“ทำอย่างไรจะพัฒนาศักยภาพของบุคคลหรือประชาคมเหล่านี้ให้มีสุขภาวะอยู่เย็นเป็นสุข”


1.) ผู้สูงวัยติดเตียง ยากจน มีปัญหากลืนลำบาก หกล้มจนปวดหลังรุนแรง และไม่มีคนดูแล

ในกรณีที่ไม่มีผู้ดูแลนั้นควรส่งต่อไปยังสถานสงเคราะห์เพื่อที่จะได้คอยดูแล เมื่อเกิดอุบัติเหตุต่างๆที่ผู้สูงอายุไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ จะได้ช่วยเหลือได้ทันท่วงที แต่เบื้องต้นเราสามารถตรวจสุขภาพผู้สูงอายุ ให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพกาย สุขภาพจิต ส่งเสริมการออกกำลังกาย เป็นต้น ปัญหาการกลืนลำบากนั้นสามารถดูแลขั้นพื้นฐานได้โดยมีการฝึกออกกำลัง 3 ข้อ ดังนี้

ออกกำลังใจ : ไม่ต้องเข้มงวดเรื่องมารยาทบนโต๊ะอาหาร ระวังการตอบคำถามขณะทาน หมั่นพูดคุยให้ตื่นตัว ฝึกยิ้มกว้างทำ 3 ครั้ง

ออกกำลังคิด : ให้ปรับเตียง 45-90 องศา – จับลุกนั่งบนเตียง + ฝึกหายใจเข้าทางจมูก –เป่าปากทำ 3 ครั้ง + ฝึกหายใจเข้าท้องป่อง – หายใจออกท้องแฟบทำ 3 ครั้ง

ออกกำลังกาย : ให้ปรับเตียง 45-90 องศา – จับลุกนั่งบนเตียง + ให้หลับตา ขมวดคิ้ว ย่นจมูก ฝึกทำ 3 ครั้ง + ทำปากจู๋ – สบฟัน ฝึกทำ 3 ครั้ง + ก้มคอเล็กน้อยกลืนน้ำลายไอ 1 ครั้ง ร้องออกเสียงอา อู โอ ต่อกันดังๆ 1 ครั้ง แล้วทำกิจกรรมบำบัดด้วยอาหารฝึกกลืน*

หมายเหตุ : กิจกรรมบำบัดด้วยอาหารฝึกกลืนเบื้องต้นควรมีเนื้ออาหารข้นหนืดมีน้ำจากเนื้ออาหารรสชาติอาหาร ไม่หวาน ไม่เค็ม ไม่รสจัดและกลืนได้หลังบดกับเหงือก (ไม่เคี้ยวด้วยฟัน) เช่น โจ๊กข้น (ไม่ใส่เนื้อสัตว์-ไข่-ผัก) ไข่ลวก ฟักทองบด มันบด กล้วยน้ำว้าสุกบด สังขยา [ไม่เกิน 1 ช้อนชา ต่อคำ และไม่เกิน 5 คำต่อมื้อ รวมทั้งวันควนให้ 3-5 มื้อ] ถ้ามีสายให้อาหารควรใช้อาหารฝึกกลืนก่อนให้อาหารทางสาย 1 ชม. แล้วก้มคอบ้วนปากให้สะอาด “ควรก้มคอกลืนอาหารที่ป้อนห้ามแหงนคอไปข้างหลัง หยุดป้อนทันทีเมื่อมีการสำลัก”

กรณีของการหกล้มปวดหลังรุนแรงนั้นควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจดูภายใน หากต้องรับการผ่าตัดควรรักษาภายในระยะเวลา 36 ชั่วโมง ซึ่งมีการศึกษาแล้วว่า หากผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดรักษาในเวลาอันรวดเร็วจะช่วย “ลด”ภาวะแทรกซ้อนและฟื้นตัวเร็วขึ้น โดยค่าใช้จ่ายก็จะมีองค์กรของรัฐบาลคอยดูแล ช่วยเหลือ

2.) วัยทำงานมีภาวะซึมเศร้าและไม่มีงานทำ ต้องให้พ่อแม่ผู้สูงวัยเลี้ยงดู

เนื่องจากผู้ป่วยนั้นไม่มีงานทำ อาจเป็นสาเหตุของภาวะซึมเศร้า การดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้า อาจใช้การรักษาทางการแพทย์ ประกอบด้วย การให้ยาต้านเศร้า การรักษาด้วยไฟฟ้า (ในรายที่มีอาการรุนแรง) การให้ยาต้านโรคจิต (กรณีมีประสาทหลอน หลงผิดร่วมด้วย) ส่วนการรักษาทางจิตใจได้แก่ จิตบำบัด การให้การปรึกษาแก้ไขปัญหาสังคมจิตใจ และการเรียนรู้ทักษะจัดการความเครียด สำหรับอาการซึมเศร้าระดับน้อย การออกกำลังกาย 30-45 นาที (เป็นแบบแอโรบิคก็ยิ่งดี) อย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ จะสามารถช่วยลดอาการซึมเศร้าได้ดี จากการวิจัยพบว่า การออกกำลังกายได้ผลดีพอๆ กับการใช้ยาถ้าออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเป็นเวลานานพอ การให้พ่อแม่ผู้สูงวัยเลี้ยงดูนั้นก็เป็นสิ่งที่ไม่ควร เพราะ ผู้สูงอายุนั้นมักมีความถดถอยไปตามสภาพวัย หน้าที่ของนักกิจกรรมบำบัดคือส่งเสริม ให้กำลังใจ สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ป่วยให้สามารถดูแลตนเองได้โดยพึ่งพาตนเอง

3.) วัยรุ่นไม่ไปโรงเรียน ย้ำคิดย้ำทำ ผัดวันประกันพรุ่ง และติดเกม

ภาวะไม่ยอมไปโรงเรียน (school refusal) หมายถึง การที่เด็กหรือ วัยรุ่นไม่เต็มใจไปโรงเรียน อันสืบเนื่องมาจากความวิตกกังวลภายใน จิตใจ แสดงออกเป็นพฤติกรรมได้หลายรูปแบบ เช่น ร้องโวยวายไม่ อยากไปโรงเรียน อ้างว่าไม่สบายไม่ยอมลุกจากเตียงนอนในตอนเช้า

เนื่องจากภาวะไม่ยอมไปโรงเรียนมักเกิดจากหลายสาเหตุ หลาย ปัจจัย การรักษาที่เหมาะสมจึงต้องใช้หลายวิธีผสมผสานกัน (multimodal treatment) เน้นแก้ไขสาเหตุ ร่วมกับการรักษาด้วยวิธี พฤติกรรมบำบัด (behavior therapy) หรือ การบำบัดพฤติกรรมและการ รู้คิด (cognitive behavioral therapy) นอกจากนี้การรักษาโรคทางจิตเวช ที่มีร่วมด้วยอย่างเต็มที่และการประสานงานทำความเข้าใจกับทาง โรงเรียนก็ล้วนมีความสำคัญในการดูแลรักษาเด็กและวัยรุ่นที่มีภาวะไม่ ยอมไปโรงเรียน

ในกรณีที่ภาวะไม่ยอมไปโรงเรียนเกิดขึ้นแบบฉับพลัน การนำเด็กและวัยรุ่นกลับเข้าสู่โรงเรียนให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ถือเป็นหัวใจ สำคัญในการรักษาภาวะนี้ แต่หากเป็นกรณีที่ภาวะไม่ยอมไปโรงเรียน เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานเรื้อรัง การประเมินและวางแผนการรักษาอย่าง ละเอียดก่อนการนำเด็กและวัยรุ่นกลับเข้าสู่โรงเรียนจะมีความสำคัญอย่างยิ่ง

การแก้ไขเบื้องต้นสำหรับผู้ปกครอง คือ อันดับแรก ปรับเวลาตื่นนอนของลูกให้เร็วขึ้นสัก 15-20 นาที เพื่อให้มีเวลาปรับตัว จากอาการงัวเงีย พออาบน้ำแต่งตัว สักพัก เด็กก็จะมีอาการดีขึ้น พร้อมที่จะไปโรงเรียนได้ ขั้นต่อไปผู้ปกครองควรคุยกับลูกถึงเหตุผล และให้ลูกแสดงความคิดว่า เพราะอะไรลูกถึงไม่อยากไปโรงเรียน มีปัญหาอะไรเรื่องการเรียน คุณครู หรือเรื่องเพื่อนๆไหม อะไรที่ลูกแก้ไขเองไม่ได้ไหม เป็นต้น

การย้ำคิดย้ำทำนั้นสามารถรักษาได้ด้วยพฤติกรรมบำบัดนั้นอาศัยหลักที่ว่า เมื่อเราพบกับสิ่งที่เรากลัว และเกิดความกลัวขึ้นแล้วเรารีบหนี ความกลัวก็จะหายไปพักหนึ่ง แต่เมื่อเราพบกับสิ่งนั้นอีกเราก็จะอยากหนีอีก แต่ถ้าเราเข้าหาและเผชิญหน้ากับสิ่งที่เรากลัวเป็นเวลานานๆ (exposure) เมื่อเวลาผ่านไปความกลัวที่เกิดขึ้นจะค่อย ๆ ลดลงเอง เพราะเราจะเกิดความชินชาขึ้น (habituation หรือ desensitization) หลักในการปฏิบัติมีอยู่ 3 ข้อ คือ

1. ค่อยเป็นค่อยไป โดยเริ่มจากสิ่งที่ผู้ป่วยกลัวไม่มากนักก่อน เพื่อให้ผู้ป่วยได้เรียนรู้ว่าวิธีรักษาแบบนี้ได้ผลจริง แล้วค่อยฝึกกับเรื่องที่ผู้ป่วยกลัวมากขึ้นเรื่อย ๆ

2. ให้เวลาให้นานพอ ควรให้เวลาฝึกแต่ละครั้งประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อให้มีเวลานานพอที่จะเกิดความชินชาขึ้น

3. ทำซ้ำ ๆ อย่างต่อเนื่องทุกวัน หรืออย่างน้อยวันเว้นวันจนกว่าจะหาย

การรักษาโดยการใช้พฤติกรรมบำบัดนั้นไม่ค่อยสนุกเท่าไร เพราะผู้ป่วยต้องทนทำสิ่งที่ตนกลัว แต่ถ้าผู้ป่วยยอมร่วมมือ การรักษามักได้ผลดี อาการต่าง ๆ จะหายได้อย่างรวดเร็วและหายได้อย่างค่อนข้างถาวร ที่สำคัญคือ ต้องลงมือทำจริง ๆ และให้เวลากับการฝึกแต่ละครั้งนานพอ

ปัญหาการผัดวันประกันพรุ่งนั้น สามารถให้คำแนะนำ เช่น แนะนำให้วางแผนทุกวันไว้ล่วงหน้า พิจารณาถึงผลที่ดีที่จะตามมา สร้างแรงกดดันให้กับตัวเอง กระตุ้นตัวเองให้ลงมือทำ สร้างสำนึกแห่งความเร่งรีบ กำหนดการลงโทษตนเองถ้าเลื่อนเวลาเริ่มทำงานออกไป ให้รางวัลตนเองเมื่อทำงานเสร็จทั้งหมด เป็นต้น

พฤติกรรมการติดเกมส์นั้นเป็นเรื่องที่พบมากในวัยนี้ แต่ก็ไม่ควรปล่อยปะละเลย ควรรีบแก้ไข ดังนี้

- ผู้ช่วยเหลือควรจะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเด็กก่อนเริ่มการปรับพฤติกรรม

- วิธีที่ดีที่สุด คือ การตกลงกติกากันให้ชัดเจนก่อนอนุญาตให้เด็กเล่นเกม

- ควรเอาจริงเอาจังกับข้อตกลงหรือกติกาที่ได้ตั้งไว้

- สร้างแรงจูงใจในการเลิกให้กับเด็ก เช่น หากกำลังปรับลดชั่วโมงการเล่นเกม ก็ควรหากิจกรรมที่น่าสนใจมาทดแทนการเล่นเกมทันที และถ้าเด็กทำได้ก็ควรชม /ให้กำลังใจ หรือให้รางวัล

- ค่อยๆปรับพฤติกรรมทีละน้อย แบบค่อยเป็นค่อยไป แต่สม่ำเสมอ

ปัญหาเด็กติดเกมนั้นสามารถป้องกันและแก้ไขได้ซึ่งผู้ปกครองต้องใช้ความเข้าใจและความอดทน โดยไม่ว่าเด็กจะใช้เทคโนโลยีอะไรก็ควรให้คำแนะนำและดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะนอกจากเทคโนโลยีจะมีประโยชน์แล้ว หากใช้ไม่เหมาะสม ก็ให้โทษได้เช่นกัน

4.) เด็กสมาธิสั้น ก้าวร้าว ตีคนแปลกหน้า และไม่ชอบออกจากบ้าน

เด็กสมาธิสั้นนั้น หากพ่อแม่ ผู้เลี้ยงดู หรือคุณครูไม่เข้าใจ เด็กๆ เหล่านั้นมักถูกต่อว่าว่าเป็นเด็กซน เด็กดื้อ เด็กเกเร ถูกลงโทษรุนแรง เด็กจะคิดว่าตนไม่มีคุณค่า ทำให้เด็กอาจจะไม่อยากกลับบ้าน ไม่อยากไปโรงเรียน โดดเรียน เสี่ยงกับการเกิดปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น ติดเกมส์ สูบบุหรี่ กินเหล้า ติดยา เข้าแก๊ง เริ่มลักขโมย หรือมีปัญหาอื่นต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จนถึงขั้นอาชญากรรมได้เลย จึงควรช่วยเหลือแต่เนิ่นๆ โดยให้ผู้ปกครองมีความรู้ความเข้าใจ และใช้การปรับพฤติกรรมทั้งที่บ้านและที่โรงเรียนร่วมกับการใช้ยารักษา (ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์)

โดยทางบ้าน ฝ่ายผู้ปกครองต้องเข้าใจว่าโรคนี้เกิดจากความผิดปกติของการทำงานของสมอง ลูกไม่ได้จงใจแกล้ง เขาไม่ได้ตั้งใจที่จะเป็นแบบนี้ เด็กทุกคนอยากเป็นคนดีและเป็นที่รักของพ่อแม่ พ่อแม่ต้องอดทนพยายามเข้าใจลูกมากขึ้น จับจังหวะชมให้มาก ให้แรงเสริมทางบวกเมื่อเขาได้พยายามแล้ว หากลูกมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมให้ลงโทษโดยการตัดสิทธิ์หรืองดกิจกรรมบางอย่าง ไม่ควรพูดจาบั่นทอนความรู้สึกหรือลงโทษด้วยวิธีรุนแรง

นอกจากนี้ ยังสามารถใช้กิจกรรมต่างๆ ทั้งกีฬา ดนตรี ศิลปะ และงานบ้าน เพื่อช่วยเสริมให้สมาธิดีขึ้น กีฬาช่วยให้เขาได้ปล่อยพลังออกไป ได้ใช้สมาธิในการมอง การกะระยะ ฝึกทักษะการใช้มือ แขน ขา สายตา ดนตรีช่วยฝึกสมาธิการฟัง ศิลปะและงานบ้านช่วยฝึกจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์และการสังเกต

หากพลังลดลงจนถึงระดับที่เด็กเริ่มสงบลงแล้ว จึงให้เริ่มทำการบ้าน อ่านหนังสือ โดยมีพ่อแม่คอยกำกับดูแล และให้แรงจูงใจเป็นช่วงๆ (ไม่ต้องรอให้ทำเสร็จแล้วค่อยชม) เช่น ชมที่เขาตั้งใจเขียน มีความอดทน เป็นต้น

ดังนั้น โรคสมาธิสั้นในเด็ก สามารถแก้ไขให้ดีขึ้นได้ ด้วยการดูแล เอาใจใส่ เข้าใจในพฤติกรรม และให้กำลังใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะช่วยให้เด็กเหล่านี้กลับเข้ามาอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นปกติ

การช่วยเหลือเด็กที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว พ่อแม่ ผู้ปกครองควรจะสนใจกับการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี นอกจากนี้ พ่อแม่ ผู้ปกครองควรที่จะสนใจอย่างต่อเนื่องด้วยความอดทน โดยใช้วิธีต่างๆ ดังนี้

- หลีกเลี่ยงการทำโทษ หากพ่อแม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา ลูกก็จะซึมซับสิ่งเหล่านั้นด้วย

- เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องการควบคุมอารมณ์และการจัดการความโกรธ

- สอนให้ลูกแสดงอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ทั้งที่ดีและไม่ดีอย่างเหมาะสม

- สนับสนุนให้ลูกพูดคุยถึงปัญหาที่มี และสอนทักษะในการแก้ปัญหาต่างๆ

- ให้รางวัลเมื่อลูกแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสมและไม่ก้าวร้าว โดยการแสดงความชื่นชมและภาคภูมิใจ

- กำหนดพฤติกรรมเป้าหมายที่ชัดเจนร่วมกัน ว่าพฤติกรรมใดพึงประสงค์ พฤติกรรมใดไม่พึงประสงค์ และติดตามพัฒนาการ โดยใช้การเสริมแรงทางบวกร่วมด้วย เช่น ให้รางวัลพิเศษ หรือพาไปทำกิจกรรมที่ชอบ

- เอาใจใส่และให้ความรักความเข้าใจ เลี้ยงดูลูกแบบให้การสนับสนุนและให้ความอบอุ่น หลีกเลี่ยงรูปแบบการเลี้ยงดูแบบเผด็จการ ควบคุม เอาใจ หรือทอดทิ้ง

- สอนให้ลูกฝึกมองจากมุมมองของผู้อื่นหรือมุมมองที่ต่างออกไป เพราะเด็กที่ก้าวร้าวมักตีความเจตนาหรือพฤติกรรมของผู้อื่นผิดไป และมักตอบสนองอย่างก้าวร้าว

- ลดความตึงเครียดและความวิตกกังวล ที่อาจทำให้เด็กเครียด ซึ่งทำให้ทักษะในการแก้ปัญหาของเด็กด้อยลง

- ใช้วิธีแยกเด็กไปอยู่ที่มุมห้องชั่วคราวหรือ time out เมื่อเกิดการระเบิดอารมณ์หรือแสดงความรุนแรง เพื่อให้ทั้งเด็กและพ่อแม่ได้สงบสติก่อนพูดคุยกันด้วยเหตุผล

- บอกเตือนล่วงหน้าก่อนหมดเวลาเล่นของเล่นหรือทำกิจกรรมบางอย่าง เพราะการสั่งให้หยุดในทันทีมักจะทำให้เด็กฉุนเฉียว

- สังเกตว่าสิ่งที่เด็กเล่นหรือทำอยู่ เป็นสิ่งที่เด็กสนใจหรือไม่ ของเล่นหรือกิจกรรมที่น่าเบื่อหรือยุ่งยากเกินไปอาจทำให้เด็กหมดความอดทนและอารมณ์เสีย พ่อแม่ควรเปลี่ยนให้ลองสิ่งใหม่ๆแทน

- ควบคุมการรับชมรายการโทรทัศน์และการเล่นเกมส์ให้เหมาะสม หลีกเลี่ยงเนื้อหาที่มีความรุนแรง และคอยให้คำแนะนำ

คำแนะนำในการช่วยเหลือเด็กที่ไม่ชอบออกจากบ้าน หรือเด็กที่ไม่ชอบเข้าสังคมสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครอง

• สร้างโอกาสให้บุตรหลานของท่านได้ “ทดลอง” กับสังคมที่หลากหลาย อย่างเล่นกับเพื่อน ๆ กลุ่ม ต่าง ๆ ไปงาน วันเกิด เพื่อน ๆ ญาติ ๆ เข้ากิจกรรมโรงเรียนแต่ไม่ควรผลักดันลูกไปเข้าสถานการณ์ใหญ่ ๆ ยาก ๆ ในทั้งที่ตั้งแต่เริ่มต้น อย่างประกวดร้องเพลง แข่งพูดโต้วาที เป็นต้น เพราะเด็กอาจล้มเหลวได้รับแต่ประสบการณ์ที่แย่แทนที่จะรู้สึกว่าทำได้

• เวลาเห็นลูกทำท่าอึดอัดหรือตอบคนอื่นช้า อย่า “พูดแทน” ลูก เช่น เวลาสั่งอาหารช้า ก็สั่งให้หรือแย่งตอบคำถาม ที่ผู้ใหญ่คนอื่น ถามให้แทน

• จูงใจให้รางวัลหากลูกกล้าพูด

• ทำตัวเป็นตัวอย่างให้ลูกเห็นในสถานการณ์สังคมต่าง ๆ ว่าควรวางตัวอย่างไร

• กรุณาอย่าทำท่าทางเหนื่อยหน่าย เบื่อหรือโมโห หากลูกไม่สามารถแสดงออกได้ดังใจของท่าน ควรแสดงความเข้าใจและให้กำลังใจแนะนำให้ลองครั้งต่อไป


เอกสารอ้างอิง

- http://www.thaidepression.com/www/58/guidebookdepr...

- หนังสือคู่มือจิตอาสากิจกรรมบำบัด โดย ผศ.ดร.ศุภลักษณ์ เข็มทอง

- http://rama4.mahidol.ac.th/ramamental/?q=generaldo...

- http://health.kapook.com/view3146.html

- http://www.voathai.com/a/how-to-stop-procastinatio...

- https://www.it24hrs.com/2014/problem-of-game/

- http://www.manager.co.th/GoodHealth/ViewNews.aspx?...

- http://www.manarom.com/social_thai.html

หมายเลขบันทึก: 616336เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2016 23:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 กันยายน 2016 23:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท