

ประทับใจสุด ๆ อีกส่วนหนึ่ง คือ กล่องความทรงจำ หรือ Memo Box เป็นคล้ายพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อม เป็นเหมือนห้องแห่งความทรงจำในการพัฒนาตั้งแต่เริ่มต้นของ ITSC เป็นห้องที่รวบรวมเอาเครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้มาตั้งแต่แรกก่อตั้งหน่วยงาน แต่ละปีแต่ละช่วงมีเรื่องราวที่น่าสนใจ ... โดยเฉพาะหากท่านได้ไปศึกษาดูงานที่นั่นนะครับ เจ้าหน้าที่ท่านอธิบายได้เห็นภาพอย่างยิ่ง






Learning Innovation Center: Smart Classroom

สมาร์ทคลาสรูม หรือ Smart Classroom ถือเป็นไฮไลท์ของ Learning Innovation Center ซึ่งมีหน้าที่ในการพัฒนานวัตกรรมด้านการเรียนรู้ที่บูรณาการการใช้ ICT

ในห้องเรียนมีจอแอคทีฟมอนิเตอร์หลายจอ มีจอหลักสามารถเขียน-ลบและควบคุมได้ และแสดงผลไปยังจออื่น ๆ ที่ติดไว้บนผนัง มีกระดาษไวท์บอร์ดล้อเลื่อนและปากกา และเก้าอี้ที่เลื่อนไปมาและจัดนั่งเป็นกลุ่มได้สะดวก เหมาะสำหรับการอภิปรายและทำงานกลุ่มร่วมกัน และที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ เครื่องวิชวลไลท์ที่สามารถบันทึกการสอนหรือการแสดงผลได้ในตัว สามารถสร้างเป็นไฟล์เพื่อเผยแพร่ให้นักศึกษาไปทบทวนได้





เป็นความประทับใจของหลาย ๆ คนในทีมเราที่ไปศึกษาดูงานครั้งนี้ และมีความเห็นตรงกันว่า สำนักศึกษาทั่วไปเราน่าจะสร้างห้องเรียนต้นแบบในลักษณะนี้ไว้ หากจะลงทุนซื้ออุปกรณ์ในลักษณะนี้ใหม่ทั้งหมด อาจต้องใช้งบหลายอยู่ แต่หากเน้นเรื่องกระบวนการเรียนรู้และใช้สิ่งที่เรามีอยู่ประกอบ อาจจะไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณเยอะ ก็น่าจะได้ "GE Learning Area" ที่ไม่เลว ...

หมายเลขบันทึก: 616339เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2016 02:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 ตุลาคม 2016 02:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

I wonder if the 'economy of digital XYZ' services is considered so that the seervices can be sustained and developed further without begging for funding.

Another blog?

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท